วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง ( ตอน่ที่ ๒๒ บทสรุป)

บทสรุป

ตามที่ได้พยายามวิเคราะห์คำสอนในบัณฑิตพระร่วงมาแล้วนี้  จะเห็นได้โดยสรุปว่า 
๑. มีคำสอนอยู่ทั่้งสิ้น  ๑๖๔ ข้อ  บางข้อมีถ้อยคำประโยคเดียว  บางข้อมีถ้อยคำขยายความอีกประโยคหนึ่ง หรือสองประโยค
๒.คำสอนน้ันใช้คำไทยสามัญเป็นพื้น  ไม่มีภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤตปน   นอกจากภาษาเขมรซึ่งมีรูปแบบคล้ายภาษาไทย  และไทยรับเอาใช้จนเคยชิน เหมือนภาษาไทยแท้  เพราะไทยและเขมรมีความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติมากว่าพันปี 
. ถ้อยคำน้ันเป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่งของไทย เรียกว่า ร่าย   เป็นแบบร่ายสุภาพ มีวรรคละ ๕-๖ คำ  เข้าใจว่า ร่ายเป็นคำประพันธ์ดั้งเดิมของไทย   มีมาก่อนโคลงและกลอนเพราะแต่งง่ายกว่า  คำแอ่วทางภาคเหนือและภาคอีสาน  ก็มีลักษณะเป็นคำร่ายชนิดหนึ่ง  คือมีคำสัมผัสคล้องจองกันไปแบบลูกโซ่  คำท้ายของวรรคต้น สัมผัสกับคำแรกหรือคำที่สองที่สามของวรรคต่อไป ไม่ใช่คำร้อยแก้วแบบศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง 
๔ คำสอนทั้ง ๑๖๔ ข้อนี้  พ้องหรือตรงกับคำสอนในคำโคลงโลกนิติอยู่เกือบตลอด  แสดงให้เห็นว่า มีที่มาแห่งเดียวกัน   คำโคลงโลกนิติน้ันเป็นของเก่า  มีมาก่อนเก่า  สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร (พระองค์เจ้าละมั่ง ต้นสกุล เดชาติวงศ์)  เป็นผู้ชำระของเก่าให้ไพเราะขึ้น  แล้วจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพน ในสมัยรัชกาลที่ ๓  บัณฑิตพระร่วงนี้ก็จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ คราวเดียวกัน  แสดงว่าไม่ได้เอาอย่างกัน  แต่มาจากคำสอนเดียวกัน คือ  "โลกนิติปกรณ์" ในภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤต  ซึ่ง ศาสตราจารย์แสง มนวิทูร  ได้แปลเป็นภาษาไทยไว้แล้ว   เพียงแต่ว่าคำโคลงโลกนิติได้เอาธรรมบทจากภาษาบาลีมาแต่งเพิ่มเติมให้มากขึ้นเท่านั้น   คำโคลงโลกนิติมีอยู่หลายสำนวน  แต่ว่าบัณฑิตพระร่วงนี้มีสำนวนเดียว   ผู้แต่งคนเดียว  แต่คงจะคัดลอกมาหลายทอด  จึงแตกต่างกันไปบ้างตามความเข้าใจของคน  
๕. ผู้แต่งโลกนิติปกรณ์  น่าจะเป็นนักปราชญ์ของไทยเราเอง ดังเช่น มาลีปกรณ์  และอาจแต่งมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ในสมัยพระเจ้าลิไทบไตรปิฎก   ผู้แต่งอาจจะเป็นคนคนเดียวกันก็ได้  จึงใช้ชื่อเหมือนกันและเป็นของคู่กัน  เรียกว่า "โลกนิติปกรณ์"เรื่องหนึ่ง "มาลีปกรณ์" อีกเรื่องหนึ่ง   ถ้าหากว่าจะแต่งก่อนกัน  "โลกนิติปกรณ์"  น่าจะแต่งก่อนในสมัยสุโขทัย  และผู้แต่งคือพระเจ้าลิไทยไตรปิฎก   และ "มาลีปกรณ์"  แต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา  แต่ล้วนแต่งเป็นภาษาบาลีทั้งสองเรื่อง  มีผู้แปลเป็นภาษาไทย  แต่งเป็นคำร่ายและคำโคลงในภายหลัง  แต่ร่ายน่าจะแต่งก่อนคำโคลง   ร่ายแต่งง่ายกว่า  โคลงเป็นคำประพันธ์เกิดทีหลังร่าย  โองการแช่งน้ำของเก่านั้นก็เป็นคำประพันธ์ประเภทร่ายโบราณ  มหาเวสันดรชาดก ก็เป็นร่ายโบราณ เรียกว่า ร่ายยาว  คำอ่านโองการที่ประสงค์จะให้ศักดิ์สิทธิ์ มักจะแต่งเป็นคำร่าย หรือคล้องจองคล้ายกับร่ายทั้งสิ้น  เรียกว่า ร่ายดั้น 
๖. สังเกตุดูถ้อยคำที่ใช้ในบัณฑิตพระร่วงนี้   ไม่ใช่คำเก่าโบราณนัก  เมื่อเปรียบเทียบกับ   "กำสรวลศรีปราชญ์" แล้ว กำสรวลศรีปราชญ์ คำเก่าโบราณกว่ามาก  "บัณฑิตพระร่วง" นี้ถ้อยคำใหม่กว่า   เทียบได้กับ ตำหรับนางนพมาศ หรือ ตำนานท้าวศรีจุฬาลักษณ์  เท่านั้น  แต่เพื่อให้เป็นคำสอนที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์น่าเชื่อถือเป็นวาจาสิทธิ์พระร่วง  จึงใช้ชื่อว่า  "บัณฑิตพระร่วง" มุ่งหมายจะให้เข้าคู่กับ  "ไตรภูมิพระร่วง"  ผู้แต่ง"บัณฑิตพระร่วง" น่าจะเป็นพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับ  "ตำหรับนางนพมาศ" ซึ่งสำนวนชวนให้เชื่อว่าเป็นพระนิพนธ์ของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสองเรื่อง  ไม่ใช่แต่งในสมัยสุโขทัยแต่อย่างใด  "บัณฑิตพระร่วง" นี้ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นพระนิพนธ์ของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแน่นอนไม่มีที่สงสัย 
๗. ชื่อเรื่องที่เรียกกันว่า "สุภาษิตพระร่วง" น้ัน น่าจะไม่ถูกต้อง   เพราะคำโคลงท้ายบทท่านตั้งชื่อไว้แล้วว่า  "บัณฑิตพระร่วง"  ถึงจะมีผู้สงสัยว่า  คำโคลงนี้แต่งเพิ่มภายหลัง  แต่ท่านก็เรียกชื่อตั้งชื่อไว้แล้วว่า  "บัณฑิตพระร่วง"  น่าจะเรียกตามชื่อเดิม  เพื่อให้เข้าคู่กับ "ไตรภูมิพระร่วง"  เพราะคำว่า สุภาษิต แปลว่า พูดดี หรือ ถ้อยคำดี  แต่ "บัณฑิต" แปลว่า ผู้รู้ หรือถ้อยคำของนักปราชญ์  มีความหมายลึกซึ้งกว่า  จึงควรเรียกว่า "บัณฑิตพระร่วง" กันต่อไป
 ๘. กรมศิลปากรน่าจะได้"ชำระ" หรือหาผู้รู้มาชำระสะสางทำแบบฉบับไว้ให้ถูกต้อง   เพราะบัณฑิตพระร่วง นี้มีคุณค่าทางภาษาและวรรณคดีมาก   เป็นคำสอนที่แสดงถึงคตินิยม  ความเชื่อถือ  และขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยเราแต่โบราณ  เป็นสมบัติวัฒนธรรมของไทยเราที่ควรรักษาเอาไว้  สังเกตุคำนำของกรมศิลปากรในการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้  ดูออกจะอ้อมแอ้มกล้อมแกล้มเต็มที  ทำท่าทีว่าจะอับจนผู้มีความรู้ในเรื่องนี้ไปเสียแล้ว  ซึ่งที่จริงไม่น่าจะเป็นเช้นนั้นเลย 
๙. บัณฑิตพระร่วงนี้ น่าจะใช้เป็นแบบเรียนในเชิงวิชาวรรณดคีของนักเรียน นิสิต นักศึกษา  ในสถานศึกษาของเราด้วย   เพราะเป็นคำสอนที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของไทย  แสดงถึงสมบัติวัฒนธรรมของชาติไทยเราเป็นอย่างดี   สังเกตุดูนักศึกษา หรือผู้บริหารการศึกษารุ่นใหม่มักจะหลงใหลแต่วิชาการต่างชาติไป  จนลืมวัฒนธรรมของไทยเสีย   สุภาษิตไทยเราจึงถูกทอดทิ้งกันเสียหมดสิ้น  ที่เคยกำหนดให้เป็นแบบเรียนก็เลิกเสีย  เช่น คำโคลงโลกนิติ   ของที่ควรจะเพิ่มเติม เช่น "บัณฑิตพระร่วง" นี้ก็ถูกทอดทิ้งเสียอย่างน่าเสียดาย 
๑๐. บัณฑิตพระร่วง เป็นสมบัติวัฒนธรรมอันมีคุณค่าทางภาษา วรรณคดี คตินิยม และเอกลักษณ์ของชาติไทยเรา  จึงได้อุตสาหะเขียนเรื่องนี้ขึ้นเผยแพร่  เพื่อหวังจะให้เป็นที่สนใจของบรรดาครูบาอาจารย์  และผู้บริหารการศึกษาของบ้านเมือง ที่หวังจะปลูกฝังเอกลักษณ์ของชาติไทย  จะได้หยิบยกเอาหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาบ้างตามสมควร



หมายเหตุ

        ๐ ข้าพเจ้าวิจัย  จัดพิมพ์และร่างจบเมื่อ วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๐  นับถืงพ.ศ.๒๕๔๔ นี้  ก็เป็นเวลาถึง ๒๔ ปีเศษแล้ว 
            บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเวลาอันสมควรที่จะพิมพ์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน  ให้นักปราชญ์ทางวรรณคดีได้พิจารณาวินิจฉัยต่อไป  ผิดถูกประการใดข้าพเจ้าขอรับผิดชอบ   แต่ถ้าหากมีคุณความดีอยู่  ก็ขออุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหากษัตริย์นักปราชญ์นักกวีองค์นั้น 


วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๒๑)


๑๖๑. อย่ารักเผ้ากว่าผม
ฉบับกรมศิลปากรว่า "อย่ารักเหากว่าผม"   เห็นว่าน่าจะไม่ถูก เพราะคงไม่มีใครรักเหากว่าผมของตัวแน่  ไม่น่าจะสอนเป็นสุภาษิต แต่ถ้าจะเปรียบความว่า ผมคือเลือดเนื้อเชื้อวงศ์  เผ้าคือคนมาอาศัยเรือนอยู่  ก็อาจจะพอไปได้
ฉบับของกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ว่า "อย่ารักเผ้ากว่าผม"  ฟังเข้าที เพราะผมคู่กับเผ้า
ผม - ขนที่เกิดงอกขึ้นบนศีรษะ  ภาษาบาลีว่า "เกศา" ท่านสอนให้ปลงกรรมฐานว่า  เกสา- โลมา - นขา - ทันตา - ตโจ ให้พิจารณาว่าเป็นอนิจจัง - ไม่เที่ยง, ทุกขัง- เป็นทุกข์, อนัตตา - ไม่ใช่ตัวตน (ไม่งดงาม พรากจากที่เดิมแล้วก็ไม่มีอะไรดี) 
เผ้า - ข้อง วิก ผมปลอม มวยผมที่มุ่นเป็นชฎาแบบฤาษี  เครื่องตกแต่งประดับประดาศรีษะภายนอกกายเพื่อให้สวยงาม  เสริดสวมศรีษะ 
สอนว่า แม้แต่ผมขึ้นจากหนังศรีษะ  ยังไม่งดงาม ยังหงอกขาว  ยังล่วงหลุ่น ไม่เที่ยงไม่สวยงาม แล้วข้องผมที่ประดับศรีษะ อันเป็นข้องภายนอกกาย  จะดีงามควรรักใคร่อย่างไรได้  แม้แต่สิ่งที่เกิดในกาย  ยังไม่ควรรักใคร่ใยดี 

๑๖๒. อย่ารักลมกว่าน้ำ
ลม - พัดให้ร่างกายเย็นสบาย  แต่ก็มองไม่เห็นตัว ตักตวงมาเก็บไว้ไม่ได้ ดื่มกินแก้กระหายไม่ได้  ชำระล้างร่างกายให้สะอาดไม่ได้ ใช้หุงต้มไม่ได้ เปรียบเหมือนคำพูดที่ไพเราะ 
น้ำ - อาบให้เย็นสบายเหมือนลมพัด  แต่ก็ยังชำระร่างกายให้สะอาดได้  ใช้ดื่มกินแก้กระหายได้ ใช้หุงต้มอาหารกินได้  มีตัวตนเก็บรักษาไว้ได้  ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าลม  เปรียบเหมือนน้ำใจดี
สอนว่าอย่ารักลมกว่าน้ำ เป็นคำเปรียบเทียบว่า  อย่ารักคำพูดที่เป็นลมๆ ไม่จริงจังอะไร  ฟังได้เย็นๆหูให้ชื่นใจเท่านั้น  แต่น้ำใจนั้นมีค่ายิ่งกว่าคำพูด  รักก็รักน้ำใจดีกว่ารักคำพูดที่หวานหู

๑๖๓. อย่ารักถ้ำกว่าเรือน
ถ้ำ - เป็นที่อยู่อาศัยในป่า  นอกจากเป็นที่อยู่อาศัยของคนแล้ว โจรผู้ร้าย  เสือร้าย งูพิษ ก็อาศัยอยู่ได้  เปรียบเหมือนใจคนร้าย  มีความชั่วร้าย เปรียบเหมือนใจคนร้าย   มีความชั่วร้ายอยู่ในใจไม่น่าไว้ใจคบหาให้เป็นสุขได้ตลอดไป
เรือน - เป็นที่อยู่อาศัยของคน  คนปลูกสร้างขึ้นเอง อาศัยเอง  จะปลูกสร้างให้น่าอยู่อาศัยอย่างไรก็ได้  เหมือนเรือนใจของคนดี  ย่อมมีคุณธรรมควรคบหาไว้ใจได้ว่าจะปลอดภัยเป็นสุข
สอนว่าอย่ารักถ้ำกว่าเรือน  เปรียบเหมือนอิงแอบอาศัยในหมู่คนดี เป็นสุขกว่าอยู่ท่ามกลางคนร้าย  ไม่น่าไว้ใจ ไม่น่าเป็นสุขเหมือนอยู่ในหมู่คนดี  หรือหมู่นักปราชญ์
คำโคลงโลกนิติว่า
"ได้เห็นนักปราชญ์ไซร้     เป็นสุข
  อยู่ร่วมเรือนหายทุกข์      ค่ำเช้า
  ผู้พาลสั่งสอนปลุก           ใจดั่ง พาลนา
  ยลเยี่ยงนกแขกเต้า          ตกต้องมือโจรฯ "
เปรียบความว่า ถ้าเป็นเหมือนเรือนโจร   เรือนเป็นเหมือนอาศรมพระฤาษี

๑๖๔. อย่ารักเดือนกว่าตะวัน  
เดือน - ดวงจันทร์ ส่องยามค่ำคืน  มีขึ้นมีแรง ไม่คงที่ เปรียบเหมือนใจคนคดใจคนพาล  ไม่แจ่มแจ้งผ่องใสตลอดไปได้  ถึงจะทำเป็นคนดีก็เป็นคนดีไปไม่ตลอด มีมืดมีสว่าง 
ตะวัน - ส่องยามกลางวัน  คงที่ไม่มีขึ้นมีแรง  แม้จะมีเมฆบังก็ชั่วครูชั่วยาม  เปรียบเหมือนใจคนตรง ใจคนดี ใจนักปราชญ์ ใจผู้มีศีลธรรม  ย่อมส่องสว่าง  คงเส้นคงวา  สว่างตลอดเวลาทีมีชีวิตอยู่ 
สอนว่า คนพาลนั้นมีมืดมีสว่าง ไม่คงที่ อย่าหลงรัก  ใจบัณฑิตนั้นสว่างคงที่  ไม่มีมืดมน  จึงอย่ารักคนพาลยิ่งกว่ารักบัณฑิต เป็นคำสอนเปรียบเทียบ 
คำโคลงโลกนิติกล่าวไว้ว่า
"คนใดไปเสพด้วย            คนพาล
  จักทุกข์ทนเนานาน         เนิ่นแท้
  ใครเสพท่านทรงญาณ    เปรมปราชญ์
  เสวยสุขเลิศล้ำแท้          เพราะได้สดับดี ฯ"
มาจากภาษาบาลีว่า 
โย ชโย พาลสมาคโม สุขปฺปตฺโต นสํ สิต
ปณฑิตา จ  สหา สุขา พาลาทุกข สมาคมา 

(โปรดติดตามต่อไป)



วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๒๐)


๑๕๑. คิดข้างหนักอย่าเบา
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "คิดข้างหน้าอย่าเบา"  เห็นว่าผิด เพราะว่า "หนัก" คู่กับ "เบา"  คำว่า "หน้า" ไม่ใช่คำคู่กับ "เบา" เป็นคำคู่กับ "หลัง"  จีงแปลไม่ได้ความ
 เบา - เบาความ เบาความคิด เบาปัญญา  หูเบา ไม่หนักแน่น  ไม่สุขุมรอบคอบ ขาดสติยั้งคิด
หนัก - หนักแน่น มั่นคง หนักหน่วง ใจหนัก
สอนว่า คิดหนักหน่วง ตรึกตรองหน้าหลังให้ดี  อย่าใจเบา หูเบา ฟังความข้างเดียว 
โบราณสอนว่า "พกหินดีกว่าพกนุ่น"  หมายความว่า ให้หนักแน่นไว้ อย่าหูเบา ใจเบา อย่าเชื่อง่ายใจเร็ว 

๑๕๒. อย่าถือเอาตื้นกว่าลึก 
ตื้น -  คิดตื้นๆ คิดแค่ชั้นเดียว  คิดแต่ทางได้ ไม่คิดทางเสีย  คิดแต่ทางไล่ไม่คิดทางหนี 
ลึก - คิดลึก  คิดทางได้ทางเสีย  คิดทางหนีทีไล่ เหมือนเดินหมากรุกก็ต้องคิดหลายตาหลายชั้น ว่าเดินไปตานั้น  จะถูกกินจากตัวใดบ้าง  เดินไปแล้วจะเดินไปตาใดอีก  อย่างนี้เรียกว่า คิดลึก 
สอนว่า  อย่าคิดตื้นๆ ให้คิดลึกๆ  คิดหลายๆชั้น  คนคิดตื้นๆ ทำอะไรไม่คิด  พูดอะไรไม่คิด ท่านเรียกว่า คนบ้องตื้น  เหมือนกระบอกไม้ปล้องสั้นๆ  ทำกระบอกใส่น้ำได้ตื้น  จุน้ำได้นิดเดียว ทำข้าวหลามก็เนื้อนิดเดียว

๑๕๓.เมื่อเข้าศึกระวังตน
เข้าศึก - เข้าสงคราม เข้าสนามรบ 
สอนให้ระวังตนเมื่อเข้าสนามรบ 
ข้อนี้เห็นจะไม่ต้องอธิบายขยายความต่อไป  การรบกันต้องระวังตัวทุกเมื่อ  แม้แต่ศึกหน้านาง หรือศึกชิงนาง   อันเป็นศึกย่อยๆ  เพราะถ้าพลาดท่าก็ถึงตาย 

๑๕๔. เป็นคนเรียนความรู้ 
          จงยิ่งยิ่งผู้มีศักดิ์
เป็นคน - เกิดมาเป็นคน 
จงยิ่งผู้ - จงมากยิ่งกว่าผู้อื่น
ผู้มีศักดิ์ - จึงจะเป็นผู้มีศักดิ์ มีเกียรติยศ มีชื่อเสียง
สอนว่าเกิดเป็นคน ควรเรียนวิชาความรู้ให้ยิ่งกว่าผู้อื่น  จึงจะเป็นผู้มีเกียรติ มียศศักดิ์ มีชื่อเสียง 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"ความรู้ผู้ปราชญ์นั้น                 รักเรียน
  ฝนทั่งเท่าเข็มเพียร                ผ่ายหน้า
  คนเกียจเกลียดหน่ายเวียน     วนจิต
  กลอุทกในตะกร้า                    เปี่ยมล้นฤามี ฯ" 

"ความรู้รู้ยิ่งได้                          สินศักดิ์
  เป็นที่ชนพำนัก                       นอบนิ้ว
  อย่าเกียจเกลียดหน่ายรัก       เรียนต่อ
  รู้รอบใช่หอบหิ้ว                      เหนื่อยแพ้โรยแรง ฯ"
โบราณว่า รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม
คำโคลงโลกนิติอีกบทหนึ่งว่า
"ความรู้ดูยิ่งล้ำ                    สินทรัพย์
  คิดค่าควรเมืองนับ            ยิ่งไซร้
  เพราะเหตุจักอยู่กับกาย   กายอาต-มานา
  ใครจักเบียญบ่ได้             เร่งรู้เรียนเอา ฯ" 
ท่านสรรเสริญ ความรู้หนักหนา  จึงสอนว่า เกิดเป็นคนควรเรียนความรู้ไว้ให้มาก  จึงจะมีเกียรติศักดิ์


๑๕๕. อย่ามักง่ายมิดี
มัก - รัก ชอบ พอใจ ทำบ่อยๆ 
ง่าย - ชุ่ย ทำส่งเดช ทำสักว่าทำ ไม่ทำให้ดี  ทำพอให้เสร็จไป
สอนว่าอย่ารักทำแต่พอแล้ว  หรือสักแต่ว่าทำ  ต้องทำให้ดีที่สุด ทำด้วยความรอบคอบ ทำให้เรียบร้อยสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย  เพราะคุณค่าของคนอยู่ที่ผล  ฝืมือของคนอยู่ที่ผลงาน ผลงานจะเป็นเครื่องวัดความรู้  ความสามารถและคุณธรรมในจิตใจของคน  โบราณมักจะพูด ใครทำอะไรก็มักจะเหมือนตัวคนน้ัน   เพราะผลงานเป็นผลิตผลจากฝีมือ และจิตใจของคน เช่นการเขียนหนังสือ  คนเขียนหนังสือหวัดๆ ยุ่งๆก็เพราะใจร้อน ใจเร็ว คนลายฝีมือดีก็แสดงว่าจิตใจเยือกเย็น 

๑๕๖. อย่าตีงูให้กากิน
งูนั้นคนเกลียดกลัวก็จริงอยู่  แต่คนฆ่างูให้ตายแล้ว คนก็ไม่เอามาต้มแกงกิน ทิ้งให้เป็นเหยื่อแก่กา  คนฆ่าสัตว์ทำบาปเปล่าๆ  
โบราณสอนว่า "อย่าตีงูให้กากิน"   เป็นการเปรียบเทียบการกระทำของคน ที่ไปทำงานสิ่งหนึ่งลงแล้วตนก็ไม่ได้ประโยชน์  คนอื่นที่ไม่ได้ทำอะไร  ฉกฉวยเอาประโยชน์ไปง่ายๆ  ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร เช่นเกลียดชังคนหนึ่งอยู่เพราะเป็นคนไม่ดี  ถ้าเราไปทำลายล้างเขาลงแล้ว  คนอื่นที่ไม่ได้ทำบาปกลับจะได้ประโยชน์  ถ้าเขาชั่วร้ายเราก็หลีกเลี่ยงเสีย  อย่าคบค้าหรือเกี่ยวข้อง  "อเสวนาจพาลานัง"  ปล่อยให้ธรรมชาติลงโทษเขาเอง  ตามผลแห่งความชั่วของเขาจะดีกว่า  เช่นถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปลงโทษตามความผิด 
โบราณสอนอีกคำว่า  "ชั่วช่างชีไม่ดีช่างเถร"  อย่าไปนินทาว่าร้าย บาปกรรมเปล่า  ท่านชั่วจริง ท่านปราชิกจริง ท่านก็ตกนรกเอง เราอย่าไปเกี่ยวข้อง 

๑๕๗. อย่าตีปลาหน้าไซ
ไซ - เครื่องดักกุ้ง ดักปลา  สานด้วยไม่ไผ่ จักตอกละเอียด รูปยาวรรี ปากบาน เหมือนตะข้องใส่ปลา   ปลาเข้าไปจะออกไม่ได้ ใช้วางไว้ตามทางน้ำไหล 
ปลา - คือปลาที่มาตามน้ำไหล  ว่ายเข้าปากไซ ไปติดอยู่ในไซ
การตีปลาหน้าไซ คือ การกระทุ่มน้ำหน้าไซด้วยมือหรือไม้ ทำให้น้ำกระเพื่อม  ปลาที่กำลังว่ายตามน้ำจะเข้าไซ ก็ตกใจหนีไม่เข้าไซ ท่านจึงว่าอย่าตีปลาหน้าไซ  เป็นการเปรียบเทียบว่า คนหมู่หนึ่งกำลังเดินมาตามทำนองคลองธรรม  เช่น จะทำบุญทำกุศล ก็อย่าไปพูดจาขัดขวางการทำบุญทำกุศลของเขาเสีย
มหาเวสสันดรชาดกว่า "อย่าตีปลาหน้าไซให้เสียเปล่า"  ชาวบ้านพูดคำนี้อยู่เสมอ เป็นคำพูดเปรียบเทียบ   
มีคำพูดจำพวกเดียวกันอยู่สองสามคำคือ "ตีป่าให้เสือกลัว"  "เขียนเสือให้วัวกลัว"  แต่มีความหมายต่างกัน 
"ตีป่าให้เสือกลัว" หมายถึง คนกำลังจะทำชั่วก็ข่มขู่ให้หวาดกลัว หรือทำฮึกฮักกึกก้องให้นักเลงกลัว  
"เขียนเสือให้วัวกลัว" หมายถึงธรรมชาติของวัวกลัวเสือ  แต่เมื่อไม่มีเสือจริงก็เขียนรูปเสือให้วัวกลัว  แต่วัวนั้นไม่กลัวรูปเสือ เพราะไม่มีกลิ่นและไม่มีเสียงของเสือ  วัวนั้นไม่กลัวรูปร่าง มันกลัวกลิ่นและเสียงเสือ 

๑๕๘. ใจอย่าเบาจงหนัก
ใจเบา - โกรธง่าย ฉุนเฉียว  ไม่อดทน ขาดขันติธรรม  วู่วาม โกรธเกรี้ยวเชื่อง่าย 
ใจหนัก -  หนักแน่น มั่นคง อดทน มีขันติธรรม  ไม่วู่วาม ไม่ฉุนเฉียว ฟังหูไว้หู 
โบราณสอนว่า  "พกหินดีกว่าพกนุ่น"  เพราะหินหนัก ถ่วงไว้  ส่วนนุ่นเบาลอยลมไป  
พระแม่ธรณีบีบมวยผม มีน้ำไหลออกมาน้ัน  คิดดูให้ดีก็จะเห็นว่า  พระแม่ธรณีนั้นหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน  ไม่สะดุ้งสะเทือนไม่หวั่นไหว  ขังน้ำไว้ดี คือมีเมตตา  มีน้ำอดน้ำทน  จึงชนะทุกสิ่งทุกอย่างได้  เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิชิตพญามารน้ัน   ก็ทรงอ้างเอาพระแม่ธรณีเป็นพยาน  คืออ้างเอาขันติธรรม  และความเมตตากรุณานั่นเอง 
คำโคลงโลกนิติว่า
"ภูเขาทั้งแท่งล้วน         ศิลา
  ลมพายุพัดห่อน           ห่อนขึ้น
  สรรเสริญและนินทา     ในโลก
  ใจปราชญ์รือเฟื่องฟื้น   ห่อนได้จิตต์จล"

๑๕๙. อย่าตีสุนัขห้ามเห่า
สุนัข  มีธรรมชาติชอบเห่า  เพราะลักษณะนิสัยชอบเห่านี้เอง  คนจึงเลียงไว้เฝ้าบ้าน ให้เห่าขโมย 
ห้ามเห่า -  การที่จะห้ามไม่ให้สุนัขเห่าจึงทำไม่ได้    จะตีมันอย่างไร มันก็คงเห่าต่อไป   การตีสุนัขดุเมื่อมันกัดหรือมันตะกละ มันกัดหมูกัดไก่นั้นตีห้ามได้ แต่จะตีห้ามเห่านั้นไม่สำเร็จ  
สอนว่าอย่าตีสุนัขห้ามเห่า  เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติของสัตว์  เปรียบความว่า สันดานของมนุษย์น้ัน   จะแก้ไขอย่างไรก็ไม่ได้  พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนได้แต่พุทธเวไนยเท่าน้้น  คนร้ายเหลือกำลังก็ทรงปล่อยไปตามยถากรรม 

๑๖๐. ข้าเก่าร้ายอดเอา
ข้าเก่า - ทาสในเรือนเบี้ย เลี้ยงมาแต่ปู่ย่าตายาย  บริวารเก่าแก่ ใช้สอยมาแต่หนุ่มสาว  คนใช้เก่าแก่ใช้สอยกันมานานปี   คนพวกนี้ย่อมจะรู้ตื้นลึกหนาบางความลับของครอบครัว  ที่เก็บสมบัติ ช่องทางเข้าออกข้างนอกข้างใน ทางหนีทีไล่ จุดอ่อนแอ  ความบกพร่องของบ้านนี้  ถึงจะร้ายอย่างไรก็จำต้องเลี้ยงไว้  ต้องอดอออมถนอมน้ำใจไว้  ไม่โกรธเกรี้ยว ด่าว่า ขับไล่ไสส่ง   เพราะนอกจากเสียศีลธรรมแล้ว เขาอาจคิดร้ายเอาได้ 
สอนว่า ข้าเก่าร้ายอดเอา  คนเก่าแก่ต้องถนอมน้ำใจไว้ ไม่ใช้อำนาจบาทใหญ่ ขับไล่ไสส่ง  คำสอนแต่โบราณเตือนว่า "ช้างสาร ข้าเก่า งูเห่า เมียรัก"  อย่าวางใจ
คำโคลงโลกนิติว่า
"ช้างสารหกศอกไซร้     เสียงา
  งูเห่ากลายเป็นปลา      อย่าต้อง
  ข้าเก่าเกิดแต่ตา           ตนปู่ก็ดี
  เมียรักอยู่ร่วมห้อง        อย่าได้วางใจ ฯ"
  
(โปรดติดตามต่อไป)






วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๙)


๑๓๗. ความแหนให้ประหยัด
ความแหน - ของหวง ของรัก ของสงวน
ประหยัด - มัธยัสถ์ ระมัดระวัง ใช้แต่น้อย ไม่ให้ล่วงเกิน 
สอนว่า ของหวง ของรัก ควรสงวนไว้ ควรประหยัดไว้มิยอมให้ใครล่วงเกิน หยิบฉวย ของหวงมีหลายอย่าง  เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ของใช้ส่วนตัว  ช้าง ม้า พาหนะ รถยนต์  ภรรยา บุตรสาว สิ่งเหล่านี้ท่านให้ระวังรักษาอย่าปล่อยทอดทิ้ง  อย่าใช้สอยเกินความจำเป็น อย่าให้ใครยืม หรืออย่าฝากใคร เดี๋ยวจะผิดใจกัน เมื่อของรักของหวงมีอันตราย 

๑๓๘. เผ่ากระษัตริย์เพลิงงู
(อย่าดูถูกว่าน้อย)
ฉบับกรมพระยาปวเรศฯ ว่า "เฝ้ากระษัตรเพลิงงู"  เห็นจะผิดความเดิมเป็นแน่  ที่ถูกน่าจะเป็น "เผ่ากระษัตรเพลิงงู" มากกว่า 
เผ่ากระษัตริย์ - วงศ์กษัตริย์ หน่อกษัตริย์ ราชกุมาร
เพลิง - ไฟ
สอนว่า หน่อกษัตริย์ ไฟ งู อย่าดูถูกว่าเล็กน้อยไม่สำคัญ 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"อย่าหมิ่นของเล็กน้อย        สี่สถาน
  เล็กพริกพระกุมาร              จีดจ้อย
  งูเล็กเท่าสายพาน              พิษยิ่ง
  ไฟเล็กเท่าหิ่งห้อย             อย่าได้ดูแคลน ฯ"
บัณฑิตพระร่วงก็สอนตรงกัน

๑๓๙. หิ่งห้อยอย่าแข่งไฟ
คำว่า "หิ่งห้อยส่อง   ก้นสู้จันทร์หรือ แสงไฟ"  นี้ดูเหมือนจะเป็นคำสอนที่รู้กันทั่วไป
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"หิ่งห้อยส่องคั้นสู้             แสงจันทร์
  ปัดเทียบเทียมรัตน์อัน    เอี่ยมค่า
  ทองเหลืองหลู่สุวรรณ    ธรรมชาติ
  พาลว่าตนเองอ้า            อาจล้ำเลยกวี ฯ"
เป็นคำสอนที่สอนตรงกัน

๑๔๐ อย่าปองร้ายต่อท้าว
ปองร้าย - คิดร้าย มองในแง่ร้าย
ท้าว -  ท้าวไท  ผู้เป็นใหญ่ พระเจ้าแผ่นดิน
สอนว่า อย่าคิดร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดิน  ผู้มีบุญบารมี มีบุญญาธิการสูง  แม้แต่มองในแง่ร้าย ดังที่พวกหัวเอียงซ้ายเขาคิดกันในปัจจุบัน  อันทีจริง คนที่ปองร้าย คิดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ มีมาแต่โบราณกาลแล้ว  แต่ก็แพ้ภัยตัวไปหมด  พระพุทธเจ้ายังมีคนคิดปองร้ายอยู่เนืองๆ เช่นพระเทวทัต  แต่ก็แพ้พระบารมีไปเอง  ดังแมงเม่าบินเข้ากองไฟ หรือหนูท้าราชสีห์รบ 
คำโคลงโลกนิติว่า
"หนูเห็นราชสีห์ท้า            ชวนรบ
  กูสี่ตีนกูพบ                      ท่านไซร้
  ท่านกลัวท่านอย่าหลบ    หลีกจาก กูนา
  ท่านสี่ตีนอย่าได้              วากเว้ทางหนี ฯ"
"สีหราชร้องว่าโอ้              พาลหนู
  ทุรชาติครั้นเห็นกู            เกลียดใกล้
  ฤามึงใคร่รบดนู               มีงนาศ เองนา
  กูเกลียดมึงกูให้              พ่ายแพ้ภัยตัว ฯ"

๑๔๑. อย่ามักห้าวพลันแตก
ห้าว - แก่ เช่นมะพร้าวห้าว, กล้า เช่น คนห้าวหาญ
แตก - หัก บิ่น
สอนว่าอย่ากล้านักมักบิ่น อย่าห้าวนักมักแตก  เช่น พลุ ปืน 
คำโคลงโลกนิติว่า
"พลอดนักมักพลาดพลั้ง            พลันผิด
  หาญนักมักชีวิต                        มอดม้วย
  ตรองนักมักเสียจิต                    จัดคลั่ง
  รักนักมักหลงด้วย                      เล่ห์ลิ้นลมหญิง ฯ"

๑๔๒. อย่าเข้าแบกงาช้าง 
งาช้างอันยาวรี  สีขาวสะอาดนั้น  มันมีไว้เป็นอาวุธใช้แทงศัตรู  อย่าเห็นเป็นของสวยงามเข้าแบกหามเล่น  มันจะแทงตายเปล่า แม้ช้างตายนอนอยู่ ก็เข้าแบกเอางามาไม่ได้  แม้ว่าจะถอดถอนออกมาได้ เพราะฆ่าช้างเอางา  เขาก็ไม่แบกเอามา เพราะงาช้างมีน้ำหนักมาก โคนโต ปลายแหลม น้ำหนักไม่เท่ากัน  แบกหนักและลำบาก เขาต้องเอาเชือกผูกมัดแล้วช่วยกันหามเอามา 
ท่านจึงสอนว่า อย่าเข้าแบกงาช้าง นี้อย่างหนี่ง 
งาช้างนี้ท่านเปรียบเหมือนถ้อยคำของผู้มีสัจ  ยาวเท่าไรก็ยาวเท่านั้น ไม่หดคืนเข้าปากไป  กล่าวอย่างไรก็คงอยู่อย่างน้้นไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะหดหาย  เจ้าของคำพูดท่านรักษาคำพูดของท่านไว้เอง  เหมือนงาช้างที่ออกมาจากปากช้าง คนอื่นไม่ต้องไปช่วยแบกหามไว้ 
คำโคลงโลกนิติว่า
"งาสารฤาเหี้ยนห่อน         หดคืน
  คำกล่าวสาธุชนยืน          อย่างน้ัน
  ทุรชนกล่าวคำผืน            คำเล่า
  หัวเต่ายาวแล้วสั้น           เล่ห์ลิ้นทรชน ฯ"

๑๔๓.อย่าออกก้างขุนนาง
ก้าง - กางกั้น ขัดขวาง ขัดคอ ขัดใจ
ขุนนาง - ข้าราชการ ผู้มีบรรดาศักดิ์  อำมาตย์ ตำรวจ
สอนว่า อย่าไปขัดขวาง ขัดคอ ขัดใจข้าราชการผู้มีอำนาจ  เพราะเหนตุว่าเขาอาจใช้อำนาจกลั่นแกล้ง หาเรื่องประทุษร้ายเอา   ถ้าเขาเห็นวาเราเป็นศัตรูไปขัดคอ  ขัดใจ ขัดผลประโยชน์ของเขา  ตามธรรมดาข้าราชการผู้มีอำนาจนั้น  เขาย่อมจะมีผลประโยชน์ มีลาภผลรายได้ ทั้งทางตรงทางอ้อม ทางลับและทางแจ้ง  เขาย่อมมีบริวาร เขาย่อมมีบริวารร่วมกับคนอื่นอยู่ด้วย  ถึงผลประโยชน์นั้นจะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ตาม  เขาเคยได้รับเขาก็จะเกิดความโลภไม่รู้ผิดรู้ชอบ เพราะความโลภบังตาบังใจอยู่ ใครขืนเข้าไปขัดขวางผลประโยชน์ของเขา  เขาย่อมจะโกรธ หาเรื่องกลั่นแกล้งใส่ร้าย  และใช้อำนาจหน้าที่ของเขาทำลายเรา  หาความผิดเราด้วยข้อหาร้ายแรง

๑๔๔ ปางมิชอบท่านช่วย
ปางป่วยท่านชิงชัง
ตามธรรมดาขุนนางนั้น ท่านเลี้ยงข้าทาสบริวารไว้ช่วยทำการงาน  เมื่อยังดีมีแรงอยู่ท่านก็ได้ใช้แรงงาน ถึงจะทำผิด(มิชอบ)  ท่านก็ช่วยให้พ้นผิดได้  เพื่อเอาไว้เป็นบริวารรับใช้ท่านต่อไป  ท่านช่วยเพราะหวังจะใช้งาน  เอาไว้เป็นบริวารประดับบารมี ทั้งทางดีและทางชั่ว เช่นฆ่าคนที่ขัดผลประโยชน์  เรียกว่า ปางมิชอบท่านช่วย 
ปางป่วยท่านชิงชัง  คือเวลาที่เราเจ็บป่วย ใช้งานการไม่ได้  ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาพาล  ท่านก็ชิงชัง เป็นเช่นนี้แต่โบราณ แต่ในสมัยปัจจุบันก็ยังมีอยู่ 
บัณฑิตพระร่วงบทนี้ กล่าวถึงสภาพความเป็นจริง  จึงเป็นสุภาษิตที่ฟังได้ทุกสมัย 

๑๔๕. ผิวะบังบังจงลับ 
บัง - ปิด
สอนว่าถ้าจะปิดก็ปิดให้ลับหู ให้ลับตา  อย่าให้ใครรู้อย่าให้ใครเห็น  เช่นเรื่องส่วนตัวในครอบครัว 
แต่ว่าเรื่องใหญ่นั้นอย่าปิดให้ป่วยการ  ย่อมจะมีคนรู้จนได้ ท่านว่า  "ช้างตายท้ังตัว เอาใบบัวปิดนั้นไม่มิด"   ถึงจะอยู่ในที่ลับตาก็ยังมีกลิ่นเหม็น 
โบราณว่า "ฝามีหู ประตูมีตา"  ที่ข้างฝามีคนเอาหูแอบฟัง   ที่ประตูก็มีคนเอาตามาแอบดู  ความลับไม่มีในโลก ฉนั้นท่านจีงสอนว่า ปิดก็ปิดให้มิด  

๑๔๖. ผิวะจับจับจงมั่น 
มั่น - มั่นคง ไม่หลุด โบราณเขียน "หมั้น"  และคำว่า "หมั้นขันหมาก" นั้นก็คือ เอาหมากพูล  และแก้วแหวนเงินทอง ไปผูกหญิงสาวให้มั่นคง  ไม่หลุดตนไปเป็นของผู้อื่น  เป็นการผูกมัดใจไว้
สอนว่าถ้าจะจับก็จับให้มั่น อย่าให้หลุดมือไป  เช่นการจับปลาก็ให้จับทั้งสองมือ   คำว่า "จับปลาสองมือ" หมายความว่า  จับปลาสองตัวตัวละมือ   หรือการจับโจรผู้ร้าย จับคนผิดก็ต้องมีพยานหลักฐานให้มั่นคง  อย่าให้หละหลวมไปหลุดชั้นศาล

๑๔๗. ผิวะคั้นค้ั้นจงตาย
คั้น - บีบ เค้น  เช่น คั้นกะทิ  เค้นคอ จับคอบีบ 
สอนว่า ถ้าจะบีบคั้น  ก็ให้บีบคั้นให้อยู่มือ  ให้ตายคามือ เช่นจับคองูได้ ก็เค้นให้ตายคามือ อย่าปล่อยมันจะกัดเอาตาย  จับคนร้ายได้ก็ค้ันคอเอาความจริงให้ได้ ให้สารภาพผิดเสียก่อน อย่าปล่อยให้เป็นอิสระ ถ้าปล่อยแล้ว เขาก็จะไม่ยอมรับ คนร้ายที่ถูกบีบคั้น จึงพูดว่า "เหมือนลูกไก่อยู่ในกำมือ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด"

๑๔๘. ผิวะหมายหมายจงแท้
หมาย - มุ่ง จุดหมาย ปลายทาง วัตถุประสงค์ เป้าหมายที่จะไป ที่จะทำให้สำเร็จ
สอนว่าถ้าจะมุ่งหมายทำอะไร ก็ให้ตั้งใจมุ่งหมายให้แน่นอน  ตั้งใจให้จริง จึงจะสำเร็จ  อย่าเปลี่ยนใจ อย่าท้อแท้ หลักจิตวิทยาสมัยใหม่  ท่านว่า  ถ้าเราตั้งใจมุ่งหมายที่จะเป็นอะไรตั้งแต่วัยหนุ่ม  ตั้งใจให้จริงให้แท้แน่นอน  ด้วยความทะเยอทะยานใฝ่ฝันอย่างจริงจัง  ท่านว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต 
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ ปฎิบัติดี ปฎิบัตถูกต้อง ย่อมจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ตามบุญวาสนาของตน 

๑๔๙. ผิวะแก้แก้จงกระจ่าง
กระจ่าง - แจ้ง สว่าง ประจักษ์ใจ 
แก้ - ไข เช่น แก้ปริศนา แก้กระทู้ธรรม แก้คดี แก้ความข้องใจ  แก้ตัวที่มีผู้กล่าวหาผิด 
สอนว่าถ้าจะแก้ไขอะไร  ก็แก้ให้กระจ่างชัด ให้คนเห็นแจ้ง ไม่มีที่เคลือบคลุมสงสัย  จะแก้ปริศนา แก้คคีความ หรือแก้ตัวเมื่อมีผู้กล่าวโทษผิดจากความจริง  ทนายที่แก้คดีความนั้นจะต้องแสดงด้วยพยานบุคคลและเอกสาร ให้ศาลเชื่อว่าไม่ผิดจริง  ศาลจึงจะยกฟ้องไม่เอาผิดกับจำเลย  อย่างนี้เรียกว่า "แก้กระจ่าง" เห็นชัดแจ้ง  แก้กระทู้ธรรมที่ท่านตั้งไว้  เช่น "อตฺตาหิ อตฺโน นาโถ" ก็ต้องอธิบายความให้เห็นจริงว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตนอย่างไร  จึงจะได้ชื่อว่าแก้กระทู้ธรรมได้ชัดแจ้ง  คนอ่านแล้วเห็นจริงไม่เคลือบคลุมสงสัยอีกต่อไป  อย่างนี้เรียกว่า "แก้กระจ่าง" สว่างในจิตใจ  

๑๕๐. อย่ารักห่างกว่าชิด
ห่าง - คือ คนอื่นคนไกล  ไม่ใช่ญาติสืบสายโลหิต  บุตรเขย ลูกสะใภ้ ซึ่งไม่ใช่ลูกในอก บุตรเลี้ยง บุตรบุญธรรมซึ่งไม่ใช่บุตรจริงๆ หลานซึ่งห่างกว่าลูก  แม้กระทั่งทรัยพ์นอกกาย  ไม่ใช่ชีวิตร่างกาย นี้เรียกว่าห่าง 
ชิด - คำว่า ชิด คือ ใกล้  ได้แก่ ใกล้ตัว ใกล้หัวใจ ใกล้โดยสายเลือด 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"ช้างม้าเมียมิ่งแก้ว        เงินทอง 
  ตัวมิตายจักปอง          ย่อมได้
  ชีวิตสิ่งเดียวของ         หายาก
  ใช่ประทีปเทียนได้      ดับแล้วจุดคืน ฯ"
  
             


(โปรดติดตามตอนต่อไป)
  

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๘)

๑๒๗. เมตตาตอบต่อมิตร
เมตตา - รักใคร่ อยากให้เขาเป็นสุข คู่กับ กรุณา อยากให้เขาพ้นทุกข์
สอนให้รักใคร่มิตร มีน้ำใจปรารถนาดี  อยากให้เขาเป็นสุข  มิตรเป็นทุกข์ก็มีใจช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์  มิตรได้ดีมีสุขก็พลอยยินดีด้วย  ๓ ประการนี้โบราณรวมอยู่ในคำว่า "เมตตา"  ท่านจึงใช้คำว่า "แผ่เมตตา"  และสอนให้แผ่เมตตาต่อสรรพสัตว์ เพื่อนร่วมโลกร่วมเกิดแก่เจ็บตายทั่วหน้า  ไม่มีขอบเขตจำกัด  ผู้แผ่เมตตาย่อมมีอานิสงค์ ๑๑ ประการคือ 
หลับก็เป็นสุข 
ตื่นก็เป็นสุข 
ไม่ฝันร้าย 
เป็นที่รักของมนุษย์ทั่วไป
เป็นที่รักของอมนุษย์ทั่วไป 
เทวดาย่อมคุ้มครองรักษา
ไฟ ศัตราวุธ ยาพิษไม่กล้ำกราย
จิตย่อมเป็นสมาธิได้รวดเร็ว
ผิวหน้าย่อมผ่องใส
เป็นผู้ไม่ลุ่มหลงทำกาลกิริยาตาย
ย่อมไปเกิดในพรหมโลก

๑๒๘. คิดแล้วจึงเจรจา
เจรจา -  พูด พูดจา  พูดอย่างเป็นทางการ
สอนให้คิดก่อนที่จะพูดจากัน

๑๒๙. อย่านินทาผู้อื่น
การนินทา เป็นการเพ่งโทษจับผิดผู้อื่น  เป็นคนมองคนอื่นในแง่ร้าย ทำให้จิตใจของผู้พูดโกรธ เกลียด และดึงดูดเอาความไม่ดีของคนอื่นมาเป็นสมบัติของตนโดยไม่รู้ตัว  คนที่นินทาคนเก่ง ด่าว่าติเตียนคนเก่ง  จึงเป็นคนที่ขาดคุณสมบัติที่ดีงามของมนุษย์  ดึงดูดสะสมเอาความชั่วร้ายไว้ในจิตใจ  ในที่สุดเขาก็จะเป็นเหมือนปากที่เคยนินทาว่าร้ายผู้อื่น 
ตรงข้ามกับคนที่มักสรรเสริญ  ยกย่องผู้อื่นด้วยความจริงใจ  มักจะดึงดูดเอาคุณสมบัติที่ดีงามนั้นไว้เป็นคุณสมบัติของเขาเอง  คนที่ใกล้ชิดกับเจ้านาย ผู้บังคับบัญชา ครูบาอาจารย์  พ่อแม่ พี่น้องที่ดีก็มักจะเป็นคนดีไปด้วย  คนที่อยู่กับคนที่ชั่วร้ายก็มักจะติดนิสัยชั่วร้ายไปด้วย  คนที่เคยอยู่กับคนเก่งคนดี  มักจะประสบความสำเร็จเท่าเทียมกับคนที่ตนเคยอยู่ด้วย  และมีความเคารพนับถือนั้น 
บัณฑิตพระร่วงจึงสอนไม่ให้นินทาผู้อื่น  เพราะไม่เกิดผลดีแก่ตนเลย  นอกจากผลร้ายอย่างเดียว  เห็นง่ายที่สุดก็คือ ถ้ารู้ถึงหูเขา  ก็จะถูกโกรธเคืองกลายเป็นศัตรูกันไป   เพราะคนเเราไม่ชอบถูกนินทา  และอันที่จริงคนเรา ถึงจะชั่วช้าเพียงไร  ก็มีดีอยู่ในตัวบ้างสักอย่างหนึ่ง  เราจีงควรค้นหาสิ่งทีดีที่เขามีอยู่ในตัวนั้นมาพูดดีกว่า  

๑๓๐ อย่าตื่นยอยกตน
ตื่น - ตื่นเต้น ดีใจจนออกนอกหน้า   ดีใจในคำยกยอ แสดงอาการหลุกหลิกลุกลน  พูดจาคุยอวดตนต่อไปอีก   เหล่านี้เป็นอาการที่ตื่นตัวยอยกตน  ตามคำน้ัน เราทั้งหลายคงเคยเห็นมาแล้ว   แต่บางคนเมื่อฟังคำยกยอก็นิ่งเฉยเสีย  เป็นปกติ ไม่โต้ตอบ  ไม่แสดงอาการผิดปกติ  บางคนก็กลับถ่อมตัวลงว่า  ไม่เป็นจริงอย่างน้้น สองคนข้างหลังนี้  คืออาการของคนที่ไม่ตื่นคำยอยกตน 
สอนว่า อย่าตื่นเต้นต่อคำยอยกตน  นักปราชญ์นั้นนอกจากไม่ตื่นเต้นต่อคำยอยกแล้ว  ยังไม่หลงไหลต่อคำนินทาด้วย  ใครนินทาก็ไม่แสดงอาการโกรธเคือง  เพราะคำสรรเสริญ นินทาน้้นเป็นของธรรมดาโลก เป็นโลกธรรมที่มีแก่ทุกตัวตน 
คำโคลงโลกนิติว่า 
"ห้ามเพลิงไว้อย่าให้            มีควัน
  ห้ามสุริยแสงจันทร์             ส่องไซร้
  ห้ามอายุให้หัน                   คืนเล่า
  ห้ามดั่งนี้ไว้ได้                    จึงห้ามนินทา ฯ"
คนเราไม่ได้ต่ำลงเพราะคำนินทา ไม่ได้สูงขึ้นเพราะคำสรรเสริญ  คนเราก็คงเป็นคนเดิมตามคุณสมบัติของตน นักปราชญ์จึงไม่ขึ้นลงเพราะคำสรรเสริญนินทาของคน  จึงไม่ควรตื่นคำยกยอ 

๑๓๑ คนจนอย่าดูถูก
จน - ติด ขัด ข้อง ตัน ไม่มีทางออก  เช่น คำว่า จนทรัพย์ จนปัญญา  จนใจ จนตรอก เข้าตาจน  หมาที่จนตรอก ถูกคนไล่ตีหมดทางหนี  มันจะวิ่งสวนออกมากัดเพื่อเอาตัวรอด  ท่านจึงห้ามไล่ตีหมาจนตรอก  คนจนทรัพย์หาทางออกไม่ได้ก็จะปล้นฆ่า เอาทรัพย์คนมั่งมี  หมากที่เดินเข้าทางจน หาทางออกไม่ได้  ก็จะถูกกินตัวไป  แต่คนจนนั้นเขาก็อาจจะมั่งมีสักวันหนึ่งก็ได้  หรือ "จนท่า" เขาก็อาจโกงทรัพย์ที่ยืมไป  เขาอาจทำร้ายเอาเจ้าของที่ไปทวงถาม   เขาอาจคิดร้าย เผาบ้าน หรือปล้นทรัพย์เอาก็ได้  เพราะฉนั้นท่านจึงสอนว่า "คนจนอย่าดูถูก"  

๑๓๒. ปลูกไมตรีทั่วชน
ปลูก - ปลูกต้นไม้ให้ตั้งต้น  โบราณพูดว่า ไมตรีน้้นเหมือนลำต้นของต้นไม้  ปลูกฝังไว้แล้วก็ตั้งมั่นแตกกิ่งก้านสาขางอกงามไพบูลย์
ทั่วชน - คนทั่วไป ทั้งหญิงชาย ไพร่ ผู้ดี มิตร ญาติ และคนอื่นที่เกี่ยวข้อง 
สอนว่า ให้ผูกรักผูกไมตรี  เหมือนดั่งปลูกต้นไม้ให้ตั้งมั่น  แตกกิ่งก้านงอกงามเติบโตขึ้น  การปลูกไมตรีนั้น ก็คือ "สังคหวัตถุ ๔"  คือ ทาน - การให้ปัน, ปิยวาจา - การพูดจาไพเราะอ่อนหวาน, อัตถจริยา - การทำตนให้เป็นประโยชน์  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน, สมานัตตา - ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย เคยอย่างไรก็อย่างน้ัน  ได้ดีมีสุข มีอำนาจ  ก็อย่าจืดจางหมางเมิน 

สมเด็จพระปิยมหาราชทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
"ทำดีไป่เลือกเว้น           ผู้ใด
  แผ่เผื่อเจือจานไป         รอบข้าง 
  เจรจาแต่คำไพ              เราะโสตร
  ไร้ศัตรูจ้องล้าง              แต่ล้วนสรรเสริญ ฯ"

คำโคลงโลกนิติว่า 
"ใครจักผูกโลกแม้          รัดรึง
  เหล็กเท่าลำตาลตรึง     ไป่หมั้น
  มนตร์ยาผูกนานถึง        หายเสื่อม
  ผูกด้วยไมตรีน้ัน             แน่แท้วันตาย ฯ" 

๑๓๓ ตระกูลตนจงคำนับ 
ตระกูล - สกุล ครอบครัว วงศ์ญาติ
คำนับ -  คาบ ราบ แผลงเป็นคำนับ  หมายความว่า กราบกราน  กราบไหว้ เคารพ 
สอนว่าให้เคารพกราบไหว้คนในตระกูลของตน  ได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย  ญาติผู้ใหญ่ผู้มีวัยสูงกว่าตน แม้จะเป็นคนตกต่ำ ยากไร้  โง่เขลาเบาปัญญา ไร้ยศศักดิ์ ก็อย่าได้ดูถูกให้เคารพนับถือญาติวงศ์ในตระกูล  โดยเฉพาะพ่อแม่ แก่เฒ่าตกต่ำอย่างไร  ถึงตัวได้ดีมีสุข มียศศักดิ์สูง ก็อย่าได้อับอาย ดูหมิ่น เหยียดหยามเป็นอันขาด 
 คำโคลงโลกนิตสอนว่า 
"คนใดละพ่อทิ้ง          มารดา
  อันทุพพลชรา           ภาพแล้ว
  ขับไล่ไป่มีปรา          นีเนตร
  คนดั่งนี้ฤาแคล้ว        คลาดพ้นภัยชน ฯ" 
มาจากพุทธภาษิตว่า 
"โย มาตรํ ปิตรํ วา       ชิณณฺกํ คตโยตฺ พนํ
  ปหุสฺ สนฺโต น ภรติ    ตํ ปราภวโต มุขํ"
โคลงโลกนิติอีกบทหนึ่งว่า
"คนใดใจกระด้างโคตร    ตระกูล
  โอหังว่าทรัพย์มูล          ยิ่งผู้
  ดูหมิ่นหมู่ประยูร            พงศ์เผ่า
  จักฉิบหายวายรู้             สิ่งร้ายเบียญตน ฯ" 
มาจากพุทธภาษิตว่า
"ชาติ ตทฺโธ ธนตทฺโธ  โคตฺ ตตทฺโธ จโยนดร
  สญาติ อติมญเณติ  ตํ ปราภวโต มุขํ"

๑๓๔ อย่าจับลิ้นแก่คน
ลิ้น - คำพูด ถ้อยคำ สัจสัญญา  เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ โบราณเปรียบคำพูดว่า คือ ลิ้น จะจับลิ้นคนไม่ได้  วันนี้พูดอย่าง พรุ่งนี้พูดอย่าง กลับไปกลับมาได้สารพัด ท่านจึงว่า "ร้อยลิ้นกะลาวน"   ลิ้นเดียวพูดได้ร้อยสีร้อยอย่าง  เหมือนมีร้อยลิ้น เหมือนกะลาลอยอยู่ในน้ำที่วน ก็หมุนวนไปตามน้ำ  ไม่คงที่ 
สอนว่า จับอะไรก็จับได้แต่อย่าจับลิ้นของคน  หมายความว่า อย่าเชื่อถือถ้อยคำของคน อย่าเอาแน่นอนกับถ้อยคำของคน   
คำโคลงโลกนิติว่า 
"ลิ้นพราหมณ์ตานกแร้ง        จมูกมด
  น้ำจิตพระยากำหนด            ยากแท้
  คำครูสั่งสอนบท                  ธรรมเมศ
  ห้าสิ่งนี้แหลมแล้                  รวดรู้เร็วจริงฯ " 

๑๓๕. ท่านรักจงรักตอบ
คำโคลงโลกนิติว่า
"ให้ท่านท่านจักให้              ตอบสนอง
  นบท่านท่านจักปอง           นบไหว้
  รักท่านท่านควร                  ความรัก เรานา
  สามสิ่งนี้เว้นไว้                   แต่ผู้ทรชนฯ"
บัณฑิตพระร่วงก็สอนไว้ตรงกัน 

๑๓๖. ท่านนอบจงนอบแทน
นอบ - นอบไหว้
สอนว่า ใครไหว้จงไหว้ตอบ  ดังโคลงโลกนิติข้างต้น ทั้งนี้เว้นไว้แต่คนเลวทราม 

(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

         

วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๗)


๑๑๖. อย่าขุดคนด้วยปาก
ขุด - ฟัน แทง (ดังจอบฟันดิน) ด่า  ว่า เยาะเย้ย เสียดสีให้เจ็บใจ
สอนว่าอย่าด่าว่า  เสียดสี เยาะเย้ย  ถากถาง แขวะ คนท้ังหลายให้เขาได้อายหรือเจ็บใจ

๑๑๗. อย่าถากคนด้วยตา
ถาก - กิริยาที่เอามีดถากไม้  ถากด้วยตา คือกิริยาที่มองค้อน  หรือมองอย่างยิ้มเยาะในความผิดพลาดบกพร่องของคนอื่น 
สอนว่าอย่ามองความผิดพลาดบกพร่องของคนอื่นให้เขาได้อาย   ผู้ดีน้ันต้องช่วยแก้หน้าในความผิดพลาดบกพร่องของคนอื่น  ไม่ดุ ไม่มอง ไม่พูด หรือถ้าตำตาก็ต้องพูดกลบเกลื่อน ให้เป็นเรื่องเล็กน้อยช่วยปลอบเขาให้สบายใจ 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"อย่าขุดขอดท่านด้วย          วาจา
  อย่าถากท่านด้วยตา           ติค้อน
  ฟังคำกล่าวมฤษา               โสตรหนึ่ง นะพ่อ
  หยิบบ่ศัพท์กลับย้อน          โทษให้กับตน ฯ" 

๑๑๘. อย่าพาผิดด้วยหู
พาผิดด้วยหู คือฟังผิด  ทำให้คิดผิด พูดผิด  และทำผิด โบราณว่า "ฟังไม่ได้ศัพท์ จับมากระเดียด" ตรงกับคำโคลงโลกนิติที่ว่า 
 "ฟังคำกล่าวมฤษา             โสตรหนึ่ง นะพ่อ 
  หยิบบ่ศัพท์กลับย้อน         โทษให้กับตน  ฯ"
มฤษา คือ มุสา  บางท่านเข้าใจผิดว่า ปฤกษา     
เป็นคำสอนที่ตรงกัน เหมือนกับว่ามีที่มาแห่งเดียวกัน  จากพุทธภาษิตในภาษาบาลีที่ท่านแต่งไว้แต่โบราณ ชื่อว่า "โลกนิติปกรณ์"   นักปราชญ์ไทยแต่งไว้เป็นภาษาบาลียุคเดียวกัน

๑๑๙. อย่าเลียนครูเตียนด่า
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "อย่าเลียนครูเตือนด่า"  นั้น เห็นจะผิด คำที่ถูกนั้นคือ "เตียน" 
เตียน - ตำหนิ ติเตียน  คู่กับคำว่า  "ด่าว่า - ติเตียน" 
เลียน - ล้อเลียน   พูดเลียนคำครู 
สอนว่าอย่าล้อเลียนคำติเตียนด่าว่าครู  

๑๒๐.อย่าริเจรจาคำคด
ริ - เริ่ม ฝึกหัด ริอ่าน เพิ่งทำใหม่
คำคด - คำไม่ตรง คำโกหก ปด เท็จ ลวงให้หลงเชื่อ
สอนว่าอย่าริเริ่มพูดปด  แม้แต่เรื่องเล็กน้อยจะทำให้เคยตัว  การจะทำอะไรใหญ่โตก็อยู่ที่การเริ่มแรก  คนทำดีก็เพราะริเริ่มทำดีแต่น้อย จนเคยชินไป  คนทำชั่วก็เริ่มทำชั่วเล็กๆน้อยๆ เช่นการพูดปด ต่อไปก็ติดนิสัยพูดเท็จในเรื่องสำคัญต่อไป  ใครเขารู้นิสัยพูดเท็จย่อมขาดความเชื่อถือ  แม้จะพูดคำสัตย์คำจริง ดังเช่นเด็กเลี้ยงแกะในนิทานอีสป

๑๒๑. คนทรยศอย่าเชื่อ 
คนทรยศ - ยศต่ำ ยศทราม ไม่มียศ ไร้เกียรติศักดิ์ เพราะเหตุประพฤติชั่วร้าย  พูดเท็จ กลับกลอก สัปปลับ หักหลัง ไม่ปฎิบัติตามสัญญา  คิดร้ายต่อมิตร เนรคุณต่อผู้มีคุณ ขายชาติเพราะไม่มีสัตย์ไม่มีธรรม 
สอนว่าเมื่อรู้ว่าคนใดเป็นคนทรยศ  อย่าเชื่อถือถ้อยคำ เพราะเขาขาดสัตย์ขาดธรรม  คนที่เคยหักหลังทรยศคนมาแล้ว  ที่จะไม่ทรยศอีกนั้นหวังได้ยาก  
โบราณว่า "หญิงสามผัว  ชายสามโบสถ์"  ก็อยู่ในประเภทนี้  
คำโคลงโลกนิติว่า
"หญิงชั่วผัวหย่าร้าง          สามคน
 ข้าหลีกหนีสามหน           จากเจ้า
 ลูกศิษย์ผิดครูตน              สามแห่ง
 เขาหมู่นี้อย่าเข้า               เสพซ้อง  สมาคม ฯ"

๑๒๒. อย่าแผ่เผื่อความผิด
แผ่ - กระจาย ขยาย กว้างออกไป
เผื่อ - แบ่งปันให้ผู้อื่นด้วย  ไม่เอาไว้คนเดียว
ความผิด - ความผิดของตน ความบกพร่องของตน
สอนว่าเมื่อทำผิด   ต้องรับผิด ต้องยอมรับโทษ  อย่าป้ายความผิดให้คนอื่น  อย่าซัดทอดคนอื่นเพราะการกระทำเช่นน้้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย  ถ้ายอมรับสารภาพผิด อาจจะได้รับความเห็นใจ  แม้จะได้รับโทษ  คนอื่นอาจจะช่วยเหลือได้ภายหลัง  แต่การซัดทอด ป้ายความผิด โยนความผิด  ซัดทอดความผิดให้ผู้อื่น อาจจะได้รับความเกลียดชัง จากผู้สั่งลงโทษ และคนอื่นที่ถูกซัดทอด 
คำโคลงโลกนิติว่า
"คนพาลพวกหนึ่งน้ำ     ใจหาญ
  รู้ว่าตนเป็นพาล            กระด้าง
  พวกนี้วัจนาจารย์          จัดใช่ พาลพ่อ
  นับว่าปราชญ์ได้บ้าง     เพื่อรู้สึกสกนธ์ ฯ"

๑๒๓. อย่าผูกมิตรคนจร
คนจร - คนท่องเที่ยว คนเดินทาง  ไม่รู้จักบ้านเรือนหลักฐาน  "ไม่รู้หัวนอนปลายตีน"
ผูกมิตร - คบเป็นมิตรด้วย ให้อยู่ให้กิน ไว้ใจใกล้ชิด ถือเป็นมิตรสนิท
สอนว่าอย่าคบคนจรไม่รู้หัวนอนปลายตีน  เพราะไม่รู้ว่าจะเป็นคนดีหรือคนร้าย โบราณว่า "คบคนจรหมอนหมิ่น"  คืออาจพลาดท่าเสียที ต้องเจ็บตัว  เจ็บใจ  เสียทรัพย์ คบคนจรอาจจะถูกทรยศพลาดท่าเสียที  เสียทรัพย์ เสียลูกสาวหรือเสียเมียไปให้แก่คนจรได้ง่ายๆ  ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดี

๑๒๔. ท่านสอนอย่าสอนตอบ
สอน - เป็นนิสัยของครู ชอบสอนคนอื่น เห็นอะไรผิดหูผิดตา ผิดแบบแผน ผิดขนบประเพณี  เห็นคนอื่นพูดอะไรทำอะไรไม่ถูกต้อง  ไม่เหมาะสมก็มักจะสอนว่าอย่างน้ันอย่างนี้  บางทีคำสอนน้ันก็ปนคำตำหนิติเตียนอยู่ด้วย  คนเฒ่าคนแก่เห็นโลกมามาก ก็มักจะชอบสอนเด็กๆ และหนุ่มสาว  คนที่หัวอ่อน มีความอ่อนน้อม มีมารยาทดีก็มักจะนิ่งฟัง ไม่โต้เถึยง แต่คนที่หัวแข็ง มีน้ำใจกระด้าง ดื้อรั้น เชื่อความคิดเห็นของตน ไม่มีมารยาท  ไม่เคารพผู้ใหญ่ ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน  ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง  ก็มักจะโต้เถึยงหรือย้อนสอนครู สอนผู้ใหญ่ บางทีก็สอนพ่อแม่ อย่างนี้เรียกว่า ท่านสอนแล้วสอนตอบ  เป็นเด็กกระด้างไม่ได้รับความเมตตาเอ็นดูจากผู้ใหญ่  และจะไม่เจริญรุ่งเรือง  
บัณฑิตพระร่วง สอนว่า ท่านสอนอย่าสอนตอบ เป็นวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง  แม้เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ให้อ่อนน้อม เคารพยำเกรงครูและผู้ใหญ่  คนเช่นนี้ก็จะได้รับความรักความเอ็นดู  และมักจะเจริญรุ่งเรืองในชีวิตเสมอ  เพราะจะมีคนอุ้มชูช่วยเหลือ ส่งเสริมให้เจริญ  ด้วยคนเรานั้นจะดีด้วยตัวเองไม่ได้ทุกอย่าง  ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยให้ดีด้วย

๑๒๕. ความชอบจำใส่ใจ
ความชอบ -   ข้อที่ชอบ เรื่องที่ชอบ คำที่ถูกใจ
สอนว่า นอกจากท่านสอนอย่าสอนตอบแล้ว  ถ้อยคำใดที่พอใจ เรื่องใดที่ถูกใจ ความใดที่กินใจ คำใดที่ประทับใจ ให้จดจำไว้ให้ดี จำให้แม่น  จะได้เป็นเครื่องเตือนใจ สอนใจเราไปนานๆ  คำบางคำของครูหรือผู้เฒ่าพูด  เป็นคำสอนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  ถ้าคำพูดบางคำพูดฟังติดใจไปนานๆ  พบเห็นสิ่งใดก็เตือนใจให้นึกถึงอยู่เสมอ เช่น คำพูดของพ่อแม่ทีสำคัญๆ ในโอกาสสำคัญๆ  เช่นคำพูดก่อนตาย เป็นคำพูดจากใจจริง  ที่อาจจะไม่เคยพูดมาก่อน  เช่น ปัจฉิมพจน์ของพระบรมครูที่ว่า "จงทำประโยชน์ตน  ประโยชน์ท่านให้พร้อมมูลด้วยความไม่ประมาทเถิด"   พระอริยสาวกทั้งปวงก็ฟํงโดยดุษณียภาพ  

๑๒๖. ระวังระไวที่มา 
ที่ไปมา - ระหว่างทาง ถนน แม่น้ำ ลำคลอง ที่คนสัญจร  การเดินทางไกล 
สอนว่า การเดินทางไปมาให้ระวังภัย จากสัตว์ร้ายและคนร้าย  การกิน การอยู่ การพักระหว่างทาง  การคบคนแปลกหน้า การนอน อย่าประมาท อาจมีอันตราย
คำโคลงโลกนิติสอนว่า 
"เดินทางต่างประเทศ      พิจารณ์
  อาสน์นั่งนอนอาหาร      อีกน้ำ
  อดนอนอดบันดาล         ความโกรธ
  ห้าสิ่งนี้คุณล้ำ                เลิศล้วนควรถวิล ฯ"  
บัณฑิตพระร่วงนี้ก็สอนตรงกับ โคลงโลกนิติ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
  



วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๖)


๑๐๖. ยลเยี่ยงไก่นกกระทา
พาลูกหลานหากิน 
ยล - มอง ดู นึกถึง คิดเห็น ประจักษ์ใจ
เยี่ยง - อย่าง แบบ ตัวอย่าง 
ไก่ - แมไก่ หากินไม่หากินตัวเดียว  พาลูกตามไปเป็นฝูง  พบเหยื่อก็ร้องเรียก "กุ๊กๆ " ให้ลูกกิน ไม่กินเองตัวเดียว  พ่อไก่หาอาหารก็เรียกแม่ไก่มากิน 
นกกระทา - นกชนิดหนึ่งตัวลายเป็นจุดๆ มีนิสัยเหมือนแม่ไก่ คือพาลูกหากินเหมือนกัน 
สอนว่าให้ดูเยี่ยงไก่และนกกระทา  ไม่หากินตัวเดียว พาลูกหลานหากินด้วย  การเป็นหัวหน้าคนอย่าแอบกินบังกินคนเดียว มีลาภผลต้องแบ่งให้บริวารกินทั่วกัน จึงจะปกครองหมู่คณะได้ อย่าเบียดบังผลประโยชน์ไว้คนเดียว  อย่าเบียดเบียนลูกน้องให้เดือดร้อน ต้องเผื่อแผ่ให้ทั่วหน้า  
โคลงโลกนิติสอนว่า
"นายรักไพร่ไพร่พร้อม             รักนาย
  มีศึกสู้จนตาย                         ต่อแย้ง
  นายเบียญไพร่ไพร่กระจาย    จากหมู่
  นายปรักไพร่แกล้ง                ล่อล้างผลาญนาย ฯ"
บัณฑิตพระร่วงจึงสอนตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนา  แต่ว่ายกตัวอย่างแบบไทยๆให้เห็นชัด

๑๐๗. ระบือบิลอย่าฟังคำ
ระบือ - ลือ แผลงเป็นระบือ  แปลว่าเสียงเล่าลือ ถ้อยคำที่ลอยลมมา  เป็นคำเขาเล่าว่า   ไม่มีหลักฐานยืนยัน ไม่ได้เห็นประจักษ์ตา
ระบิล - เรื่องราว  ข้อความ 
สอนว่าเรื่องราวที่เลื่องลือกันนั้นอย่าเชื่อถือ  อย่าฟัง อย่าตื่นเต้น พระพทุธเจ้าสอนว่า  อย่าเชื่อมงคลตื่นข่าว  คำพังเพยของไทยว่า "กระต่ายตื่นตูม"   มาจากนิทานเรื่องลูกตาลตกดังตูม  กระต่ายนึกว่าฟ้าผ่าจึงวิ่งตะโกนไปว่า ฟ้าผ่า ฟ้าถล่ม ทำให้ฝูงสัตว์แตกตื่นตกใจกลัว พากันวิ่งหนีไม่คิดชีวิต   จึงเรียกว่า กระต่ายตื่นตูม  คนที่ไปเป็นทูตต่างเมืองน้ัน ท่านห้ามมิให้เป็นกระต่ายตื่นตูม   ได้ยินได้ข่าวอะไรให้พินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วน  สมัยนี้เรียกว่า  "ฟังข่าวกรอง"   ท่านจึงมีราชเพณีให้เข้าเฝ้ารับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์  และทัดใบมะตูม เพื่อมิให้ตื่นตูม ตื่นข่าว 
กาลามสูตร พระพุทธเจ้าสอนว่า 
๑. มา อนุสฺสวเนน           อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา 
๒. มา ปรมฺ ปราย            อย่าเชื่อโดยเล่าสืบกันมา
๓. มา อิติภิลา ปวย         อย่าเชื่อโดยตื่นข่าวเล่าลือ
๔. มา ปฎิกสมฺ ปทาเนน  อย่าเชื่อโดยอ้างตำรา
๕. มา วิตก เหตุ             อย่าเชื่อโดยตรึกนึกเอา
๖. มา นยฺ  เหตุ             อย่าเชื่อโดยคาดคะเนเอา
๗. มา อาการปริวิตกฺ เทน  อย่าเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการ 
๘. มา ทิฎฐิ นิธฺ ฒา นก  ชนติยา  อย่าเชื่อโดยเห็นว่าต้องกับความเห็นของตา 
๙. มา ภพฺ พ รูปตาย      อย่าเชื่อโดยเห็นว่าผู้นั้นควรเชื่อถือ
๑๐. มา สมฺ โณ โน ครู ติ อย่าเชื่อโดยถือว่าสมณนี้เป็นครูของเรา ฃ
บัณฑิตพระร่วงบทนี้  สอนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาโดยตรง

๑๐๘. การทำอย่าด่วนได้
ด่วนได้ - อยากได้โดยเร็ว  อยากให้สำเร็จโดยเร็ว  อยากให้เป็นดังใจอยากให้ได้ทันอกทันใจ
สอนว่า การทำอะไรอย่าใจเร็วด่วนได้  ไทยมีคำสอนว่า " ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม"   ด่วนได้สามผลามมักพลิกแพลง" หรือ "อย่าชิงสุกก่อนห่าม" คือมะม่วงน้ันย่อมมีผลก่อน อ่อนตามลำดับตั้งแต่หัวแมงวัน ขบเผาะ  เข้าไคล ห่าม สุก งอม  ถ้ายังไม่แก่พอควร  ปลิดสอยเอามาบ่มก็กินไม่หวานสนิท 
โคลงโลกนิติสอนว่า
"เรียกศิลป์แสวงทรัพย์ด้อม         เดินไศล
  สามสิ่งอย่าเร็วไว                       ชอบช้า
  เสพกามหนึ่งคือใจ                     มักโกรธ
  สองประการนี้ถ้า                         ผ่อนน้อยเป็นคุณ ฯ" 
มาจากพุทธภาษิตที่ว่า  
"สินฺเน สิปปํ ชนํ สินเน ปพฺพต บารุยฺ หํ
  สินฺเน กามฺสฺส โกธสฺส อีเมปญจ สินฺเนสินฺเน"
บัณฑิตพระร่วงบทนี้  ก็มาจากพุทธภาษิต 

๑๐๙. อย่าใช้คนบังบด
ฉบับของกรมศิลปากรใช้ว่า "อย่าใช้คนบังบด"
ฉบับของกรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ ใช้ว่า "อย่าใช้คนบังบท" น่าจะผิดเพราะหาความหมายไม่ได้ 
ฉบับของกรมศิลปากรน่าจะถูกต้อง
บัง - อับแสง บดบัง  คือบังแสง บังรัศมี  เช่น ราหูบดบังดวงจันทร์ เมฆบดบังแสงแดด 
บด - แปลว่า เคื้ยว ทำให้แหลกละเอียด ทำให้เป็นผง ทำให้เปลือกแตก เช่น บดยา รถบดถนน ควายเคี้ยวเอื้อง เรียกว่า "บดเอื้อง"
คนบดบัง  คือคนที่แอบกิน แอบเคี้ยว ไม่ให้เห็น  คนครัวคนใช้ที่ลักกินซ่อนกินมิให้นายรู้เห็น  เรียกว่า "คนบดบัง" บังเคี้ยว บังกิน หรือสมัยนี้เรียกว่า อม นั่นเอง  โบราณเปรียบวัวควายที่สำรอกเอาอาหารในท้องออกมาบดเอื้อง  ใครไม่รู้ก็นึกว่าในปากไม่มีอะไร  ที่แท้คือ เคี้ยวอาหาร 
สอนว่า อย่าให้คนแอบกิน แอบเคี้ยว ทำการงาน เพราะเขาจะยักยอกเอาทรัพย์สินกินหมด 

๑๑๐. ทดแทนคุณท่านเมื่อยาก 
ทด - แทน ตอบสนอง เพิ่ม เช่น ทดแทนคุณ ทดน้ำ ทดใช้(พูดเพี้ยนว่า ชดใช้)  ทดลอง (ลองทำแทนของที่จะทำจริงไปก่อน  ได้ผลแล้วจึงจะทำจริง) 
แทน - แทนตัว  แทนคุณ  แทนมือ แทนหู แทนตา  หมายความว่าเอาตัวเราเข้าไปแทนที่ ทำให้ท่านไม่ต้องให้ท่านลำบาก 
ยาก -  ยากไร้ ลำบาก  ยากจน ยากเหนื่อย ยากใจ 
สอนว่า ให้สนองคุณท่านเมื่อยากไร้  ได้รับความลำบาก เป็นเรื่องของความกตัญญูรู้คุณท่านที่ทำไว้ก่อน  เมื่อมีโอกาสก็ตอบสนองคุณท่าน  โอกาสน้้นคือเมื่อท่านลำบากยากไร้ ป่วยไข้ ทุพพลภาพ  ทางพระพุทธศาสนาสอนว่า ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี  ผู้มีคุณนี้อาจเป็นปู่ ย่า ตา ยาย ครูอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชา หรือมิตรก็ตาม  เมื่อมีโอกาสต้องตอบแทนคุณท่าน 
โคลงโลกนิติสอนว่า 
"เยียคุณพูนสวัสดิ์ให้        คือเผ่าพันธ์ุนา
  เยียปลูกบุญโดยธรรม์    พ่อแท้
  พิศวาสผูกใจกัน             เรียกมิตร
  ร้อนราคหญิงดับแก้        กล่าวแท้ภรรยา ฯ"
ไม่ใช่ญาติทำคุณให้คือญาติ  ไม่ใช่พ่อเลี้ยงชุบอุปถัมภ์คือพ่อ  ร่วมใจร่วมทุกข์ร่วมสุขกันคือมิตรไม่ใช่เมีย แต่ได้ร่วมหลับนอนดับราคะคือเมีย  เหล่านี้คือผู้มีคุณแก่เรา 
มาจากพุทธภาษิตที่ว่า 
"โส พนฺ ธ โย หิ เต ยุตฺ โต ปิตโรโหติ โปสโก
  ตํ มิตฺตํ ยตฺถ สิสฺสาโส สา ภริยา จ นิพฺ พุติ ฯ"

๑๑๑.ฝากของรักจงพอใจ
ฝาก ในที่นี้หมายถึงท่านเอามาฝากเรา
ของรัก  คือ ของขวัญ ของกำนัล ของที่เขารักหวงเขาหวง  เป็นของมีค่าของเขาซึ่งเขามีอยู่ ประณีต มีค่า เช่น เขานำพระเครื่องของปู่ย่า ตายายของเขามามอบให้  เขาก็นึกว่าได้สละของรักมีค่าสูงมามอบให้ แต่เราอาจจะมีพระเครื่องที่ดีกว่าน้ัน ก็อย่าดูถูกดูแคลน ทำเฉยเมยไม่ใยดี หรือพูดให้เขาเสียน้ำใจ  
สอนว่าเขาเอาของรักมาฝากจงพอใจรับไว้ ด้วยเป็นของดีมีค่าจากน้ำใจของเขา อย่าดูหมิ่นดูแคลน ชาวบ้านนอกอาจจะเอาเขาวัวมาฝากสักคู่  ก็เหมือนงาช้างของเขา  อยาดูหมิ่นว่าไร้ค่า เพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้นเป็นเครื่องหมายแห่งมิตรไมตรี  ความเคารพจากน้ำใจของเขา อย่างน้อยเขาก็หวังจะพึ่งพาอาศัยเราในวันหน้า  ผู้ดีมีมารยาทย่อมแสดงความไม่รังเกียจ  เราอาจให้ของมีราคาสูงแก่เขาหรือตอบแทนเขา  เป็นเงินสูงกว่านั้นหลายเท่าก็ได้  ถ้าเราไม่อยากรับของเขาเปล่าๆ 
คำนี้ไม่ใช่หมายถึงเอาคนรักไปฝากอย่าง  โคลงนิราศนิรนทร์ 

๑๑๒. เฝ้าท้าวไทอย่าทนง
เฝ้า - เข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์น้ัน  ท่านว่าอย่าทนงตนว่าเป็นคนโปรด อาจทรงพิโรธ ถูกตัดหัวได้ง่ายๆ  ท่านสอนไว้หนักหนา มีในเรื่อง "พาลีสอนน้อง"  สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงนิพนธ์ไว้ดังนี้
๐ เฝ้าท้าวอย่าแต่งโอ้            อวดงาม
ท้องพระโรงอย่าลาม             เหิ่มหน้า
พระสนมราชนงราม               เฝ้ากษัตริย์ 
เนตรโสตอย่าสอดคว้า          ลักล้วงประโลมนาง ฯ
๐ จักทูลพิภาศร้อง                คอยสงบ
ขุ่นคึ่งคิดจงสบ                      ช่องได้
ชอบที่นอบเคารพ                 กราบบาทมูลนา
อย่ากลบผิดชอบไว้               เชอดชี้ทูลฉลอง ฯ
๐ แม้ว่าท้าวตรัสพลั้ง             ราชศาสตร์
อย่าทัดกลางอำมาตย์           หมิ่นไท้
ครั้นตรัสแต่เดียวราช             ที่ลับโสตนา
กระซิบทูลแต่ใกล้                  เชิดชี้คดีธรรม ฯ  
๐ หนึ่งทางโดยเสด็จด้าว       ทิมฉนวน
รัตน์อาศาสนราชยานควร       คู่ไท้
อย่าร่วมผัดผิวนวน                  เทียมกษัตริย์
สองเร่งคิดจำไว้                      เหล่านี้จงระวัง ฯ
๐ เฝ้าท้าวอย่าห่างใกล้           พอประมาณ
พลตรัสพจน์คำขาน                สั่งได้
จำข้อราชบรรหาร                   จงสรรพ
ประกอบเพ็ชทูลให้                 ปลดเปลื้องภารสกล ฯ
๐ หนึ่งท้าวพิโรธขึ้ง                 อย่าถอย
อย่าง่วงสนใจคอย                   จิตท้าว
เห็นชอบตรัสมาพลอย             ทูลปลด
ให้ชื่นรื่นจิตท้าว                       ผ่องพ้นโทษมูล ฯ
๐ หนึ่งท้าวบำเหน็จให้             รางวัล
อย่าคิดอิจฉากัน                      ลาภไว้
จักมีแต่คำหยัน                        อัประภาคย์
หนึ่งจักขายอยู่ใต้                    บาทขึ้งคำรณ ฯ
๐ หนึ่งสูเป็นข้าท้าว                 ใช้ชิด
อย่าคลาดระวังผิด                   โทษร้าย
ทำตามราชนิติกิจ                    บัญญัติ
สูยุคเอาเป็นข้าย                      เขื่อนล้อมกับตน ฯ
๐ หนึ่งอย่าอ้างว่าท้าว              เคยสนิท 
ตรองตรึกทุกค่ำคิด                  รอบรู้
อย่าเอาประมาทปิด                 ปกโทษ
จักรพรรดิ์ดั่งเพลิงชู้                 วิ่งเข้าพลันตาย ฯ
๐ หนึ่งที่ประทับท้าว                ทรงเสด็จ
บานขัดซันกัดเม็ด                    มิดไว้
อย่าล่วงถอดลิ่มเคล็ด              เปอดออก แลนา
เป็นโทษสูอย่าได้                    อาจอ้างใจทนง ฯ
๐ หนึ่งพระแสงอย่าเหล้น         แกว่งกวัด
หนึ่งเสด็จอย่าวิ่งตัด                 ผ่านหน้า
หนึ่งท้องพระโรงรัตน์               ที่เสด็จ  ออกนา
นุ่งห่มสอดสีผ้า                        ดอกไม้ทัดกรรณ ฯ
๐ อย่าถือคนตอบเต้น              เป็นทหาร
ชาติบุรุษตริการ                       รอบรู้
อย่าทนงว่าภูบาล                    รักใคร่ ตนนา             
จะพลาดถูกกระทู้                    ซักท้าวควรระวัง ฯ
๐ หนึ่งกระบถคดต่อเจ้า           ธรนินทร์
อย่าแปดกลั้วราดิน                  เรื่องร้าย
เจ็บร้อนต่อแผ่นดิน                 จึ่งชอบ
คนผิดคบมักบ้าย                    โทษร้ายถึงตน ฯ
๐ หนึ่งสูจักสูเฝ้า                     จอมกษัตริย์
ประหยัดภักษาภัตร                 ย่อมท้อง
อย่ากินคับท้องอัด                   เกินขนาด
ฉุกเฉินเขินขัดหล้อง                โทษร้ายทลายลง ฯ
๐ หนึ่งอย่าคิดคบค้า                ชาวคลัง
แลกเปลี่ยนซื้อลับหลัง            ลักเลี้ยว
ขันทีที่ชาววัง                           นักเทศ     
อย่าสื่อสอดสารเกี้ยว               โทษร้ายถึงตาย ฯ
๐ ชาววังอย่าลักเล้า                 โลมไกล
หน่อกษัตริย์อย่าอาจใจ            หมิ่นจ้าว
แซ่งซักสอดสารไข                  สื่อสอบ
ใครจับความทูลท้าว                 โทษม้วยประไลยลาญ ฯ
๐ สูอย่าให้ชื่อแส้                      ฤาคต
วงศ์ญาติหลานเอารส                ฝึกไว้
แล้วแต่เต่าประนต                     ถวายบาท มูลนา
หนึ่งแขกเมืองมาไซร้                อย่าได้สื่อสนอง ฯ
๐ หนึ่งอย่าคิดว่าท้าว                 เสน่ห์สบ
ท้าวพิโรธเร่งนบ                        นอบไหว้
อย่าสะทึกสะเทินหลบ               หลีกภักตร ท่านนา 
อย่าคึ่งตอบท้าวได้                    โทษแท้ภัยดนู ฯ
๐ หนึ่งราชกิจท้าวทุก                 กระทรวง
จงสอดเห็นท้ังปวง                     ทุกด้าน
ทูลกษัตริย์อย่าลวง                    ลิ้นล่อ
ใครกาจหักให้ค้าน                     ชาติร้ายรอนเสีย ฯ
๐ หนึ่งอย่าฟังเล่ห์ลิ้น                 คนเปลาะ
อย่าดักขวากหนามเคาะ             มรรคไว้
กับเขนกระลีเลาะ                       ลามลุก ได้นา
จึงจะสมควรใช้                           ชื่อได้มนตรี ฯ
๐ หนึ่งพระหริรักษ์ล้ำ                  เลอศักดิ์
เลิศว่าวานรยักษ์                         ทั่วหล้า
ควรสูจักวงรักษ์                           ฉลองบาท
บพิตรจอมเจ้าฟ้า                        อย่าให้ระคายเคือง ฯ
๐ หนึ่งมิตรเพื่อนคู่ใช้                  ราชกิจ
ประมาทพลาดพลั้งผิด                ยกไว้
ถ้าความถูกไปปิด                        กราบบาท ทูลนา 
แม้ว่าไกลชอบให้                        เชอดชี้กราบทูล ฯ
๐ หนึ่งทหารอย่าหักช้ำ                ทูลเอา
ให้ผิดเสียใจเหงา                        ง่วงกล้า
ตระกูลตกอยู่เฉา                          ทูลยก ขึ้นนา
โอบอ้อมจงทั่วหน้า                      ไพร่ฟ้าชีพราหมณ์ ฯ
๐ หนึ่งจักออกเข่นข้า                    กลางณรงค์
หักศึกอาสาจง                              ฮึกห้าว
ถึงพินาศชูพงศ์                             พานเรศ
อย่าขลาดให้ศึกก้าว                     เหยียบได้รอยตน ฯ
๐ หนึ่งน้ำพิพัฒน์ท้าว                   กำหนด
อย่ามิจฉากระบถ                          ต่อหน้า
บิพตรเปรียบเพลิงกรด                 ฟาดถู ใครนา
น้ำดับลักล้นฟ้า                             ห่อนได้ดับเลย ฯ
๐ หนึ่งดับสิวาทถ้อย                     ความชน
อย่าระแวงระวางคน                      สอดจ้าง
เอานรกมาคำรณ                           ครุ่นขู่
ข่มจิตรคัดใจง้าง                           สู่ฟ้าเสวยรมย์ ฯ
๐ คำกลอนดูสอดไว้                      ทุกสรรพ์
ทราบสวาสดิ์อย่าแผดผัน              จิตรจ้าว
ล้วนสวัสดิ์สัจธรรม                         เสาวภาคย์   
ดั่งเพชรพลอยนพเก้า                    สอดไว้เฉลิมนวล ฯ    

คำโคลงเรื่องพาลีสอนน้องนี้ ยกมาเพื่อให้เห็นว่าคนโบราณสอนเรื่องการเป็นอำมาตย์เข้าเฝ้าไว้อย่างไร  แต่ก็ขอให้เข้าใจว่าเป็นการสอนการเฝ้าเจ้าชีวิตในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช  ซึ่งมีพระราชอำนาจปกครองล้นฟ้าล้นแผ่นดิน  อันเหมาะกับยุคสมัยนั้น ซึ่งต้องการความเฉียบขาดในการปกครองคน  เพื่อให้รวบรวมกันอยู่เป็นประเทศชาติได้ในท่ามกลางอริราชไพรี 

คำโคลงโลกนิติว่า "เฝ้าท้าวเทียมเสพด้วย  ยาพิษ" เป็นคำสอนที่ตรงกัน 

๑๑๓.ภักดีจงอย่าเกียจ 
ภักดี - จงรัก ซื่อตรง
เกียจ - รังเกียจ เกียจคร้าน เกี่ยงคน
สอนให้มีความจงรักภักดี   อย่ารังเกียจ อย่าเกี่ยงงอน หรือเกียจคร้าน

๑๑๔. เจ้าเคียดอย่าเคียดตอบ 
เคียด - เคียดแค้น โกรธเคือง
สอนว่า เจ้านายคือพระเจ้าอยู่หัว โกรธเกลียดก็อย่าโกรธเกลียดตอบ

๑๑๕. นบนอบใจใสสุทธิ์
นบ -นบไหว้ ถวายบังคม กราบกราน
นอบ - นอบน้อม หมอบคลาน ก้มหน้า 
ใส - เหมือนน้ำใส ไร้โคลนตะกอน
สุทธิ์ - บริสุทธิ์ ไร้สิ่งเจือปน 
สอนว่าให้ถวายบังคมด้วยน้ำใจใสบริสุทธิ์
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
          



           

          
                   



       





วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๕)


๙๖. อย่ากริ้วโกรธเนืองนิจ
กริ้ว - เกริ้ยวกราด  แสดงอาการโกรธ  ที่เรียกว่า "ลุแก่โทสะจริต"  ระงับความโกรธไว้ไม่ได้   เป็นลักษณะของคนอ่อนแอ ควบคุมสติอารมณ์ไม่อยู่   คนที่เข้มแข็งจะเยือกเย็นควบคุมอารมณ์ได้ 
โกรธ - ความขุ่นเคือง  คั่งแค้น ผูกใจเจ็บ   มีมากเข้าก็บันดาลโทสะออกมาทางกิริยาวาจา ทางพระเรียกว่า "โทสะจริต"  หรือ "โทสัคคี"  โกรธ คือ ไฟย่อมเผาไหม้ตนเองให้รุ่มร้อนไม่มีความสุข 
เนืองนิจ - โกรธอยู่เสมอ  เกิดอยู่เรื่อยๆ  เกิดอยู่ประจำ  
สอนว่าอย่าเกรี้ยวกราดด้วยอารมณ์โกรธเคืองอยู่เนืองนิจ  เพราะความโกรธนั้น จะเป็นไฟเผาไหม้ตนเอง  จะเกิดโทษแก่ตนเอง คนที่ถูกโกรธจะไม่เดือนร้อนอะไรนัก  เขาจะได้รับผลของความโกรธของเราน้อยกว่าที่เราได้รับมากมายหลายเท่า

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ "อกุโกเธน  ชิเน โกธํ "  ผจญคนมักโกรธด้วยไมตรี  ระงับความโกรธด้วยขันติธรรมและเมตตา 
บัณฑิตพระร่วงบทนี้ สอนตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนา  ไม่ใช่สุภาษิตไทยแท้ตามที่เข้าใจกัน

๙๗. ผิวผิดปลิดไปพล้าง
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "ผิวผิดปลิดไปร้าง"   ฉบับของกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ว่า "ผิวผิดปลิดไปพล้าง"  เห็นว่าฉบับของกรมศิลปากรแปลความหมายไม่ได้  ฉบับของกรมพระยาปวเรศฯ แปลได้ความหมายดีกว่า จึงยึดถือฉบับนี้ 
ผิว - ถ้า หาก หมายความว่า  ถ้าหากไม่เป็นไปดังตั้งใจเดิม  เดี๋ยวนี้ก็มักพูดกันว่า "ผิดนัก"   เช่น ต้ังใจจะไปกรุงเทพฯ  วันเดียวกลับไม่ค้างคืน   แต่ถ้าหากกลับไม่ทันก็จะพูดว่า "ผิดนักก็เที่ยวไนท์คลับสักคืน"  ชายหนุ่มตั้งใจจะแต่งงานกับหญิงสาวสวย แต่ถ้าพลาดท่าเสียทีก็จะพูดว่า "ผิดนักก็แต่งกับแม่ม่ายทรงเครื่องเสียเลย"   คำว่า "ผิว"  อ่านว่า "ผิวะ"  จึงเป็นคำพูดที่ตกกะไดพลอยโจน ถ้าผิดจากความตั้งใจเดิม ต้องทำตรงข้ามเสียเลย
ผิด - ไม่ถูก ทำชั่ว ทำพลาด ทำผิดคำพูด ทำผิดแบบแผนประเพณี ทำผิดทำนองคลองธรรม  ทำผิดจากตั้งใจ ทำผิดจากที่เคยทำ 
ปลิด - ปลด เปลื้อง  เช่น ปลิดผลไม้ออกจากต้น  เอาออกจากที่ติดข้องอยู่ 
พล้าง - คือ พลั้ง หรือ พลาด คำว่า พลั้ง นั้นเขียนผิดจากเสียงพูดจริงๆ เสียงพูดนั้นครึ่งสั้นครึ่งยาว  เช่น น้ำ เราไม่พูดเสียงสั้นเหมือนที่เขียนเป็นรูปคำ เราพูดว่า น้าม มากกว่า  
คำว่า พลั้ง คือความผิดพลาด นี้ ก็พูดว่า พล้าง เสียงยาวกว่าตัวอักษรที่เขียนเป็นรูปคำ  เช่นพูดว่า "พลั้งปากเสียศีล พลั้งตีนตกต้นไม้"   ควรเขียนว่า พล้าง มากกว่า   แต่เมื่อเขียนรูปคำเป็น พลั้ง เสียจนชินตา เมื่อมาเห็นคำที่เขียนเป็น  พล้าง  จีงไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร 
"ผิวผิดปลิดไปพล้าง"  จึงแปลความหมายได้ว่า "ถ้าหากทำผิดก็ให้เปลื้องเป็นความพลั้งพลาด"  คือ ทำผิด (ซึ่งมีโทษมาก) ก็ให้เปลื้องความผิดเสียเป็นความพลั้งพลาด(ซึ่งมีความผิดน้อย)  เพราะไม่ได้ตั้งใจ 
โทษฐานเจตนาฆ่าคนตาย  กับทำคนตายโดยประมาทนั้น โทษนักเบากว่ากันเพราะถือเอาเจตนาเป็นสำคัญ  ยิงคนตายโทษหนักเพราะต้ังใจฆ่าเขาด้วยความพยาบาทอาฆาตแค้น   แต่ทำปืนลั่นถูกคนตาย โทษเบากว่า เพราะไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าเขา

๙๘. ข้างตนไว้อาวุธ
คนโบราณบ้านนอกอยู่ในชนบทมักจะมีภัยอันตราย จากคนร้ายและสัตว์ร้ายอยู่ตลอดเวลา   ต้องเตรียมต่อสู้อยู่เสมอ  ท่านจึงสอนว่า "ข้างตนไว้อาวุธ"  (จะเดินทางก็ให้อาวุธ)  คำโบราณว่า "เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า" และ "หอกข้างแคร่" (มีหอกก็ให้พาดไว้ข้างแคร่ที่นอน  จะได้หยิบมาป้องกันตัว แต่ถ้านอนหลับไหลไม่ระวังตัว คนร้ายจะเข้ามาประชิดตัว  หอกข้างแคร่น้ันจะถูกคนร้ายจับเอาไปเป็นอาวุธได้   คำว่า "หอกข้างแคร่" จีงเป็นทั้งมิตรและศัตรู 

คำโคลงโลกนิติว่า 
"หาญห้าวตาวบ่ได้          จวบฟัน
  แหลนและทวนไม่ทัน    ต่อค้าง
  พลคชจรดผัน                งาประสานแฮ
  ปืนไปนั่งง้าง                  นกจ้องใจเกรง ฯ"
ท่านเปรียบว่า ถึงจะห้าวหาญอย่างไร  ไม่มีดาบฟัน ไม่มีแหลนทวนแทงต่อสู้ขับไล่ช้างเข้าประสานงาแล้ว  ปืนไม่ยิงมัวแต่ง้างอยู่จะสู้ศึกได้ไฉนเล่า 

๙๙. เครื่องสรรพยุทธอย่าวางจิตร
เครื่องสรรพยุทธ - เครื่องอาวุธทั้งปวง ได้แก่ หอก ดาบ แหลน หลาว ง้าว ทวน ปืน และ ช้างม้า
วางจิตร - วางใจ ไม่ลับ ไม่ล้าง ไม่เตรียม ไม่ฝึก  ไม่เก็บรักษาให้ดี ทอดทิ้งไว้ 
สอนว่า เครื่องรบสู้ป้องกันตัวนั้น  อย่าทอดทิ้ง ต้องลับ ต้องฝึกฝนให้ช่้ช่ำชอง  คราวใช้จะได้ใช้ได้  ต้องเก็บวางไว้ให้ดี เป็นที่เป็นทาง  อย่าให้ผู้ใดเอาไปใช้ได้  อย่าให้เป็นหอกข้างแคร่ ศัตรูเอาไปใช้แทงอกเรา  อยาปล่อยให้ขึ้นสนิม อย่าปล่อยให้ใครเอาไปเล่น จะเกิดอันตราย 
พระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงสอนว่า 
" แม้นหวังตั้งสงบ       จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์
  ศัตรูกล้ามาประจัญ    จะอาจสู้ริปูสลาย....."
  เป็นคำสอนที่ตรงกับเรื่องเครื่องรบ 
โคลงโลกนิติสอนว่า 
"อุตส่าห์คิดปิดป้อง           กับกาย
  รั้วรอกขวากหนามราย     รอบล้อม
  ประมาทมัวเมามาย         ว่ามั่น  คงนา
  ศัตรูแต่คอยจ้อง              ช่องได้ภัยถึง ฯ"  

๑๐๐. คิดทุกข์ในสงสาร
สงสาร - สังสารวัฎ  ความเวียนว่ายตายเกิด ท่านพูดว่า โลกนี้เป็น "ห้วงมหรรณพภพสงสาร"  เป็นห้วงทะเลอันกว้างใหญ่ ที่สัตว์มาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  ตลอดอนันตกาล 
ทุกข์ - ความทนไม่ได้  พระพุทธเจ้าสอนว่า ทุกข์ของคนเรามี ๑๒ประการ
๑. ชาติ ความเกิดเป็นทุกข์
๒. ชรา ชราเป็นทุกข์
๓.พยาธิ โรคภัยเป็นทุกข์
๔. มรณะ ความตายเป็นทุกข์
๕. โศก ความเหี่ยวแห้งใจเป็นทุกข์
๖. ปริเทวะ ความร่ำไรรำพรรณ เป็นทุกข์
๗. โทมนัส ความไม่สบายใจเป็นทุกข์
๘. อุปายาส ความคับแค้นใจเป็นทุกช์
๙. ปิเยหิวิปโยค  ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์
๑๐. ยัมปิจฉํ นลภตํ  ความไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาเป็นทุกข์
๑๑. สงฺขิตเตน ปญจฺปาทานกฺขันธา  ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
๑๒. ทุกข์ ความอดทนไม่ได้เป็นทุกข์
สอนให้คิดถึงทุกข์ในการเวียนว่ายตายเกิดในโลกนี้ว่า มีแต่ทุกข์ ท่านเรียกว่า "ทุกฺขสจฺจ"  คือความจริงแห่งทุกข์ เป็นคำสอนตามแนวพระพุทธศาสนาโดยตรง 

๑๐๑. อย่าทำการที่ผิด
ผิด - ภาษาบาลีว่า "มิจฉา" ตรงข้ามกับ "สัมมา" คือ ชอบ มิจฉาทิฎฐิ คือเห็นผิดเป็นชอบ  เห็นชั่วเป็นดี ท่านว่า "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว"
สอนไม่ให้ทำผิด ความผิดในพระพุทธศาสนามี ๘ ประการคือ
๑.มิจฉาทิฎฐิ  เห็นผิด
๒.มิจฉาสังกัปปะ - ปรารถนาผิด
๓.มิจฉาวาจา - พูดผิด
๔.มิจฉากัมมันตะ - ทำการผิด
๕.มิจฉาอาชีวะ - เลี้ยงชีพผิด
๖.มิจฉาวายามะ - เพียรผิด
๗.มิจฉาสติ - ระลึกผิด
๘.มิจฉาสมาธิ - จิตตั้งมั่นผิด
บัณฑิตพระร่วงนี้เป็นคำสอนตามแนวพระพุทธศาสนาโดยตรง 

๑๐๒.คิดขวนขวายที่ชอบ
ขวนขวาย - ฝักใฝ่ เพียรพยายาม ไม่ดูดาย  ไม่อยู่นิ่ง  ไม่ท้อถอย ไม่ยอมแพ้
สอนว่า ให้ขวนขวายในทางที่ถูกที่ควร  อย่าขวักไขว่ดิ้นรนในทางที่ผิด  คนเราถ้าคิดผิด ทำผิดเสียแล้วจะพูดผิด เห็นผิดไปตลอดเรื่อง 
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คิดให้ถูก  ให้ตรงในสภาพที่เป็นจริงของโลกและชีวิต  "อริยสัจธรรม"  คือสิ่งที่เป็นจริงของโลกนั่นเอง  พระพุทธองค์เพียรพยายามที่จะชี้ให้เห็นความจริงของโลกทุกสิ่ง  พระองค์ตรัสว่า ความจริงคือธรรม   หรือ  สิ่งที่ตั้งอยู่ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกแล้ว พระองค์เพียงแต่พบความจริงที่มีอยู่ในโลกนี้อันเป็นสัจธรรม  แล้วทรงชี้ให้เห็นเป็นธรรม  หรือสิ่งที่มีอยู่ตามความเป็นจริง  ยกตัวอย่างเช่น คนที่เกิดมาในโลกนี้  ดี ชั่ว แตกต่างกันเพราะกรรม  จำแนกให้แตกต่างกัน  ไม่ได้แตกต่างกันเพราะไม่มีมูลเหตุ
คนรูปชั่ว  เพราะชาติก่อนเป็นคนโกรธง่ายอารมณ์เสีย 
คนรูปงาม  เพราะชาติก่อนเป็นคนใจดี ใจหนักแน่น 
คนอายุยืน เพราะชาติก่อนไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นคนใจบุญ 
คนอายุสั้น เพราะชาติก่อนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นคนใจบาป
คนขี้โรค เพราะชาติก่อนทรมานสัตว์
คนมั่งคั่ง เพราะชาติก่อนบริจาคทรัพย์ทำบุญมาก 
คนยากจน เพราะชาติก่อนตระหนี่เหนียวแน่น
มีคำหนึ่งที่พูดกันอยู่คือ  "กมฺมนา  วตฺติโลโก"  แปลว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม  เมื่อคิดชอบคิดถูก คิดตรงต่อสภาพความเป็นจริงแล้ว  ย่อมจะทำการที่ชอบ 

๑๐๓.โต้ตอบอย่าเสียคำ
โต้ตอบ - การพูดจาตอบถ้อยสนทนากับผู้อื่น   การนัดหมาย การให้สัญญา 
เสียคำ - เสียคำพูด   พูดออกไปแล้วทำให้เสียหายแก่ตนเองและผู้อื่น  เพราะพูดคำหยาบหรือพูดโป้ปดมดเท็จ
สอนว่า การเจรจาโต้ตอบกับผู้อื่น   อย่าให้เสียคำพูด อย่าให้เสียหายแก่ตนเองและผู้อื่น  อย่าเสียสัตย์สัญญา อย่าให้เขาเกลียดปาก
โบราณสอนนักหนาเรื่องคำพูดหรือปาก  เช่น "พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย"  "ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา"  "สำเนียงบอกภาษา  กิริยาบอกสกุล" 
โคลงโลกนิติว่า
"วัดช้างเบื้องบาทรู้          จักสาร
  วัดอุทกชักกมุทมาลย์    แม่นรู้
  ดูครูสลับโวหาร              สอนศิษย์
  ดูตระกูลเผ่าผู้            เพื่อด้วยเจรจาฯ "

ดูตระกูลว่าผู้ดีหรือขี้ข้า ก็ดูคำพูดว่าไพเราะหรือหยาบคาย 
ดูความรู้ว่าดีหรือต้อยก็ดูที่คำพูด 
ดูจิตใจว่าดีชั่วอย่างไรก็ดูที่การพูดจา
ดูคุณธรรมก็ดูที่คำพูด
ดูว่าโง่หรือฉลาดก็ดูที่วาจา
เพราะฉนั้นท่านจึงสอนว่า "โต้ตอบอย่าเสียคำ" เพราะคำพูดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง  

๑๐๔.คนขำอย่าร่วมรัก
คนขำ - คนที่ทำอะไรประหลาดกว่าคนอื่นทั้งหลาย  จนมองดูขำๆ 
ร่วมรัก - คบค้าสมาคมด้วย   เป็นมิตรสนิทด้วย แต่งงานด้วย 
สอนว่าคนที่มีลักษณะขำๆ อย่างนี้อย่าร่วมรัก เป็นมิตรสนิทหรือแต่งานด้วย   เพราะอุปนิสัยใจคอของคนพิการเหล่านี้ก็มีอะไรพลิกแพลงไม่คงเส้นคงวา  ถ้าแต่งงานด้วยจะเสียพืชพันธ์ ลูกหลานก็จะสืบทอดลักษณะนั้นไปด้วย   

๑๐๕. พรรคพวกพึงทำนุก
ปลุกเอาแรงทั่วตน 

พรรค - พวก หมู่ คณะ กลุ่ม แถว
พรรคพวก - กลุ่มคนซึ่งเป็นญาติเป็นมิตรมีจิตใจและผลประโยชน์ร่วมกัน  เกี่ยวข้องกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน  เช่นพรรคการเมือง  คือสมาคมของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมกันในคติทางการเมือง  ที่มุ่งบริหารประเทศในแนวอุคมคติของตน
ทำนุก - มาจากคำว่า "ทุก" แปลว่า แบก หาม เอาใส่บ่า แผลงเป็น "ทำนุก"  แปลว่า เข้าแบกหาม เอาเป็นภาระ  โอบอุ้ม อุปถัมภ์  ช่วยเหลือเกื้อกูล เอาเป็นธุระ 
สอนว่าพรรคพวกเดียวกันพึงเอาภาระช่วยเหลือ  เกื้อกูลค้ำจุนไว้ไม่ให้ตกต่ำ  ไม่ทอดทิ้ง  เหลียวแลเอาเป็นธุระ ทำนุบำรุง ส่งเสริมสนับสนุน 
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า  การสงเคราะห์บุตร   การสงเคราะห์ภรรยา การสงเคราะห์ญาติ  เป็นมงคลอันอุดม  บุตร ภรรยา ญาตินับเป็นพรรคพวกตามสุภาษิตนี้  บัณฑิตพระร่วงจึงสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนา

"ปลุกเอาแรงทั่วตน"
หมายความว่า ปลุกใจให้เข้มแข็ง ปลอบใจให้หายขุ่นข้อง  เพื่อจะได้เป็นกำลังแก่หมู่คณะ  เมื่อบุคคลในหมู่คณะเข้มแข็ง  หมู่คณะก็เข้มแข็งด้วย   

(โปรดติดตามตอนต่อไป)