๑๓๗. ความแหนให้ประหยัด
ความแหน - ของหวง ของรัก ของสงวน
ประหยัด - มัธยัสถ์ ระมัดระวัง ใช้แต่น้อย ไม่ให้ล่วงเกิน
สอนว่า ของหวง ของรัก ควรสงวนไว้ ควรประหยัดไว้มิยอมให้ใครล่วงเกิน หยิบฉวย ของหวงมีหลายอย่าง เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ของใช้ส่วนตัว ช้าง ม้า พาหนะ รถยนต์ ภรรยา บุตรสาว สิ่งเหล่านี้ท่านให้ระวังรักษาอย่าปล่อยทอดทิ้ง อย่าใช้สอยเกินความจำเป็น อย่าให้ใครยืม หรืออย่าฝากใคร เดี๋ยวจะผิดใจกัน เมื่อของรักของหวงมีอันตราย
๑๓๘. เผ่ากระษัตริย์เพลิงงู
(อย่าดูถูกว่าน้อย)
ฉบับกรมพระยาปวเรศฯ ว่า "เฝ้ากระษัตรเพลิงงู" เห็นจะผิดความเดิมเป็นแน่ ที่ถูกน่าจะเป็น "เผ่ากระษัตรเพลิงงู" มากกว่า
เผ่ากระษัตริย์ - วงศ์กษัตริย์ หน่อกษัตริย์ ราชกุมาร
เพลิง - ไฟ
สอนว่า หน่อกษัตริย์ ไฟ งู อย่าดูถูกว่าเล็กน้อยไม่สำคัญ
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"อย่าหมิ่นของเล็กน้อย สี่สถาน
เล็กพริกพระกุมาร จีดจ้อย
งูเล็กเท่าสายพาน พิษยิ่ง
ไฟเล็กเท่าหิ่งห้อย อย่าได้ดูแคลน ฯ"
บัณฑิตพระร่วงก็สอนตรงกัน
๑๓๙. หิ่งห้อยอย่าแข่งไฟ
คำว่า "หิ่งห้อยส่อง ก้นสู้จันทร์หรือ แสงไฟ" นี้ดูเหมือนจะเป็นคำสอนที่รู้กันทั่วไป
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"หิ่งห้อยส่องคั้นสู้ แสงจันทร์
ปัดเทียบเทียมรัตน์อัน เอี่ยมค่า
ทองเหลืองหลู่สุวรรณ ธรรมชาติ
พาลว่าตนเองอ้า อาจล้ำเลยกวี ฯ"
เป็นคำสอนที่สอนตรงกัน
๑๔๐ อย่าปองร้ายต่อท้าว
ปองร้าย - คิดร้าย มองในแง่ร้าย
ท้าว - ท้าวไท ผู้เป็นใหญ่ พระเจ้าแผ่นดิน
สอนว่า อย่าคิดร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดิน ผู้มีบุญบารมี มีบุญญาธิการสูง แม้แต่มองในแง่ร้าย ดังที่พวกหัวเอียงซ้ายเขาคิดกันในปัจจุบัน อันทีจริง คนที่ปองร้าย คิดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ มีมาแต่โบราณกาลแล้ว แต่ก็แพ้ภัยตัวไปหมด พระพุทธเจ้ายังมีคนคิดปองร้ายอยู่เนืองๆ เช่นพระเทวทัต แต่ก็แพ้พระบารมีไปเอง ดังแมงเม่าบินเข้ากองไฟ หรือหนูท้าราชสีห์รบ
คำโคลงโลกนิติว่า
"หนูเห็นราชสีห์ท้า ชวนรบ
กูสี่ตีนกูพบ ท่านไซร้
ท่านกลัวท่านอย่าหลบ หลีกจาก กูนา
ท่านสี่ตีนอย่าได้ วากเว้ทางหนี ฯ"
"สีหราชร้องว่าโอ้ พาลหนู
ทุรชาติครั้นเห็นกู เกลียดใกล้
ฤามึงใคร่รบดนู มีงนาศ เองนา
กูเกลียดมึงกูให้ พ่ายแพ้ภัยตัว ฯ"
๑๔๑. อย่ามักห้าวพลันแตก
ห้าว - แก่ เช่นมะพร้าวห้าว, กล้า เช่น คนห้าวหาญ
แตก - หัก บิ่น
สอนว่าอย่ากล้านักมักบิ่น อย่าห้าวนักมักแตก เช่น พลุ ปืน
คำโคลงโลกนิติว่า
"พลอดนักมักพลาดพลั้ง พลันผิด
หาญนักมักชีวิต มอดม้วย
ตรองนักมักเสียจิต จัดคลั่ง
รักนักมักหลงด้วย เล่ห์ลิ้นลมหญิง ฯ"
๑๔๒. อย่าเข้าแบกงาช้าง
งาช้างอันยาวรี สีขาวสะอาดนั้น มันมีไว้เป็นอาวุธใช้แทงศัตรู อย่าเห็นเป็นของสวยงามเข้าแบกหามเล่น มันจะแทงตายเปล่า แม้ช้างตายนอนอยู่ ก็เข้าแบกเอางามาไม่ได้ แม้ว่าจะถอดถอนออกมาได้ เพราะฆ่าช้างเอางา เขาก็ไม่แบกเอามา เพราะงาช้างมีน้ำหนักมาก โคนโต ปลายแหลม น้ำหนักไม่เท่ากัน แบกหนักและลำบาก เขาต้องเอาเชือกผูกมัดแล้วช่วยกันหามเอามา
ท่านจึงสอนว่า อย่าเข้าแบกงาช้าง นี้อย่างหนี่ง
งาช้างนี้ท่านเปรียบเหมือนถ้อยคำของผู้มีสัจ ยาวเท่าไรก็ยาวเท่านั้น ไม่หดคืนเข้าปากไป กล่าวอย่างไรก็คงอยู่อย่างน้้นไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะหดหาย เจ้าของคำพูดท่านรักษาคำพูดของท่านไว้เอง เหมือนงาช้างที่ออกมาจากปากช้าง คนอื่นไม่ต้องไปช่วยแบกหามไว้
คำโคลงโลกนิติว่า
"งาสารฤาเหี้ยนห่อน หดคืน
คำกล่าวสาธุชนยืน อย่างน้ัน
ทุรชนกล่าวคำผืน คำเล่า
หัวเต่ายาวแล้วสั้น เล่ห์ลิ้นทรชน ฯ"
๑๔๓.อย่าออกก้างขุนนาง
ก้าง - กางกั้น ขัดขวาง ขัดคอ ขัดใจ
ขุนนาง - ข้าราชการ ผู้มีบรรดาศักดิ์ อำมาตย์ ตำรวจ
สอนว่า อย่าไปขัดขวาง ขัดคอ ขัดใจข้าราชการผู้มีอำนาจ เพราะเหนตุว่าเขาอาจใช้อำนาจกลั่นแกล้ง หาเรื่องประทุษร้ายเอา ถ้าเขาเห็นวาเราเป็นศัตรูไปขัดคอ ขัดใจ ขัดผลประโยชน์ของเขา ตามธรรมดาข้าราชการผู้มีอำนาจนั้น เขาย่อมจะมีผลประโยชน์ มีลาภผลรายได้ ทั้งทางตรงทางอ้อม ทางลับและทางแจ้ง เขาย่อมมีบริวาร เขาย่อมมีบริวารร่วมกับคนอื่นอยู่ด้วย ถึงผลประโยชน์นั้นจะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ตาม เขาเคยได้รับเขาก็จะเกิดความโลภไม่รู้ผิดรู้ชอบ เพราะความโลภบังตาบังใจอยู่ ใครขืนเข้าไปขัดขวางผลประโยชน์ของเขา เขาย่อมจะโกรธ หาเรื่องกลั่นแกล้งใส่ร้าย และใช้อำนาจหน้าที่ของเขาทำลายเรา หาความผิดเราด้วยข้อหาร้ายแรง
๑๔๔ ปางมิชอบท่านช่วย
ปางป่วยท่านชิงชัง
ตามธรรมดาขุนนางนั้น ท่านเลี้ยงข้าทาสบริวารไว้ช่วยทำการงาน เมื่อยังดีมีแรงอยู่ท่านก็ได้ใช้แรงงาน ถึงจะทำผิด(มิชอบ) ท่านก็ช่วยให้พ้นผิดได้ เพื่อเอาไว้เป็นบริวารรับใช้ท่านต่อไป ท่านช่วยเพราะหวังจะใช้งาน เอาไว้เป็นบริวารประดับบารมี ทั้งทางดีและทางชั่ว เช่นฆ่าคนที่ขัดผลประโยชน์ เรียกว่า ปางมิชอบท่านช่วย
ปางป่วยท่านชิงชัง คือเวลาที่เราเจ็บป่วย ใช้งานการไม่ได้ ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาพาล ท่านก็ชิงชัง เป็นเช่นนี้แต่โบราณ แต่ในสมัยปัจจุบันก็ยังมีอยู่
บัณฑิตพระร่วงบทนี้ กล่าวถึงสภาพความเป็นจริง จึงเป็นสุภาษิตที่ฟังได้ทุกสมัย
๑๔๕. ผิวะบังบังจงลับ
บัง - ปิด
สอนว่าถ้าจะปิดก็ปิดให้ลับหู ให้ลับตา อย่าให้ใครรู้อย่าให้ใครเห็น เช่นเรื่องส่วนตัวในครอบครัว
แต่ว่าเรื่องใหญ่นั้นอย่าปิดให้ป่วยการ ย่อมจะมีคนรู้จนได้ ท่านว่า "ช้างตายท้ังตัว เอาใบบัวปิดนั้นไม่มิด" ถึงจะอยู่ในที่ลับตาก็ยังมีกลิ่นเหม็น
โบราณว่า "ฝามีหู ประตูมีตา" ที่ข้างฝามีคนเอาหูแอบฟัง ที่ประตูก็มีคนเอาตามาแอบดู ความลับไม่มีในโลก ฉนั้นท่านจีงสอนว่า ปิดก็ปิดให้มิด
๑๔๖. ผิวะจับจับจงมั่น
มั่น - มั่นคง ไม่หลุด โบราณเขียน "หมั้น" และคำว่า "หมั้นขันหมาก" นั้นก็คือ เอาหมากพูล และแก้วแหวนเงินทอง ไปผูกหญิงสาวให้มั่นคง ไม่หลุดตนไปเป็นของผู้อื่น เป็นการผูกมัดใจไว้
สอนว่าถ้าจะจับก็จับให้มั่น อย่าให้หลุดมือไป เช่นการจับปลาก็ให้จับทั้งสองมือ คำว่า "จับปลาสองมือ" หมายความว่า จับปลาสองตัวตัวละมือ หรือการจับโจรผู้ร้าย จับคนผิดก็ต้องมีพยานหลักฐานให้มั่นคง อย่าให้หละหลวมไปหลุดชั้นศาล
๑๔๗. ผิวะคั้นค้ั้นจงตาย
คั้น - บีบ เค้น เช่น คั้นกะทิ เค้นคอ จับคอบีบ
สอนว่า ถ้าจะบีบคั้น ก็ให้บีบคั้นให้อยู่มือ ให้ตายคามือ เช่นจับคองูได้ ก็เค้นให้ตายคามือ อย่าปล่อยมันจะกัดเอาตาย จับคนร้ายได้ก็ค้ันคอเอาความจริงให้ได้ ให้สารภาพผิดเสียก่อน อย่าปล่อยให้เป็นอิสระ ถ้าปล่อยแล้ว เขาก็จะไม่ยอมรับ คนร้ายที่ถูกบีบคั้น จึงพูดว่า "เหมือนลูกไก่อยู่ในกำมือ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด"
๑๔๘. ผิวะหมายหมายจงแท้
หมาย - มุ่ง จุดหมาย ปลายทาง วัตถุประสงค์ เป้าหมายที่จะไป ที่จะทำให้สำเร็จ
สอนว่าถ้าจะมุ่งหมายทำอะไร ก็ให้ตั้งใจมุ่งหมายให้แน่นอน ตั้งใจให้จริง จึงจะสำเร็จ อย่าเปลี่ยนใจ อย่าท้อแท้ หลักจิตวิทยาสมัยใหม่ ท่านว่า ถ้าเราตั้งใจมุ่งหมายที่จะเป็นอะไรตั้งแต่วัยหนุ่ม ตั้งใจให้จริงให้แท้แน่นอน ด้วยความทะเยอทะยานใฝ่ฝันอย่างจริงจัง ท่านว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ ปฎิบัติดี ปฎิบัตถูกต้อง ย่อมจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ตามบุญวาสนาของตน
๑๔๙. ผิวะแก้แก้จงกระจ่าง
กระจ่าง - แจ้ง สว่าง ประจักษ์ใจ
แก้ - ไข เช่น แก้ปริศนา แก้กระทู้ธรรม แก้คดี แก้ความข้องใจ แก้ตัวที่มีผู้กล่าวหาผิด
สอนว่าถ้าจะแก้ไขอะไร ก็แก้ให้กระจ่างชัด ให้คนเห็นแจ้ง ไม่มีที่เคลือบคลุมสงสัย จะแก้ปริศนา แก้คคีความ หรือแก้ตัวเมื่อมีผู้กล่าวโทษผิดจากความจริง ทนายที่แก้คดีความนั้นจะต้องแสดงด้วยพยานบุคคลและเอกสาร ให้ศาลเชื่อว่าไม่ผิดจริง ศาลจึงจะยกฟ้องไม่เอาผิดกับจำเลย อย่างนี้เรียกว่า "แก้กระจ่าง" เห็นชัดแจ้ง แก้กระทู้ธรรมที่ท่านตั้งไว้ เช่น "อตฺตาหิ อตฺโน นาโถ" ก็ต้องอธิบายความให้เห็นจริงว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตนอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าแก้กระทู้ธรรมได้ชัดแจ้ง คนอ่านแล้วเห็นจริงไม่เคลือบคลุมสงสัยอีกต่อไป อย่างนี้เรียกว่า "แก้กระจ่าง" สว่างในจิตใจ
๑๕๐. อย่ารักห่างกว่าชิด
ห่าง - คือ คนอื่นคนไกล ไม่ใช่ญาติสืบสายโลหิต บุตรเขย ลูกสะใภ้ ซึ่งไม่ใช่ลูกในอก บุตรเลี้ยง บุตรบุญธรรมซึ่งไม่ใช่บุตรจริงๆ หลานซึ่งห่างกว่าลูก แม้กระทั่งทรัยพ์นอกกาย ไม่ใช่ชีวิตร่างกาย นี้เรียกว่าห่าง
ชิด - คำว่า ชิด คือ ใกล้ ได้แก่ ใกล้ตัว ใกล้หัวใจ ใกล้โดยสายเลือด
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"ช้างม้าเมียมิ่งแก้ว เงินทอง
ตัวมิตายจักปอง ย่อมได้
ชีวิตสิ่งเดียวของ หายาก
ใช่ประทีปเทียนได้ ดับแล้วจุดคืน ฯ"
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น