วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๒๑)


๑๖๑. อย่ารักเผ้ากว่าผม
ฉบับกรมศิลปากรว่า "อย่ารักเหากว่าผม"   เห็นว่าน่าจะไม่ถูก เพราะคงไม่มีใครรักเหากว่าผมของตัวแน่  ไม่น่าจะสอนเป็นสุภาษิต แต่ถ้าจะเปรียบความว่า ผมคือเลือดเนื้อเชื้อวงศ์  เผ้าคือคนมาอาศัยเรือนอยู่  ก็อาจจะพอไปได้
ฉบับของกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ว่า "อย่ารักเผ้ากว่าผม"  ฟังเข้าที เพราะผมคู่กับเผ้า
ผม - ขนที่เกิดงอกขึ้นบนศีรษะ  ภาษาบาลีว่า "เกศา" ท่านสอนให้ปลงกรรมฐานว่า  เกสา- โลมา - นขา - ทันตา - ตโจ ให้พิจารณาว่าเป็นอนิจจัง - ไม่เที่ยง, ทุกขัง- เป็นทุกข์, อนัตตา - ไม่ใช่ตัวตน (ไม่งดงาม พรากจากที่เดิมแล้วก็ไม่มีอะไรดี) 
เผ้า - ข้อง วิก ผมปลอม มวยผมที่มุ่นเป็นชฎาแบบฤาษี  เครื่องตกแต่งประดับประดาศรีษะภายนอกกายเพื่อให้สวยงาม  เสริดสวมศรีษะ 
สอนว่า แม้แต่ผมขึ้นจากหนังศรีษะ  ยังไม่งดงาม ยังหงอกขาว  ยังล่วงหลุ่น ไม่เที่ยงไม่สวยงาม แล้วข้องผมที่ประดับศรีษะ อันเป็นข้องภายนอกกาย  จะดีงามควรรักใคร่อย่างไรได้  แม้แต่สิ่งที่เกิดในกาย  ยังไม่ควรรักใคร่ใยดี 

๑๖๒. อย่ารักลมกว่าน้ำ
ลม - พัดให้ร่างกายเย็นสบาย  แต่ก็มองไม่เห็นตัว ตักตวงมาเก็บไว้ไม่ได้ ดื่มกินแก้กระหายไม่ได้  ชำระล้างร่างกายให้สะอาดไม่ได้ ใช้หุงต้มไม่ได้ เปรียบเหมือนคำพูดที่ไพเราะ 
น้ำ - อาบให้เย็นสบายเหมือนลมพัด  แต่ก็ยังชำระร่างกายให้สะอาดได้  ใช้ดื่มกินแก้กระหายได้ ใช้หุงต้มอาหารกินได้  มีตัวตนเก็บรักษาไว้ได้  ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าลม  เปรียบเหมือนน้ำใจดี
สอนว่าอย่ารักลมกว่าน้ำ เป็นคำเปรียบเทียบว่า  อย่ารักคำพูดที่เป็นลมๆ ไม่จริงจังอะไร  ฟังได้เย็นๆหูให้ชื่นใจเท่านั้น  แต่น้ำใจนั้นมีค่ายิ่งกว่าคำพูด  รักก็รักน้ำใจดีกว่ารักคำพูดที่หวานหู

๑๖๓. อย่ารักถ้ำกว่าเรือน
ถ้ำ - เป็นที่อยู่อาศัยในป่า  นอกจากเป็นที่อยู่อาศัยของคนแล้ว โจรผู้ร้าย  เสือร้าย งูพิษ ก็อาศัยอยู่ได้  เปรียบเหมือนใจคนร้าย  มีความชั่วร้าย เปรียบเหมือนใจคนร้าย   มีความชั่วร้ายอยู่ในใจไม่น่าไว้ใจคบหาให้เป็นสุขได้ตลอดไป
เรือน - เป็นที่อยู่อาศัยของคน  คนปลูกสร้างขึ้นเอง อาศัยเอง  จะปลูกสร้างให้น่าอยู่อาศัยอย่างไรก็ได้  เหมือนเรือนใจของคนดี  ย่อมมีคุณธรรมควรคบหาไว้ใจได้ว่าจะปลอดภัยเป็นสุข
สอนว่าอย่ารักถ้ำกว่าเรือน  เปรียบเหมือนอิงแอบอาศัยในหมู่คนดี เป็นสุขกว่าอยู่ท่ามกลางคนร้าย  ไม่น่าไว้ใจ ไม่น่าเป็นสุขเหมือนอยู่ในหมู่คนดี  หรือหมู่นักปราชญ์
คำโคลงโลกนิติว่า
"ได้เห็นนักปราชญ์ไซร้     เป็นสุข
  อยู่ร่วมเรือนหายทุกข์      ค่ำเช้า
  ผู้พาลสั่งสอนปลุก           ใจดั่ง พาลนา
  ยลเยี่ยงนกแขกเต้า          ตกต้องมือโจรฯ "
เปรียบความว่า ถ้าเป็นเหมือนเรือนโจร   เรือนเป็นเหมือนอาศรมพระฤาษี

๑๖๔. อย่ารักเดือนกว่าตะวัน  
เดือน - ดวงจันทร์ ส่องยามค่ำคืน  มีขึ้นมีแรง ไม่คงที่ เปรียบเหมือนใจคนคดใจคนพาล  ไม่แจ่มแจ้งผ่องใสตลอดไปได้  ถึงจะทำเป็นคนดีก็เป็นคนดีไปไม่ตลอด มีมืดมีสว่าง 
ตะวัน - ส่องยามกลางวัน  คงที่ไม่มีขึ้นมีแรง  แม้จะมีเมฆบังก็ชั่วครูชั่วยาม  เปรียบเหมือนใจคนตรง ใจคนดี ใจนักปราชญ์ ใจผู้มีศีลธรรม  ย่อมส่องสว่าง  คงเส้นคงวา  สว่างตลอดเวลาทีมีชีวิตอยู่ 
สอนว่า คนพาลนั้นมีมืดมีสว่าง ไม่คงที่ อย่าหลงรัก  ใจบัณฑิตนั้นสว่างคงที่  ไม่มีมืดมน  จึงอย่ารักคนพาลยิ่งกว่ารักบัณฑิต เป็นคำสอนเปรียบเทียบ 
คำโคลงโลกนิติกล่าวไว้ว่า
"คนใดไปเสพด้วย            คนพาล
  จักทุกข์ทนเนานาน         เนิ่นแท้
  ใครเสพท่านทรงญาณ    เปรมปราชญ์
  เสวยสุขเลิศล้ำแท้          เพราะได้สดับดี ฯ"
มาจากภาษาบาลีว่า 
โย ชโย พาลสมาคโม สุขปฺปตฺโต นสํ สิต
ปณฑิตา จ  สหา สุขา พาลาทุกข สมาคมา 

(โปรดติดตามต่อไป)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น