วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๒๐)


๑๕๑. คิดข้างหนักอย่าเบา
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "คิดข้างหน้าอย่าเบา"  เห็นว่าผิด เพราะว่า "หนัก" คู่กับ "เบา"  คำว่า "หน้า" ไม่ใช่คำคู่กับ "เบา" เป็นคำคู่กับ "หลัง"  จีงแปลไม่ได้ความ
 เบา - เบาความ เบาความคิด เบาปัญญา  หูเบา ไม่หนักแน่น  ไม่สุขุมรอบคอบ ขาดสติยั้งคิด
หนัก - หนักแน่น มั่นคง หนักหน่วง ใจหนัก
สอนว่า คิดหนักหน่วง ตรึกตรองหน้าหลังให้ดี  อย่าใจเบา หูเบา ฟังความข้างเดียว 
โบราณสอนว่า "พกหินดีกว่าพกนุ่น"  หมายความว่า ให้หนักแน่นไว้ อย่าหูเบา ใจเบา อย่าเชื่อง่ายใจเร็ว 

๑๕๒. อย่าถือเอาตื้นกว่าลึก 
ตื้น -  คิดตื้นๆ คิดแค่ชั้นเดียว  คิดแต่ทางได้ ไม่คิดทางเสีย  คิดแต่ทางไล่ไม่คิดทางหนี 
ลึก - คิดลึก  คิดทางได้ทางเสีย  คิดทางหนีทีไล่ เหมือนเดินหมากรุกก็ต้องคิดหลายตาหลายชั้น ว่าเดินไปตานั้น  จะถูกกินจากตัวใดบ้าง  เดินไปแล้วจะเดินไปตาใดอีก  อย่างนี้เรียกว่า คิดลึก 
สอนว่า  อย่าคิดตื้นๆ ให้คิดลึกๆ  คิดหลายๆชั้น  คนคิดตื้นๆ ทำอะไรไม่คิด  พูดอะไรไม่คิด ท่านเรียกว่า คนบ้องตื้น  เหมือนกระบอกไม้ปล้องสั้นๆ  ทำกระบอกใส่น้ำได้ตื้น  จุน้ำได้นิดเดียว ทำข้าวหลามก็เนื้อนิดเดียว

๑๕๓.เมื่อเข้าศึกระวังตน
เข้าศึก - เข้าสงคราม เข้าสนามรบ 
สอนให้ระวังตนเมื่อเข้าสนามรบ 
ข้อนี้เห็นจะไม่ต้องอธิบายขยายความต่อไป  การรบกันต้องระวังตัวทุกเมื่อ  แม้แต่ศึกหน้านาง หรือศึกชิงนาง   อันเป็นศึกย่อยๆ  เพราะถ้าพลาดท่าก็ถึงตาย 

๑๕๔. เป็นคนเรียนความรู้ 
          จงยิ่งยิ่งผู้มีศักดิ์
เป็นคน - เกิดมาเป็นคน 
จงยิ่งผู้ - จงมากยิ่งกว่าผู้อื่น
ผู้มีศักดิ์ - จึงจะเป็นผู้มีศักดิ์ มีเกียรติยศ มีชื่อเสียง
สอนว่าเกิดเป็นคน ควรเรียนวิชาความรู้ให้ยิ่งกว่าผู้อื่น  จึงจะเป็นผู้มีเกียรติ มียศศักดิ์ มีชื่อเสียง 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"ความรู้ผู้ปราชญ์นั้น                 รักเรียน
  ฝนทั่งเท่าเข็มเพียร                ผ่ายหน้า
  คนเกียจเกลียดหน่ายเวียน     วนจิต
  กลอุทกในตะกร้า                    เปี่ยมล้นฤามี ฯ" 

"ความรู้รู้ยิ่งได้                          สินศักดิ์
  เป็นที่ชนพำนัก                       นอบนิ้ว
  อย่าเกียจเกลียดหน่ายรัก       เรียนต่อ
  รู้รอบใช่หอบหิ้ว                      เหนื่อยแพ้โรยแรง ฯ"
โบราณว่า รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม
คำโคลงโลกนิติอีกบทหนึ่งว่า
"ความรู้ดูยิ่งล้ำ                    สินทรัพย์
  คิดค่าควรเมืองนับ            ยิ่งไซร้
  เพราะเหตุจักอยู่กับกาย   กายอาต-มานา
  ใครจักเบียญบ่ได้             เร่งรู้เรียนเอา ฯ" 
ท่านสรรเสริญ ความรู้หนักหนา  จึงสอนว่า เกิดเป็นคนควรเรียนความรู้ไว้ให้มาก  จึงจะมีเกียรติศักดิ์


๑๕๕. อย่ามักง่ายมิดี
มัก - รัก ชอบ พอใจ ทำบ่อยๆ 
ง่าย - ชุ่ย ทำส่งเดช ทำสักว่าทำ ไม่ทำให้ดี  ทำพอให้เสร็จไป
สอนว่าอย่ารักทำแต่พอแล้ว  หรือสักแต่ว่าทำ  ต้องทำให้ดีที่สุด ทำด้วยความรอบคอบ ทำให้เรียบร้อยสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย  เพราะคุณค่าของคนอยู่ที่ผล  ฝืมือของคนอยู่ที่ผลงาน ผลงานจะเป็นเครื่องวัดความรู้  ความสามารถและคุณธรรมในจิตใจของคน  โบราณมักจะพูด ใครทำอะไรก็มักจะเหมือนตัวคนน้ัน   เพราะผลงานเป็นผลิตผลจากฝีมือ และจิตใจของคน เช่นการเขียนหนังสือ  คนเขียนหนังสือหวัดๆ ยุ่งๆก็เพราะใจร้อน ใจเร็ว คนลายฝีมือดีก็แสดงว่าจิตใจเยือกเย็น 

๑๕๖. อย่าตีงูให้กากิน
งูนั้นคนเกลียดกลัวก็จริงอยู่  แต่คนฆ่างูให้ตายแล้ว คนก็ไม่เอามาต้มแกงกิน ทิ้งให้เป็นเหยื่อแก่กา  คนฆ่าสัตว์ทำบาปเปล่าๆ  
โบราณสอนว่า "อย่าตีงูให้กากิน"   เป็นการเปรียบเทียบการกระทำของคน ที่ไปทำงานสิ่งหนึ่งลงแล้วตนก็ไม่ได้ประโยชน์  คนอื่นที่ไม่ได้ทำอะไร  ฉกฉวยเอาประโยชน์ไปง่ายๆ  ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร เช่นเกลียดชังคนหนึ่งอยู่เพราะเป็นคนไม่ดี  ถ้าเราไปทำลายล้างเขาลงแล้ว  คนอื่นที่ไม่ได้ทำบาปกลับจะได้ประโยชน์  ถ้าเขาชั่วร้ายเราก็หลีกเลี่ยงเสีย  อย่าคบค้าหรือเกี่ยวข้อง  "อเสวนาจพาลานัง"  ปล่อยให้ธรรมชาติลงโทษเขาเอง  ตามผลแห่งความชั่วของเขาจะดีกว่า  เช่นถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปลงโทษตามความผิด 
โบราณสอนอีกคำว่า  "ชั่วช่างชีไม่ดีช่างเถร"  อย่าไปนินทาว่าร้าย บาปกรรมเปล่า  ท่านชั่วจริง ท่านปราชิกจริง ท่านก็ตกนรกเอง เราอย่าไปเกี่ยวข้อง 

๑๕๗. อย่าตีปลาหน้าไซ
ไซ - เครื่องดักกุ้ง ดักปลา  สานด้วยไม่ไผ่ จักตอกละเอียด รูปยาวรรี ปากบาน เหมือนตะข้องใส่ปลา   ปลาเข้าไปจะออกไม่ได้ ใช้วางไว้ตามทางน้ำไหล 
ปลา - คือปลาที่มาตามน้ำไหล  ว่ายเข้าปากไซ ไปติดอยู่ในไซ
การตีปลาหน้าไซ คือ การกระทุ่มน้ำหน้าไซด้วยมือหรือไม้ ทำให้น้ำกระเพื่อม  ปลาที่กำลังว่ายตามน้ำจะเข้าไซ ก็ตกใจหนีไม่เข้าไซ ท่านจึงว่าอย่าตีปลาหน้าไซ  เป็นการเปรียบเทียบว่า คนหมู่หนึ่งกำลังเดินมาตามทำนองคลองธรรม  เช่น จะทำบุญทำกุศล ก็อย่าไปพูดจาขัดขวางการทำบุญทำกุศลของเขาเสีย
มหาเวสสันดรชาดกว่า "อย่าตีปลาหน้าไซให้เสียเปล่า"  ชาวบ้านพูดคำนี้อยู่เสมอ เป็นคำพูดเปรียบเทียบ   
มีคำพูดจำพวกเดียวกันอยู่สองสามคำคือ "ตีป่าให้เสือกลัว"  "เขียนเสือให้วัวกลัว"  แต่มีความหมายต่างกัน 
"ตีป่าให้เสือกลัว" หมายถึง คนกำลังจะทำชั่วก็ข่มขู่ให้หวาดกลัว หรือทำฮึกฮักกึกก้องให้นักเลงกลัว  
"เขียนเสือให้วัวกลัว" หมายถึงธรรมชาติของวัวกลัวเสือ  แต่เมื่อไม่มีเสือจริงก็เขียนรูปเสือให้วัวกลัว  แต่วัวนั้นไม่กลัวรูปเสือ เพราะไม่มีกลิ่นและไม่มีเสียงของเสือ  วัวนั้นไม่กลัวรูปร่าง มันกลัวกลิ่นและเสียงเสือ 

๑๕๘. ใจอย่าเบาจงหนัก
ใจเบา - โกรธง่าย ฉุนเฉียว  ไม่อดทน ขาดขันติธรรม  วู่วาม โกรธเกรี้ยวเชื่อง่าย 
ใจหนัก -  หนักแน่น มั่นคง อดทน มีขันติธรรม  ไม่วู่วาม ไม่ฉุนเฉียว ฟังหูไว้หู 
โบราณสอนว่า  "พกหินดีกว่าพกนุ่น"  เพราะหินหนัก ถ่วงไว้  ส่วนนุ่นเบาลอยลมไป  
พระแม่ธรณีบีบมวยผม มีน้ำไหลออกมาน้ัน  คิดดูให้ดีก็จะเห็นว่า  พระแม่ธรณีนั้นหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน  ไม่สะดุ้งสะเทือนไม่หวั่นไหว  ขังน้ำไว้ดี คือมีเมตตา  มีน้ำอดน้ำทน  จึงชนะทุกสิ่งทุกอย่างได้  เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิชิตพญามารน้ัน   ก็ทรงอ้างเอาพระแม่ธรณีเป็นพยาน  คืออ้างเอาขันติธรรม  และความเมตตากรุณานั่นเอง 
คำโคลงโลกนิติว่า
"ภูเขาทั้งแท่งล้วน         ศิลา
  ลมพายุพัดห่อน           ห่อนขึ้น
  สรรเสริญและนินทา     ในโลก
  ใจปราชญ์รือเฟื่องฟื้น   ห่อนได้จิตต์จล"

๑๕๙. อย่าตีสุนัขห้ามเห่า
สุนัข  มีธรรมชาติชอบเห่า  เพราะลักษณะนิสัยชอบเห่านี้เอง  คนจึงเลียงไว้เฝ้าบ้าน ให้เห่าขโมย 
ห้ามเห่า -  การที่จะห้ามไม่ให้สุนัขเห่าจึงทำไม่ได้    จะตีมันอย่างไร มันก็คงเห่าต่อไป   การตีสุนัขดุเมื่อมันกัดหรือมันตะกละ มันกัดหมูกัดไก่นั้นตีห้ามได้ แต่จะตีห้ามเห่านั้นไม่สำเร็จ  
สอนว่าอย่าตีสุนัขห้ามเห่า  เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติของสัตว์  เปรียบความว่า สันดานของมนุษย์น้ัน   จะแก้ไขอย่างไรก็ไม่ได้  พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนได้แต่พุทธเวไนยเท่าน้้น  คนร้ายเหลือกำลังก็ทรงปล่อยไปตามยถากรรม 

๑๖๐. ข้าเก่าร้ายอดเอา
ข้าเก่า - ทาสในเรือนเบี้ย เลี้ยงมาแต่ปู่ย่าตายาย  บริวารเก่าแก่ ใช้สอยมาแต่หนุ่มสาว  คนใช้เก่าแก่ใช้สอยกันมานานปี   คนพวกนี้ย่อมจะรู้ตื้นลึกหนาบางความลับของครอบครัว  ที่เก็บสมบัติ ช่องทางเข้าออกข้างนอกข้างใน ทางหนีทีไล่ จุดอ่อนแอ  ความบกพร่องของบ้านนี้  ถึงจะร้ายอย่างไรก็จำต้องเลี้ยงไว้  ต้องอดอออมถนอมน้ำใจไว้  ไม่โกรธเกรี้ยว ด่าว่า ขับไล่ไสส่ง   เพราะนอกจากเสียศีลธรรมแล้ว เขาอาจคิดร้ายเอาได้ 
สอนว่า ข้าเก่าร้ายอดเอา  คนเก่าแก่ต้องถนอมน้ำใจไว้ ไม่ใช้อำนาจบาทใหญ่ ขับไล่ไสส่ง  คำสอนแต่โบราณเตือนว่า "ช้างสาร ข้าเก่า งูเห่า เมียรัก"  อย่าวางใจ
คำโคลงโลกนิติว่า
"ช้างสารหกศอกไซร้     เสียงา
  งูเห่ากลายเป็นปลา      อย่าต้อง
  ข้าเก่าเกิดแต่ตา           ตนปู่ก็ดี
  เมียรักอยู่ร่วมห้อง        อย่าได้วางใจ ฯ"
  
(โปรดติดตามต่อไป)






วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๙)


๑๓๗. ความแหนให้ประหยัด
ความแหน - ของหวง ของรัก ของสงวน
ประหยัด - มัธยัสถ์ ระมัดระวัง ใช้แต่น้อย ไม่ให้ล่วงเกิน 
สอนว่า ของหวง ของรัก ควรสงวนไว้ ควรประหยัดไว้มิยอมให้ใครล่วงเกิน หยิบฉวย ของหวงมีหลายอย่าง  เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ของใช้ส่วนตัว  ช้าง ม้า พาหนะ รถยนต์  ภรรยา บุตรสาว สิ่งเหล่านี้ท่านให้ระวังรักษาอย่าปล่อยทอดทิ้ง  อย่าใช้สอยเกินความจำเป็น อย่าให้ใครยืม หรืออย่าฝากใคร เดี๋ยวจะผิดใจกัน เมื่อของรักของหวงมีอันตราย 

๑๓๘. เผ่ากระษัตริย์เพลิงงู
(อย่าดูถูกว่าน้อย)
ฉบับกรมพระยาปวเรศฯ ว่า "เฝ้ากระษัตรเพลิงงู"  เห็นจะผิดความเดิมเป็นแน่  ที่ถูกน่าจะเป็น "เผ่ากระษัตรเพลิงงู" มากกว่า 
เผ่ากระษัตริย์ - วงศ์กษัตริย์ หน่อกษัตริย์ ราชกุมาร
เพลิง - ไฟ
สอนว่า หน่อกษัตริย์ ไฟ งู อย่าดูถูกว่าเล็กน้อยไม่สำคัญ 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"อย่าหมิ่นของเล็กน้อย        สี่สถาน
  เล็กพริกพระกุมาร              จีดจ้อย
  งูเล็กเท่าสายพาน              พิษยิ่ง
  ไฟเล็กเท่าหิ่งห้อย             อย่าได้ดูแคลน ฯ"
บัณฑิตพระร่วงก็สอนตรงกัน

๑๓๙. หิ่งห้อยอย่าแข่งไฟ
คำว่า "หิ่งห้อยส่อง   ก้นสู้จันทร์หรือ แสงไฟ"  นี้ดูเหมือนจะเป็นคำสอนที่รู้กันทั่วไป
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"หิ่งห้อยส่องคั้นสู้             แสงจันทร์
  ปัดเทียบเทียมรัตน์อัน    เอี่ยมค่า
  ทองเหลืองหลู่สุวรรณ    ธรรมชาติ
  พาลว่าตนเองอ้า            อาจล้ำเลยกวี ฯ"
เป็นคำสอนที่สอนตรงกัน

๑๔๐ อย่าปองร้ายต่อท้าว
ปองร้าย - คิดร้าย มองในแง่ร้าย
ท้าว -  ท้าวไท  ผู้เป็นใหญ่ พระเจ้าแผ่นดิน
สอนว่า อย่าคิดร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดิน  ผู้มีบุญบารมี มีบุญญาธิการสูง  แม้แต่มองในแง่ร้าย ดังที่พวกหัวเอียงซ้ายเขาคิดกันในปัจจุบัน  อันทีจริง คนที่ปองร้าย คิดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ มีมาแต่โบราณกาลแล้ว  แต่ก็แพ้ภัยตัวไปหมด  พระพุทธเจ้ายังมีคนคิดปองร้ายอยู่เนืองๆ เช่นพระเทวทัต  แต่ก็แพ้พระบารมีไปเอง  ดังแมงเม่าบินเข้ากองไฟ หรือหนูท้าราชสีห์รบ 
คำโคลงโลกนิติว่า
"หนูเห็นราชสีห์ท้า            ชวนรบ
  กูสี่ตีนกูพบ                      ท่านไซร้
  ท่านกลัวท่านอย่าหลบ    หลีกจาก กูนา
  ท่านสี่ตีนอย่าได้              วากเว้ทางหนี ฯ"
"สีหราชร้องว่าโอ้              พาลหนู
  ทุรชาติครั้นเห็นกู            เกลียดใกล้
  ฤามึงใคร่รบดนู               มีงนาศ เองนา
  กูเกลียดมึงกูให้              พ่ายแพ้ภัยตัว ฯ"

๑๔๑. อย่ามักห้าวพลันแตก
ห้าว - แก่ เช่นมะพร้าวห้าว, กล้า เช่น คนห้าวหาญ
แตก - หัก บิ่น
สอนว่าอย่ากล้านักมักบิ่น อย่าห้าวนักมักแตก  เช่น พลุ ปืน 
คำโคลงโลกนิติว่า
"พลอดนักมักพลาดพลั้ง            พลันผิด
  หาญนักมักชีวิต                        มอดม้วย
  ตรองนักมักเสียจิต                    จัดคลั่ง
  รักนักมักหลงด้วย                      เล่ห์ลิ้นลมหญิง ฯ"

๑๔๒. อย่าเข้าแบกงาช้าง 
งาช้างอันยาวรี  สีขาวสะอาดนั้น  มันมีไว้เป็นอาวุธใช้แทงศัตรู  อย่าเห็นเป็นของสวยงามเข้าแบกหามเล่น  มันจะแทงตายเปล่า แม้ช้างตายนอนอยู่ ก็เข้าแบกเอางามาไม่ได้  แม้ว่าจะถอดถอนออกมาได้ เพราะฆ่าช้างเอางา  เขาก็ไม่แบกเอามา เพราะงาช้างมีน้ำหนักมาก โคนโต ปลายแหลม น้ำหนักไม่เท่ากัน  แบกหนักและลำบาก เขาต้องเอาเชือกผูกมัดแล้วช่วยกันหามเอามา 
ท่านจึงสอนว่า อย่าเข้าแบกงาช้าง นี้อย่างหนี่ง 
งาช้างนี้ท่านเปรียบเหมือนถ้อยคำของผู้มีสัจ  ยาวเท่าไรก็ยาวเท่านั้น ไม่หดคืนเข้าปากไป  กล่าวอย่างไรก็คงอยู่อย่างน้้นไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะหดหาย  เจ้าของคำพูดท่านรักษาคำพูดของท่านไว้เอง  เหมือนงาช้างที่ออกมาจากปากช้าง คนอื่นไม่ต้องไปช่วยแบกหามไว้ 
คำโคลงโลกนิติว่า
"งาสารฤาเหี้ยนห่อน         หดคืน
  คำกล่าวสาธุชนยืน          อย่างน้ัน
  ทุรชนกล่าวคำผืน            คำเล่า
  หัวเต่ายาวแล้วสั้น           เล่ห์ลิ้นทรชน ฯ"

๑๔๓.อย่าออกก้างขุนนาง
ก้าง - กางกั้น ขัดขวาง ขัดคอ ขัดใจ
ขุนนาง - ข้าราชการ ผู้มีบรรดาศักดิ์  อำมาตย์ ตำรวจ
สอนว่า อย่าไปขัดขวาง ขัดคอ ขัดใจข้าราชการผู้มีอำนาจ  เพราะเหนตุว่าเขาอาจใช้อำนาจกลั่นแกล้ง หาเรื่องประทุษร้ายเอา   ถ้าเขาเห็นวาเราเป็นศัตรูไปขัดคอ  ขัดใจ ขัดผลประโยชน์ของเขา  ตามธรรมดาข้าราชการผู้มีอำนาจนั้น  เขาย่อมจะมีผลประโยชน์ มีลาภผลรายได้ ทั้งทางตรงทางอ้อม ทางลับและทางแจ้ง  เขาย่อมมีบริวาร เขาย่อมมีบริวารร่วมกับคนอื่นอยู่ด้วย  ถึงผลประโยชน์นั้นจะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ตาม  เขาเคยได้รับเขาก็จะเกิดความโลภไม่รู้ผิดรู้ชอบ เพราะความโลภบังตาบังใจอยู่ ใครขืนเข้าไปขัดขวางผลประโยชน์ของเขา  เขาย่อมจะโกรธ หาเรื่องกลั่นแกล้งใส่ร้าย  และใช้อำนาจหน้าที่ของเขาทำลายเรา  หาความผิดเราด้วยข้อหาร้ายแรง

๑๔๔ ปางมิชอบท่านช่วย
ปางป่วยท่านชิงชัง
ตามธรรมดาขุนนางนั้น ท่านเลี้ยงข้าทาสบริวารไว้ช่วยทำการงาน  เมื่อยังดีมีแรงอยู่ท่านก็ได้ใช้แรงงาน ถึงจะทำผิด(มิชอบ)  ท่านก็ช่วยให้พ้นผิดได้  เพื่อเอาไว้เป็นบริวารรับใช้ท่านต่อไป  ท่านช่วยเพราะหวังจะใช้งาน  เอาไว้เป็นบริวารประดับบารมี ทั้งทางดีและทางชั่ว เช่นฆ่าคนที่ขัดผลประโยชน์  เรียกว่า ปางมิชอบท่านช่วย 
ปางป่วยท่านชิงชัง  คือเวลาที่เราเจ็บป่วย ใช้งานการไม่ได้  ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาพาล  ท่านก็ชิงชัง เป็นเช่นนี้แต่โบราณ แต่ในสมัยปัจจุบันก็ยังมีอยู่ 
บัณฑิตพระร่วงบทนี้ กล่าวถึงสภาพความเป็นจริง  จึงเป็นสุภาษิตที่ฟังได้ทุกสมัย 

๑๔๕. ผิวะบังบังจงลับ 
บัง - ปิด
สอนว่าถ้าจะปิดก็ปิดให้ลับหู ให้ลับตา  อย่าให้ใครรู้อย่าให้ใครเห็น  เช่นเรื่องส่วนตัวในครอบครัว 
แต่ว่าเรื่องใหญ่นั้นอย่าปิดให้ป่วยการ  ย่อมจะมีคนรู้จนได้ ท่านว่า  "ช้างตายท้ังตัว เอาใบบัวปิดนั้นไม่มิด"   ถึงจะอยู่ในที่ลับตาก็ยังมีกลิ่นเหม็น 
โบราณว่า "ฝามีหู ประตูมีตา"  ที่ข้างฝามีคนเอาหูแอบฟัง   ที่ประตูก็มีคนเอาตามาแอบดู  ความลับไม่มีในโลก ฉนั้นท่านจีงสอนว่า ปิดก็ปิดให้มิด  

๑๔๖. ผิวะจับจับจงมั่น 
มั่น - มั่นคง ไม่หลุด โบราณเขียน "หมั้น"  และคำว่า "หมั้นขันหมาก" นั้นก็คือ เอาหมากพูล  และแก้วแหวนเงินทอง ไปผูกหญิงสาวให้มั่นคง  ไม่หลุดตนไปเป็นของผู้อื่น  เป็นการผูกมัดใจไว้
สอนว่าถ้าจะจับก็จับให้มั่น อย่าให้หลุดมือไป  เช่นการจับปลาก็ให้จับทั้งสองมือ   คำว่า "จับปลาสองมือ" หมายความว่า  จับปลาสองตัวตัวละมือ   หรือการจับโจรผู้ร้าย จับคนผิดก็ต้องมีพยานหลักฐานให้มั่นคง  อย่าให้หละหลวมไปหลุดชั้นศาล

๑๔๗. ผิวะคั้นค้ั้นจงตาย
คั้น - บีบ เค้น  เช่น คั้นกะทิ  เค้นคอ จับคอบีบ 
สอนว่า ถ้าจะบีบคั้น  ก็ให้บีบคั้นให้อยู่มือ  ให้ตายคามือ เช่นจับคองูได้ ก็เค้นให้ตายคามือ อย่าปล่อยมันจะกัดเอาตาย  จับคนร้ายได้ก็ค้ันคอเอาความจริงให้ได้ ให้สารภาพผิดเสียก่อน อย่าปล่อยให้เป็นอิสระ ถ้าปล่อยแล้ว เขาก็จะไม่ยอมรับ คนร้ายที่ถูกบีบคั้น จึงพูดว่า "เหมือนลูกไก่อยู่ในกำมือ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด"

๑๔๘. ผิวะหมายหมายจงแท้
หมาย - มุ่ง จุดหมาย ปลายทาง วัตถุประสงค์ เป้าหมายที่จะไป ที่จะทำให้สำเร็จ
สอนว่าถ้าจะมุ่งหมายทำอะไร ก็ให้ตั้งใจมุ่งหมายให้แน่นอน  ตั้งใจให้จริง จึงจะสำเร็จ  อย่าเปลี่ยนใจ อย่าท้อแท้ หลักจิตวิทยาสมัยใหม่  ท่านว่า  ถ้าเราตั้งใจมุ่งหมายที่จะเป็นอะไรตั้งแต่วัยหนุ่ม  ตั้งใจให้จริงให้แท้แน่นอน  ด้วยความทะเยอทะยานใฝ่ฝันอย่างจริงจัง  ท่านว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต 
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ ปฎิบัติดี ปฎิบัตถูกต้อง ย่อมจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ตามบุญวาสนาของตน 

๑๔๙. ผิวะแก้แก้จงกระจ่าง
กระจ่าง - แจ้ง สว่าง ประจักษ์ใจ 
แก้ - ไข เช่น แก้ปริศนา แก้กระทู้ธรรม แก้คดี แก้ความข้องใจ  แก้ตัวที่มีผู้กล่าวหาผิด 
สอนว่าถ้าจะแก้ไขอะไร  ก็แก้ให้กระจ่างชัด ให้คนเห็นแจ้ง ไม่มีที่เคลือบคลุมสงสัย  จะแก้ปริศนา แก้คคีความ หรือแก้ตัวเมื่อมีผู้กล่าวโทษผิดจากความจริง  ทนายที่แก้คดีความนั้นจะต้องแสดงด้วยพยานบุคคลและเอกสาร ให้ศาลเชื่อว่าไม่ผิดจริง  ศาลจึงจะยกฟ้องไม่เอาผิดกับจำเลย  อย่างนี้เรียกว่า "แก้กระจ่าง" เห็นชัดแจ้ง  แก้กระทู้ธรรมที่ท่านตั้งไว้  เช่น "อตฺตาหิ อตฺโน นาโถ" ก็ต้องอธิบายความให้เห็นจริงว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตนอย่างไร  จึงจะได้ชื่อว่าแก้กระทู้ธรรมได้ชัดแจ้ง  คนอ่านแล้วเห็นจริงไม่เคลือบคลุมสงสัยอีกต่อไป  อย่างนี้เรียกว่า "แก้กระจ่าง" สว่างในจิตใจ  

๑๕๐. อย่ารักห่างกว่าชิด
ห่าง - คือ คนอื่นคนไกล  ไม่ใช่ญาติสืบสายโลหิต  บุตรเขย ลูกสะใภ้ ซึ่งไม่ใช่ลูกในอก บุตรเลี้ยง บุตรบุญธรรมซึ่งไม่ใช่บุตรจริงๆ หลานซึ่งห่างกว่าลูก  แม้กระทั่งทรัยพ์นอกกาย  ไม่ใช่ชีวิตร่างกาย นี้เรียกว่าห่าง 
ชิด - คำว่า ชิด คือ ใกล้  ได้แก่ ใกล้ตัว ใกล้หัวใจ ใกล้โดยสายเลือด 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"ช้างม้าเมียมิ่งแก้ว        เงินทอง 
  ตัวมิตายจักปอง          ย่อมได้
  ชีวิตสิ่งเดียวของ         หายาก
  ใช่ประทีปเทียนได้      ดับแล้วจุดคืน ฯ"
  
             


(โปรดติดตามตอนต่อไป)
  

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๘)

๑๒๗. เมตตาตอบต่อมิตร
เมตตา - รักใคร่ อยากให้เขาเป็นสุข คู่กับ กรุณา อยากให้เขาพ้นทุกข์
สอนให้รักใคร่มิตร มีน้ำใจปรารถนาดี  อยากให้เขาเป็นสุข  มิตรเป็นทุกข์ก็มีใจช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์  มิตรได้ดีมีสุขก็พลอยยินดีด้วย  ๓ ประการนี้โบราณรวมอยู่ในคำว่า "เมตตา"  ท่านจึงใช้คำว่า "แผ่เมตตา"  และสอนให้แผ่เมตตาต่อสรรพสัตว์ เพื่อนร่วมโลกร่วมเกิดแก่เจ็บตายทั่วหน้า  ไม่มีขอบเขตจำกัด  ผู้แผ่เมตตาย่อมมีอานิสงค์ ๑๑ ประการคือ 
หลับก็เป็นสุข 
ตื่นก็เป็นสุข 
ไม่ฝันร้าย 
เป็นที่รักของมนุษย์ทั่วไป
เป็นที่รักของอมนุษย์ทั่วไป 
เทวดาย่อมคุ้มครองรักษา
ไฟ ศัตราวุธ ยาพิษไม่กล้ำกราย
จิตย่อมเป็นสมาธิได้รวดเร็ว
ผิวหน้าย่อมผ่องใส
เป็นผู้ไม่ลุ่มหลงทำกาลกิริยาตาย
ย่อมไปเกิดในพรหมโลก

๑๒๘. คิดแล้วจึงเจรจา
เจรจา -  พูด พูดจา  พูดอย่างเป็นทางการ
สอนให้คิดก่อนที่จะพูดจากัน

๑๒๙. อย่านินทาผู้อื่น
การนินทา เป็นการเพ่งโทษจับผิดผู้อื่น  เป็นคนมองคนอื่นในแง่ร้าย ทำให้จิตใจของผู้พูดโกรธ เกลียด และดึงดูดเอาความไม่ดีของคนอื่นมาเป็นสมบัติของตนโดยไม่รู้ตัว  คนที่นินทาคนเก่ง ด่าว่าติเตียนคนเก่ง  จึงเป็นคนที่ขาดคุณสมบัติที่ดีงามของมนุษย์  ดึงดูดสะสมเอาความชั่วร้ายไว้ในจิตใจ  ในที่สุดเขาก็จะเป็นเหมือนปากที่เคยนินทาว่าร้ายผู้อื่น 
ตรงข้ามกับคนที่มักสรรเสริญ  ยกย่องผู้อื่นด้วยความจริงใจ  มักจะดึงดูดเอาคุณสมบัติที่ดีงามนั้นไว้เป็นคุณสมบัติของเขาเอง  คนที่ใกล้ชิดกับเจ้านาย ผู้บังคับบัญชา ครูบาอาจารย์  พ่อแม่ พี่น้องที่ดีก็มักจะเป็นคนดีไปด้วย  คนที่อยู่กับคนที่ชั่วร้ายก็มักจะติดนิสัยชั่วร้ายไปด้วย  คนที่เคยอยู่กับคนเก่งคนดี  มักจะประสบความสำเร็จเท่าเทียมกับคนที่ตนเคยอยู่ด้วย  และมีความเคารพนับถือนั้น 
บัณฑิตพระร่วงจึงสอนไม่ให้นินทาผู้อื่น  เพราะไม่เกิดผลดีแก่ตนเลย  นอกจากผลร้ายอย่างเดียว  เห็นง่ายที่สุดก็คือ ถ้ารู้ถึงหูเขา  ก็จะถูกโกรธเคืองกลายเป็นศัตรูกันไป   เพราะคนเเราไม่ชอบถูกนินทา  และอันที่จริงคนเรา ถึงจะชั่วช้าเพียงไร  ก็มีดีอยู่ในตัวบ้างสักอย่างหนึ่ง  เราจีงควรค้นหาสิ่งทีดีที่เขามีอยู่ในตัวนั้นมาพูดดีกว่า  

๑๓๐ อย่าตื่นยอยกตน
ตื่น - ตื่นเต้น ดีใจจนออกนอกหน้า   ดีใจในคำยกยอ แสดงอาการหลุกหลิกลุกลน  พูดจาคุยอวดตนต่อไปอีก   เหล่านี้เป็นอาการที่ตื่นตัวยอยกตน  ตามคำน้ัน เราทั้งหลายคงเคยเห็นมาแล้ว   แต่บางคนเมื่อฟังคำยกยอก็นิ่งเฉยเสีย  เป็นปกติ ไม่โต้ตอบ  ไม่แสดงอาการผิดปกติ  บางคนก็กลับถ่อมตัวลงว่า  ไม่เป็นจริงอย่างน้้น สองคนข้างหลังนี้  คืออาการของคนที่ไม่ตื่นคำยอยกตน 
สอนว่า อย่าตื่นเต้นต่อคำยอยกตน  นักปราชญ์นั้นนอกจากไม่ตื่นเต้นต่อคำยอยกแล้ว  ยังไม่หลงไหลต่อคำนินทาด้วย  ใครนินทาก็ไม่แสดงอาการโกรธเคือง  เพราะคำสรรเสริญ นินทาน้้นเป็นของธรรมดาโลก เป็นโลกธรรมที่มีแก่ทุกตัวตน 
คำโคลงโลกนิติว่า 
"ห้ามเพลิงไว้อย่าให้            มีควัน
  ห้ามสุริยแสงจันทร์             ส่องไซร้
  ห้ามอายุให้หัน                   คืนเล่า
  ห้ามดั่งนี้ไว้ได้                    จึงห้ามนินทา ฯ"
คนเราไม่ได้ต่ำลงเพราะคำนินทา ไม่ได้สูงขึ้นเพราะคำสรรเสริญ  คนเราก็คงเป็นคนเดิมตามคุณสมบัติของตน นักปราชญ์จึงไม่ขึ้นลงเพราะคำสรรเสริญนินทาของคน  จึงไม่ควรตื่นคำยกยอ 

๑๓๑ คนจนอย่าดูถูก
จน - ติด ขัด ข้อง ตัน ไม่มีทางออก  เช่น คำว่า จนทรัพย์ จนปัญญา  จนใจ จนตรอก เข้าตาจน  หมาที่จนตรอก ถูกคนไล่ตีหมดทางหนี  มันจะวิ่งสวนออกมากัดเพื่อเอาตัวรอด  ท่านจึงห้ามไล่ตีหมาจนตรอก  คนจนทรัพย์หาทางออกไม่ได้ก็จะปล้นฆ่า เอาทรัพย์คนมั่งมี  หมากที่เดินเข้าทางจน หาทางออกไม่ได้  ก็จะถูกกินตัวไป  แต่คนจนนั้นเขาก็อาจจะมั่งมีสักวันหนึ่งก็ได้  หรือ "จนท่า" เขาก็อาจโกงทรัพย์ที่ยืมไป  เขาอาจทำร้ายเอาเจ้าของที่ไปทวงถาม   เขาอาจคิดร้าย เผาบ้าน หรือปล้นทรัพย์เอาก็ได้  เพราะฉนั้นท่านจึงสอนว่า "คนจนอย่าดูถูก"  

๑๓๒. ปลูกไมตรีทั่วชน
ปลูก - ปลูกต้นไม้ให้ตั้งต้น  โบราณพูดว่า ไมตรีน้้นเหมือนลำต้นของต้นไม้  ปลูกฝังไว้แล้วก็ตั้งมั่นแตกกิ่งก้านสาขางอกงามไพบูลย์
ทั่วชน - คนทั่วไป ทั้งหญิงชาย ไพร่ ผู้ดี มิตร ญาติ และคนอื่นที่เกี่ยวข้อง 
สอนว่า ให้ผูกรักผูกไมตรี  เหมือนดั่งปลูกต้นไม้ให้ตั้งมั่น  แตกกิ่งก้านงอกงามเติบโตขึ้น  การปลูกไมตรีนั้น ก็คือ "สังคหวัตถุ ๔"  คือ ทาน - การให้ปัน, ปิยวาจา - การพูดจาไพเราะอ่อนหวาน, อัตถจริยา - การทำตนให้เป็นประโยชน์  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน, สมานัตตา - ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย เคยอย่างไรก็อย่างน้ัน  ได้ดีมีสุข มีอำนาจ  ก็อย่าจืดจางหมางเมิน 

สมเด็จพระปิยมหาราชทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
"ทำดีไป่เลือกเว้น           ผู้ใด
  แผ่เผื่อเจือจานไป         รอบข้าง 
  เจรจาแต่คำไพ              เราะโสตร
  ไร้ศัตรูจ้องล้าง              แต่ล้วนสรรเสริญ ฯ"

คำโคลงโลกนิติว่า 
"ใครจักผูกโลกแม้          รัดรึง
  เหล็กเท่าลำตาลตรึง     ไป่หมั้น
  มนตร์ยาผูกนานถึง        หายเสื่อม
  ผูกด้วยไมตรีน้ัน             แน่แท้วันตาย ฯ" 

๑๓๓ ตระกูลตนจงคำนับ 
ตระกูล - สกุล ครอบครัว วงศ์ญาติ
คำนับ -  คาบ ราบ แผลงเป็นคำนับ  หมายความว่า กราบกราน  กราบไหว้ เคารพ 
สอนว่าให้เคารพกราบไหว้คนในตระกูลของตน  ได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย  ญาติผู้ใหญ่ผู้มีวัยสูงกว่าตน แม้จะเป็นคนตกต่ำ ยากไร้  โง่เขลาเบาปัญญา ไร้ยศศักดิ์ ก็อย่าได้ดูถูกให้เคารพนับถือญาติวงศ์ในตระกูล  โดยเฉพาะพ่อแม่ แก่เฒ่าตกต่ำอย่างไร  ถึงตัวได้ดีมีสุข มียศศักดิ์สูง ก็อย่าได้อับอาย ดูหมิ่น เหยียดหยามเป็นอันขาด 
 คำโคลงโลกนิตสอนว่า 
"คนใดละพ่อทิ้ง          มารดา
  อันทุพพลชรา           ภาพแล้ว
  ขับไล่ไป่มีปรา          นีเนตร
  คนดั่งนี้ฤาแคล้ว        คลาดพ้นภัยชน ฯ" 
มาจากพุทธภาษิตว่า 
"โย มาตรํ ปิตรํ วา       ชิณณฺกํ คตโยตฺ พนํ
  ปหุสฺ สนฺโต น ภรติ    ตํ ปราภวโต มุขํ"
โคลงโลกนิติอีกบทหนึ่งว่า
"คนใดใจกระด้างโคตร    ตระกูล
  โอหังว่าทรัพย์มูล          ยิ่งผู้
  ดูหมิ่นหมู่ประยูร            พงศ์เผ่า
  จักฉิบหายวายรู้             สิ่งร้ายเบียญตน ฯ" 
มาจากพุทธภาษิตว่า
"ชาติ ตทฺโธ ธนตทฺโธ  โคตฺ ตตทฺโธ จโยนดร
  สญาติ อติมญเณติ  ตํ ปราภวโต มุขํ"

๑๓๔ อย่าจับลิ้นแก่คน
ลิ้น - คำพูด ถ้อยคำ สัจสัญญา  เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ โบราณเปรียบคำพูดว่า คือ ลิ้น จะจับลิ้นคนไม่ได้  วันนี้พูดอย่าง พรุ่งนี้พูดอย่าง กลับไปกลับมาได้สารพัด ท่านจึงว่า "ร้อยลิ้นกะลาวน"   ลิ้นเดียวพูดได้ร้อยสีร้อยอย่าง  เหมือนมีร้อยลิ้น เหมือนกะลาลอยอยู่ในน้ำที่วน ก็หมุนวนไปตามน้ำ  ไม่คงที่ 
สอนว่า จับอะไรก็จับได้แต่อย่าจับลิ้นของคน  หมายความว่า อย่าเชื่อถือถ้อยคำของคน อย่าเอาแน่นอนกับถ้อยคำของคน   
คำโคลงโลกนิติว่า 
"ลิ้นพราหมณ์ตานกแร้ง        จมูกมด
  น้ำจิตพระยากำหนด            ยากแท้
  คำครูสั่งสอนบท                  ธรรมเมศ
  ห้าสิ่งนี้แหลมแล้                  รวดรู้เร็วจริงฯ " 

๑๓๕. ท่านรักจงรักตอบ
คำโคลงโลกนิติว่า
"ให้ท่านท่านจักให้              ตอบสนอง
  นบท่านท่านจักปอง           นบไหว้
  รักท่านท่านควร                  ความรัก เรานา
  สามสิ่งนี้เว้นไว้                   แต่ผู้ทรชนฯ"
บัณฑิตพระร่วงก็สอนไว้ตรงกัน 

๑๓๖. ท่านนอบจงนอบแทน
นอบ - นอบไหว้
สอนว่า ใครไหว้จงไหว้ตอบ  ดังโคลงโลกนิติข้างต้น ทั้งนี้เว้นไว้แต่คนเลวทราม 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)