วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๓)

๗๖.ลูกเมียอย่าวางใจ
วาง - นิ่ง นอนใจ หมายความว่า นิ่งนอนเฉยอยู่ ไม่ระมัดระวัง  ไม่                  อบรมสั่งสอน กำชับดูแล  เป็นการประมาท หลงรักลูกเมียจนเกิน          ไป ซึ่งอาจจะทำให้เขาประพฤติผิดประพฤติชั่ว  หรือกระทำนอก           รีดนอกรอย  หรือนอกใจ หลงผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจ             กระทำความเสื่อมเสียมาสู่ครอบครัวภายหลังได้
คำโบราณว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี"   กลัววัวจะหายไป หรือหลงติดไปเข้าฝูงอื่น  ก็ให้ผูกไว้ รักลูกก็ให้อบรมสั่งสอน ดุด่าว่ากล่าว หรือถ้าทำผิดทำชั่ว  ก็ต้องลงโทษเฆี่ยนตีให้เข็ดหลาบจดจำ 
"มีเมียงามอย่าฝากแม่ยาย"  โบราณสองอย่างนี้ เพราะเป็นแม่เป็นลูกกัน  ถึงจะประพฤติผิดคบชู้สู่ชาย เขาก็ย่อมจะปิดบังไม่บอกให้รู้
"ภรรยาเป็นมิตรสนิทในเรือน"  แต่ถ้ามิตรสนิทนี้หากเป็นศัตรู  ก็จะเป็นมิตรที่นำภัยมาสู่ได้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย อย่างนึกไม่ถึงว่ามิตรจะกลายเป็นศัตรู หญิงทื่คบชู้นั้นอาจฆ่าสามีได้ง่ายๆ 
บุตรที่เลวทรามนั้นนำความเสื่อมเสียมาสู่ครอบครัว  วงศ์ตระกูลได้อยางใหญ่หลวง  ล้างผลาญทรัพย์สมบัติได้ยิ่งกว่าโจรภัย  อัคคีภัย เพราะไฟไหม้บ้าน  โจรได้แต่ลักเงินลักทอง  แต่บุตรอาจทำลายล้างผลาญที่ดิน  เรือกสวนไร่นาและวงศ์ตระกูลได้ทั้งหมด 
บัณฑิตพระร่วง  สอนเรื่องความไม่ประมาท ซึ่งเป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา

๗๗. ภายในอย่านำออก
ภายใน -   ภายในใจ ความลับในครอบครัว  ความไม่ดีงามครอบครัว
นำออก -  นำไปบอกเล่าให้คนภายนอกทราบ  นำไปเปิดเผย นำไปโพ                 ทนาว่ากล่าว  นำไปนินทาให้เขาฟัง  หญิงบางคนนำความ                   ไม่ดีของสามีไปเล่าเพือนบ้านฟัง แสดงความโง่เขลาของ                    ตนเอง
บัณฑิตพระร่วงสอนว่า ความในท้ังหมดนี้อย่านำไปเปิดเผยให้คนอื่นฟัง คำชาวบ้านพูดว่า "ไฟในอย่านำออก"  ไฟในที่นี้หมายถึงความเดือดร้อน ความชั่วร้ายเลวทรามแม้แต่ความในใจที่พูดกับคนในครอบครัว  เป็นเรื่องของคนในครอบครัวก็ดี เรื่องของคนอื่นนอกครอบครัวก็ดี    ห้ามนำเอาไปเปิดเผย แม้แต่จำนวนเงินทรัพย์สินที่มีอยู่ มากน้อยเพียงใดก็มิให้นำไปพูดให้ใครรู้  เพราะถึงจะมีมากก็จะเป็นที่ปองร้ายของคนอื่น  ถึงแม้จะมีน้อยก็จะเป็นที่ดูหมื่นเหยียดหยาม  หรือขาดความเชื่อถือของผู้อื่น   การค้าขายที่ได้กำไรมากก็ห้ามบอก  การค้าขาดทุนก็ห้ามบอก มีแต่ทางเสียไม่มีทางได้อะไร
 คำโคลงโลกนิติว่า
" ความลับอย่าให้ทาส     จับที
  ปกปิดมิดจงดี                 อย่าแผร้
  แม้นให้ทราบเหตุมี         หลายหลาก
  นับว่าข้าทาสแท้             โทษร้ายเร็วถึง ฯ"

๗๘. ภายนอกอย่านำเข้า
คำชาวบ้านพูดว่า "ไฟนอกอย่านำเข้า"  หมายถึงการนำเรื่องของคนอื่น นอกครอบครัวมาพูดกับคนในครอบครัว  พาให้คนในครอบครัวต้องเดือดเนื้อร้อนใจ  ได้แก่ความเดือดเนื้อร้อนใจจากคำคนที่กล่าวร้ายคนในครอบครัว   เรื่องนี้มักมุ่งสอนสตรีแม่เรือนมิให้นำเรื่องร้ายภายในออก  มิให้นำเรื่องร้ายภายนอกมาบอกให้สามีร้อนรำคาญใจ  

๗๙. อาสาเจ้าจนตัวตาย
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "อาสาเจ้าจนตนตาย"  
แต่ฉบับของกรมพระยาปวเรศฯ ว่า "อาสาจนตัวตาย"  ประโยคนี้น่าจะถูกต้องกว่า  และอันที่จริงคำว่า ตัว กับ ตน นี้ก็มีความหมายต่างกันอยู่เล็กน้อยคือ 
ตัว -  เป็นภาษาไทยแท้ เป็นภาษาเก่าแก่  บางทีก็ใช้คำว่า ตู เป็น                  สรรพนามบุรุษที่๑ คู่กับ สู เป็นสรรพนามบุรษที่ ๒  บางทีก็พูดว่า          ตูเรา คู่กับ  สูเจ้า  หมายถึงร่างกายที่เกิดมามีรูปร่างเป็นเนื้อเป็น          ตัว ใช้รวมท้ังคนและสัตว์ 
ตน - เป็นภาษาบาลี มาจากคำว่า อัตโน  เพี้ยนมาเป็น ตนุ ตนู  หรือ             ตน แปลว่า ตัวของตน  ภาษามาลายู ใช้ว่า ตนกู  ภาษาไทยมีใช้         ว่า ตนหลวง  แปลว่า ผู้มีอัตภาพอันใหญ่  ได้แก่ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่น           ดิน 

ภาษาไทยที่พูดกันตามปกติธรรมดา  ไม่ใช่ในความหมายพิเศษ มักจะใช้คำว่า ตัว มากกว่า ตน  เช่นคำว่า อาสาเจ้าจนตัวตาย   เพราะคำว่า ตัว มีความหมายว่า ร่างกาย  ที่รับใช้จนต้องตายไป ไม่ใช่คำว่า ตน ซึี่งหมายถึง ชีวิตและวิญญาณ เพราะตายแล้วยังมีการเกิดใหม่อีก 
อาสา - แปลว่า รับใช้ด้วยความสมัครใจ 
มีธรรมเนียมไทยเก่าอยู่อย่างหนึ่ง คือ ชายหนุ่มต้องไปทำงานให้บ้านหญิงสาวที่รัก ปีหนึ่ง สองปีก่อน บิดามารดาฝ่ายหญิงจึงจะยินยอมให้ลูกสาวแต่งงานด้วย  เรียกว่า "อาสา"  ความจริง คำว่า "เจ้าบ่าว"  นั้นก็คือ เจ้าตัวผู้อาสารับใช้ (บ่าว) นั่นเอง   การที่ชายหนุ่มต้องอาสาทำงานรับใช้เจ้าสาวนี้ จึงเรียกชายหนุ่มว่า "เจ้าบ่าว"  ติดปากมา 
ประวัติของคำว่า อาสา  เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน ก็มีเรื่องพลายงามอาสา "รับอาสาเจ้านาย" พูดกันมาแต่โบราณอย่างนี้ 
สอนว่า อาสาเจ้าให้อาสาจนตัวตาย   คือรับใช้เจ้าจนสุดชีวิตจนตัวตาย  เพราะเป็นงานของชาติบ้านเมือง อย่าเสียดายชีวิต  
คำโคลงโลกนิติว่า
" อาสาสู้ศึกไป่              เสร็จงาน
  ตนจักตายเอาอาน      ปิดไว้
  จึงนับว่าชายชาญ       หายาก
  ฉลองพระคุณเจ้าให้   ท่านเลี้ยง บำรุง"

๘๐. อาสานายจงพอแรง
นาย - ผู้เป็นายเงิน (สมัยโบราณ)  ผู้เป็นนายจ้าง(สมัยปัจจุบัน) ผู้เป็นนายคุณ (มีคุณเหนือ)  และผู้ปกครองบังคับบัญชา 
พอแรง - พอกับแรงกายของเรา  เต็มแรงของเรา อย่าให้หย่อนกว่าแรง และอย่าให้เกินแรงกาย  ต้องอุทิศเวลาและกำลังให้เต็มที่  แต่ไม่ต้องถึงแก่ชีวิตเหมือนอาสาเจ้า  เพราะเป็นงานของนายส่วนน้อย ไม่ใช่งานของเจ้า อันเป็นงานส่วนใหญ่ ส่วนรวม 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
" อาสาเจ้าต่อต้าน       ตัวตาย
  ขันรับอาสานาย         หย่อนนั้น
  อาสาศึกแม่ยาย         อย่าย่อ ท้อนา
  สามสิ่งนี้ถือหมั้น        ชั่วฟ้าดินชม ฯ"

     จะเห็นว่างานอาสามี ๓ อย่างคือ  ๑ อาสาเจ้า จนตัวตาย  ๒ อาสานายจงพอแรง ๓. อาสาแม่ยายให้เข้มแข็ง  โดยเฉพาะอาสาแม่ยายน้ัน ถ้าอาสาจนตัวตายก็จะไม่ได้ลูกสาวมาชมเชย จึงให้อาสาให้เข้มแข็งเท่านัน 
     จะเห็นว่าบัณฑิตพระร่วงนี้ก็มีที่มาจากโคลงโลกนิติเช่นเดียวกัน  เป็นคำสอนที่ตรงกัน มีแนวคิดอย่างเดียวกัน 

๘๑. ของแพงอย่ามักกิน
มัก - รัก ชอบ พอใจ ค่อนข้าง มีใช้อยู่หลายคำ เช่น มักมาก มักน้อย             มักคุ้น มักได้ มักง่าย มักใหญ่  เช่น มักมากในกามคุณ  มักใหญ่           ใฝ่สูง 
มักกิน - ชอบกิน กินบ่อยๆ เห็นแก่กิน อยากกินโน่นกินนี่ ไม่ประหยัด               ในการกิน 
สอนว่า ถ้าของแพงก็อย่ากินให้มากนัก  กินแต่พอควร หันไปซื้อของที่ ถูกกว่ามากิน
สุภาษิตสอนหญิง ของนายภู่ จุลละภมร สอนว่า
"ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ
  ให้เป็นมื้อเป็นคราวท้ังคาวหวาน"
โคลงโลกนิติสอนว่า
" คนที่มักเหี่ยวแห้ง      หวงแหน
  กินอยู่สู้ขาดแคลน      พร่องท้อง
  คนกากอยากไร้แกน   โกยกอบ  กินแฮ
  เป็นวิบัติขัดข้อง          คิดแล้วหลากเหลือ ฯ"
คนมีมักประหยัดในการกินอยู่ ไม่กินจนเกินไปเพราะการประหยัดจึงมั่งมีได้  แต่คนจนคนยากไร้ มักจะกอบโกยในการกิน เพราะเหตุนี้จึงยากจน
คำพังเพยก็สอนว่า "วัวเห็นแก่หญ้า  ขี้ข้าเห็นแก่กิน"
บัณฑิตพระร่วง สอนให้ประหยัดในการกินอยู่  ของแพงก็อย่ากินให้บ่อยนัก ซื้อของถูกกิน 

๘๒. อย่ายินคำคนโลภ
ยิน - ฟังโดยต้ังใจ  รับรู้เรื่องราวที่เขาพูด รับฟังถ้อยคำ  ฟังด้วยความเอาใจใส่  คำว่า "ยิน" ต่างจาก คำว่า "ฟัง" เพราะถ้าไม่ตั้งใจฟังก็อาจไม่ได้ยิน  หรือกำลังนั่งคิดอะไรอยู่ ใครพูดว่าอะไรก็ไม่ได้ยิน  หรือได้ยินแว่วๆ ไมรู้เรื่องที่พูด  คำว่า "ยิน"หรือ "ได้ยิน" จึงเป็นการฟังอย่างต้ังใจและรับรู้ถ้อยคำที่พูดนั้น 
คำ  - ถ้อยคำ คำพูด เรื่องราวที่พูด 
คนโลภ - คนที่อยากได้ไม่รู้จักสิ้นสุด อยากได้นั่น อยากได้นี่ ไม่รู้จักพอ อย่างที่เขาว่า "ถมไม่รู้จักเต็ม" 
สอนว่า อย่าฟังถ้อยคำของคนโลภอยากได้ไม่รู้จักพอ  อย่าเชื่อฟัง อย่าเห็นดีเห็นงามกับคำพูดของเขา เพราะคนโลภจะยั่วยุให้เราเกิดความโลภ ความโลภเป็นกิเลส ที่จะมาทำลายความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมของเรา  
ข้าราชการบางคน ตัวเองเป็นคนดีอยู่ไม่ทุจริตคอรับชั่น ถ้าได้ภรรยาเป็นคนโลภเห็นแก่ได้ เห็นคนอื่นบ้านอื่น มีข้าวของเครื่องใช้ราคาแพงก็อยากมีบ้าง  พูดเช้า พูดเย็น  หนักเข้าสามีก็เอนเอียงเป็นคนโลภเห็นแก่ได้ เห็นแก่ภรรยา จึงเริ่มทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ในที่สุดก็เสียคนเสียความเจริญก้าวหน้า เสียชื่อเสียง ต้องติดคุกติดตะราง  เพราะฟังคำคนโลภิ 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
" เห็นท่านมีอย่าเคลิ้ม           ใจตาม
  เราอยากหากใจงาม            อย่าคร้าน
  อุตส่าห์พยายาม                  การกิจ
  เอาเยี่ยงอย่างเพือนบ้าน     อย่าท้อทำกิน ฯ" 

๘๓. โอบอ้อมเอาใจคน
โอบ -  กิริยาอาการที่เอาสองแขนโอบเข้ามากอดไว้กับอก เอาแขน                อ้อมล้อมไว้ คำโบราณใช้ว่า "โอบกอด" "โอบอุ้ม" "อุ้มชู"                    อุดหนุน"  "โอบอ้อม
อ้อม - โอบล้อมตีวงโค้งล้อมห่อหุ้ม แปลว่า ล้อมเอาเข้ามาไว้ในอ้อม              กอด  เอาเข้ามาไว้เป็นพวกพ้อง เอาเข้ามาไว้ในปกครอง
  คนเลี้ยงฝูงสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ เป็ด  เมื่อเห็นสัตว์ตัวใดแตกฝูงออกไป  เขาจะเดินอ้อมไปสะกัดกั้นไว้ กันฝูงสัตว์เลี้ยงให้เข้าหมู่เข้าพวก  เพื่อจะดูแลได้สะดวก คำว่า อ้อมจึงมีความหมายอย่างกว้าง  ถึงอาการเลี้ยงน้ำใจคนเอาเข้าไว้เป็นพวกพ้อง  ไม่แตกคณะ แตกคอ ออกไป เป็นการเตือนคนที่มีหน้าที่ปกครองคนว่าให้โอบอ้อมเอาใจคนในปกครอง ไว้ด้วยน้ำใจรักและเมตตากรุณา 
เอาใจคน - "เอาใจเราไปใส่ใจเขา"  ถ้าเราเป็นอย่างเขา เราจะรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น  จะดุด่าว่ากล่าวใครก็ให้นึกถึงใจเขาใจเรา คือ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" ว่าถ้าเราเป็นเขาจะรู้สึกนึกคิดอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ 
วิชาใช้คน แต่โบราณท่านสอนว่า  ให้รู้จักใจคน ให้นึกถึงอกเขาอกเรา  เราจึงจะเป็นที่รักนับถือของคน 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า 
" นายรักไพร่ไพร่พร้อม        รักนาย
  มีศึกสู้จนตาย                     ต่อแย้ง
  นายเบียนไพร่กระจาย        จากหมู่
  นายบ่ รักไพร่แกล้ง             ล่อล้างผลาญนายฯ"

๘๔. อย่ายลเหตุแต่ไกล
ยล - มองดู เห็น ทราบ 
เหตุ - เรื่่องที่เกิดขึ้น เค้ามูล 
ไกล - ห่าง ยืดยาว นาน
สอนว่าอย่าวิตกถึงภัยที่ยังอยู่ไกล ไม่มาถึงตัว ให้มากเกินควร  เพราะภัยนั้นอาจผันแปรแก้ไขได้ เราอาจหลบหลีกภัยนั้นได้ 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"เห็นภัยใหญ่แต่ข้า           จักถึงตนแฮ
  ปราชญ์ย่อมผ่อนผันพึง   หลบลี้
  ภัยใดโดยด่วนโดยตรึง    ตราติด  ตัวนา
  ใจปราชญ์ปราศแสงชี้      เช่นหล้าแถไศล" 
มาจากพุทธภาษิตที่ว่า
"อนาคตํ ภยํ ทสวา  ทรูโต ปริวช์ฺเชย
  อนาคตญจ ภยํ ทิสฺวา อภิโต โพติ ปณฺฑิโตฯ"
(เห็นภัยในอนาคตที่อยู่ไกล  พึงปลีกตัวหลบเลี่ยง
เห็นภัยทีมาถึงตัวกระทันหัน   ปราชญ์ย่อมไม่หวั่นไหว)
(โปรดติดตามตอนต่อไป)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น