วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๒)


สาระสุภาษิต


๖๘. ช้างไล่แล่นเลี่ยงหลบ
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "ช้างไล่แท่นเลี่ยงหลบ" 
ฉบับของกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ว่า "ช้างไล่แล่นเลี่ยงหลบ" น่าจะุถูกต้องกว่า เพราะคำว่า "แล่น" น้ัน ใช้กับ เรือ รถ และช้าง   คืออาการวิ่งไปตรงๆ ทื่อๆ  เลี้ยวหักมุมหรือหันโดยเร็วไม่ได้  เพราะตัวใหญ่ คนและสัตว์อื่นใช้คำว่า "วิ่ง"  เพราะอาจเลี้ยว หยุด   หรือหันกลับได้เร็วดังใจ 
จะว่า "แท่น" หรือ "กระแท่น"  ซึ่งแปลว่า กระทบ ก็ไม่ได้ เพราะช้างน้ันใช้คำว่า  แทง ถีบ เหยียบ เท่าน้ัน ที่เรียกว่า   ช้างแทง  ช้างถีบ หรือช้างเหยียบ   เช่นสุภาษิตวชิรญาณว่า "ช้างถีบอย่าว่าเล่นกระเด็นปลิว"  
แล่น - อาการวิ่งของรถ เรือ  ช้าง รวมทั้งลูกกระสุนหรือลูกปืน  เป็น                อาการวิ่งทื่อๆไปตรงๆ
ไล่ -    กวด ตาม ต
เลี่ยง - อาการที่เบี่ยงตัวไปทางซ้ายหรือทางขวา 
หลบ - อาการที่ทำตัวให้ต่ำลง จากวิถีของสิ่งที่วิ่งมากระทบ  เช่นคำว่า            หลบลงต่ำ หลบหลังคา   คือกดให้จากที่มุงไว้แบนราบลงมา              ไม่โต้ลม  หรือ "รู้หลบเป็นปีก"  เหมือนอาการของนกบินเข้า                 พุ่มไม้  ก็หุบปีกลงต่ำไม่ให้กระทบกับกิ่งไม้ 
สอนว่า เมื่อช้างไล่แทง แล่นมา  ให้เลี่ยงออกทางขวาหรือซ้าย  หรือหลบหลีกไปเสีย เช่นวิ่งหลบโคนต้นไม้
คำโบราณว่า "รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง"   คือให้รู้จักหลบลงเหมือนปีกนก  จะได้ไม่ปะทะกิ่งไม้ และให้รู้จักหลีกของชั่ว  
คำโคลงโลกนิติว่า
"หลีกเกวียนให้หลีกห้า           ศอกหมาย
  ม้าหลีกสิบศอกกราย             อย่าใกล้
  ช้างสี่สิบศอกคลาย               คลาคลาด
  เห็นทุรชนหลีกให้                 ห่างพ้น  ลิบตา ฯ"  

๖๙. สุวานขบอย่าขบตอบ
สุวาน - สุนัข หมา (แปลว่า เสียงดี คือ เสียงหอน)
ขบ    - กัด ขย้ำ
สอนว่า  หมากัดอย่ากัดตอบ
คำโคลงโลกนิติว่า
" หมาใดตัวร้ายขบ        บาทา
  อย่าขบตอบต่อหมา     อย่าขึ้ง
  ทรชนชาติช่วงทา        รุณโทษ
  อย่าโกรธอย่าหน้าบึ้ง   ตอบถ้อย ถือความ ฯ
มาจากพุทธภาษิตว่า "โย สฺวานสฺส ทุเสปาทํ ตสฺส ปาทํ นโส ทฺส เอวเมว หิ ทุษชโน  อโกรธา น สมนฺติโต ฯ"
บัณฑิตพระร่วงนี้จีงมาจากพุทธภาษิตโดยตรง 

๗๐.อย่ากอบจิตริษยา
ริษยา - เป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลีว่า อิจฉา  แปลว่า ความ             อยากได้ อยากมี อยากเป็น เมื่อเห็นคนอื่นได้ มี หรือเป็นดีกว่า             ตน  ใจไม่พลอยชื่นชมยินดีกับความมี ความดีของผู้อื่น เมื่อไม่            ได้ก็ทะเยอทะยาน หาทางโจมตี ติฉินนินทาเขาด้วยจิตใจอัน               คุกรุ่นรุ่มร้อน
บัณฑิตพระร่วงสอนว่า  อย่ามีจิตริษยา อย่าให้จิตของตนประกอบไปด้วยความริษยา  จงพลอยชื่นชมยินดีด้วย คิดในทางที่ถูกต้องว่า เขาได้กระทำบุญกุศลมาในปางนี้และปางก่อน  จึงได้รับผลตอบแทนดังนั้น เรายังทำบุญกุศลน้อยจึงได้ จึงมี จึงเป็นน้อยกว่าเขา  ต้องพยายามกระทำบุญกุศลต่อไป  คำสอนนี้เป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา สอนให้ยินดี อนุโมทนา มีมุทิตาจิต  ยินดีในความเจริญของผู้อื่น เป็นการสร้างบุญกุศลอย่างหนี่ง  เรียกว่าอนุโมทนามัยกุศล  กุศลที่เกิดจากการยินดีในการกระทำของผู้อื่น 

๗๑. เจรจาตามคดี
คดี - คติ ความเป็นมา ความเป็นไป ตามสภาพความเป็นจริง คือผลที่           เกิดมาแต่เหตุ มิได้เกิดขึ้นเองโดยปราศจากมูลเหตุ เช่น คนทำดี         ก็ย่อมได้ดี   คนทำดีน้อยก็ได้ดีน้อย คนทำดีมากก็ได้ดีมาก  ได้           รับความสรรเสริญ ได้รับความสุข  ความเจริญก้าวหน้า มี                     เกียรติยศ ชื่อเสียง ได้หน้าได้ตา ได้รับความเคารพนับถือ  ได้             เลื่อนตำแหน่งหน้าที่  ได้อำนาจหน้าที่ ได้ลาภสักการะ คนที่ไม่           ทำก็ไม่ได้ ถ้าอยากได้ ถ้าอยากได้ก็ต้องทำ ผลที่ได้รับตอบแทน        ก็คือ ความดี  มีคนยกย่องสรรเสริญ มีความสุข  ส่วนลาภผลนั้น             เป็นผลพลอยได้ที่ตามมา  ไม่ใช่ตัวของความดี 
การคิดเช่นนี้ การพูดเช่นนี้ เป็นการพูดตามคดี  เป็นการพูดตามสภาพความเป็นจริง ไม่พูดให้ผิดความจริง 
พระพุทธศาสนาสอนว่า "เย ธมฺมา  เหตุปพพวา เตสํ  เหตํ ตถาคโต"  สิ่งทั้งหลายย่อมไหลมาแต่เหตุ  
บัณฑิตพระร่วงนี้จึงสอนตามแนวคติทางพระพุทธศาสนา  เรียกว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ - เห็นชอบ  และสัมมาวาจา - เจรจาชอบ ดังนี้ 


๗๒. อย่าปลุกผีกลางคลอง
ปลุก -    ทำให้ตื่น ทำให้ลุกขึ้น เช่นปลุกคนหลับให้ตื่น  ปลุกคนนอน                 ให้ลุกขึ้น ทำให้เข้มแข็ง เช่น ปลุกใจ ทำให้ขลัง เช่น ปลุก                   เศก ทำให้ฟืื้นตัวขึ้นมา เช่น ปลุกผี
ปลุกผี - ทำให้ฟื้นตัวขึ้น เช่น ไม่นิ่ง ไม่นอน ไม่ตาย  มีคำไทยคำหนึ่ง                ว่า "ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง"  คือ อาการปล้ำยกให้ผีลุกขึ่้นมา                      ปลุกผีให้ลุกขึ้นมา 
ใครเคยเห็นการอาบน้ำศพแบบโบราณ  เขาจับตัวศพให้นั่งขึ้นอาบน้ำ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้า จะเห็นว่าทุลักทุเล  อาการอย่างนี้เรียกว่า "ปลุกผีลุก"  คือต้องช่วยกันปล้ำให้ลุกขึ้นมานั่งด้วยความลำบากไม่เหมือนคนเป็นๆ  เพราะคนตายน้้นตัวแข็งแล้ว  "ปลุกผีนั่ง"  การยกคนตายให้นั่งก็ทำด้วยความลำบาก การปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งเช่นนี้ต้องทำที่วัดหรือบ้านเรือนอันมีพื้นที่แข็งแรง  แต่ถ้าหากเอาศพใส่เรือไปแล้วทำการปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งเช่นนี้ เรือย่อมจะเอียงโคลงเคลง  เรืออาจจะล่่ม จมน้ำตายกัน ท่านจึงห้ามปลุกผีกลางคลอง  แม้การเอาศพคนจมน้ำใส่โลงศพ  ก็ต้องเอามาใส่บนบก ไม่ใส่กลางน้ำ หรือในเรือ
คำนี้ไม่เกี่ยวกับการปลุกผีกระทำพิธีทางไสยศาสตร์อะไรเลย  เป็นการพูดเปรียบเทียบว่าการทำอะไรที่ขลุกขลักน้ัน  ให้กระทำในที่มั่นคง มีพื้นรองรับแข็งแรง ทำอะไรให้ฟ้าดินเห็นด้วย  อย่าทำอะไรที่ใครไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับ  ดังเช่นปลุกผีกลางคลอง จะไม่สำเร็จ เป็นอันตราย  และไม่เป็นศิริมงคล 
มงคลสูตรของพระพุทธองค์ทรงสอนว่า 
"อนุวชฺชานิ  กมฺมามิ เอตํมฺมํ คลุมตฺตมัง"  การประกอบการงานไม่รุงรัง เป็นมงคลอันอุดม (คือไม่ทอดทิ้งงาน)  
บัณฑิตพระร่วงนี้  เป็นคำสอนตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนา  แต่เป็นการกล่าวเปรียบเทียบตามสำนวนไทย  

๗๓. อย่าปองเรียนอาถรรพ์
        (พลันฉิบหายวายม้วย)
ปอง -       มุ่งหมาย ต้องการ ประสงค์
อาถรรพ์ - วิปริต ผิดธรรมดา มีอันเป็นไป ไม่ควรเป็น 
อาถรรพ์  เป็นวิชาทางไสยศาสตร์ข้างฝ่ายพราหมณ์  เป็นคัมภีร์หนึ่งใน ๔ คัมภีร์ เรียกว่า อาถรรพ์เวท  เป็นวิชาทางจิตกระทำให้เกิดผลในทางวิปริตอาเพศ วิบัต เช่น คนที่จะแต่งงานกันเกิดเหตุล้มตายเสียก่อนแต่งงาน  ปลูกเรือนไว้เกิดไฟไหม้  คนอยู่อาศัยเกิดล้มตายไม่ได้อยู่อย่างนี้เรียกว่า เกิดอาถรรพ์ 
อาถรรพ์ คือเกิดความวิบัติ  เกิดสิ่งไม่ควรเกิด 
วิชาอาถรรพ์นั้นเป็นวิชาที่เรียนไว้มุ่งร้าย  ประทุษร้ายผู้อื่นให้วิบัติล่มจม ป่วยไข้และล้มตาย  การทำอาถรรพ์แก่ผู้อื่นผู้กระทำก็จะได้รับผลอย่างเดียวกัน  อย่างคำโบราณว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว (ทุกฺขโต ทุกฺขฐานัง) ท่านจึงห้ามเรียน  


พลันฉิบหายวายม้วย  เป็นประโยคสืบเนื่องอธิบายถึงผลของการเรียนอาถรรพ์ว่าจะเกิดฉิบหายวายม้วยโดยพลัน 
พลัน - เร็ว ด่วน ทันที ทันตาเห็น
ฉิบ - ฉับพลัน
หาย - หายนะ  ล่มจม เสื่อมสูญ
วาย -  ร่วงโรย ไม่มีเหลือ เช่น ผลไม้วาย หรือ ตลาดวาย หมายถึงผลไม้หมดต้น หรือ ตลาดเลิกขายของ ของหมดแล้ว 
ม้วย - ตาย 
รวมแปลความว่า  "ล่มจมเสื่อมสูญ ล้มตายท้ังหมดทั้งสิ้น"
คำสอนนี้เป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักธรรมดาตามหลักวิทยาศาสตร์ด้วย  

๗๔. อย่ายลเยี่ยงถ้วยแตกมิติด
ยล -    ภาษาเขมร แปลว่า ดู มอง  เห็น แผลงเป็นยุบล  แปลว่าเรื่อง                 ราว  ที่แลเห็น เรื่องราวทีจดจำเอามา 
เยี่ยง - แบบ อย่าง ฉบับ  เช่น คำว่า จงดูเยี่ยง หรือ จงเอาเยี่ยงกา แต่              อย่าเอาอย่างกา ที่มันขยันหากิน แต่การหากินด้วยการลัก                    ขโมยเขากินไม่ควรเอาอย่าง  
ถ้วย - ชามใบเล็กๆ ทำด้วยกระเบื้อง หรือทำด้วยแก้วแตกง่าย
มิติด - แตกแล้วก็แตกไปเลย อย่าเอามาต่อไม่ติด ถึงจะมาหลอมเข้า              ใหม่ก็ไม่เหมือนกัน
สอนว่า อย่าดูเยี่ยงถ้วยที่แตกแล้วต่อไม่ติด  หมายถึงการแตกร้าวกันนั้น  อย่าบังควรให้แตกแยกกันไปเหมือนถ้วยชามแตก เอามาใช้ประโยชน์อะไรอีกไม่ได้ 
โบราณมีคำพังเพยว่า "รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ"  หมายความว่าถ้าจะรักกันให้ยึดยาวต่อไป ก็ให้ตัดความบาดหมางขัดแย้งนั้นเสีย  แต่ถ้าหากว่าต่อความยาวสาวความยึดต่อไป มิตรภาพก็จะสั้น 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"ผจญคนมักโกรธด้วย            ไมตรี
  ผจญหมู่ทรชนดี                    ต่อตั้ง
  ผจญคนจิตโลภมี                  ทรัพย์เผื่อ  แผ่นา
  ผจญอสัตย์ให้ยั้ง                  หยุดด้วย สัตยา ฯ" 
คำโคลงบทนี้ก็เป็นการสอนให้เอาชนะคนด้วยความดีเพื่อจะเป็นมิตรไมตรีต่อกันไป จะได้ไม่แตกเหมือนถ้วยแก้ว

๗๕. จงยลเยี่ยงสัมฤทธิ์แตกมิเสีย
สัมฤทธิ์ - ขันที่ทำด้วยโลหะผสม เงิน ทองเหลือง ทองแดง สังกะสี                     เป็นโลหะที่มีคุณภาพเหนียว แข็ง ตกไม่แตก  ถึงจะทุบให้                   แตกก็เพียงแต่ร้าวราน  ไม่แตกออกเป็นเสี่ยง ยังคงรูปอยู่ 

 ท่านจึงเรียกโลหะนี้ว่าโลหะสัมฤทธิ์  ซึ่งแปลว่าโลหะสำเร็จ  มีคุณภาพดีเหมือนฤทธิ์อำนาจทีมีอยู่ในตัวเอง  ทำลายก็ไม่แตก ปัจจุบันนี้นักภาษาไทยท่านให้เขียนเป็น "สำริด" ซึ่งจะผิดจากความหมายเดิมไป 
บัณฑิตพระร่วงบทนี้สอนว่า  จงเอาเยี่ยงอย่างสัมฤทธิ์ซึ่งไม่แตกง่ายๆ  ถึงแตกก็ไม่เสีย ยังใช้การได้อยู่  การแตกร้าวของคนถึงจะมีการแตกต่างกันในทางความคิดเห็นและความเชื่อถือ ก็ไม่ควรจะให้แตกสลาย แตกแยกกันออกไปเลย ควรจะประสานประโยชน์ต่อไปได้ ดังขันสัมฤทธิ์ซึ่งแตกก็ไม่แตกกระจาย
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอน ๑๑)


สาระสุภาษิต

๖๐. พบศัตรูปากปราศรัย
พบ -      พบหน้า เจอหน้า ประจันหน้า
ศัตรู -     คู่แค้น ข้าศึก คู่อริ ไม่ถูกกัน เป็นคู่ทำลายกัน  ล้างผลาญ จอง               เวร แม้ในกรณีที่เขาเป็นฝ่ายกระทำข้างเดียวก็ตาม
ปราศัย - พูดจา ทักทาย สนทนาด้วยการปกติ ไม่แสดงให้เขารู้ว่ารู้เท่า               ทัน  หรือแสดงอาการโกรธเคือง มึนตึง
สอนว่า พบศัตรูให้ปากปราศรัย พูดจาด้วยดี ข่มความรู้สึกไว้ อย่างโบราณว่า "เอาน้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก" และ "คนโง่อยู่ที่ปาก คนฉลาดปากอยู่ทีใจ"  หมายความว่าคนโง่คิดอย่างไรก็พูดออกมาอย่างนั้น แต่คนฉลาดถึงอยากจะพูดก็นิ่งไว้ในใจ  คนที่เข้มแข็งนั้นถึงจะโกรธเกลียดอย่างไรก็ "ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ"  หรือ "อ่อนนอกแข็งใน"  คนที่พูดอาฆาตใส่หน้าศัตรูนั้นมักจะไมทำจริง  และมักจะเป็นผู้ถูกเขากระทำเสียก่อน  อีกคำหนึ่งก็คือ "หมาเห่าใบตองแห้ง" หรือ "หมาเห่าไม่กัด" "หมากัดไม่เห่า" เป็นคำจำพวกเดียวกัน 

๖๑. ความในอย่าไขเขา
ความใน -  ความในใจ ความรู้สึก ความตื้นลึกหนาบาง  ความใฝ่ฝัน                      ความมุ่งมาดปรารถนา  จุดหมายปลายทางในชีวิต ความ                      ลับของตนและครอบครัว 
ไข -          เปิด เผย บอก เล่า
เขา -         ผู้อื่น  คนอื่น คนไกล นอกวงการ นอกครอบครัว 
สอนว่า อย่าเปิดเผยความในใจหรือความลับแก่ใคร  หากไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเรา  แม้แต่ความมุ่งมาดปรารถนาในชีวิตว่าจะทำอะไร  เป็นอะไร ก็บอกใครไม่ได้  จนกว่าจะเป็นแล้วหรือทำสำเร็จแล้ว  เพราะถ้าทำไม่สำเร็จก็จะอายเขา  หรืออาจถูกขัดขวางถูกอิจฉาริษยาได้ 
คำโคลงโลกนิติว่า 
"เริ่มการตรองตรึกไว้     ในใจ
  การจะลุจึงไข              ข่าวแจ้ง
  เดือดอกออกห่อนใคร เห็นดอก
  ผลผลิตคิดแล้วแผร้ง  แพร่ให้ คนเห็น ฯ" 

๖๒. อย่ามัวเมาเนืองนิจ
มัว -      มั่วสุม คลุกคลี  มืดมัวเพราะการมั่วสุม  คลุกคลีสิ่งใดหรือคน                ใด คณะใด ย่อมจะเมามัวในสิ่งนั้น  จนมองไม่เห็นความจริง                  หรือสิ่งอื่น แง่มุมอื่น 
มัว -      ไม่แจ่ม ไม่กระจ่าง ฝ้าฟาง ขมุกขมัว ไม่มืดไม่สว่าง 
มัวเมา - หลงละเลิง 
เมา -     อาการฟั่นเฟือนเพราะฤทธิ์สุรา  ฤทธิ์ยา หลงจนลืมตัวเช่น                    เมารัก  หรือการหลงใหลหมกมุ่นอยู่ในความรัก 
เนือง -  สืบต่อ ติดต่อ ไม่ว่างเว้น  ฉบับของกรมศิลปากรว่า "เนื่อง"                 แปลว่า เสมอ บ่อย,  ฉบับของกรมพระยาปวเรศฯ ว่า "เนือง"              แปลว่า สืบต่อกัน ติดต่อกัน  ไม่ว่างเว้น คำว่า "เนือง" น่าจะมี               น้ำหนักกว่า เพราะมีคำว่า "นิจ" แปลว่า เสมอไป สม่ำเสมอ                 ต่อท้ายอยู่แล้ว 
สอนว่า อย่าได้หลงมัวเมา จนไม่มีเวลาว่างเว้นส่างซา  ถ้าจะหลงมัวเมาอะไรชั่วครู่ชั่วยาม  แล้วเลิกเสียได้ก็ไม่กระไรเสีย 

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย  สอนไม่ให้ประมาทในชีวิต  ประมาทในวัยว่ายังหนุ่มสาวอยู่  อย่าประมาทในบุญกรรมว่าทำแล้วไม่ให้ผล  อย่าประมาทในความตายว่ายังมาไม่ถึงตน  คำสอนเรื่องมัวเมาประมาทนี้  เป็นคำสอนสำคัญในพุทธศาสนา  สุภาษิตนี้จึงมีที่มาในคติธรรมทางพุทธศาสนา 
สอนว่า อย่ามัวเมาในชีวิต  ในวัย ในทรัพย์ ในศักดิ์  คนโบราณท่านว่า "เมาตัวลืมกาย เมากายลืมแก่ เมาเมียลืมแม่ เมายศลืมรักชาติ"

๖๓. คิดตรองตรึกทุกเมื่อ
คิด - ทางธรรมใช้คำว่า พิจารณาถึงความจริงของชีวิต ตามความเป็นจริงของโลก ความเป็นจริงของธรรมทั้งหลาย พิจารณาเนื่องๆว่า  เรามีกรรมเป็นของตน  ทำกรรมชั่วจะได้ชั่ว จะมีทุกข์  พิจารณาเนืองว่า เราจักต้องตาย  พลัดพรากจากสิ่งที่รัก  ทุกคนมีความตายรออยู่เบื้องหน้า  จึงควรเร่งสร้างแต่ความดีไว้เสมอ 
ตรึก - ทางธรรมใช้คำว่า วิตก
ตรอง - ทางธรรมใช้คำว่า วิจารณ์
ทั้ง วิตก และวิจารณ์ เป็นการภาวนาทำจิตให้สงบ มีสมาธิ ใจตั้งมั่นทำให้เห็นความเป็นจริงของชีวิตและของโลกตามความเป็นจริง  เป็นอาการของจิตในขั่นปฐมฌาน  คือมีวิตก-ตรึก  วิจารณ์-ตรอง  ปิติ-อิ่มใจ  สุข-เป็นสุข เอกัคคตา-ความเป็นหนึ่งอย่างยิ่ง 
สุภาษิตนี้ใช้คำ ๓ คำ  คือ คิด ตรอง ตรึง ก็ตรงกับการบำเพ็ญภาวนาทางวิปัสสนาญานขั้นปฐม  ได้แก่ วิตก-ตรึก วิจารณ์-ตรอง  ไม่ใช่การนึกคิดอย่างธรรมดา  เป็นการคิดอย่างลึกซึ้งจนมองเห็นความจริง ตามสภาพที่เป็นจริงด้วย "ตาปัญญา"  ไม่ใช่ตาเนื้อ  สุภาษิตพระร่วงนี้จึงมีที่มาจากคติธรรมทางพระพุทธศาสนาโดยตรง  ไม่ใช่การตรึกตรองตามแบบชาวบ้าน 

๖๔.พึงผันเผื่อต่อญาติ
ผัน- ผิน หัน หมายถึงว่าหันหน้าไปมองดู เหลียวแล เอาใจใส่ ห่วงใย          คิดถีง
เผื่อ - แบ่งปัน ช่วยเหลือ เจือจาน  เผื่อแผ่ มีอะไรก็ให้ปัน
ญาติ - พี่น้อง วงศ์วาน ว่านเครือ  คนรู้จักคุ้นเคยกัน ภาษาบาลีว่า "วิสา            สาปรมาญาติ"  ความคัุ้นเคยเป็นญาติสนิท  หมายถึงคนคุ้นเคย            กันก็เปรียบเหมือนญาติ หรือเป็นเหมือนญาติ
สอนว่า ให้เหลียวแล ช่วยเหลือ เจือจานญาติพี่น้อง  และคนที่คุ้นเคยกันอย่าทอดทิ้งอย่าละเลย 
พระพุทธองค์ทรงสอนว่า "การสงเคราะห์ญาติพี่น้องเป็นมงคลอันอุดม" 
คำสอนในบัณฑิตพระร่วงนี้เป็นคติธรรมทางพุทธศาสนา

๖๕. รู้ที่ขลาดที่หาญ
ขลาด - กลัว ไม่กล้า ไม่สู้ ยอมแพ้ ยอมอ่อนน้อม
หาญ - กล้า ไม่กลัว สู้ ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมอ่อนน้อม 
ที่ขลาด - ที่ควรกลัว ที่ควรยอมแพ้ ที่ควรยอมอ่อนน้อม ไม่ขัดแข็งไม่                   ต่อสู้
ที่หาญ - ที่ควรกล้า ที่ไม่ยอมแพ้ ที่ไม่ควรยอมอ่อนน้อม ทีควรขัดแข็ง               ที่ควรต่อสู้
สอนว่า ให้รู้ว่าสิ่งใดควรกลัว ควรอ่อนน้อม ควรยอมแพ้ สิ่งใดควรกล้า ควรสู้  สอนให้รู้จักเวลาที่ควรอ่อนน้อม ควรแข็ง คำพังเพยมีว่า "กล้านักมักบิ่น"  เปรียบดังมีดที่ชุบเหล็กจนกล้าเกินไป เมื่อฟันไม้แข็ง คมก็อาจบิ่นได้  ถ้าเหล็กอ่อนคมก็อยู่  ไม่ถึงแก่หักหรือบิ่น การต่อสู้กับศัตรูนั้นถึงจะใจกล้า  อยากจะต่อสู้แต่ถ้าไร้อาวุธ  หรือกำลังน้อยกว่าก็ต้องถอยก่อน ขืนบุกเข้าไปต่อสู้ก็มีแต่แพ้ฝ่ายเดียว  เมื่อมีกำลังเท่าเทียมกัน หรือมากกว่า จึงควรกล้าสู้  ไม้ซีกงัดไม้ซุงนั้นไม่มีทางจะได้นอกจากไม้ซีกเป็นฝ่ายหัก 

๖๖. คนพาลอย่าพาลผิด 
       ( อย่าผูกมิตรไมตรี)  (เมื่อพาทีพึงตอบ)
       ๓ ประโยคข้างต้นนี้อยู่ในความหมายเดียวกัน  มีความหมายต่อเนื่องกันในเรื่องคนพาล
คนพาล - คนโง่ คนเขลา คนเบาปัญญา  คนไม่รู้จักบุญบาป ไม่รู้จักชั่วดี คนประเภทเห็นความชั่วเป็นความดี เห็นกงจักรเป็นดอกบัว อาจประพฤติลชั่วร้ายเลวทรามได้โดยเข้าใจว่าเป็นความเก่งกล้าของตน  ไม่รู้ว่าจะเกิดผลเดือดร้อนใจภายหลัง 
อย่าพาลผิด - เมื่อคนพาลประพฤติการเป็นพาลเกเรแก่เรา  ก็อย่าประพฤติเป็นพาลตอบโต้
คำโคลงโลกนิติสอนว่า 
"ชำนะคนมักโกรธด้วย           ไมตรี
  ผจญหมู่ทรชนดี                    ต่อต้ัง"

"หมาใดตัวร้ายขบ                  บาทา
  อย่าขบตอบต่อหมา             อย่าขึ้ง
  ทรชนชาติชั่วทา                  รุณโทษ
  อย่าโกรธอย่าหน้าบึ้ง           ตอบถ้อย ถือความ ฯ" 
 เมื่อรู้แน่ชัดว่าคนใดเป็นคนพาล โง่เขลาไม่รู้ดีรู้ชั่ว  ไม่รู้บาปรู้บุญ ไม่รู้คุณรู้โทษ ท่านห้ามอย่าผูกมิตรด้วย อย่ามีไมตรีด้วย  เพราะคนพาลพวกนี้ไม่รู้จักความดี  ทำผิดพลาดประมาทเมื่อใดเขาอาจกลับมาทำร้ายเอาได้  เหมือนชาวนาอุ้มงูเห่าไว้ มันก็กลับกัดเอา โบราณว่า "อย่าเลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้"  คนที่เลี้ยงโจรไว้ก็ถูกโจรปล้น คนที่เลี้ยงอันธพาลมือปืนไว้ประดับบารมี  หรือเบ่งอิทธิพล ก็มักจะต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา  ไม่รู้ว่าเมื่อใดเขาอาจจะหันกลับมาทำร้ายเอาได้  เมื่อยังมีเงินมีอำนาจ เลี้ยงอิ่มหนำ เขาก็เป็นคุณ เมื่อยามพลาดพลั่้งไร้เงินไร้อำนาจ  เขาก็กลับเป็นโทษ 
มงคลสูตร สอนว่า "อเสวนา จพาลานัง"  การไม่คบคนพาล ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ เป็นมงคลอันอุดม 

คำโคลงโลกนิติว่า 
" มิตรพาลอย่าคบให้       สนิทนัก
  พาลใช่มิตรอย่ามัก        กล่าวใกล้
  คร้ันคราวเคียดคุมชัก    เอาโทษ ใส่นา
  รู้เหตุสิ่งใดไซร้              ส่อสิ้น กลางสนาม ฯ" 
สุภาษิตนี้จึงมาจากพุทธภาษิตที่ว่า
กุกุฎ จ อมิตตสฺมิ             มิตฺตสฺมิมํปินวิสฺสเส
ยถา กปฺปติ ตํ มิตรํ          สฺรวโทส ปกาสิตา ฯ

๖๖. เมื่อพาทีพึงตอบ 
พาที - พูดจา ทักทาย 
ตอบ - ตอบถ้อยสนทนา พูดจาโต้ตอบ 
สอนว่า เมื่อคบคนพาลพูดจาด้วยก็พึงพูดด้วย  พึงตอบดีสนทนาตามมารยาทที่ดี  ไม่แสดงตนว่ารังเกียจเหยียดหยาม  แต่ไม่คบสนิทคบแต่เพียงผิวเผินเท่านั้น 
มีที่มาจากพุทธภาษิตว่า
โย ชโย พาล สมาคโม  สุขปฺปตฺโต น สํ สิยา 
ปณฺ ฑิตา จ สทา สุขา   พลา ทุกฺขสมาคมา ฯ

คำโคลงโลกนิติว่า 
"คนใดไป่เสพด้วย           คนพาล
  จักทุกข์ทนเนานาน       เนิ่นแท้
  ใครเสพทวยทรงญาณ  นักปราชญ์
   เสวยสุขล้ำเลิศแท้        เพราะได้สดับดี ฯ"

๖๗. จงนบนอบผู้ใหญ่
นบ - ไหว้
นอบ - นอบน้อม อ่อนน้อม ถ่อมตน ฝากตัว
ผู้ใหญ่ - ผู้มีวัยสูงกว่า เรียกว่า วัยวุฒิ คือเจริญด้วยวัย ผู้มีชาติตระกูล                 สูง  เรียกว่า ชาติวุฒิ คือเจริญด้วยชาติกำเนิด เช่นเจ้านาย 
          -  ผู้มีคุณความดี หรือคุณความรู้สูงกว่า  เรียกว่า คุณวุฒิ  คือ                  เจริญด้วยคุณความดี หรือความรู้
          - ผู้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่สูงกว่า หรือเป็นผู้ปกครอง ผู้บังคับ                   บัญชา  แม้จะมีอายุน้อยกว่าก็เรียกว่า ผู้ใหญ่
          - ผู้อยู่ในเพศสูงกว่า  เรียกว่า อุดมเพศ   เช่น สมณชีพราหมณ์               ย่อมสูงกว่าฆราวาส ซึ่งเรียกว่า "หินเพศ"  พระภิกษุสงฆ์                     โบราณเรียกว่า พระคุณเจ้า  ถือว่าเป็นผู้ใหญ่กว่าเหมือนกัน
สอนให้เคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่   ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ ชาติวุฒิ 
มงคลสูตรสอนว่า "การเคารพคนที่ควรเคารพเป็นมงคลอันอุดมอย่างยิ่ง"   หมายความว่า การไม่เคารพก็ไม่เป็นศิริมงคล  พระพุทธองค์ยังสอนไว้อีกว่า  ผู้ที่เกิดมาในตระกูลต่ำ  และมีศักดิ์ต่ำน้้นเป็นเพราะชาติปางก่อน ไม่เคารพผู้ใหญ่ที่ควรเคารพ  ผู้ที่เกิดมาในตระกูลสูงมีศักดิ์สูงนั้น  เพราะชาติปางก่อนเคารพคนที่ควรเคารพ 
บัณฑิตพระร่วงนี้จึงมีที่มาจากคติธรรมในพระพุทธศาสนา

คำโคลงโลกนิติสอนว่า 
"ให้ท่านท่านจักให้          ตอบสนอง
  นบท่านท่านจักปอง       นอบไว้"
อีกบทหนึ่งสอนว่า
"คนใดเอมโอชด้วย        เจรจา
  เห็นแก่เฒ่าพฤฒา        ถ่อมไหว้
  สรรเสริญทั่วโลกา         มนุษย์ นี้นา
  ปรโลกพู้นจักได้            สู่ฟ้าเมืองแมน ฯ"
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 


วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอน ๑๐)


                                                                  สาระสุภาษิต


๔๔.รักตนกว่ารักทรัพย์ 
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า
"พึงสละทรัพย์     เพื่อรักษาร่างกาย
พึงสละอวัยวะ      เพื่อรักษาชีวิต
พึงสละชีวิต         เพื่อรักษาธรรม" 
ทรัพย์มีค่าน้อยกว่าร่างกาย  ร่างกายมีค่าน้อยกว่าชีวิต
สุภาษิตพระร่วงนี้ก็สอนตรงกันคือ  ให้รักตนยิ่งกว่ารักทรัพย์  จึงไม่ใช่ภาษิตไทยเดิมดังที่เข้าใจกัน   เป็นคติธรรมทางพระพุทธศาสนา
คำโคลงโลกนิติว่า
" ช้างม้าเมียมิ่งแก้ว         เงินทอง
ตัวมิตายจักปอง               ย่อมได้
ชีวิตสิ่งเดียวของ              หายาก 
ใช่ประทีบเทียนไต้           ดับแล้วจุดคืนฯ" 

๔๕.อย่าได้รับของเข็ญ
ประโยคนี้มีคำซ้อนคำอยู่ ๒ คำ คือ "อย่าได้" กับ "อย่ารับ"  รวมความว่า"อย่าได้รับ"  รวมความว่า "อย่าอยากได้และอย่าอยากรับ" 
อย่าได้รับ - คืออย่ารับ อย่าอยากได้
ของเข็ญ - ของยาก ของลำบาก ของเดือดร้อน หรือพูดสัันว่าของร้อน                  ได้แก่ของผิดกฎหมาย ของเถื่อน  ของที่โจรลักมา  ห้ามรับ                  ของโจร และของสินบนที่เขาเอามาให้  เพื่อจ้างวานให้เรา                  ประพฤติผิดกฎหมาย และทำนองคลองธรรม ละเว้นไม่                        กระทำตามหน้าที่
สอนว่า อย่าอยากได้ อย่ารับของเถื่อน ของผิดกฎหมาย ของสินบน เพราะเป็นของร้อน  นำความเดือนร้อนมาให้ภายหลัง  เพราะของร้อนนี้มันย่อมจะอยู่กับเราไม่นาน  ได้ง่ายก็ใช้ง่ายหมดไปโดยเร็ว  และยังจะพาทรัพย์สินอื่นของเราให้หมดไปด้วย 
พระพุทธเจ้าสอนว่า คนที่รับของทุจริตไว้  ก็ทำให้ร่างกายเลือดเนื้อของเราถูกบำรุงเลี้ยงด้วยของทุจริต  กลายเป็นร่างกายเลือดเนื้อที่บาป  บุตรที่เกิดมาจากกายบาปใจบาป กินของบาปเข้าไปต้องเป็นลูกทีไม่ดีไม่มีความสุขความเจริญ  สังเกตุได้จากบุตรข้าราชการที่ทุจริตมักจะเป็นบุตรที่ล้างผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อแม่  หรือเกิดมาต้องให้พ่อแม่รับเวรกรรม  เพราะประพฤติชั่ว หรืออายุสั้น 
สุภาษิตนี้เป็นคติธรรมทางพระพุทธศาสนา

๔๖.ผิวะเห็นงามอย่าปอง
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "เห็นงามตาอย่าปอง" 
แต่ฉบับของกรมพระยาปวเรศฯ ว่า" "ผิวเห็นงามอย่าปอง"  
ฉบับของกรมศิลปากรฟังดูเป็นภาษาใหม่กว่า แต่ฉบับของกรมพระยาปวเรศฯ ฟังดูเก่ากว่า  ตรงคำว่า "ผิว" โบราณใช้คำว่า "ผิวะ"หรือ"ผิว่า"  
แม้ในบัณฑิตพระร่วงนี้ก็ยังมีใช้อยู่หลายตอน  เช่น
"ผิวะบังบังจงลับ"  "ผิวะจับจับจงมั่น"  "ผิวะคั้นคั้นจงตาย"  "ผิวะหมายหมายจงแท้"  "ผิวะแก้แก้จงกระจ่าง" 
คำที่ถูกต้องจึงน่าจะเป็น  "ผิวะเห็นงามอย่าปอง"
ผิวะ - ถ้า หาก ริ  เริ่ม
เห็น - เห็นด้วยตา  รู้ด้วยใจ(ธรรมจักษุ) 
งาม - สวย ดี เรียบร้อย ละออตา น่ารักใคร่ 
ปอง- ปรารถนา  รักใคร่ มุ่งประสงค์
สุภาษิตนี้สอนว่า ถ้าเห็นสิ่งสวยงามน่ารักใคร่อย่าอยากได้ (เพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นสิ่งดีมีค่าหรือไม่)  เพราะมีคำพังเพยไทยเราว่าไว้ว่า "ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง" บ้าง "งามกระหรอกเบาะ สาวงามเหมาะมีคนบ่อน"  หรือ "ไม้งามกระรอกเจาะ สาวเหมาะมีคนจอง"

คำโคลงโลกนิติว่าไว้ว่า
"ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้         มีพรรณ
ภายนอกดูแดงฉัน           ชาดบ้าย
ภายในย่อมแมลงวัน        หนอนบ่อน
ดุจดั่งใจคนร้าย                นอกนั้นดูดี"
สุภาษิตนี้ก็ตรงกับ บัณฑิตพระร่วง เป็นคติธรรมทางพระพุทธศาสนา

๔๗. ของฝากท่านอย่ารับ
"ของฝากท่าน" ในที่นี้คือ ของฝากของท่าน หรือของฝากที่ท่านนำมา  ฝากไว้  ให้เราเก็บรักษาท่านสอนว่าอย่ารับ   คืออย่ารับของที่ท่านนำมาฝากให้ช่วยดูแลรักษาไว้  มิใช่ของฝากของกำนัลที่ท่านนำมามอบให้  
เพราะธรรมดาของฝากน้ันมีแต่นำความเสียหายมาสู่ผู้รับฝากทุกทาง คือ 
๑. ถ้าเก็บรักษาไว้ดี  ก็มีแต่เสมอตัวไม่ได้บุญได้คุณอะไรเลย 
๒. ถ้าสูญหายไปก็ต้องรับผิดชอบชดใช้
๓. ถ้าเผลอใจหรือประมาทนำเอาไปกินไปใช้   ก็จะหลวมตัวเป็นลูกหนึ้ภายหลัง
๔. นานไปเจ้าของเขาลืมจำนวน เช่น ฝากไว้ ๑๐๐๐ ก็ลืมคิดว่า ๒๐๐๐ จะผิดใจกันเปล่า
๕. ชำรุดบกพร่องไปก็จะถูกต่อว่า  ผิดใจกัน เพราะเก็บไว้นาน ไม่ว่าของเราของท่านต้องมีชำรุดบกพร่อง  ยกตัวอย่างชูชกเอาเงินฝากบิดามารดานางอมิตตาไว้จนต้องยกลูกสาวใช้หนี้ 
โบราณจึงสั่งสอนว่า ห้ามรับฝากของท่านไม่มีคุณมีแต่โทษ  เคราะห์ร้ายอาจะมีโจรมาปล้นเอาถึงแก่ชีวิตได้  ท่านถือว่าทรัพย์นั้นเปรียบเหมือนงูพิษ  อาจทำร้ายเอาได้ภายหลัง 

๔๘. ที่ทับจงมีไฟ
ทับ - กระท่อม เรือน ที่อยู่อาศัย   ทับ มาจากคำว่า "ทัพสัมภาระ"  แปลว่าเครื่องปรุงแต่ง  ประกอบเป็นที่อยู่อาศัย
ไฟ - แสงสว่าง  ไต้ เทียน ประทีป  หรือ กองไฟ
บ้านเรือนคนโบราณในชนบท ยังไม่มีไฟฟ้า เวลากลางคืนมืดค่ำ อาจมีภัยด้วย เสือ งู  ช้าง หรือโจรผู้ร้าย  การจุดไฟไว้เป็นเครื่องป้องกันได้อย่างหนึ่ง  ท่านจีงสอนว่า บ้านเรือนต้องมีไฟจุดไว้ในยามค่ำคืน  ตามบ้านนอกสมัยก่อนจึงนิยมกองไฟจุดไว้ที่หน้าบ้านเสมอ  ไม่อยู่กันมืดๆ  เรียกว่า "เอาเสียงเป็นเพื่อนบ้านเรือนมีไฟ"   คำสอนนี้แสดงถึงความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อนด้วยว่า  มีภัยอันตรายจากสัตว์ จึงต้องก่อกองไฟไว้ป้องกันงู เสือ ช้าง เพราะมันกลัวไฟ

๔๙. ที่ไปจงมีเพื่อน
ที่อยู่ คู่กับ ที่ไป คือระหว่างทาง โบราณพูดว่า ที่อยู่ที่ไป  สอนว่า ที่อยู่ให้มีไฟ  ที่ไปให้มีเพื่อน  ที่อยู่เอาไฟเป็นเพื่อน ที่ไปเอาคนเป็นเพื่อน  เจาะจงว่าเพื่อช่วยป้องกันภัยอันตราย  ทั้งที่อยู่และที่ไปจึงต้องหาสิ่งป้องกันไว้เสมอ 
โบราณเห็นคุณค่าของเพื่อน  จึงตั้งชื่อคนที่เป็นมิตรสนิทว่า เพื่อน  เช่นพระเพื่อน พระแพง ในลิลิตพระลอ  คำว่า เพื่อน แปลว่า คู่ชีวิต คำว่า แพง แปลว่า มีค่าสูง คนโบราณจึงต้ังชื่อลูกหลานว่า เพื่อน ,แพง    ด้วยมีความหมายลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิตของคน  
 แต่เพื่อนแท้นั้นหายาก  คำโคลงโลกนิติว่า 
" เพือนกินสิ้นทรัพย์แล้ว       แหนงหนี
  หาง่ายหลายหมื่นมี             มากได้
  เพื่อนตายถ่ายแทนชี          วาอาตม์
  หายากฝากผีไข้                  ยากแท้ จักหาฯ " 
คำพังเพยก็กล่าวไว้ว่า  "คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย  สามคนกลับบ้านได้"  ไปไหนก็ให้มีเพื่อนไว้เสมอ

๕๐. ทางแถวเถื่อนไคลคลา
ทาง- เส้น  แนว  สาย ที่คนหรือสัตว์เดิน 
แถว - แนว ยาว สืบ ต่อ
เถื่อน - ป่า ดง พง ไพร เปลี่ยว ดุ เช่น ช้างเถื่อน ไก่เถื่อน ป่าเถื่อน
ไคล - ไป ออก
คลา - มา เข้า 
ทางแถวเถื่อน หมายถึง เส้นทางที่เป็นป่าดง มีสัตว์ดุร้าย
ทางแถวเถื่อนไคลคลา หมายถึง ทางเดินในป่าดงน้ันมีทั้งสัตว์ร้าย เสือ ช้าง และโจรเข้าออกไปมาอยู่เสมอ  เต็มไปด้วยภัยอันตรายรอบด้าน  ต้องระมัดระวังภัยอยู่เสมอ  ไม่ใช่จะมีแต่ต้นไม้ไพรพฤกษ์เท่านั้น  เป็นคำเตือนสติคนให้มองเห็นภัยของธรรมชาติอันสวยงามของป่าเขาลำเนาไพร

๕๑. ครูบาสอนอย่าโกรธ
ครู ครูบาอาจารย์  - ผู้สั่งสอนศิษย์ ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ศิษย์ 
ครู -  ผู้เต็มไปด้วยน้ำ  คือ ความรู้ และน้ำใจเมตตา ดั่งครุตักน้ำ  ผู้เป็นแบบอย่างความประพฤติชอบ  ดังน้ำอยู่ในกรอบแห่งครุ
บา - มาจาก ชีบา หรือ อุบาสก  เรียกผู้ถือบวชแบบโบราณ  เช่น ครูบาศรีวิชัย เพราะครูแต่โบราณมักเป็นพระสงฆ์ 
สุภาษิตนี้สอนว่า ครูบาอาจารย์ สั่งสอน อบรม ดุด่า ว่ากล่าว อย่าโกรธ เพราะครูปรารถนาดีต่อศิษย์
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
" ช่างหม้อตีหม้อใช่        ตีฉาน  แตกนา
   ตีแต่งเอางามงาน        ชอบใช้
   ดุจศิษย์กับอาจารย์      ตีสั่ง  สอนแฮ
   มิใช่ตีจัดให้                  สู่ห้อง  อบายภูมิ"

คำสุภาษิตพระร่วงจึงเป็นคติธรรมทางพระพุทธศาสนา  คนไทยโบราณถือว่า ครูเป็นพ่อคนที่สอง   จึงเรียกศิษย์ว่า ลูกศิษย์ เท่ากับศิษย์เป็นลูกของครูบาอาจารย์  ครูเป็นบุพพารีมิใช่ลูกจ้างสอนศิษย์  ทรัพย์สินที่ศิษย์มอบให้แก่ครู เรียกว่า ค่ายกครู  หรือ ค่าคำนับครู

๕๒. โทษตนผิดพึงรู้
โทษ - ความผิด ความชั่ว ความไม่ดี ตรงข้ามกับ "คุณ"
ผิด -    ความไม่ถูกต้อง ตรงข้ามกับ "ชอบ" คือ ความถูกต้องตรงตาม               ทำนองคลองธรรม 
สอนว่า ความผิดความชั่ว ความไม่ถูกต้องของตน ควรจะรู้ตัว เมื่อมีผู้ดุด่าว่ากล่าวตนก็ควรยอมรับว่าท่านพูดจริง  ด้วยความหวังดีต่อเรา ถึงไม่มีใครพูด ก็ควรจะจดจำไว้ "เอาผิดเป็นครู"

๕๓. สู้เสียสินอย่าเสียศักดิ์
ศักดิ์ -  ชื่อเสียง เกียรติยศ ความเคารพนับถือตนเอง ความภาคภูมิใจ               ตนเอง ความทนงในเกียรติของตน ทุกคนมีศักดิ์มีศรี  เช่น                   ศักดิ์ศรีของลูกผู้ชาย ศักดิ์ศรีในตำแหน่งการงาน ศักดิ์ศรีใน                 สถาบัน ศักดิ์ศรีในราชตระกูล ศักดิ์ศรีในเชื้อชาติ
สิน -    ทรัพย์ เงิน ทอง ข้าวของ
สุภาษิตนี้สอนว่า ยอมเสียเงินดีกว่าเพื่อรักษาศักดิ์ศรีไว้  อย่ายอมเสียศักดิ์เพื่อไม่ต้องเสียเงิน เงินมีค่าน้อยกว่าศักดิ์ศรี เงินทองหาได้เมื่อมีศักดิ์ศรี  แต่เมื่อไร้ศักดิ์ศรีแล้วเงินทองก็หาไม่ได้ 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"เสียสินสงวนศักดิ์ไว้      วงศ์หงส์
  เสียศักดิ์สู้ประสงค์        สิ่งรู้"
สุภาษิตพระร่วง หรือ บัณฑิตพระร่วงนี้ก็มาจาก โลกนิติปกรณ์ของเก่านั่นเอง 

๕๔. ภักดีอย่ารู้เคียด
ภักดี - ความจงรัก ความดื่มด่ำ ความเลื่อมใส ความเคารพบูชาว่าเป็น              สิ่งมีค่าสูงสุดแก่ชีวิต   เช่น ภรรยาภักดีต่อสามี ลูกชายภักดีต่อ            พ่อแม่ ประชาชนภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว  คนภักดีต่อพระเจ้า
เคียด - โกรธ เคือง ขุ่น แค้น คิดประทุษร้าย คิดไม่ซื่อตรง 
สอนว่า สิ่งทีเราจงรักภักดีน้ัน มีคุณค่าสูงเกินกว่าที่จะคิดโกรธเคือง ดุด่าว่ากล่าวเราอย่างรุนแรงเพียงใดก็ตาม  ให้คิดเสียว่าเป็นเคราะห์กรรมของเรา  โทษตัวเราว่าไม่ดีเอง

๕๕. อย่าเบียดเสียดแก่มิตร
เบียด - เบียดบัง เอาทรัพย์หรือผลประโยชน์มาเป็นของตนด้วยการ               ปิดบังไว้ไม่ให้รู้เห็น
            เบียดเบียน เอาทรัพย์ของเรา เอาคุณความดีของเขามาเป็น                ของตน ทำให้เขาเดือดร้อน
            เบียดบ้าย เอาความไม่ดีของตนไปให้เขา 
            เบียดสี  เอาสีข้างเข้าสี   กระแซะให้เขาต้องออกนอกทางไป             แล้วเข้าแทนที่  เช่นแย่งตำแหน่งหน้าที่การงาน 
            เบียดแทรก เอาตัวสอดแทรกเข้าไปในระหว่างกลาง  ฉกฉวย               โอกาสว่างมาเป็นของตน  
เสียด - เสียบ แทง ยุแยง  เช่นพูดจาส่อเสียด พูดยุยงใส่ร้าย  กระแนะ             กระแหนให้คนเกลียดชัง  
สอนว่า อย่าเบียดเสียดแก่มิตรทุกประเภทตามที่กล่าวแล้ว ตรงกับคำสอนในพระพุทธศาสนาว่า  อย่าพูดปด อย่าพูดหยาบ อย่าพูดส่อเสียด อย่าพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล   
คำสุภาษิตนี้จึงเป็นคติธรรมในพระพุทธศาสนา

๕๖. ที่ผิดช่วยเตือนตอบ
ที่ผิด -  ที่ไม่ถูกต้อง ที่ไม่ชอบธรรม ที่ไม่เหมาะ ที่ไม่ควร  สิ่งที่จะก่อ               ให้เกิดความเสียหายเดือดร้อนภายหลัง  
เตือน - การกระทำให้รู้ตัวทั้งทางตรงทางอ้อม  เช่นพูดตรงๆ พูดเป็น               นัยๆ  ทำอากัปกิริยาด้วยสายตา สีหน้า พูดสั่งไปกับคนอื่น                   จดหมายบอกให้รู้ ประท้วงหยุดการทำงาน  ล้วนแต่เรียกว่า                 เป็นการเตือนทั้งสิ้น     
ตอบ - แทน สนอง โต้ แย้ง แก้ต่าง ชี้แจง 
สอนว่า ถ้าเห็นแก่มิตรของเรา หรือคนที่เรารักใคร่นับถือ หรือเป็นคนดี ถ้ามีอะไรผิดก็ต้องช่วยเตือนให้รู้ตัว  ช่วยแก้ไข ช่วยป้องกัน ช่วยโต้แย้ง 
พระพุทธศาสนาสอนว่า มิตรแท้น้ันต้องป้องกันมิตรยามมีภัย ช่วยรักษาทรัพย์ของมิตร
มิตร ในที่นี้ไม่ได้หมายความแคบแค่เพื่อน หมายถึงคนทั่วไปที่รักใคร่นับถือกัน  พ่อ แม่ ครู คนที่่อยู่ในสถาบันเดียวกัน  เป็นประโยชน์เกื้อกูลกันทั้งทางตรงทางอ้อม นับว่าเป็นมิตรทั้งสิ้น 

๕๗. ที่ชอบช่วยยกยอ
ที่ชอบ - ที่ถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม ตามทำนองคลองธรรมทั้งทางการ               กระทำและความประพฤติ
ยก -       ทำให้สูงขึ้น  ด้วยการยกของขึ้นถือไว้ มิให้ตกต่ำกว่าที่ควร                   เป็น หรือหล่นลงมีอันตราย  
ยอ -       เชิดชู สรรเสริญ  ชมเชย พูดแต่ในทางที่ดี เอาคุณงามความ                 ดีมากล่าว
สอนว่า สิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง เหมาะสม ต้องพูดส่งเสริม สนับสนุน เชิดชู ชมเชยท้ังต่อหน้าและลับหลัง ให้คนท้ังหลายมองเห็น  เมื่อเห็นคนทำดีไม่ยกยอก็จะเป็นคนใจแคบ  ไม่เพิ่มคุณสมบัติของตนเองในข้อ "มุทิตา" ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี  และ "อนุโมทนา" ยินดีเมื่อผู้อื่นทำดี ตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนา

๕๘. อย่าขอของรักมิตร
ศีลห้า ท่านเรียกว่า "นิจศีล" คือ ศีลที่ควรถือไว้เป็นนิจ และสม่ำเสมอเป็นปกติ  เพราะ นิจ แปลว่า เที่ยงตรง มั่นคง และ "ศีล" แปลว่า  ปกติสม่ำเสมอ
ศีลห้ามีอยู่ข้อหนึ่งคือ  "กาเมสุ มิจฉา จารา เวรมณี" ที่มักแปลกันว่า "เว้นจากการประพฤติผิดในกาม"  หรือเข้าใจว่า "ไม่ผิดเมียท่าน ไม่เป็นชู้เมียท่าน"  นั้นเป็นการแปลอย่างแคบที่สุดไม่ตรงตามพุทธประสงค์ ที่ทรงบัญญัติไว้ 
คำแปลที่ถูกต้องแปลว่า "ละเว้นจากการประพฤติผิดในของรักทั้งหลาย"
"กาเมสุ" แปลว่า ของรักทั้งหลาย  ของรักทั้งปวง 
 "ของรักทั้งปวง"ได้แก่อะไร  
อย่างสูงสุดก็คือ  ภรรยา สามี หวงแหนที่สุด ถึงแก่ฆ่ากันก็เพราะเรื่องนี้  สัตว์ก็หวงคู่ของมันที่สุด
รองลงมา คือ บุตร ธิดา  คนที่มีลูกก็จะได้รู้เองว่า  รักและห่วงใย หวงแหนบุตรธิดาเพียงใด  โดยเฉพาะบุตรสาว ใครมาล่วงเกินทำลายก็เสียดาย เสียใจที่สุด
อย่างต่ำที่สุด ก็คือ ทรัพย์ เช่น วัว ควาย สัตว์เลี้ยง  และของรัก เช่น พระเครื่อง กล้วยไม้ สิ่งที่สร้างสมมาด้วยใจรัก  โจรขโมย แม้ไม่ลักแต่มาหักหา หรือทำลายเสีย ก็เป็นการข่มเหงน้ำใจกัน 
ตั้งแต่ภรรยา สามี และของมีค่า  เรียกว่า ของรักทั้งหลาย ของรักทั้งปวง  ตรงกับคำว่า "กาเมสุ" ทั้งสิ้น 
ศีลข้อ ๓  จึงห้ามมิให้ประพฤติผิดในของรักทั้งหลาย ไม่เฉพาะแต่ภรรยาเท่านั้น 
สุภาษิต "อย่าขอของรักมิตร" สอนไว้ว่า คนรักใคร่ชอบพอกันอย่าขอของรักกัน  จะหมางใจกัน  ให้ก็หมางใจกัน ไม่ให้ก็หมางใจกัน  ดังที่คำพังเพยว่า "ขออะไรไม่ว่า นกกระทาไม่ให้"  เพราะนกกระทาเป็นของรักของคนเลี้ยงนกกระทา  มีนิทานเล่ากันอยู่แต่โบราณ

๕๙. ชอบชิดมักจางจาก 
ชอบ - พอใจ รักใคร่ ถูกนิสัยใจคอ เข้ากันได้ดี 
ชิด   - ใกล้ สนิท คุ้นเคย คลุกคลี พัวพัน
จาง - ไม่เข้มข้น จืด เจิ่น หมางเมิน คลาย 
จาก - ร้าง ไกล
สอนว่า คนที่รักใคร่ชอบพอกัน  ถ้าสนิทกันมาก ใกล้ชิดกันมาก  คลุกคลีพัวพันกันมาก  ก็จะมีการล่วงเกิน  หนักเบากัน เหมือนลิ้นกับฟัน  ย่อมจะกระทบกัน ทำให้เกิดความจืดจางห่างเหิน  ผิดใจกันได้ในภายหลัง  คนรักกันอยู่ใกล้ชิดกันมากมักไม่ดี  เพราะจะเห็นความไม่ดีของกันและกัน  กระทบกระเทือนใจกัน  ทำให้ต้องเสียไมตรีกันได้ในภายหลัง 

ต้ังแต่ข้อ ๕๔ - ๕๙ กล่าวถึงการคบมิตรทั้งสิ้น  แต่มีข้อความเป็นเอกเทศแก่กัน 
เป็นคติธรรมทางพระพุทธศาสนาที่สอนเรื่องการคบมิตร  ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเห็นการ "เสวนา" กับคนอื่นนั้นเป็นของสำคัญอย่างยิ่งแก่ชีวิตของคนเรา  มีคำสอนเรื่องการคบมิตรไว้มาก จนถึงกับกล่าวว่า "คบคนเช่นไร ก็เป็นคนเช่นน้ัน"   คบคนพาลก็เป็นคนพาล คนบัณฑิตก็เป็นบัณฑิต ดังนิทานเรื่องนกแขกเต้าสองตัว ตัวหนึ่งไปอยู่กับโจรก็เป็นโจร ตัวหนึ่งไปอยู่กับฤาษีก็มีศีลมีความดี 


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอน ๙)



สาระสุภาษิต

๓๔. อย่าประมาทท่านผู้ดี
ประมาท - ดูหมิ่น ดูแคลน ดูเบา ดูถูก คือไม่ดูให้ถี่ถ้วน  ไม่ดูใหถ่องแท้เป็นการดูอย่างผิวเผิน อย่างละเลย เพิกเฉย ไม่พินิจพิจารณา คำนี้ไมใช่เหยียดหยาม แต่ตรงกับคำว่า "ดูถูก" คือตีราคาถูก หรือตีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง
ผู้ดี - ได้แก่ผู้ดีโดยชาติตระกูล ดีโดยความประพฤติภายนอก ดีโดยกิริยาวาจา ดีโดยคุณธรรมภายในจิตใจ   ดี ๔ประการนี้ เรียกว่า "ผู้ดี"
ท่านจึงสอนว่า  อย่าดูถูกผู้ดี (อย่าตีราคาถูก) อย่าดูหมิ่นผู้ดี(ดูเพียงผิวเผิน)  อย่าดูเบาผู้ดี (อย่าดูเพียงเบาบาง)  ต้องดูให้หนักแน่น อย่าดุแคลนผู้ดี  คืออย่าดูแต่เพียงเล็กๆน้อยๆ ให้ดูมากๆ

คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"อย่าดูหมิ่นของเล็กน้ัน   สี่สถาน
  เล็กพริกพระกุมาร          จึดจ้อย" 
พระกุมารคือ ชาติผู้ดีโดยชาติตระกูล  ห้ามดูถูกดูหมิ่น เติบโตมีบุญวาสนาได้เป็นพระมหากษัตริย์  ปกครองคนมากมาย มีกำลังมากนัก 
คนโบราณพูดว่า "อย่าประมาทชาติผู้ดี"  ก็คงมาจากคำนี้  อาจจะถูกต้องกับคำดั้งเดิมของภาษิตนี้มากกว่า 

๓๕. มีสินอย่าอวดมั่ง 
สิน - เงิน ทอง เข้าของ ทรัพย์สมบัติ บ้านเรือน ไร่นา วัวควาย ข้าคน 
มั่ง - มั่งมี ร่ำรวย มีทรัพย์มาก เศรษฐี 
สอนว่า มีทรัพย์แล้วอย่าอวดรวย  จะเป็นที่เขม่นหมั่นไส้ของคนอื่น  จะเป็นที่บาดตาบาดใจคน  จะเป็นที่ริษยาของคน จะเป็นที่ปองร้ายของโจร  จะเป็นอันตรายแก่ตน คนมีมากก็ยิ่งถ่มยิ่งปกปิด  เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง คนมีไม่มากจริงมักโอ่อ่าอวดรวย  ต้นข้าวมีรวงมักจะน้อมรวงลงต่ำ  เพราะหนักคอ  รวงข้าวเมล็ดลีบมักจะชูรวงสูง  เพราะเบาคอรวง พระพุทธเจ้าสอนว่า "นิวาโต" อย่าพองลม  หรืออย่าเบ่ง อย่าโอ่อวด  สุภาษิตนี้ก็อยู่ในแนวคำสอนของพระพุทธศาสนา

๓๖. ผู้เฒ่าสั่งจงจำความ
สั่ง - สั่งสอน บอกเล่า ชี้แจง แนะ นำ ผูกมัด ดึง  อันที่จริงคำไทยที่พูดว่า สั่งสอน นั้นคือ(สั่ง/ ศร)  นั่นเอง คือ บอกเล่า ชี้แจง แนะนำ ฝึกฝนแล้วก็ยอมรับ อ่อนน้อม ยอมตามโดยดี ไม่แข็งขืนเหมือนกับศร  อ่อนน้อมไปตามสายเชือกที่ผูกดึงไว้  แต่เขียนเป็น "สั่งสอน" จีงไม่รู้ที่มาของคำเดิม  ซึ่งแปลว่า ผูกดึงให้อ่อนน้อม 
ผู้เฒ่า - ปู่ ย่า ตา ยาย ครู อาจารย์  พ่อแม่ พี่ป้าน้าอา ผู้มีอายุสูง  ผู้พบเห็นโลกมามากกว่า ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน 
สอนว่า ผู้เฒ่าสั่งสอนจงจดจำถ้อยความ และเนื้อความหมายไว้  ย่อมจะได้รับประโยชน์เป็นคุณแก่ตน  เป็นมงคลแก่ตัว

๓๗. ที่ขวากหนามอย่าเสียเกือก 
ฉบับของกรมศิลปากรที่ว่า "ที่ขวากหนามอย่าเสียเกลือก" นั้นเห็นจะผิดแน่ เพราะแปลความหมายไม่ได้ 
ฉบับของกรมสมเด็จพระยาปวเรศฯว่า "ที่ขวากหนามอย่าเสียเกือก"  ความหมายดีกว่ามาก แปลความหมายได้
ขวาก - ไม้แหลมที่เซี่ยมไว้  ปักไว้บนพื้นดินให้เหยียบเป็นรูป #  บางหยักเป็นเรียวเหมือนเบ็ดดังรูป #นี้สำหรับปักไว้กันขโมย  หรือขโมยลักของไปแล้วปักขวากไว้ตามทาง เมื่อคนติดตามไปก็จะเหยียบขวาก เป็นอันตรายติดตามขโมยไม่ทัน
หนาม - หนามของต้นไม้แหลม ที่เกิดเองตามธรรมชาติ เช่น หนามไผ่ หนามงิ้ว 
ขวากกับหนามเป็นเครื่องกีดกัน อาจทิ่มตำเอา  เลยเอามาเป็นอุปสรรคว่า ขวากหนาม 
เสีย - ไม่ได้ ไม่มี ไม่ใช้ ไม่สวมใส่ เช่น เสียสัตย์ ก็คือไม่มีสัตย์ ไม่รักษาสัตย์ไว้  เสียเกือก คือ ไม่มีเกือก  ไม่ใส่เกือก  รองเท้าทำด้วยหนังสัตว์ตากแห้ง เช่นหนังควาย  ตัดให้พอดีเท้า เจาะรูมีสายสวมคีบไว้ด้วยนิ้ว เรียกว่า เกือก 
สอนว่า การเดินทางที่มีขวากหนาม ขวางกั้นอยู่ อย่าทิ้งเกือกให้สวมเกือกไว้  ส่วนคำว่า "เกลือก"  แปลว่า กลิ้ง คลุก  เช่นพูดว่า เกลือกกลิ้ง   หรือ เกลือกตัวลงบนดิน  อย่างที่พูดว่า ควายเกลือกโคลน  เอามาใช้กับเรื่องขวากหนามไม่ได้  ฉบับของกรมศิลปากรจึงผิดแน่

๓๘. ทำรั้วเรือกไว้กันตน
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "ทำรั้วเรือกไว้กับตน" เห็นว่าผิดแน่  เพราะทำรั้วไว้กับตัวกับตนนี้ มองไม่เห็นว่าจะทำได้  ถุ้าทำไว้ป้องกันตนก็ทำได้มีความหมายถูกต้อง  
รั้ว - สิ่งที่ทำไว้ล้อมบ้านเรียกว่า รั้ว  ทำด้วยเรียวหนามไม้ไผ่ หรือปลูกเป็นต้นไม้ล้อม  เช่นพู่ระหงส์ก็เรียกว่า รั้ว  ต่อมาทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ หรือสังกะสีก็เรียกว่า ร้้ว  ถ้าทำด้วยอิฐก็เรียกว่า กำแพง  ถ้าทำด้วยไม้ล้อมขังสัตว์ เรียกว่า คอก   ถ้าทำขังหมูขังไก่ เรียกว่า เล้า
เรือก - ทำด้วยไม้ไผ่ ผ่าเป็นซี่ๆ ขนาดกว้างสัก ๒ นิ้ว  ผูกเรียงติดกันด้วยเชือก หรือเส้นตอก  เรียกว่า เรือก สำหรับปูพื้นเรือนไม้ไผ่  หรือทำแคร่นอน หรือสำหรับใส่ศพของชาวบ้านเรียกว่า "เรือก" ทั้งสิ้น ถ้าทำเป็นซี่เล็กๆสำหรับดักปลา เรียกว่า "เฝือก"  
รวมความว่า   รั้วสำหรับล้อมบ้านมิให้ใครล่วงล้ำเข้ามาถึงเรือน  ส่วน เรือก สำหรับปูพื้นหรือทำแคร่นอนกันตก  หรือทำสำหรับใส่ศพ  เป็นสิ่งป้องกันหรือห่อกาย  เรียกว่า เรือก 
สอนว่าให้ทำรั้วไว้ล้อมบ้านไว้กันขโมยโจรผู้ร้าย  หรือสัตว์ร้ายเป็นเครื่องป้องกันภายนอก  ให้ทำเรือกไว้สำหรับนอน  สำหรับนั่ง หรือป้องกันร่างกายคนเรา ภายใน อีกชั้นหนึ่ง  หมายความว่าให้ทำเครื่องป้องกันภัยไว้สองชั้นทั้งภายนอกและภายใน จึงจะถูกต้อง ไม่ใช่คำว่า "ทำร้ัวเรือกไว้กับตน"  เพราะหมายความว่า การป้องกันตนต้องทำทั้งภายนอกและภายใน 

๓๙. คนรักอย่าวางใจ
รัก - โบราณเขียนว่า "รักษ์" เพราะคำว่า รักในภาษาไทย มาจากคำว่า "รักษ์" ในภาษาบาลี  มีความหมายว่า "รักษา ป้องกัน ทถนอม" ดังเช่น น้ำรัก ที่เอามาลงรักเนื้อวัตถุ เพื่อรักษาเนื้อวัตถุ  เช่น พระพุทธรูปให้คงทน  แล้วปิดทองทับให้สวยงาม  คำว่า "รัก" จึงมีความหมายดั้งเดิมอย่างเดียวกับคำว่า "รักษ์" 
คนรัก - คือคนที่ทนุถนอมน้ำใจกันมิให้เจือจาง  ห่างเหิน หมางกัน หมายถึงผู้หญิงที่เป็นคู่รัก  และเพื่อนฝูงที่รักใคร่ชอบพอสนิทสนมกัน เรียกว่า "คนรัก"  
สอนว่า คนรักอย่าวางใจ ดังคำว่า  "อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง" 
โคลงโลกนิติ ว่า
" ช้างสาร    หกศอกไซร้      เสียงา
   งูเห่า        กลายเป็นปลา  อย่าต้อง
   ข้าเก่า      แต่ปู่ตา             ตนปู่ ก็ดี
   เมียรัก     อยู่ร่วมห้อง       อย่าไว้วางใจฯ "
สุภาษิตนี้จึงมีที่มาโลกนิติ แหล่งเดียวกัน มิให้ภาษาไทยแท้แต่เดิม

๔๐.มีที่ภัยจงหลีก
ฉบับกรมศิลปากรว่า "ที่มีภัยพึงหลีก" ฉบับของกรมพระยาปวเรศฯ ว่า "มีที่ภัยจงหลีก"  สองประโยคนี้มีความหมายหนักเบาต่างกัน 
ที่มีภัย   นั้นหมายความตรงตัวว่า ที่ตรงน้ันมีภัยพึงหลีกเสีย  อย่าเข้าไปหาภัยนั้น ซึ่งตามธรรมดาคนเราเมื่อรู้ว่าที่น้ันมีภัยก็หลีกอยู่แล้ว  ไม่ต้องมาสั่งสอนกันอีก เป็นสามัญสำนึกอยู่แล้ว 
มีที่ภัย   หมายความว่า  ถ้ามีสิ่งที่อาจเป็นภัย  หรือมีที่ภัยจะเกิดขึ้นก็จงหลีกเสีย   "มีที่ภัย" ในที่นี้ไม่เฉพาะแต่รูปธรรมที่เห็นด้วยตา  เช่น ไฟ โจร เสือ เป็นต้น  แตหมายถึงนามธรรมด้วย เช่น ความชั่ว ความบาป ความผิด ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  คนชั่วคนพาลต้องหลีกเลี่ยงเสีย  อย่ากระทำการคบค้าสมาคมด้วย  
"จง"  เป็นคำสั่งสอนหนักแน่น 
"พึง" เป็นคำเตือน 
เพราะฉนัน คำว่า "มีที่ภัยจงหลีก"  น่าจะถูกต้องกว่า  "ที่มีภัยพึงหลีก"

๔๑. ปลีกตนไปโดยด่วน 
ไม่ใช่คำขยายความประโยคที่ ๔๐ ข้างต้น เป็นคำอีกคำหนึ่งต่างหาก
ปลีก - เอาตัวรอด ถอยออกห่าง ไม่คลุกคลี  ไม่มั่วสุม ไม่เกี่ยวข้องด้วย  ไม่คละเคล้า ไม่รวมตัวอยู่ด้วย  เช่น คำว่า เงินปลีก  ก็คือเงินที่แยกออกมาได้ มีค่าในตัวต่างหาก  เช่นเหรียญบาท เหรียญสลึง  หรือสตางค์ สินค้าปลึก  คือ สินค้าย่อยชิ้นเดียว  ไม่รวมกันจำนวนมาก  คำว่า "ปลีก" แปลว่า "แยก"
สอนว่าให้ปลึกตัวให้พ้นจากการมั่วสุมกับคนชั่ว  หรือหมู่คณะที่จะนำไปสู่ความเสื่อมเสียอย่างที่พูดกันว่า "พวกมากลากไป" 
โดยด่วน  คือโดยเร็ว เดี๋ยวนี้ อย่าช้า อย่านอนใจ 

๔๒. ได้ส่วนอย่ามักมาก
ได้ส่วน - ได้รับมาส่วนหนึ่ง ในจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมด  จะมากหรือน้อย จะเป็นหนึงในห้า  หรือหนึ่งในสิบก็ตาม  เรียกว่าได้ส่วนแล้วตามที่ควรมีควรได้ 
มักมาก - โลภมาก อยากได้มาก  พยายามจะให้ได้เพิ่มอีก  ไม่พอใจในส่วนแบ่ง
สอนว่า เมื่อได้มาส่วนหนึ่งแล้ว ก็จงพอใจในส่วนที่ได้  อย่าโลภมากเหมือนตาอินตานา  ได้ปลามา ๑ ตัว แบ่งหัวแบ่งหางกันไม่ตก  ต้องไปหาตาอยู่ตัดสิน  เอาหัวพุงไปกินเสีย  คนไทยสอนว่า "โลภมากมักลาภหาย" สอนไม่ให้โลภมาก 
พระพุทธภาษิตเรื่องมงคล ๓๘ ประการสอนว่า "สันตุฎฐี  ความยินดีพอใจในสิ่งทีมีที่ได้  เป็นมงคลอันอุดม" 

๔๒. อย่ามีปากกว่าคน
ปาก - มีไว้สำหรับกิน(เข้าไป) และ พูด(ออกมา) มีคุณประโยชน์ - อย่างนี้
กว่า - มากกว่า เกินกว่า  คือไม่พอดี มีปากมากกว่าปกติ
คน - มีปากเดียว ใช้ประโยชน์ ๒ อย่างคือกินและพูด 
สอนไม่ให้มีปากมากกว่าคน  ก็หมายความว่า อย่าปากมาก อย่าพูดมาก  อย่าใช้ปากสำหรับกัดเหมือนสุนัข  หรือเห่าเหมือนสุนัข  อย่าใช้ปากทำร้ายท่านด้วยการด่าแช่ง  ทำร้ายผู้อื่น คนไทยสอนกันว่า "อย่าค่อนท่านด้วยปาก อย่าถากท่านด้วยตา"

     พระพุทธศาสนาสอนว่า อย่าพูดปด  อย่าพูดเพ้อเจ้อ อย่าพูดเหลวไหล สุภาษิตนี้ก็มาจากคำสอนในศาสนาพุทธ ที่ซึมซาบอยู่ในจิตใจคนไทยทั่วไป  จึงสอนว่า "อย่ามีปากกว่าคน" 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)