วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง ( ตอน่ที่ ๒๒ บทสรุป)

บทสรุป

ตามที่ได้พยายามวิเคราะห์คำสอนในบัณฑิตพระร่วงมาแล้วนี้  จะเห็นได้โดยสรุปว่า 
๑. มีคำสอนอยู่ทั่้งสิ้น  ๑๖๔ ข้อ  บางข้อมีถ้อยคำประโยคเดียว  บางข้อมีถ้อยคำขยายความอีกประโยคหนึ่ง หรือสองประโยค
๒.คำสอนน้ันใช้คำไทยสามัญเป็นพื้น  ไม่มีภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤตปน   นอกจากภาษาเขมรซึ่งมีรูปแบบคล้ายภาษาไทย  และไทยรับเอาใช้จนเคยชิน เหมือนภาษาไทยแท้  เพราะไทยและเขมรมีความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติมากว่าพันปี 
. ถ้อยคำน้ันเป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่งของไทย เรียกว่า ร่าย   เป็นแบบร่ายสุภาพ มีวรรคละ ๕-๖ คำ  เข้าใจว่า ร่ายเป็นคำประพันธ์ดั้งเดิมของไทย   มีมาก่อนโคลงและกลอนเพราะแต่งง่ายกว่า  คำแอ่วทางภาคเหนือและภาคอีสาน  ก็มีลักษณะเป็นคำร่ายชนิดหนึ่ง  คือมีคำสัมผัสคล้องจองกันไปแบบลูกโซ่  คำท้ายของวรรคต้น สัมผัสกับคำแรกหรือคำที่สองที่สามของวรรคต่อไป ไม่ใช่คำร้อยแก้วแบบศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง 
๔ คำสอนทั้ง ๑๖๔ ข้อนี้  พ้องหรือตรงกับคำสอนในคำโคลงโลกนิติอยู่เกือบตลอด  แสดงให้เห็นว่า มีที่มาแห่งเดียวกัน   คำโคลงโลกนิติน้ันเป็นของเก่า  มีมาก่อนเก่า  สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร (พระองค์เจ้าละมั่ง ต้นสกุล เดชาติวงศ์)  เป็นผู้ชำระของเก่าให้ไพเราะขึ้น  แล้วจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพน ในสมัยรัชกาลที่ ๓  บัณฑิตพระร่วงนี้ก็จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ คราวเดียวกัน  แสดงว่าไม่ได้เอาอย่างกัน  แต่มาจากคำสอนเดียวกัน คือ  "โลกนิติปกรณ์" ในภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤต  ซึ่ง ศาสตราจารย์แสง มนวิทูร  ได้แปลเป็นภาษาไทยไว้แล้ว   เพียงแต่ว่าคำโคลงโลกนิติได้เอาธรรมบทจากภาษาบาลีมาแต่งเพิ่มเติมให้มากขึ้นเท่านั้น   คำโคลงโลกนิติมีอยู่หลายสำนวน  แต่ว่าบัณฑิตพระร่วงนี้มีสำนวนเดียว   ผู้แต่งคนเดียว  แต่คงจะคัดลอกมาหลายทอด  จึงแตกต่างกันไปบ้างตามความเข้าใจของคน  
๕. ผู้แต่งโลกนิติปกรณ์  น่าจะเป็นนักปราชญ์ของไทยเราเอง ดังเช่น มาลีปกรณ์  และอาจแต่งมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ในสมัยพระเจ้าลิไทบไตรปิฎก   ผู้แต่งอาจจะเป็นคนคนเดียวกันก็ได้  จึงใช้ชื่อเหมือนกันและเป็นของคู่กัน  เรียกว่า "โลกนิติปกรณ์"เรื่องหนึ่ง "มาลีปกรณ์" อีกเรื่องหนึ่ง   ถ้าหากว่าจะแต่งก่อนกัน  "โลกนิติปกรณ์"  น่าจะแต่งก่อนในสมัยสุโขทัย  และผู้แต่งคือพระเจ้าลิไทยไตรปิฎก   และ "มาลีปกรณ์"  แต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา  แต่ล้วนแต่งเป็นภาษาบาลีทั้งสองเรื่อง  มีผู้แปลเป็นภาษาไทย  แต่งเป็นคำร่ายและคำโคลงในภายหลัง  แต่ร่ายน่าจะแต่งก่อนคำโคลง   ร่ายแต่งง่ายกว่า  โคลงเป็นคำประพันธ์เกิดทีหลังร่าย  โองการแช่งน้ำของเก่านั้นก็เป็นคำประพันธ์ประเภทร่ายโบราณ  มหาเวสันดรชาดก ก็เป็นร่ายโบราณ เรียกว่า ร่ายยาว  คำอ่านโองการที่ประสงค์จะให้ศักดิ์สิทธิ์ มักจะแต่งเป็นคำร่าย หรือคล้องจองคล้ายกับร่ายทั้งสิ้น  เรียกว่า ร่ายดั้น 
๖. สังเกตุดูถ้อยคำที่ใช้ในบัณฑิตพระร่วงนี้   ไม่ใช่คำเก่าโบราณนัก  เมื่อเปรียบเทียบกับ   "กำสรวลศรีปราชญ์" แล้ว กำสรวลศรีปราชญ์ คำเก่าโบราณกว่ามาก  "บัณฑิตพระร่วง" นี้ถ้อยคำใหม่กว่า   เทียบได้กับ ตำหรับนางนพมาศ หรือ ตำนานท้าวศรีจุฬาลักษณ์  เท่านั้น  แต่เพื่อให้เป็นคำสอนที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์น่าเชื่อถือเป็นวาจาสิทธิ์พระร่วง  จึงใช้ชื่อว่า  "บัณฑิตพระร่วง" มุ่งหมายจะให้เข้าคู่กับ  "ไตรภูมิพระร่วง"  ผู้แต่ง"บัณฑิตพระร่วง" น่าจะเป็นพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับ  "ตำหรับนางนพมาศ" ซึ่งสำนวนชวนให้เชื่อว่าเป็นพระนิพนธ์ของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสองเรื่อง  ไม่ใช่แต่งในสมัยสุโขทัยแต่อย่างใด  "บัณฑิตพระร่วง" นี้ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นพระนิพนธ์ของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแน่นอนไม่มีที่สงสัย 
๗. ชื่อเรื่องที่เรียกกันว่า "สุภาษิตพระร่วง" น้ัน น่าจะไม่ถูกต้อง   เพราะคำโคลงท้ายบทท่านตั้งชื่อไว้แล้วว่า  "บัณฑิตพระร่วง"  ถึงจะมีผู้สงสัยว่า  คำโคลงนี้แต่งเพิ่มภายหลัง  แต่ท่านก็เรียกชื่อตั้งชื่อไว้แล้วว่า  "บัณฑิตพระร่วง"  น่าจะเรียกตามชื่อเดิม  เพื่อให้เข้าคู่กับ "ไตรภูมิพระร่วง"  เพราะคำว่า สุภาษิต แปลว่า พูดดี หรือ ถ้อยคำดี  แต่ "บัณฑิต" แปลว่า ผู้รู้ หรือถ้อยคำของนักปราชญ์  มีความหมายลึกซึ้งกว่า  จึงควรเรียกว่า "บัณฑิตพระร่วง" กันต่อไป
 ๘. กรมศิลปากรน่าจะได้"ชำระ" หรือหาผู้รู้มาชำระสะสางทำแบบฉบับไว้ให้ถูกต้อง   เพราะบัณฑิตพระร่วง นี้มีคุณค่าทางภาษาและวรรณคดีมาก   เป็นคำสอนที่แสดงถึงคตินิยม  ความเชื่อถือ  และขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยเราแต่โบราณ  เป็นสมบัติวัฒนธรรมของไทยเราที่ควรรักษาเอาไว้  สังเกตุคำนำของกรมศิลปากรในการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้  ดูออกจะอ้อมแอ้มกล้อมแกล้มเต็มที  ทำท่าทีว่าจะอับจนผู้มีความรู้ในเรื่องนี้ไปเสียแล้ว  ซึ่งที่จริงไม่น่าจะเป็นเช้นนั้นเลย 
๙. บัณฑิตพระร่วงนี้ น่าจะใช้เป็นแบบเรียนในเชิงวิชาวรรณดคีของนักเรียน นิสิต นักศึกษา  ในสถานศึกษาของเราด้วย   เพราะเป็นคำสอนที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของไทย  แสดงถึงสมบัติวัฒนธรรมของชาติไทยเราเป็นอย่างดี   สังเกตุดูนักศึกษา หรือผู้บริหารการศึกษารุ่นใหม่มักจะหลงใหลแต่วิชาการต่างชาติไป  จนลืมวัฒนธรรมของไทยเสีย   สุภาษิตไทยเราจึงถูกทอดทิ้งกันเสียหมดสิ้น  ที่เคยกำหนดให้เป็นแบบเรียนก็เลิกเสีย  เช่น คำโคลงโลกนิติ   ของที่ควรจะเพิ่มเติม เช่น "บัณฑิตพระร่วง" นี้ก็ถูกทอดทิ้งเสียอย่างน่าเสียดาย 
๑๐. บัณฑิตพระร่วง เป็นสมบัติวัฒนธรรมอันมีคุณค่าทางภาษา วรรณคดี คตินิยม และเอกลักษณ์ของชาติไทยเรา  จึงได้อุตสาหะเขียนเรื่องนี้ขึ้นเผยแพร่  เพื่อหวังจะให้เป็นที่สนใจของบรรดาครูบาอาจารย์  และผู้บริหารการศึกษาของบ้านเมือง ที่หวังจะปลูกฝังเอกลักษณ์ของชาติไทย  จะได้หยิบยกเอาหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาบ้างตามสมควร



หมายเหตุ

        ๐ ข้าพเจ้าวิจัย  จัดพิมพ์และร่างจบเมื่อ วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๐  นับถืงพ.ศ.๒๕๔๔ นี้  ก็เป็นเวลาถึง ๒๔ ปีเศษแล้ว 
            บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเวลาอันสมควรที่จะพิมพ์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน  ให้นักปราชญ์ทางวรรณคดีได้พิจารณาวินิจฉัยต่อไป  ผิดถูกประการใดข้าพเจ้าขอรับผิดชอบ   แต่ถ้าหากมีคุณความดีอยู่  ก็ขออุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหากษัตริย์นักปราชญ์นักกวีองค์นั้น 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น