วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๗)


๑๑๖. อย่าขุดคนด้วยปาก
ขุด - ฟัน แทง (ดังจอบฟันดิน) ด่า  ว่า เยาะเย้ย เสียดสีให้เจ็บใจ
สอนว่าอย่าด่าว่า  เสียดสี เยาะเย้ย  ถากถาง แขวะ คนท้ังหลายให้เขาได้อายหรือเจ็บใจ

๑๑๗. อย่าถากคนด้วยตา
ถาก - กิริยาที่เอามีดถากไม้  ถากด้วยตา คือกิริยาที่มองค้อน  หรือมองอย่างยิ้มเยาะในความผิดพลาดบกพร่องของคนอื่น 
สอนว่าอย่ามองความผิดพลาดบกพร่องของคนอื่นให้เขาได้อาย   ผู้ดีน้ันต้องช่วยแก้หน้าในความผิดพลาดบกพร่องของคนอื่น  ไม่ดุ ไม่มอง ไม่พูด หรือถ้าตำตาก็ต้องพูดกลบเกลื่อน ให้เป็นเรื่องเล็กน้อยช่วยปลอบเขาให้สบายใจ 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"อย่าขุดขอดท่านด้วย          วาจา
  อย่าถากท่านด้วยตา           ติค้อน
  ฟังคำกล่าวมฤษา               โสตรหนึ่ง นะพ่อ
  หยิบบ่ศัพท์กลับย้อน          โทษให้กับตน ฯ" 

๑๑๘. อย่าพาผิดด้วยหู
พาผิดด้วยหู คือฟังผิด  ทำให้คิดผิด พูดผิด  และทำผิด โบราณว่า "ฟังไม่ได้ศัพท์ จับมากระเดียด" ตรงกับคำโคลงโลกนิติที่ว่า 
 "ฟังคำกล่าวมฤษา             โสตรหนึ่ง นะพ่อ 
  หยิบบ่ศัพท์กลับย้อน         โทษให้กับตน  ฯ"
มฤษา คือ มุสา  บางท่านเข้าใจผิดว่า ปฤกษา     
เป็นคำสอนที่ตรงกัน เหมือนกับว่ามีที่มาแห่งเดียวกัน  จากพุทธภาษิตในภาษาบาลีที่ท่านแต่งไว้แต่โบราณ ชื่อว่า "โลกนิติปกรณ์"   นักปราชญ์ไทยแต่งไว้เป็นภาษาบาลียุคเดียวกัน

๑๑๙. อย่าเลียนครูเตียนด่า
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "อย่าเลียนครูเตือนด่า"  นั้น เห็นจะผิด คำที่ถูกนั้นคือ "เตียน" 
เตียน - ตำหนิ ติเตียน  คู่กับคำว่า  "ด่าว่า - ติเตียน" 
เลียน - ล้อเลียน   พูดเลียนคำครู 
สอนว่าอย่าล้อเลียนคำติเตียนด่าว่าครู  

๑๒๐.อย่าริเจรจาคำคด
ริ - เริ่ม ฝึกหัด ริอ่าน เพิ่งทำใหม่
คำคด - คำไม่ตรง คำโกหก ปด เท็จ ลวงให้หลงเชื่อ
สอนว่าอย่าริเริ่มพูดปด  แม้แต่เรื่องเล็กน้อยจะทำให้เคยตัว  การจะทำอะไรใหญ่โตก็อยู่ที่การเริ่มแรก  คนทำดีก็เพราะริเริ่มทำดีแต่น้อย จนเคยชินไป  คนทำชั่วก็เริ่มทำชั่วเล็กๆน้อยๆ เช่นการพูดปด ต่อไปก็ติดนิสัยพูดเท็จในเรื่องสำคัญต่อไป  ใครเขารู้นิสัยพูดเท็จย่อมขาดความเชื่อถือ  แม้จะพูดคำสัตย์คำจริง ดังเช่นเด็กเลี้ยงแกะในนิทานอีสป

๑๒๑. คนทรยศอย่าเชื่อ 
คนทรยศ - ยศต่ำ ยศทราม ไม่มียศ ไร้เกียรติศักดิ์ เพราะเหตุประพฤติชั่วร้าย  พูดเท็จ กลับกลอก สัปปลับ หักหลัง ไม่ปฎิบัติตามสัญญา  คิดร้ายต่อมิตร เนรคุณต่อผู้มีคุณ ขายชาติเพราะไม่มีสัตย์ไม่มีธรรม 
สอนว่าเมื่อรู้ว่าคนใดเป็นคนทรยศ  อย่าเชื่อถือถ้อยคำ เพราะเขาขาดสัตย์ขาดธรรม  คนที่เคยหักหลังทรยศคนมาแล้ว  ที่จะไม่ทรยศอีกนั้นหวังได้ยาก  
โบราณว่า "หญิงสามผัว  ชายสามโบสถ์"  ก็อยู่ในประเภทนี้  
คำโคลงโลกนิติว่า
"หญิงชั่วผัวหย่าร้าง          สามคน
 ข้าหลีกหนีสามหน           จากเจ้า
 ลูกศิษย์ผิดครูตน              สามแห่ง
 เขาหมู่นี้อย่าเข้า               เสพซ้อง  สมาคม ฯ"

๑๒๒. อย่าแผ่เผื่อความผิด
แผ่ - กระจาย ขยาย กว้างออกไป
เผื่อ - แบ่งปันให้ผู้อื่นด้วย  ไม่เอาไว้คนเดียว
ความผิด - ความผิดของตน ความบกพร่องของตน
สอนว่าเมื่อทำผิด   ต้องรับผิด ต้องยอมรับโทษ  อย่าป้ายความผิดให้คนอื่น  อย่าซัดทอดคนอื่นเพราะการกระทำเช่นน้้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย  ถ้ายอมรับสารภาพผิด อาจจะได้รับความเห็นใจ  แม้จะได้รับโทษ  คนอื่นอาจจะช่วยเหลือได้ภายหลัง  แต่การซัดทอด ป้ายความผิด โยนความผิด  ซัดทอดความผิดให้ผู้อื่น อาจจะได้รับความเกลียดชัง จากผู้สั่งลงโทษ และคนอื่นที่ถูกซัดทอด 
คำโคลงโลกนิติว่า
"คนพาลพวกหนึ่งน้ำ     ใจหาญ
  รู้ว่าตนเป็นพาล            กระด้าง
  พวกนี้วัจนาจารย์          จัดใช่ พาลพ่อ
  นับว่าปราชญ์ได้บ้าง     เพื่อรู้สึกสกนธ์ ฯ"

๑๒๓. อย่าผูกมิตรคนจร
คนจร - คนท่องเที่ยว คนเดินทาง  ไม่รู้จักบ้านเรือนหลักฐาน  "ไม่รู้หัวนอนปลายตีน"
ผูกมิตร - คบเป็นมิตรด้วย ให้อยู่ให้กิน ไว้ใจใกล้ชิด ถือเป็นมิตรสนิท
สอนว่าอย่าคบคนจรไม่รู้หัวนอนปลายตีน  เพราะไม่รู้ว่าจะเป็นคนดีหรือคนร้าย โบราณว่า "คบคนจรหมอนหมิ่น"  คืออาจพลาดท่าเสียที ต้องเจ็บตัว  เจ็บใจ  เสียทรัพย์ คบคนจรอาจจะถูกทรยศพลาดท่าเสียที  เสียทรัพย์ เสียลูกสาวหรือเสียเมียไปให้แก่คนจรได้ง่ายๆ  ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดี

๑๒๔. ท่านสอนอย่าสอนตอบ
สอน - เป็นนิสัยของครู ชอบสอนคนอื่น เห็นอะไรผิดหูผิดตา ผิดแบบแผน ผิดขนบประเพณี  เห็นคนอื่นพูดอะไรทำอะไรไม่ถูกต้อง  ไม่เหมาะสมก็มักจะสอนว่าอย่างน้ันอย่างนี้  บางทีคำสอนน้ันก็ปนคำตำหนิติเตียนอยู่ด้วย  คนเฒ่าคนแก่เห็นโลกมามาก ก็มักจะชอบสอนเด็กๆ และหนุ่มสาว  คนที่หัวอ่อน มีความอ่อนน้อม มีมารยาทดีก็มักจะนิ่งฟัง ไม่โต้เถึยง แต่คนที่หัวแข็ง มีน้ำใจกระด้าง ดื้อรั้น เชื่อความคิดเห็นของตน ไม่มีมารยาท  ไม่เคารพผู้ใหญ่ ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน  ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง  ก็มักจะโต้เถึยงหรือย้อนสอนครู สอนผู้ใหญ่ บางทีก็สอนพ่อแม่ อย่างนี้เรียกว่า ท่านสอนแล้วสอนตอบ  เป็นเด็กกระด้างไม่ได้รับความเมตตาเอ็นดูจากผู้ใหญ่  และจะไม่เจริญรุ่งเรือง  
บัณฑิตพระร่วง สอนว่า ท่านสอนอย่าสอนตอบ เป็นวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง  แม้เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ให้อ่อนน้อม เคารพยำเกรงครูและผู้ใหญ่  คนเช่นนี้ก็จะได้รับความรักความเอ็นดู  และมักจะเจริญรุ่งเรืองในชีวิตเสมอ  เพราะจะมีคนอุ้มชูช่วยเหลือ ส่งเสริมให้เจริญ  ด้วยคนเรานั้นจะดีด้วยตัวเองไม่ได้ทุกอย่าง  ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยให้ดีด้วย

๑๒๕. ความชอบจำใส่ใจ
ความชอบ -   ข้อที่ชอบ เรื่องที่ชอบ คำที่ถูกใจ
สอนว่า นอกจากท่านสอนอย่าสอนตอบแล้ว  ถ้อยคำใดที่พอใจ เรื่องใดที่ถูกใจ ความใดที่กินใจ คำใดที่ประทับใจ ให้จดจำไว้ให้ดี จำให้แม่น  จะได้เป็นเครื่องเตือนใจ สอนใจเราไปนานๆ  คำบางคำของครูหรือผู้เฒ่าพูด  เป็นคำสอนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  ถ้าคำพูดบางคำพูดฟังติดใจไปนานๆ  พบเห็นสิ่งใดก็เตือนใจให้นึกถึงอยู่เสมอ เช่น คำพูดของพ่อแม่ทีสำคัญๆ ในโอกาสสำคัญๆ  เช่นคำพูดก่อนตาย เป็นคำพูดจากใจจริง  ที่อาจจะไม่เคยพูดมาก่อน  เช่น ปัจฉิมพจน์ของพระบรมครูที่ว่า "จงทำประโยชน์ตน  ประโยชน์ท่านให้พร้อมมูลด้วยความไม่ประมาทเถิด"   พระอริยสาวกทั้งปวงก็ฟํงโดยดุษณียภาพ  

๑๒๖. ระวังระไวที่มา 
ที่ไปมา - ระหว่างทาง ถนน แม่น้ำ ลำคลอง ที่คนสัญจร  การเดินทางไกล 
สอนว่า การเดินทางไปมาให้ระวังภัย จากสัตว์ร้ายและคนร้าย  การกิน การอยู่ การพักระหว่างทาง  การคบคนแปลกหน้า การนอน อย่าประมาท อาจมีอันตราย
คำโคลงโลกนิติสอนว่า 
"เดินทางต่างประเทศ      พิจารณ์
  อาสน์นั่งนอนอาหาร      อีกน้ำ
  อดนอนอดบันดาล         ความโกรธ
  ห้าสิ่งนี้คุณล้ำ                เลิศล้วนควรถวิล ฯ"  
บัณฑิตพระร่วงนี้ก็สอนตรงกับ โคลงโลกนิติ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
  



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น