วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๒๐)


๑๕๑. คิดข้างหนักอย่าเบา
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "คิดข้างหน้าอย่าเบา"  เห็นว่าผิด เพราะว่า "หนัก" คู่กับ "เบา"  คำว่า "หน้า" ไม่ใช่คำคู่กับ "เบา" เป็นคำคู่กับ "หลัง"  จีงแปลไม่ได้ความ
 เบา - เบาความ เบาความคิด เบาปัญญา  หูเบา ไม่หนักแน่น  ไม่สุขุมรอบคอบ ขาดสติยั้งคิด
หนัก - หนักแน่น มั่นคง หนักหน่วง ใจหนัก
สอนว่า คิดหนักหน่วง ตรึกตรองหน้าหลังให้ดี  อย่าใจเบา หูเบา ฟังความข้างเดียว 
โบราณสอนว่า "พกหินดีกว่าพกนุ่น"  หมายความว่า ให้หนักแน่นไว้ อย่าหูเบา ใจเบา อย่าเชื่อง่ายใจเร็ว 

๑๕๒. อย่าถือเอาตื้นกว่าลึก 
ตื้น -  คิดตื้นๆ คิดแค่ชั้นเดียว  คิดแต่ทางได้ ไม่คิดทางเสีย  คิดแต่ทางไล่ไม่คิดทางหนี 
ลึก - คิดลึก  คิดทางได้ทางเสีย  คิดทางหนีทีไล่ เหมือนเดินหมากรุกก็ต้องคิดหลายตาหลายชั้น ว่าเดินไปตานั้น  จะถูกกินจากตัวใดบ้าง  เดินไปแล้วจะเดินไปตาใดอีก  อย่างนี้เรียกว่า คิดลึก 
สอนว่า  อย่าคิดตื้นๆ ให้คิดลึกๆ  คิดหลายๆชั้น  คนคิดตื้นๆ ทำอะไรไม่คิด  พูดอะไรไม่คิด ท่านเรียกว่า คนบ้องตื้น  เหมือนกระบอกไม้ปล้องสั้นๆ  ทำกระบอกใส่น้ำได้ตื้น  จุน้ำได้นิดเดียว ทำข้าวหลามก็เนื้อนิดเดียว

๑๕๓.เมื่อเข้าศึกระวังตน
เข้าศึก - เข้าสงคราม เข้าสนามรบ 
สอนให้ระวังตนเมื่อเข้าสนามรบ 
ข้อนี้เห็นจะไม่ต้องอธิบายขยายความต่อไป  การรบกันต้องระวังตัวทุกเมื่อ  แม้แต่ศึกหน้านาง หรือศึกชิงนาง   อันเป็นศึกย่อยๆ  เพราะถ้าพลาดท่าก็ถึงตาย 

๑๕๔. เป็นคนเรียนความรู้ 
          จงยิ่งยิ่งผู้มีศักดิ์
เป็นคน - เกิดมาเป็นคน 
จงยิ่งผู้ - จงมากยิ่งกว่าผู้อื่น
ผู้มีศักดิ์ - จึงจะเป็นผู้มีศักดิ์ มีเกียรติยศ มีชื่อเสียง
สอนว่าเกิดเป็นคน ควรเรียนวิชาความรู้ให้ยิ่งกว่าผู้อื่น  จึงจะเป็นผู้มีเกียรติ มียศศักดิ์ มีชื่อเสียง 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"ความรู้ผู้ปราชญ์นั้น                 รักเรียน
  ฝนทั่งเท่าเข็มเพียร                ผ่ายหน้า
  คนเกียจเกลียดหน่ายเวียน     วนจิต
  กลอุทกในตะกร้า                    เปี่ยมล้นฤามี ฯ" 

"ความรู้รู้ยิ่งได้                          สินศักดิ์
  เป็นที่ชนพำนัก                       นอบนิ้ว
  อย่าเกียจเกลียดหน่ายรัก       เรียนต่อ
  รู้รอบใช่หอบหิ้ว                      เหนื่อยแพ้โรยแรง ฯ"
โบราณว่า รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม
คำโคลงโลกนิติอีกบทหนึ่งว่า
"ความรู้ดูยิ่งล้ำ                    สินทรัพย์
  คิดค่าควรเมืองนับ            ยิ่งไซร้
  เพราะเหตุจักอยู่กับกาย   กายอาต-มานา
  ใครจักเบียญบ่ได้             เร่งรู้เรียนเอา ฯ" 
ท่านสรรเสริญ ความรู้หนักหนา  จึงสอนว่า เกิดเป็นคนควรเรียนความรู้ไว้ให้มาก  จึงจะมีเกียรติศักดิ์


๑๕๕. อย่ามักง่ายมิดี
มัก - รัก ชอบ พอใจ ทำบ่อยๆ 
ง่าย - ชุ่ย ทำส่งเดช ทำสักว่าทำ ไม่ทำให้ดี  ทำพอให้เสร็จไป
สอนว่าอย่ารักทำแต่พอแล้ว  หรือสักแต่ว่าทำ  ต้องทำให้ดีที่สุด ทำด้วยความรอบคอบ ทำให้เรียบร้อยสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย  เพราะคุณค่าของคนอยู่ที่ผล  ฝืมือของคนอยู่ที่ผลงาน ผลงานจะเป็นเครื่องวัดความรู้  ความสามารถและคุณธรรมในจิตใจของคน  โบราณมักจะพูด ใครทำอะไรก็มักจะเหมือนตัวคนน้ัน   เพราะผลงานเป็นผลิตผลจากฝีมือ และจิตใจของคน เช่นการเขียนหนังสือ  คนเขียนหนังสือหวัดๆ ยุ่งๆก็เพราะใจร้อน ใจเร็ว คนลายฝีมือดีก็แสดงว่าจิตใจเยือกเย็น 

๑๕๖. อย่าตีงูให้กากิน
งูนั้นคนเกลียดกลัวก็จริงอยู่  แต่คนฆ่างูให้ตายแล้ว คนก็ไม่เอามาต้มแกงกิน ทิ้งให้เป็นเหยื่อแก่กา  คนฆ่าสัตว์ทำบาปเปล่าๆ  
โบราณสอนว่า "อย่าตีงูให้กากิน"   เป็นการเปรียบเทียบการกระทำของคน ที่ไปทำงานสิ่งหนึ่งลงแล้วตนก็ไม่ได้ประโยชน์  คนอื่นที่ไม่ได้ทำอะไร  ฉกฉวยเอาประโยชน์ไปง่ายๆ  ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร เช่นเกลียดชังคนหนึ่งอยู่เพราะเป็นคนไม่ดี  ถ้าเราไปทำลายล้างเขาลงแล้ว  คนอื่นที่ไม่ได้ทำบาปกลับจะได้ประโยชน์  ถ้าเขาชั่วร้ายเราก็หลีกเลี่ยงเสีย  อย่าคบค้าหรือเกี่ยวข้อง  "อเสวนาจพาลานัง"  ปล่อยให้ธรรมชาติลงโทษเขาเอง  ตามผลแห่งความชั่วของเขาจะดีกว่า  เช่นถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปลงโทษตามความผิด 
โบราณสอนอีกคำว่า  "ชั่วช่างชีไม่ดีช่างเถร"  อย่าไปนินทาว่าร้าย บาปกรรมเปล่า  ท่านชั่วจริง ท่านปราชิกจริง ท่านก็ตกนรกเอง เราอย่าไปเกี่ยวข้อง 

๑๕๗. อย่าตีปลาหน้าไซ
ไซ - เครื่องดักกุ้ง ดักปลา  สานด้วยไม่ไผ่ จักตอกละเอียด รูปยาวรรี ปากบาน เหมือนตะข้องใส่ปลา   ปลาเข้าไปจะออกไม่ได้ ใช้วางไว้ตามทางน้ำไหล 
ปลา - คือปลาที่มาตามน้ำไหล  ว่ายเข้าปากไซ ไปติดอยู่ในไซ
การตีปลาหน้าไซ คือ การกระทุ่มน้ำหน้าไซด้วยมือหรือไม้ ทำให้น้ำกระเพื่อม  ปลาที่กำลังว่ายตามน้ำจะเข้าไซ ก็ตกใจหนีไม่เข้าไซ ท่านจึงว่าอย่าตีปลาหน้าไซ  เป็นการเปรียบเทียบว่า คนหมู่หนึ่งกำลังเดินมาตามทำนองคลองธรรม  เช่น จะทำบุญทำกุศล ก็อย่าไปพูดจาขัดขวางการทำบุญทำกุศลของเขาเสีย
มหาเวสสันดรชาดกว่า "อย่าตีปลาหน้าไซให้เสียเปล่า"  ชาวบ้านพูดคำนี้อยู่เสมอ เป็นคำพูดเปรียบเทียบ   
มีคำพูดจำพวกเดียวกันอยู่สองสามคำคือ "ตีป่าให้เสือกลัว"  "เขียนเสือให้วัวกลัว"  แต่มีความหมายต่างกัน 
"ตีป่าให้เสือกลัว" หมายถึง คนกำลังจะทำชั่วก็ข่มขู่ให้หวาดกลัว หรือทำฮึกฮักกึกก้องให้นักเลงกลัว  
"เขียนเสือให้วัวกลัว" หมายถึงธรรมชาติของวัวกลัวเสือ  แต่เมื่อไม่มีเสือจริงก็เขียนรูปเสือให้วัวกลัว  แต่วัวนั้นไม่กลัวรูปเสือ เพราะไม่มีกลิ่นและไม่มีเสียงของเสือ  วัวนั้นไม่กลัวรูปร่าง มันกลัวกลิ่นและเสียงเสือ 

๑๕๘. ใจอย่าเบาจงหนัก
ใจเบา - โกรธง่าย ฉุนเฉียว  ไม่อดทน ขาดขันติธรรม  วู่วาม โกรธเกรี้ยวเชื่อง่าย 
ใจหนัก -  หนักแน่น มั่นคง อดทน มีขันติธรรม  ไม่วู่วาม ไม่ฉุนเฉียว ฟังหูไว้หู 
โบราณสอนว่า  "พกหินดีกว่าพกนุ่น"  เพราะหินหนัก ถ่วงไว้  ส่วนนุ่นเบาลอยลมไป  
พระแม่ธรณีบีบมวยผม มีน้ำไหลออกมาน้ัน  คิดดูให้ดีก็จะเห็นว่า  พระแม่ธรณีนั้นหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน  ไม่สะดุ้งสะเทือนไม่หวั่นไหว  ขังน้ำไว้ดี คือมีเมตตา  มีน้ำอดน้ำทน  จึงชนะทุกสิ่งทุกอย่างได้  เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิชิตพญามารน้ัน   ก็ทรงอ้างเอาพระแม่ธรณีเป็นพยาน  คืออ้างเอาขันติธรรม  และความเมตตากรุณานั่นเอง 
คำโคลงโลกนิติว่า
"ภูเขาทั้งแท่งล้วน         ศิลา
  ลมพายุพัดห่อน           ห่อนขึ้น
  สรรเสริญและนินทา     ในโลก
  ใจปราชญ์รือเฟื่องฟื้น   ห่อนได้จิตต์จล"

๑๕๙. อย่าตีสุนัขห้ามเห่า
สุนัข  มีธรรมชาติชอบเห่า  เพราะลักษณะนิสัยชอบเห่านี้เอง  คนจึงเลียงไว้เฝ้าบ้าน ให้เห่าขโมย 
ห้ามเห่า -  การที่จะห้ามไม่ให้สุนัขเห่าจึงทำไม่ได้    จะตีมันอย่างไร มันก็คงเห่าต่อไป   การตีสุนัขดุเมื่อมันกัดหรือมันตะกละ มันกัดหมูกัดไก่นั้นตีห้ามได้ แต่จะตีห้ามเห่านั้นไม่สำเร็จ  
สอนว่าอย่าตีสุนัขห้ามเห่า  เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติของสัตว์  เปรียบความว่า สันดานของมนุษย์น้ัน   จะแก้ไขอย่างไรก็ไม่ได้  พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนได้แต่พุทธเวไนยเท่าน้้น  คนร้ายเหลือกำลังก็ทรงปล่อยไปตามยถากรรม 

๑๖๐. ข้าเก่าร้ายอดเอา
ข้าเก่า - ทาสในเรือนเบี้ย เลี้ยงมาแต่ปู่ย่าตายาย  บริวารเก่าแก่ ใช้สอยมาแต่หนุ่มสาว  คนใช้เก่าแก่ใช้สอยกันมานานปี   คนพวกนี้ย่อมจะรู้ตื้นลึกหนาบางความลับของครอบครัว  ที่เก็บสมบัติ ช่องทางเข้าออกข้างนอกข้างใน ทางหนีทีไล่ จุดอ่อนแอ  ความบกพร่องของบ้านนี้  ถึงจะร้ายอย่างไรก็จำต้องเลี้ยงไว้  ต้องอดอออมถนอมน้ำใจไว้  ไม่โกรธเกรี้ยว ด่าว่า ขับไล่ไสส่ง   เพราะนอกจากเสียศีลธรรมแล้ว เขาอาจคิดร้ายเอาได้ 
สอนว่า ข้าเก่าร้ายอดเอา  คนเก่าแก่ต้องถนอมน้ำใจไว้ ไม่ใช้อำนาจบาทใหญ่ ขับไล่ไสส่ง  คำสอนแต่โบราณเตือนว่า "ช้างสาร ข้าเก่า งูเห่า เมียรัก"  อย่าวางใจ
คำโคลงโลกนิติว่า
"ช้างสารหกศอกไซร้     เสียงา
  งูเห่ากลายเป็นปลา      อย่าต้อง
  ข้าเก่าเกิดแต่ตา           ตนปู่ก็ดี
  เมียรักอยู่ร่วมห้อง        อย่าได้วางใจ ฯ"
  
(โปรดติดตามต่อไป)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น