วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๖)


๑๐๖. ยลเยี่ยงไก่นกกระทา
พาลูกหลานหากิน 
ยล - มอง ดู นึกถึง คิดเห็น ประจักษ์ใจ
เยี่ยง - อย่าง แบบ ตัวอย่าง 
ไก่ - แมไก่ หากินไม่หากินตัวเดียว  พาลูกตามไปเป็นฝูง  พบเหยื่อก็ร้องเรียก "กุ๊กๆ " ให้ลูกกิน ไม่กินเองตัวเดียว  พ่อไก่หาอาหารก็เรียกแม่ไก่มากิน 
นกกระทา - นกชนิดหนึ่งตัวลายเป็นจุดๆ มีนิสัยเหมือนแม่ไก่ คือพาลูกหากินเหมือนกัน 
สอนว่าให้ดูเยี่ยงไก่และนกกระทา  ไม่หากินตัวเดียว พาลูกหลานหากินด้วย  การเป็นหัวหน้าคนอย่าแอบกินบังกินคนเดียว มีลาภผลต้องแบ่งให้บริวารกินทั่วกัน จึงจะปกครองหมู่คณะได้ อย่าเบียดบังผลประโยชน์ไว้คนเดียว  อย่าเบียดเบียนลูกน้องให้เดือดร้อน ต้องเผื่อแผ่ให้ทั่วหน้า  
โคลงโลกนิติสอนว่า
"นายรักไพร่ไพร่พร้อม             รักนาย
  มีศึกสู้จนตาย                         ต่อแย้ง
  นายเบียญไพร่ไพร่กระจาย    จากหมู่
  นายปรักไพร่แกล้ง                ล่อล้างผลาญนาย ฯ"
บัณฑิตพระร่วงจึงสอนตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนา  แต่ว่ายกตัวอย่างแบบไทยๆให้เห็นชัด

๑๐๗. ระบือบิลอย่าฟังคำ
ระบือ - ลือ แผลงเป็นระบือ  แปลว่าเสียงเล่าลือ ถ้อยคำที่ลอยลมมา  เป็นคำเขาเล่าว่า   ไม่มีหลักฐานยืนยัน ไม่ได้เห็นประจักษ์ตา
ระบิล - เรื่องราว  ข้อความ 
สอนว่าเรื่องราวที่เลื่องลือกันนั้นอย่าเชื่อถือ  อย่าฟัง อย่าตื่นเต้น พระพทุธเจ้าสอนว่า  อย่าเชื่อมงคลตื่นข่าว  คำพังเพยของไทยว่า "กระต่ายตื่นตูม"   มาจากนิทานเรื่องลูกตาลตกดังตูม  กระต่ายนึกว่าฟ้าผ่าจึงวิ่งตะโกนไปว่า ฟ้าผ่า ฟ้าถล่ม ทำให้ฝูงสัตว์แตกตื่นตกใจกลัว พากันวิ่งหนีไม่คิดชีวิต   จึงเรียกว่า กระต่ายตื่นตูม  คนที่ไปเป็นทูตต่างเมืองน้ัน ท่านห้ามมิให้เป็นกระต่ายตื่นตูม   ได้ยินได้ข่าวอะไรให้พินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วน  สมัยนี้เรียกว่า  "ฟังข่าวกรอง"   ท่านจึงมีราชเพณีให้เข้าเฝ้ารับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์  และทัดใบมะตูม เพื่อมิให้ตื่นตูม ตื่นข่าว 
กาลามสูตร พระพุทธเจ้าสอนว่า 
๑. มา อนุสฺสวเนน           อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา 
๒. มา ปรมฺ ปราย            อย่าเชื่อโดยเล่าสืบกันมา
๓. มา อิติภิลา ปวย         อย่าเชื่อโดยตื่นข่าวเล่าลือ
๔. มา ปฎิกสมฺ ปทาเนน  อย่าเชื่อโดยอ้างตำรา
๕. มา วิตก เหตุ             อย่าเชื่อโดยตรึกนึกเอา
๖. มา นยฺ  เหตุ             อย่าเชื่อโดยคาดคะเนเอา
๗. มา อาการปริวิตกฺ เทน  อย่าเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการ 
๘. มา ทิฎฐิ นิธฺ ฒา นก  ชนติยา  อย่าเชื่อโดยเห็นว่าต้องกับความเห็นของตา 
๙. มา ภพฺ พ รูปตาย      อย่าเชื่อโดยเห็นว่าผู้นั้นควรเชื่อถือ
๑๐. มา สมฺ โณ โน ครู ติ อย่าเชื่อโดยถือว่าสมณนี้เป็นครูของเรา ฃ
บัณฑิตพระร่วงบทนี้  สอนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาโดยตรง

๑๐๘. การทำอย่าด่วนได้
ด่วนได้ - อยากได้โดยเร็ว  อยากให้สำเร็จโดยเร็ว  อยากให้เป็นดังใจอยากให้ได้ทันอกทันใจ
สอนว่า การทำอะไรอย่าใจเร็วด่วนได้  ไทยมีคำสอนว่า " ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม"   ด่วนได้สามผลามมักพลิกแพลง" หรือ "อย่าชิงสุกก่อนห่าม" คือมะม่วงน้ันย่อมมีผลก่อน อ่อนตามลำดับตั้งแต่หัวแมงวัน ขบเผาะ  เข้าไคล ห่าม สุก งอม  ถ้ายังไม่แก่พอควร  ปลิดสอยเอามาบ่มก็กินไม่หวานสนิท 
โคลงโลกนิติสอนว่า
"เรียกศิลป์แสวงทรัพย์ด้อม         เดินไศล
  สามสิ่งอย่าเร็วไว                       ชอบช้า
  เสพกามหนึ่งคือใจ                     มักโกรธ
  สองประการนี้ถ้า                         ผ่อนน้อยเป็นคุณ ฯ" 
มาจากพุทธภาษิตที่ว่า  
"สินฺเน สิปปํ ชนํ สินเน ปพฺพต บารุยฺ หํ
  สินฺเน กามฺสฺส โกธสฺส อีเมปญจ สินฺเนสินฺเน"
บัณฑิตพระร่วงบทนี้  ก็มาจากพุทธภาษิต 

๑๐๙. อย่าใช้คนบังบด
ฉบับของกรมศิลปากรใช้ว่า "อย่าใช้คนบังบด"
ฉบับของกรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ ใช้ว่า "อย่าใช้คนบังบท" น่าจะผิดเพราะหาความหมายไม่ได้ 
ฉบับของกรมศิลปากรน่าจะถูกต้อง
บัง - อับแสง บดบัง  คือบังแสง บังรัศมี  เช่น ราหูบดบังดวงจันทร์ เมฆบดบังแสงแดด 
บด - แปลว่า เคื้ยว ทำให้แหลกละเอียด ทำให้เป็นผง ทำให้เปลือกแตก เช่น บดยา รถบดถนน ควายเคี้ยวเอื้อง เรียกว่า "บดเอื้อง"
คนบดบัง  คือคนที่แอบกิน แอบเคี้ยว ไม่ให้เห็น  คนครัวคนใช้ที่ลักกินซ่อนกินมิให้นายรู้เห็น  เรียกว่า "คนบดบัง" บังเคี้ยว บังกิน หรือสมัยนี้เรียกว่า อม นั่นเอง  โบราณเปรียบวัวควายที่สำรอกเอาอาหารในท้องออกมาบดเอื้อง  ใครไม่รู้ก็นึกว่าในปากไม่มีอะไร  ที่แท้คือ เคี้ยวอาหาร 
สอนว่า อย่าให้คนแอบกิน แอบเคี้ยว ทำการงาน เพราะเขาจะยักยอกเอาทรัพย์สินกินหมด 

๑๑๐. ทดแทนคุณท่านเมื่อยาก 
ทด - แทน ตอบสนอง เพิ่ม เช่น ทดแทนคุณ ทดน้ำ ทดใช้(พูดเพี้ยนว่า ชดใช้)  ทดลอง (ลองทำแทนของที่จะทำจริงไปก่อน  ได้ผลแล้วจึงจะทำจริง) 
แทน - แทนตัว  แทนคุณ  แทนมือ แทนหู แทนตา  หมายความว่าเอาตัวเราเข้าไปแทนที่ ทำให้ท่านไม่ต้องให้ท่านลำบาก 
ยาก -  ยากไร้ ลำบาก  ยากจน ยากเหนื่อย ยากใจ 
สอนว่า ให้สนองคุณท่านเมื่อยากไร้  ได้รับความลำบาก เป็นเรื่องของความกตัญญูรู้คุณท่านที่ทำไว้ก่อน  เมื่อมีโอกาสก็ตอบสนองคุณท่าน  โอกาสน้้นคือเมื่อท่านลำบากยากไร้ ป่วยไข้ ทุพพลภาพ  ทางพระพุทธศาสนาสอนว่า ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี  ผู้มีคุณนี้อาจเป็นปู่ ย่า ตา ยาย ครูอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชา หรือมิตรก็ตาม  เมื่อมีโอกาสต้องตอบแทนคุณท่าน 
โคลงโลกนิติสอนว่า 
"เยียคุณพูนสวัสดิ์ให้        คือเผ่าพันธ์ุนา
  เยียปลูกบุญโดยธรรม์    พ่อแท้
  พิศวาสผูกใจกัน             เรียกมิตร
  ร้อนราคหญิงดับแก้        กล่าวแท้ภรรยา ฯ"
ไม่ใช่ญาติทำคุณให้คือญาติ  ไม่ใช่พ่อเลี้ยงชุบอุปถัมภ์คือพ่อ  ร่วมใจร่วมทุกข์ร่วมสุขกันคือมิตรไม่ใช่เมีย แต่ได้ร่วมหลับนอนดับราคะคือเมีย  เหล่านี้คือผู้มีคุณแก่เรา 
มาจากพุทธภาษิตที่ว่า 
"โส พนฺ ธ โย หิ เต ยุตฺ โต ปิตโรโหติ โปสโก
  ตํ มิตฺตํ ยตฺถ สิสฺสาโส สา ภริยา จ นิพฺ พุติ ฯ"

๑๑๑.ฝากของรักจงพอใจ
ฝาก ในที่นี้หมายถึงท่านเอามาฝากเรา
ของรัก  คือ ของขวัญ ของกำนัล ของที่เขารักหวงเขาหวง  เป็นของมีค่าของเขาซึ่งเขามีอยู่ ประณีต มีค่า เช่น เขานำพระเครื่องของปู่ย่า ตายายของเขามามอบให้  เขาก็นึกว่าได้สละของรักมีค่าสูงมามอบให้ แต่เราอาจจะมีพระเครื่องที่ดีกว่าน้ัน ก็อย่าดูถูกดูแคลน ทำเฉยเมยไม่ใยดี หรือพูดให้เขาเสียน้ำใจ  
สอนว่าเขาเอาของรักมาฝากจงพอใจรับไว้ ด้วยเป็นของดีมีค่าจากน้ำใจของเขา อย่าดูหมิ่นดูแคลน ชาวบ้านนอกอาจจะเอาเขาวัวมาฝากสักคู่  ก็เหมือนงาช้างของเขา  อยาดูหมิ่นว่าไร้ค่า เพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้นเป็นเครื่องหมายแห่งมิตรไมตรี  ความเคารพจากน้ำใจของเขา อย่างน้อยเขาก็หวังจะพึ่งพาอาศัยเราในวันหน้า  ผู้ดีมีมารยาทย่อมแสดงความไม่รังเกียจ  เราอาจให้ของมีราคาสูงแก่เขาหรือตอบแทนเขา  เป็นเงินสูงกว่านั้นหลายเท่าก็ได้  ถ้าเราไม่อยากรับของเขาเปล่าๆ 
คำนี้ไม่ใช่หมายถึงเอาคนรักไปฝากอย่าง  โคลงนิราศนิรนทร์ 

๑๑๒. เฝ้าท้าวไทอย่าทนง
เฝ้า - เข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์น้ัน  ท่านว่าอย่าทนงตนว่าเป็นคนโปรด อาจทรงพิโรธ ถูกตัดหัวได้ง่ายๆ  ท่านสอนไว้หนักหนา มีในเรื่อง "พาลีสอนน้อง"  สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงนิพนธ์ไว้ดังนี้
๐ เฝ้าท้าวอย่าแต่งโอ้            อวดงาม
ท้องพระโรงอย่าลาม             เหิ่มหน้า
พระสนมราชนงราม               เฝ้ากษัตริย์ 
เนตรโสตอย่าสอดคว้า          ลักล้วงประโลมนาง ฯ
๐ จักทูลพิภาศร้อง                คอยสงบ
ขุ่นคึ่งคิดจงสบ                      ช่องได้
ชอบที่นอบเคารพ                 กราบบาทมูลนา
อย่ากลบผิดชอบไว้               เชอดชี้ทูลฉลอง ฯ
๐ แม้ว่าท้าวตรัสพลั้ง             ราชศาสตร์
อย่าทัดกลางอำมาตย์           หมิ่นไท้
ครั้นตรัสแต่เดียวราช             ที่ลับโสตนา
กระซิบทูลแต่ใกล้                  เชิดชี้คดีธรรม ฯ  
๐ หนึ่งทางโดยเสด็จด้าว       ทิมฉนวน
รัตน์อาศาสนราชยานควร       คู่ไท้
อย่าร่วมผัดผิวนวน                  เทียมกษัตริย์
สองเร่งคิดจำไว้                      เหล่านี้จงระวัง ฯ
๐ เฝ้าท้าวอย่าห่างใกล้           พอประมาณ
พลตรัสพจน์คำขาน                สั่งได้
จำข้อราชบรรหาร                   จงสรรพ
ประกอบเพ็ชทูลให้                 ปลดเปลื้องภารสกล ฯ
๐ หนึ่งท้าวพิโรธขึ้ง                 อย่าถอย
อย่าง่วงสนใจคอย                   จิตท้าว
เห็นชอบตรัสมาพลอย             ทูลปลด
ให้ชื่นรื่นจิตท้าว                       ผ่องพ้นโทษมูล ฯ
๐ หนึ่งท้าวบำเหน็จให้             รางวัล
อย่าคิดอิจฉากัน                      ลาภไว้
จักมีแต่คำหยัน                        อัประภาคย์
หนึ่งจักขายอยู่ใต้                    บาทขึ้งคำรณ ฯ
๐ หนึ่งสูเป็นข้าท้าว                 ใช้ชิด
อย่าคลาดระวังผิด                   โทษร้าย
ทำตามราชนิติกิจ                    บัญญัติ
สูยุคเอาเป็นข้าย                      เขื่อนล้อมกับตน ฯ
๐ หนึ่งอย่าอ้างว่าท้าว              เคยสนิท 
ตรองตรึกทุกค่ำคิด                  รอบรู้
อย่าเอาประมาทปิด                 ปกโทษ
จักรพรรดิ์ดั่งเพลิงชู้                 วิ่งเข้าพลันตาย ฯ
๐ หนึ่งที่ประทับท้าว                ทรงเสด็จ
บานขัดซันกัดเม็ด                    มิดไว้
อย่าล่วงถอดลิ่มเคล็ด              เปอดออก แลนา
เป็นโทษสูอย่าได้                    อาจอ้างใจทนง ฯ
๐ หนึ่งพระแสงอย่าเหล้น         แกว่งกวัด
หนึ่งเสด็จอย่าวิ่งตัด                 ผ่านหน้า
หนึ่งท้องพระโรงรัตน์               ที่เสด็จ  ออกนา
นุ่งห่มสอดสีผ้า                        ดอกไม้ทัดกรรณ ฯ
๐ อย่าถือคนตอบเต้น              เป็นทหาร
ชาติบุรุษตริการ                       รอบรู้
อย่าทนงว่าภูบาล                    รักใคร่ ตนนา             
จะพลาดถูกกระทู้                    ซักท้าวควรระวัง ฯ
๐ หนึ่งกระบถคดต่อเจ้า           ธรนินทร์
อย่าแปดกลั้วราดิน                  เรื่องร้าย
เจ็บร้อนต่อแผ่นดิน                 จึ่งชอบ
คนผิดคบมักบ้าย                    โทษร้ายถึงตน ฯ
๐ หนึ่งสูจักสูเฝ้า                     จอมกษัตริย์
ประหยัดภักษาภัตร                 ย่อมท้อง
อย่ากินคับท้องอัด                   เกินขนาด
ฉุกเฉินเขินขัดหล้อง                โทษร้ายทลายลง ฯ
๐ หนึ่งอย่าคิดคบค้า                ชาวคลัง
แลกเปลี่ยนซื้อลับหลัง            ลักเลี้ยว
ขันทีที่ชาววัง                           นักเทศ     
อย่าสื่อสอดสารเกี้ยว               โทษร้ายถึงตาย ฯ
๐ ชาววังอย่าลักเล้า                 โลมไกล
หน่อกษัตริย์อย่าอาจใจ            หมิ่นจ้าว
แซ่งซักสอดสารไข                  สื่อสอบ
ใครจับความทูลท้าว                 โทษม้วยประไลยลาญ ฯ
๐ สูอย่าให้ชื่อแส้                      ฤาคต
วงศ์ญาติหลานเอารส                ฝึกไว้
แล้วแต่เต่าประนต                     ถวายบาท มูลนา
หนึ่งแขกเมืองมาไซร้                อย่าได้สื่อสนอง ฯ
๐ หนึ่งอย่าคิดว่าท้าว                 เสน่ห์สบ
ท้าวพิโรธเร่งนบ                        นอบไหว้
อย่าสะทึกสะเทินหลบ               หลีกภักตร ท่านนา 
อย่าคึ่งตอบท้าวได้                    โทษแท้ภัยดนู ฯ
๐ หนึ่งราชกิจท้าวทุก                 กระทรวง
จงสอดเห็นท้ังปวง                     ทุกด้าน
ทูลกษัตริย์อย่าลวง                    ลิ้นล่อ
ใครกาจหักให้ค้าน                     ชาติร้ายรอนเสีย ฯ
๐ หนึ่งอย่าฟังเล่ห์ลิ้น                 คนเปลาะ
อย่าดักขวากหนามเคาะ             มรรคไว้
กับเขนกระลีเลาะ                       ลามลุก ได้นา
จึงจะสมควรใช้                           ชื่อได้มนตรี ฯ
๐ หนึ่งพระหริรักษ์ล้ำ                  เลอศักดิ์
เลิศว่าวานรยักษ์                         ทั่วหล้า
ควรสูจักวงรักษ์                           ฉลองบาท
บพิตรจอมเจ้าฟ้า                        อย่าให้ระคายเคือง ฯ
๐ หนึ่งมิตรเพื่อนคู่ใช้                  ราชกิจ
ประมาทพลาดพลั้งผิด                ยกไว้
ถ้าความถูกไปปิด                        กราบบาท ทูลนา 
แม้ว่าไกลชอบให้                        เชอดชี้กราบทูล ฯ
๐ หนึ่งทหารอย่าหักช้ำ                ทูลเอา
ให้ผิดเสียใจเหงา                        ง่วงกล้า
ตระกูลตกอยู่เฉา                          ทูลยก ขึ้นนา
โอบอ้อมจงทั่วหน้า                      ไพร่ฟ้าชีพราหมณ์ ฯ
๐ หนึ่งจักออกเข่นข้า                    กลางณรงค์
หักศึกอาสาจง                              ฮึกห้าว
ถึงพินาศชูพงศ์                             พานเรศ
อย่าขลาดให้ศึกก้าว                     เหยียบได้รอยตน ฯ
๐ หนึ่งน้ำพิพัฒน์ท้าว                   กำหนด
อย่ามิจฉากระบถ                          ต่อหน้า
บิพตรเปรียบเพลิงกรด                 ฟาดถู ใครนา
น้ำดับลักล้นฟ้า                             ห่อนได้ดับเลย ฯ
๐ หนึ่งดับสิวาทถ้อย                     ความชน
อย่าระแวงระวางคน                      สอดจ้าง
เอานรกมาคำรณ                           ครุ่นขู่
ข่มจิตรคัดใจง้าง                           สู่ฟ้าเสวยรมย์ ฯ
๐ คำกลอนดูสอดไว้                      ทุกสรรพ์
ทราบสวาสดิ์อย่าแผดผัน              จิตรจ้าว
ล้วนสวัสดิ์สัจธรรม                         เสาวภาคย์   
ดั่งเพชรพลอยนพเก้า                    สอดไว้เฉลิมนวล ฯ    

คำโคลงเรื่องพาลีสอนน้องนี้ ยกมาเพื่อให้เห็นว่าคนโบราณสอนเรื่องการเป็นอำมาตย์เข้าเฝ้าไว้อย่างไร  แต่ก็ขอให้เข้าใจว่าเป็นการสอนการเฝ้าเจ้าชีวิตในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช  ซึ่งมีพระราชอำนาจปกครองล้นฟ้าล้นแผ่นดิน  อันเหมาะกับยุคสมัยนั้น ซึ่งต้องการความเฉียบขาดในการปกครองคน  เพื่อให้รวบรวมกันอยู่เป็นประเทศชาติได้ในท่ามกลางอริราชไพรี 

คำโคลงโลกนิติว่า "เฝ้าท้าวเทียมเสพด้วย  ยาพิษ" เป็นคำสอนที่ตรงกัน 

๑๑๓.ภักดีจงอย่าเกียจ 
ภักดี - จงรัก ซื่อตรง
เกียจ - รังเกียจ เกียจคร้าน เกี่ยงคน
สอนให้มีความจงรักภักดี   อย่ารังเกียจ อย่าเกี่ยงงอน หรือเกียจคร้าน

๑๑๔. เจ้าเคียดอย่าเคียดตอบ 
เคียด - เคียดแค้น โกรธเคือง
สอนว่า เจ้านายคือพระเจ้าอยู่หัว โกรธเกลียดก็อย่าโกรธเกลียดตอบ

๑๑๕. นบนอบใจใสสุทธิ์
นบ -นบไหว้ ถวายบังคม กราบกราน
นอบ - นอบน้อม หมอบคลาน ก้มหน้า 
ใส - เหมือนน้ำใส ไร้โคลนตะกอน
สุทธิ์ - บริสุทธิ์ ไร้สิ่งเจือปน 
สอนว่าให้ถวายบังคมด้วยน้ำใจใสบริสุทธิ์
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
          



           

          
                   



       





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น