วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๕)


๙๖. อย่ากริ้วโกรธเนืองนิจ
กริ้ว - เกริ้ยวกราด  แสดงอาการโกรธ  ที่เรียกว่า "ลุแก่โทสะจริต"  ระงับความโกรธไว้ไม่ได้   เป็นลักษณะของคนอ่อนแอ ควบคุมสติอารมณ์ไม่อยู่   คนที่เข้มแข็งจะเยือกเย็นควบคุมอารมณ์ได้ 
โกรธ - ความขุ่นเคือง  คั่งแค้น ผูกใจเจ็บ   มีมากเข้าก็บันดาลโทสะออกมาทางกิริยาวาจา ทางพระเรียกว่า "โทสะจริต"  หรือ "โทสัคคี"  โกรธ คือ ไฟย่อมเผาไหม้ตนเองให้รุ่มร้อนไม่มีความสุข 
เนืองนิจ - โกรธอยู่เสมอ  เกิดอยู่เรื่อยๆ  เกิดอยู่ประจำ  
สอนว่าอย่าเกรี้ยวกราดด้วยอารมณ์โกรธเคืองอยู่เนืองนิจ  เพราะความโกรธนั้น จะเป็นไฟเผาไหม้ตนเอง  จะเกิดโทษแก่ตนเอง คนที่ถูกโกรธจะไม่เดือนร้อนอะไรนัก  เขาจะได้รับผลของความโกรธของเราน้อยกว่าที่เราได้รับมากมายหลายเท่า

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ "อกุโกเธน  ชิเน โกธํ "  ผจญคนมักโกรธด้วยไมตรี  ระงับความโกรธด้วยขันติธรรมและเมตตา 
บัณฑิตพระร่วงบทนี้ สอนตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนา  ไม่ใช่สุภาษิตไทยแท้ตามที่เข้าใจกัน

๙๗. ผิวผิดปลิดไปพล้าง
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "ผิวผิดปลิดไปร้าง"   ฉบับของกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ว่า "ผิวผิดปลิดไปพล้าง"  เห็นว่าฉบับของกรมศิลปากรแปลความหมายไม่ได้  ฉบับของกรมพระยาปวเรศฯ แปลได้ความหมายดีกว่า จึงยึดถือฉบับนี้ 
ผิว - ถ้า หาก หมายความว่า  ถ้าหากไม่เป็นไปดังตั้งใจเดิม  เดี๋ยวนี้ก็มักพูดกันว่า "ผิดนัก"   เช่น ต้ังใจจะไปกรุงเทพฯ  วันเดียวกลับไม่ค้างคืน   แต่ถ้าหากกลับไม่ทันก็จะพูดว่า "ผิดนักก็เที่ยวไนท์คลับสักคืน"  ชายหนุ่มตั้งใจจะแต่งงานกับหญิงสาวสวย แต่ถ้าพลาดท่าเสียทีก็จะพูดว่า "ผิดนักก็แต่งกับแม่ม่ายทรงเครื่องเสียเลย"   คำว่า "ผิว"  อ่านว่า "ผิวะ"  จึงเป็นคำพูดที่ตกกะไดพลอยโจน ถ้าผิดจากความตั้งใจเดิม ต้องทำตรงข้ามเสียเลย
ผิด - ไม่ถูก ทำชั่ว ทำพลาด ทำผิดคำพูด ทำผิดแบบแผนประเพณี ทำผิดทำนองคลองธรรม  ทำผิดจากตั้งใจ ทำผิดจากที่เคยทำ 
ปลิด - ปลด เปลื้อง  เช่น ปลิดผลไม้ออกจากต้น  เอาออกจากที่ติดข้องอยู่ 
พล้าง - คือ พลั้ง หรือ พลาด คำว่า พลั้ง นั้นเขียนผิดจากเสียงพูดจริงๆ เสียงพูดนั้นครึ่งสั้นครึ่งยาว  เช่น น้ำ เราไม่พูดเสียงสั้นเหมือนที่เขียนเป็นรูปคำ เราพูดว่า น้าม มากกว่า  
คำว่า พลั้ง คือความผิดพลาด นี้ ก็พูดว่า พล้าง เสียงยาวกว่าตัวอักษรที่เขียนเป็นรูปคำ  เช่นพูดว่า "พลั้งปากเสียศีล พลั้งตีนตกต้นไม้"   ควรเขียนว่า พล้าง มากกว่า   แต่เมื่อเขียนรูปคำเป็น พลั้ง เสียจนชินตา เมื่อมาเห็นคำที่เขียนเป็น  พล้าง  จีงไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร 
"ผิวผิดปลิดไปพล้าง"  จึงแปลความหมายได้ว่า "ถ้าหากทำผิดก็ให้เปลื้องเป็นความพลั้งพลาด"  คือ ทำผิด (ซึ่งมีโทษมาก) ก็ให้เปลื้องความผิดเสียเป็นความพลั้งพลาด(ซึ่งมีความผิดน้อย)  เพราะไม่ได้ตั้งใจ 
โทษฐานเจตนาฆ่าคนตาย  กับทำคนตายโดยประมาทนั้น โทษนักเบากว่ากันเพราะถือเอาเจตนาเป็นสำคัญ  ยิงคนตายโทษหนักเพราะต้ังใจฆ่าเขาด้วยความพยาบาทอาฆาตแค้น   แต่ทำปืนลั่นถูกคนตาย โทษเบากว่า เพราะไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าเขา

๙๘. ข้างตนไว้อาวุธ
คนโบราณบ้านนอกอยู่ในชนบทมักจะมีภัยอันตราย จากคนร้ายและสัตว์ร้ายอยู่ตลอดเวลา   ต้องเตรียมต่อสู้อยู่เสมอ  ท่านจึงสอนว่า "ข้างตนไว้อาวุธ"  (จะเดินทางก็ให้อาวุธ)  คำโบราณว่า "เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า" และ "หอกข้างแคร่" (มีหอกก็ให้พาดไว้ข้างแคร่ที่นอน  จะได้หยิบมาป้องกันตัว แต่ถ้านอนหลับไหลไม่ระวังตัว คนร้ายจะเข้ามาประชิดตัว  หอกข้างแคร่น้ันจะถูกคนร้ายจับเอาไปเป็นอาวุธได้   คำว่า "หอกข้างแคร่" จีงเป็นทั้งมิตรและศัตรู 

คำโคลงโลกนิติว่า 
"หาญห้าวตาวบ่ได้          จวบฟัน
  แหลนและทวนไม่ทัน    ต่อค้าง
  พลคชจรดผัน                งาประสานแฮ
  ปืนไปนั่งง้าง                  นกจ้องใจเกรง ฯ"
ท่านเปรียบว่า ถึงจะห้าวหาญอย่างไร  ไม่มีดาบฟัน ไม่มีแหลนทวนแทงต่อสู้ขับไล่ช้างเข้าประสานงาแล้ว  ปืนไม่ยิงมัวแต่ง้างอยู่จะสู้ศึกได้ไฉนเล่า 

๙๙. เครื่องสรรพยุทธอย่าวางจิตร
เครื่องสรรพยุทธ - เครื่องอาวุธทั้งปวง ได้แก่ หอก ดาบ แหลน หลาว ง้าว ทวน ปืน และ ช้างม้า
วางจิตร - วางใจ ไม่ลับ ไม่ล้าง ไม่เตรียม ไม่ฝึก  ไม่เก็บรักษาให้ดี ทอดทิ้งไว้ 
สอนว่า เครื่องรบสู้ป้องกันตัวนั้น  อย่าทอดทิ้ง ต้องลับ ต้องฝึกฝนให้ช่้ช่ำชอง  คราวใช้จะได้ใช้ได้  ต้องเก็บวางไว้ให้ดี เป็นที่เป็นทาง  อย่าให้ผู้ใดเอาไปใช้ได้  อย่าให้เป็นหอกข้างแคร่ ศัตรูเอาไปใช้แทงอกเรา  อยาปล่อยให้ขึ้นสนิม อย่าปล่อยให้ใครเอาไปเล่น จะเกิดอันตราย 
พระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงสอนว่า 
" แม้นหวังตั้งสงบ       จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์
  ศัตรูกล้ามาประจัญ    จะอาจสู้ริปูสลาย....."
  เป็นคำสอนที่ตรงกับเรื่องเครื่องรบ 
โคลงโลกนิติสอนว่า 
"อุตส่าห์คิดปิดป้อง           กับกาย
  รั้วรอกขวากหนามราย     รอบล้อม
  ประมาทมัวเมามาย         ว่ามั่น  คงนา
  ศัตรูแต่คอยจ้อง              ช่องได้ภัยถึง ฯ"  

๑๐๐. คิดทุกข์ในสงสาร
สงสาร - สังสารวัฎ  ความเวียนว่ายตายเกิด ท่านพูดว่า โลกนี้เป็น "ห้วงมหรรณพภพสงสาร"  เป็นห้วงทะเลอันกว้างใหญ่ ที่สัตว์มาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  ตลอดอนันตกาล 
ทุกข์ - ความทนไม่ได้  พระพุทธเจ้าสอนว่า ทุกข์ของคนเรามี ๑๒ประการ
๑. ชาติ ความเกิดเป็นทุกข์
๒. ชรา ชราเป็นทุกข์
๓.พยาธิ โรคภัยเป็นทุกข์
๔. มรณะ ความตายเป็นทุกข์
๕. โศก ความเหี่ยวแห้งใจเป็นทุกข์
๖. ปริเทวะ ความร่ำไรรำพรรณ เป็นทุกข์
๗. โทมนัส ความไม่สบายใจเป็นทุกข์
๘. อุปายาส ความคับแค้นใจเป็นทุกช์
๙. ปิเยหิวิปโยค  ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์
๑๐. ยัมปิจฉํ นลภตํ  ความไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาเป็นทุกข์
๑๑. สงฺขิตเตน ปญจฺปาทานกฺขันธา  ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
๑๒. ทุกข์ ความอดทนไม่ได้เป็นทุกข์
สอนให้คิดถึงทุกข์ในการเวียนว่ายตายเกิดในโลกนี้ว่า มีแต่ทุกข์ ท่านเรียกว่า "ทุกฺขสจฺจ"  คือความจริงแห่งทุกข์ เป็นคำสอนตามแนวพระพุทธศาสนาโดยตรง 

๑๐๑. อย่าทำการที่ผิด
ผิด - ภาษาบาลีว่า "มิจฉา" ตรงข้ามกับ "สัมมา" คือ ชอบ มิจฉาทิฎฐิ คือเห็นผิดเป็นชอบ  เห็นชั่วเป็นดี ท่านว่า "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว"
สอนไม่ให้ทำผิด ความผิดในพระพุทธศาสนามี ๘ ประการคือ
๑.มิจฉาทิฎฐิ  เห็นผิด
๒.มิจฉาสังกัปปะ - ปรารถนาผิด
๓.มิจฉาวาจา - พูดผิด
๔.มิจฉากัมมันตะ - ทำการผิด
๕.มิจฉาอาชีวะ - เลี้ยงชีพผิด
๖.มิจฉาวายามะ - เพียรผิด
๗.มิจฉาสติ - ระลึกผิด
๘.มิจฉาสมาธิ - จิตตั้งมั่นผิด
บัณฑิตพระร่วงนี้เป็นคำสอนตามแนวพระพุทธศาสนาโดยตรง 

๑๐๒.คิดขวนขวายที่ชอบ
ขวนขวาย - ฝักใฝ่ เพียรพยายาม ไม่ดูดาย  ไม่อยู่นิ่ง  ไม่ท้อถอย ไม่ยอมแพ้
สอนว่า ให้ขวนขวายในทางที่ถูกที่ควร  อย่าขวักไขว่ดิ้นรนในทางที่ผิด  คนเราถ้าคิดผิด ทำผิดเสียแล้วจะพูดผิด เห็นผิดไปตลอดเรื่อง 
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คิดให้ถูก  ให้ตรงในสภาพที่เป็นจริงของโลกและชีวิต  "อริยสัจธรรม"  คือสิ่งที่เป็นจริงของโลกนั่นเอง  พระพุทธองค์เพียรพยายามที่จะชี้ให้เห็นความจริงของโลกทุกสิ่ง  พระองค์ตรัสว่า ความจริงคือธรรม   หรือ  สิ่งที่ตั้งอยู่ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกแล้ว พระองค์เพียงแต่พบความจริงที่มีอยู่ในโลกนี้อันเป็นสัจธรรม  แล้วทรงชี้ให้เห็นเป็นธรรม  หรือสิ่งที่มีอยู่ตามความเป็นจริง  ยกตัวอย่างเช่น คนที่เกิดมาในโลกนี้  ดี ชั่ว แตกต่างกันเพราะกรรม  จำแนกให้แตกต่างกัน  ไม่ได้แตกต่างกันเพราะไม่มีมูลเหตุ
คนรูปชั่ว  เพราะชาติก่อนเป็นคนโกรธง่ายอารมณ์เสีย 
คนรูปงาม  เพราะชาติก่อนเป็นคนใจดี ใจหนักแน่น 
คนอายุยืน เพราะชาติก่อนไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นคนใจบุญ 
คนอายุสั้น เพราะชาติก่อนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นคนใจบาป
คนขี้โรค เพราะชาติก่อนทรมานสัตว์
คนมั่งคั่ง เพราะชาติก่อนบริจาคทรัพย์ทำบุญมาก 
คนยากจน เพราะชาติก่อนตระหนี่เหนียวแน่น
มีคำหนึ่งที่พูดกันอยู่คือ  "กมฺมนา  วตฺติโลโก"  แปลว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม  เมื่อคิดชอบคิดถูก คิดตรงต่อสภาพความเป็นจริงแล้ว  ย่อมจะทำการที่ชอบ 

๑๐๓.โต้ตอบอย่าเสียคำ
โต้ตอบ - การพูดจาตอบถ้อยสนทนากับผู้อื่น   การนัดหมาย การให้สัญญา 
เสียคำ - เสียคำพูด   พูดออกไปแล้วทำให้เสียหายแก่ตนเองและผู้อื่น  เพราะพูดคำหยาบหรือพูดโป้ปดมดเท็จ
สอนว่า การเจรจาโต้ตอบกับผู้อื่น   อย่าให้เสียคำพูด อย่าให้เสียหายแก่ตนเองและผู้อื่น  อย่าเสียสัตย์สัญญา อย่าให้เขาเกลียดปาก
โบราณสอนนักหนาเรื่องคำพูดหรือปาก  เช่น "พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย"  "ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา"  "สำเนียงบอกภาษา  กิริยาบอกสกุล" 
โคลงโลกนิติว่า
"วัดช้างเบื้องบาทรู้          จักสาร
  วัดอุทกชักกมุทมาลย์    แม่นรู้
  ดูครูสลับโวหาร              สอนศิษย์
  ดูตระกูลเผ่าผู้            เพื่อด้วยเจรจาฯ "

ดูตระกูลว่าผู้ดีหรือขี้ข้า ก็ดูคำพูดว่าไพเราะหรือหยาบคาย 
ดูความรู้ว่าดีหรือต้อยก็ดูที่คำพูด 
ดูจิตใจว่าดีชั่วอย่างไรก็ดูที่การพูดจา
ดูคุณธรรมก็ดูที่คำพูด
ดูว่าโง่หรือฉลาดก็ดูที่วาจา
เพราะฉนั้นท่านจึงสอนว่า "โต้ตอบอย่าเสียคำ" เพราะคำพูดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง  

๑๐๔.คนขำอย่าร่วมรัก
คนขำ - คนที่ทำอะไรประหลาดกว่าคนอื่นทั้งหลาย  จนมองดูขำๆ 
ร่วมรัก - คบค้าสมาคมด้วย   เป็นมิตรสนิทด้วย แต่งงานด้วย 
สอนว่าคนที่มีลักษณะขำๆ อย่างนี้อย่าร่วมรัก เป็นมิตรสนิทหรือแต่งานด้วย   เพราะอุปนิสัยใจคอของคนพิการเหล่านี้ก็มีอะไรพลิกแพลงไม่คงเส้นคงวา  ถ้าแต่งงานด้วยจะเสียพืชพันธ์ ลูกหลานก็จะสืบทอดลักษณะนั้นไปด้วย   

๑๐๕. พรรคพวกพึงทำนุก
ปลุกเอาแรงทั่วตน 

พรรค - พวก หมู่ คณะ กลุ่ม แถว
พรรคพวก - กลุ่มคนซึ่งเป็นญาติเป็นมิตรมีจิตใจและผลประโยชน์ร่วมกัน  เกี่ยวข้องกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน  เช่นพรรคการเมือง  คือสมาคมของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมกันในคติทางการเมือง  ที่มุ่งบริหารประเทศในแนวอุคมคติของตน
ทำนุก - มาจากคำว่า "ทุก" แปลว่า แบก หาม เอาใส่บ่า แผลงเป็น "ทำนุก"  แปลว่า เข้าแบกหาม เอาเป็นภาระ  โอบอุ้ม อุปถัมภ์  ช่วยเหลือเกื้อกูล เอาเป็นธุระ 
สอนว่าพรรคพวกเดียวกันพึงเอาภาระช่วยเหลือ  เกื้อกูลค้ำจุนไว้ไม่ให้ตกต่ำ  ไม่ทอดทิ้ง  เหลียวแลเอาเป็นธุระ ทำนุบำรุง ส่งเสริมสนับสนุน 
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า  การสงเคราะห์บุตร   การสงเคราะห์ภรรยา การสงเคราะห์ญาติ  เป็นมงคลอันอุดม  บุตร ภรรยา ญาตินับเป็นพรรคพวกตามสุภาษิตนี้  บัณฑิตพระร่วงจึงสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนา

"ปลุกเอาแรงทั่วตน"
หมายความว่า ปลุกใจให้เข้มแข็ง ปลอบใจให้หายขุ่นข้อง  เพื่อจะได้เป็นกำลังแก่หมู่คณะ  เมื่อบุคคลในหมู่คณะเข้มแข็ง  หมู่คณะก็เข้มแข็งด้วย   

(โปรดติดตามตอนต่อไป)
  
  


   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น