เมตตา - รักใคร่ อยากให้เขาเป็นสุข คู่กับ กรุณา อยากให้เขาพ้นทุกข์
สอนให้รักใคร่มิตร มีน้ำใจปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข มิตรเป็นทุกข์ก็มีใจช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์ มิตรได้ดีมีสุขก็พลอยยินดีด้วย ๓ ประการนี้โบราณรวมอยู่ในคำว่า "เมตตา" ท่านจึงใช้คำว่า "แผ่เมตตา" และสอนให้แผ่เมตตาต่อสรรพสัตว์ เพื่อนร่วมโลกร่วมเกิดแก่เจ็บตายทั่วหน้า ไม่มีขอบเขตจำกัด ผู้แผ่เมตตาย่อมมีอานิสงค์ ๑๑ ประการคือ
หลับก็เป็นสุข
ตื่นก็เป็นสุข
ไม่ฝันร้าย
เป็นที่รักของมนุษย์ทั่วไป
เป็นที่รักของอมนุษย์ทั่วไป
เทวดาย่อมคุ้มครองรักษา
ไฟ ศัตราวุธ ยาพิษไม่กล้ำกราย
จิตย่อมเป็นสมาธิได้รวดเร็ว
ผิวหน้าย่อมผ่องใส
เป็นผู้ไม่ลุ่มหลงทำกาลกิริยาตาย
ย่อมไปเกิดในพรหมโลก
๑๒๘. คิดแล้วจึงเจรจา
เจรจา - พูด พูดจา พูดอย่างเป็นทางการ
สอนให้คิดก่อนที่จะพูดจากัน
๑๒๙. อย่านินทาผู้อื่น
การนินทา เป็นการเพ่งโทษจับผิดผู้อื่น เป็นคนมองคนอื่นในแง่ร้าย ทำให้จิตใจของผู้พูดโกรธ เกลียด และดึงดูดเอาความไม่ดีของคนอื่นมาเป็นสมบัติของตนโดยไม่รู้ตัว คนที่นินทาคนเก่ง ด่าว่าติเตียนคนเก่ง จึงเป็นคนที่ขาดคุณสมบัติที่ดีงามของมนุษย์ ดึงดูดสะสมเอาความชั่วร้ายไว้ในจิตใจ ในที่สุดเขาก็จะเป็นเหมือนปากที่เคยนินทาว่าร้ายผู้อื่น
ตรงข้ามกับคนที่มักสรรเสริญ ยกย่องผู้อื่นด้วยความจริงใจ มักจะดึงดูดเอาคุณสมบัติที่ดีงามนั้นไว้เป็นคุณสมบัติของเขาเอง คนที่ใกล้ชิดกับเจ้านาย ผู้บังคับบัญชา ครูบาอาจารย์ พ่อแม่ พี่น้องที่ดีก็มักจะเป็นคนดีไปด้วย คนที่อยู่กับคนที่ชั่วร้ายก็มักจะติดนิสัยชั่วร้ายไปด้วย คนที่เคยอยู่กับคนเก่งคนดี มักจะประสบความสำเร็จเท่าเทียมกับคนที่ตนเคยอยู่ด้วย และมีความเคารพนับถือนั้น
บัณฑิตพระร่วงจึงสอนไม่ให้นินทาผู้อื่น เพราะไม่เกิดผลดีแก่ตนเลย นอกจากผลร้ายอย่างเดียว เห็นง่ายที่สุดก็คือ ถ้ารู้ถึงหูเขา ก็จะถูกโกรธเคืองกลายเป็นศัตรูกันไป เพราะคนเเราไม่ชอบถูกนินทา และอันที่จริงคนเรา ถึงจะชั่วช้าเพียงไร ก็มีดีอยู่ในตัวบ้างสักอย่างหนึ่ง เราจีงควรค้นหาสิ่งทีดีที่เขามีอยู่ในตัวนั้นมาพูดดีกว่า
๑๓๐ อย่าตื่นยอยกตน
ตื่น - ตื่นเต้น ดีใจจนออกนอกหน้า ดีใจในคำยกยอ แสดงอาการหลุกหลิกลุกลน พูดจาคุยอวดตนต่อไปอีก เหล่านี้เป็นอาการที่ตื่นตัวยอยกตน ตามคำน้ัน เราทั้งหลายคงเคยเห็นมาแล้ว แต่บางคนเมื่อฟังคำยกยอก็นิ่งเฉยเสีย เป็นปกติ ไม่โต้ตอบ ไม่แสดงอาการผิดปกติ บางคนก็กลับถ่อมตัวลงว่า ไม่เป็นจริงอย่างน้้น สองคนข้างหลังนี้ คืออาการของคนที่ไม่ตื่นคำยอยกตน
สอนว่า อย่าตื่นเต้นต่อคำยอยกตน นักปราชญ์นั้นนอกจากไม่ตื่นเต้นต่อคำยอยกแล้ว ยังไม่หลงไหลต่อคำนินทาด้วย ใครนินทาก็ไม่แสดงอาการโกรธเคือง เพราะคำสรรเสริญ นินทาน้้นเป็นของธรรมดาโลก เป็นโลกธรรมที่มีแก่ทุกตัวตน
คำโคลงโลกนิติว่า
"ห้ามเพลิงไว้อย่าให้ มีควัน
ห้ามสุริยแสงจันทร์ ส่องไซร้
ห้ามอายุให้หัน คืนเล่า
ห้ามดั่งนี้ไว้ได้ จึงห้ามนินทา ฯ"
คนเราไม่ได้ต่ำลงเพราะคำนินทา ไม่ได้สูงขึ้นเพราะคำสรรเสริญ คนเราก็คงเป็นคนเดิมตามคุณสมบัติของตน นักปราชญ์จึงไม่ขึ้นลงเพราะคำสรรเสริญนินทาของคน จึงไม่ควรตื่นคำยกยอ
๑๓๑ คนจนอย่าดูถูก
จน - ติด ขัด ข้อง ตัน ไม่มีทางออก เช่น คำว่า จนทรัพย์ จนปัญญา จนใจ จนตรอก เข้าตาจน หมาที่จนตรอก ถูกคนไล่ตีหมดทางหนี มันจะวิ่งสวนออกมากัดเพื่อเอาตัวรอด ท่านจึงห้ามไล่ตีหมาจนตรอก คนจนทรัพย์หาทางออกไม่ได้ก็จะปล้นฆ่า เอาทรัพย์คนมั่งมี หมากที่เดินเข้าทางจน หาทางออกไม่ได้ ก็จะถูกกินตัวไป แต่คนจนนั้นเขาก็อาจจะมั่งมีสักวันหนึ่งก็ได้ หรือ "จนท่า" เขาก็อาจโกงทรัพย์ที่ยืมไป เขาอาจทำร้ายเอาเจ้าของที่ไปทวงถาม เขาอาจคิดร้าย เผาบ้าน หรือปล้นทรัพย์เอาก็ได้ เพราะฉนั้นท่านจึงสอนว่า "คนจนอย่าดูถูก"
๑๓๒. ปลูกไมตรีทั่วชน
ปลูก - ปลูกต้นไม้ให้ตั้งต้น โบราณพูดว่า ไมตรีน้้นเหมือนลำต้นของต้นไม้ ปลูกฝังไว้แล้วก็ตั้งมั่นแตกกิ่งก้านสาขางอกงามไพบูลย์
ทั่วชน - คนทั่วไป ทั้งหญิงชาย ไพร่ ผู้ดี มิตร ญาติ และคนอื่นที่เกี่ยวข้อง
สอนว่า ให้ผูกรักผูกไมตรี เหมือนดั่งปลูกต้นไม้ให้ตั้งมั่น แตกกิ่งก้านงอกงามเติบโตขึ้น การปลูกไมตรีนั้น ก็คือ "สังคหวัตถุ ๔" คือ ทาน - การให้ปัน, ปิยวาจา - การพูดจาไพเราะอ่อนหวาน, อัตถจริยา - การทำตนให้เป็นประโยชน์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน, สมานัตตา - ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย เคยอย่างไรก็อย่างน้ัน ได้ดีมีสุข มีอำนาจ ก็อย่าจืดจางหมางเมิน
สมเด็จพระปิยมหาราชทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
"ทำดีไป่เลือกเว้น ผู้ใด
แผ่เผื่อเจือจานไป รอบข้าง
เจรจาแต่คำไพ เราะโสตร
ไร้ศัตรูจ้องล้าง แต่ล้วนสรรเสริญ ฯ"
คำโคลงโลกนิติว่า
"ใครจักผูกโลกแม้ รัดรึง
เหล็กเท่าลำตาลตรึง ไป่หมั้น
มนตร์ยาผูกนานถึง หายเสื่อม
ผูกด้วยไมตรีน้ัน แน่แท้วันตาย ฯ"
๑๓๓ ตระกูลตนจงคำนับ
ตระกูล - สกุล ครอบครัว วงศ์ญาติ
คำนับ - คาบ ราบ แผลงเป็นคำนับ หมายความว่า กราบกราน กราบไหว้ เคารพ
สอนว่าให้เคารพกราบไหว้คนในตระกูลของตน ได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติผู้ใหญ่ผู้มีวัยสูงกว่าตน แม้จะเป็นคนตกต่ำ ยากไร้ โง่เขลาเบาปัญญา ไร้ยศศักดิ์ ก็อย่าได้ดูถูกให้เคารพนับถือญาติวงศ์ในตระกูล โดยเฉพาะพ่อแม่ แก่เฒ่าตกต่ำอย่างไร ถึงตัวได้ดีมีสุข มียศศักดิ์สูง ก็อย่าได้อับอาย ดูหมิ่น เหยียดหยามเป็นอันขาด
คำโคลงโลกนิตสอนว่า
"คนใดละพ่อทิ้ง มารดา
อันทุพพลชรา ภาพแล้ว
ขับไล่ไป่มีปรา นีเนตร
คนดั่งนี้ฤาแคล้ว คลาดพ้นภัยชน ฯ"
มาจากพุทธภาษิตว่า
"โย มาตรํ ปิตรํ วา ชิณณฺกํ คตโยตฺ พนํ
ปหุสฺ สนฺโต น ภรติ ตํ ปราภวโต มุขํ"
โคลงโลกนิติอีกบทหนึ่งว่า
"คนใดใจกระด้างโคตร ตระกูล
โอหังว่าทรัพย์มูล ยิ่งผู้
ดูหมิ่นหมู่ประยูร พงศ์เผ่า
จักฉิบหายวายรู้ สิ่งร้ายเบียญตน ฯ"
มาจากพุทธภาษิตว่า
"ชาติ ตทฺโธ ธนตทฺโธ โคตฺ ตตทฺโธ จโยนดร
สญาติ อติมญเณติ ตํ ปราภวโต มุขํ"
๑๓๔ อย่าจับลิ้นแก่คน
ลิ้น - คำพูด ถ้อยคำ สัจสัญญา เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ โบราณเปรียบคำพูดว่า คือ ลิ้น จะจับลิ้นคนไม่ได้ วันนี้พูดอย่าง พรุ่งนี้พูดอย่าง กลับไปกลับมาได้สารพัด ท่านจึงว่า "ร้อยลิ้นกะลาวน" ลิ้นเดียวพูดได้ร้อยสีร้อยอย่าง เหมือนมีร้อยลิ้น เหมือนกะลาลอยอยู่ในน้ำที่วน ก็หมุนวนไปตามน้ำ ไม่คงที่
สอนว่า จับอะไรก็จับได้แต่อย่าจับลิ้นของคน หมายความว่า อย่าเชื่อถือถ้อยคำของคน อย่าเอาแน่นอนกับถ้อยคำของคน
คำโคลงโลกนิติว่า
"ลิ้นพราหมณ์ตานกแร้ง จมูกมด
น้ำจิตพระยากำหนด ยากแท้
คำครูสั่งสอนบท ธรรมเมศ
ห้าสิ่งนี้แหลมแล้ รวดรู้เร็วจริงฯ "
๑๓๕. ท่านรักจงรักตอบ
คำโคลงโลกนิติว่า
"ให้ท่านท่านจักให้ ตอบสนอง
นบท่านท่านจักปอง นบไหว้
รักท่านท่านควร ความรัก เรานา
สามสิ่งนี้เว้นไว้ แต่ผู้ทรชนฯ"
บัณฑิตพระร่วงก็สอนไว้ตรงกัน
๑๓๖. ท่านนอบจงนอบแทน
นอบ - นอบไหว้
สอนว่า ใครไหว้จงไหว้ตอบ ดังโคลงโลกนิติข้างต้น ทั้งนี้เว้นไว้แต่คนเลวทราม
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น