วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๔)


  บัณฑิตพระร่วงนี้ มาจากพุทธภาษิต  แต่ใช้ถ้อยคำเก่าจนคนท้ังหลายฟังไม่เข้าใจ และไม่ทราบว่ามาแต่ไหน  ก็เลยเดาเอาว่าเป็นสุภาษิตไทยแท้แต่โบราณ  อันที่จริงไทยก็รับพุทธภาษิตมานานกว่า ๑๐๐๐ ปีแล้ว จึงซึมซาบอยู่ในหัวใจคนไทยเหมือนเป็นของไทยเราเอง 
     ๘๕.ท่านไทอย่าหมายโทษ
ท่าน -    ผู้อื่น ผู้ใหญ่ ญาติมิตร
ไท -      ผู้เป็นใหญ่ อาจหมายถึง ภูเขา เจ้าที่ พระเจ้าแผ่นดิน  เทวดา ฟ้า ดิน  น้ำ ลม ไฟ
หมาย - มุ่ง คาด กะ หนังสือราชการที่ใช้เกณฑ์เกาะกุมเรียกตัว
โทษ  -   ชั่ว ร้าย ผิด  
สอนว่า อย่าโทษท่านผู้อื่น ผู้เป็นใหญ่ หรือเทวดาฟ้าดิน (จงโทษตัวเราเองที่ทำไว ้ เราจึงได้รับผลเช่นนี้)  อย่าเพ่งโทษจับผิดท่าน
คำโคลงโลกนิติสอนว่า 
"อย่าโทษไทท้าวท่วย           เทวา
  อย่าโทษสถานภูผา             ย่านกว้าง
  อย่าโทษหมู่วงศา                มิตรญาติ
  โทษแต่กรรมเองสร้าง         ส่งให้เป็นเอง"

มาจากพุทธภาษิตที่ว่า
น ราชาโนเม น จ เทวตา จ
น ภูมิไสลํ น จ สา ครา นามฺ
น มิตรเหตํ น กฺ เง นามฺ
อโหสิยํ กฺรมฺมปเร ปรานามฺ
บัณฑิตพระร่วงบทนี้ จึงมาจากพุทธภาษิต  มิใช่ภาษิตไทยแท้แต่โบราณกาล

๘๖. คนโหดให้เอนดู
โหด -  ไร้ มาจากคำว่า   "หด"     ออกเสียงยาวเป็นโหด เหมือน "โคน" ตัวหมากรุก มาจากคำว่า คน   ออกเสียงยาวเป็น "โคน เป็นคำเพี้ยนท้ังคู่ 
คนโหด - คนไร้  หมายถึงว่า ไร้น้ำใจ  แล้งน้ำใจ ได้แก่ แล้งซึ่งน้ำใจ เมตตากรุณา ไร้น้ำใจเผื่อแผ่ เอื้อเฟื้อเกื้อกูล  ไร้น้ำใจที่จะให้อภัยทานแก่ผู้อื่น  มีแต่ความเคียดแค้นชิงชัง  จะเอาทรัพย์ เอาชีวิต เลือดเนื้อ  โบราณเรียกคนไร้น้ำใจว่า   "คนไร้" "โหดไร้" และ "โหดร้าย"  ไร้น้ำใจเผื่อแผ่เมตตา เรียกว่า "โหดไร้"  แต่ไร้น้ำใจที่จะให้อภัยทาน  มีแต่จะเชือดเฉือนให้ย่อยยับ เรียกว่า "โหดร้าย" 
เอนดู - คือ กิริยาอาการของคนแก่ที่เมตตาแก่ลูกหลาน  เลี้ยงดูหลานก็เอนกายลง ครึ่งนั่งครึ่งนอน คอยดูแลด้วยความรักใคร่เอาใจใส่ดูแลอยู่ตลอดเวลา  ไม่ทอดทิ้ง แม้ลูกหลานจะซุกซน  หรือเกเรก็เอนดู มิได้มีจิตใจชิงชัง  ดีก็รักร้ายก็รัก โบราณเรียกว่า "เอนดู" คือนอนดูด้วยความรักคงที่  ไม่มีขึ้นไม่มีลง ปัจจุบันนี้นักภาษาไทยที่ไม่เข้าใจความหมายเดิม  เขียนเป็น "เอ็นดู" ไปหมด จนมองไม่เห็นความหมายด้ังเดิม 
สอนว่า คนโหดไร้ หรือคนโหดร้ายก็ให้เอนดู สงสารที่เขาเกิดมาเป็นคนไร้น้ำใจ  เพราะการโง่เขลาเบาปัญญา ไร้การศึกษาอบรม   ไม่ได้พบพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาที่สอนให้เมตตาสัตว์ไม่เลือกหน้า ถ้าเขาฉลาดมีปัญญา  ได้รับการศึกษาอบรม ได้รับรสพระธรรมเขาจะไม่เป็นคนเช่นนั้น
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"ผจญคนมักโกรธ           ไมตรี
  ผจญหมู่ทรชนตี            ต่อตั้ง 
  ผจญคนโลภมี              ทรัพย์เผื่อ  แผ่นา 
  ผจญอสัตย์ให้ยั้ง          หยุดด้วย สัตยา ฯ"

๘๗. ยอครูยอต่อหน้า
ยอ -  คำนี้เป็นคำเก่าแท้  แปลว่า หยุด ยั้ง ห้าม ปราม ให้หยุดยั้งการทำผิด    คำนี้ไม่ได้แปลว่า  "พูดให้ถูกใจ เชิดชู ชม" ดังที่ใช้กันทุกวันนี้   ชาวชนบท ชาวนา เมื่อวัว ควายวิ่ง เขาจะร้องว่า "ยอ - ยอ" แปลว่า หยุด  
ครู - ผู้ใหญ่ ผู้สั่งสอนอบรม ผู้นำทางปัญญา ผู้เป็นแบบอย่าง  ผู้บังคับบัญชา ผู้ที่นับถือ  ผู้หนักแน่นด้วยคุณธรรม 
สอนว่าการห้ามปราม การหยุดยั้งการกระทำที่ผิดพลาดบกพร้องของผู้ใหญ่  ผู้บังคับบัญชาที่นับถือ แม้แต่พ่อแม่ของเรานั้น ให้กระทำต่อหน้าด้วยความหวังดีอย่างจริงใจ ด้วยความรักใคร่ นับถือห่วงใย  เพราะผู้ใหญ่ย่อมเข้าใจเจตนาดีของเรา ย่อมไม่โกรธเคืองเรา 

๘๘. ยอข้าเมื่อแล้วกิจ

คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"ยอข้ายอเมื่อแล้ว        การกิจ
  ยอครูยอสนิท             ซึ่งหน้า
  ยอญาติประยูรมิตร     เมื่อลับ หลังแฮ
  คนหยิ่งแบกยศบ้า      อย่าย้ัง ยอควร"

 สอนว่าห้ามบริวารบ่าวไพร่ คนใช้ ลูกน้อง ให้กระทำเมื่อเสร็จกิจ  อย่าห้ามปรามเขาขณะทำงานเหนื่อย   ห้ามปรามครู  ผู้ใหญ่ ให้ห้ามปรามท้วงติงต่อหน้า   แต่การห้้ามปรามญาติมิตรให้พูดฝากไปลับหลัง  ส่วนคนบ้ายศนั้น อย่าห้ามปรามเขาเลย

๘๙.ยอมิตรเมื่อลับหลัง
ยอ - หยุด ห้าม ปราม ยับยั้ง
มิตร - คนที่เราคบหา เกี่ยวข้อง ผู้ส่งเสริมสนับสนุนให้คุณแก่กัน 
สอนว่า ถ้าจะห้ามปรามยับยั้ง  การทำผิดทำชั่วของมิตร  ให้พูดจาฝากฝังไปให้เขารู้ลับหลัง เขาจะได้มีเวลาตรึกตรองไม่โกรธเรา  
เวลานี้ เราแปลคำว่า ยอ ไปตรงข้าม หมายความว่า ยกย่อง  ชมเชย จึงเกิดการเข้าใจผิดภาษาโบราณไปอย่าตรงกันข้าม

๙๐. ลูกเมียยังอย่าสรเสริญ
(เยียวสะเทินจะอดสู)
สรเสริญ - ยกย่อง ชมเชย
ยัง - ยังอยู่ ยังมีชีวิตอยู่
สะเทิน -    ยังไม่จบ  อยู่ครึ่งๆกลางๆ เดี๋ยวนี้เขียนว่า สะเทิ้น เช่น สะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบก แปลว่า ครึ่งบกครึ่งน้ำ  สะเทิ้นอาย แปลว่า ครึ่งอายครึ่งดีใจ  เช่นถ้าชมหญิงสาววัยรุ่นว่า สวย เธอก็จะทำท่าครึ่งอายเหนียมครึ่งดีใจว่ามีคนชม โบราณเห็นกิริยาครึ่งๆกลางเช่นนี้ จึงใช้คำว่า สะเทินอาย  จงดูกิริยาหญิงเมื่อถูกชม   ไม่หลบแต่ไม่สู้เต็มตานัก  ครึ่งๆกลางๆอยู่  
อดสู  - อด คือ อาย สู คือเขาอื่น รวมความแปลว่า ละอายใจแก่คนอื่น อายใจแก่คนทั้งหลาย อายแก่ผีสางเทวดาฟ้าดิน  ไม่ใช่อายคนเดียว 

สอนว่าถ้าลูกเมียเรายังอยู่ ก็อย่าเพิ่งยกย่องชมเชยให้ใครฟัง  ประเดี๋ยวจะครึ่งๆกลางๆ ไม่จริงตลอด ไปทำชั่วเข้าระหว่างกลาง จะต้องอายคนท้ังหลาย  ถ้าลูกเมียของเราดีจริงก็ให้คนอื่นเขายกย่อง สรรเสริญเองจะดีกว่า ถึงจะเสียภายหลัง  อย่างน้อยเราก็ไม่ได้คุยอวดใคร  เพราะลูกเมีเราคือปุถุชน  อาจประพฤติชั่วได้เพราะความโลภ โกรธ หลง ปัจจุบันท่านจีงกล่าวว่าการเขียนชีวประวัติคนเป็นอันตรายแก่ผู้เขียน ท่านจึงเขียนชีวประวัติคนที่ตายแล้ว   เพราะไม่มีโอกาสประพฤติชั่วอีก 

๙๑. อย่าชังครูชังมิตร
ชัง - คือ ความเกลียด ไม่อยากมองหน้า  ไม่อยากอยู่ใกล้ ไม่อยากฟังคำพูด  ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เป็นการปฎิเสธผลักดัน  ไมดึงดูดในทางจิตใจ
ครูและมิตรมีโอกาสถูกเกลียดชังได้มาก เพราะครูที่ดีจะคอยขัดขวางในทางชั่ว คอยดุด่าอบรมสั่งสอน  ไม่ตามใจศิษย์  เพื่อไม่ให้ศิษย์ไปในทางที่ผิด   เพราะครูไม่เห็นประโยชน์ตนไมหาเสียง เหมือนดังนักการเมือง  ครูไมหวังประโยชน์ปัจจุบัน  แต่หวังประโยชน์อนาคต 
มิตรก็มีโอกาสถูกเกลียด  เพราะมิตรแท้ย่อมคอยขัดขวางมิตรไม่ให้ตกไปในทางที่ชั่ว   คอยเตือนสติ พูดว่าให้รู้สึกตัวถึงความผิดบกพร่องของมิตร ซึ่งอาจจะถูกเกลียดได้  ถ้ามิตรหัวประจบก็อีกอย่างหนึ่ง แต่ท่านไม่เรียกว่ามิตรแท้  ผู้บังคับบัญชาที่เป็นมิตรผู้หวังดี  ก็อาจตักเตือน ห้ามปราม ขัดขวาง ลูกน้องมิให้ทำผิด  ผู้น้อยที่หวังดีต่อนายก็อาจขัดคอนาย  แต่ก็นับว่าเป็นมิตรที่หวังดีต่อกัน  จึงได้ขัดขวางหนทางชั่ว
ท่านจึงสอนว่า ครูและมิตร สองประเภทนี้อย่าโกรธ อย่าเกลียด  เพราะเป็นผู้หวังดีมีคุณประโยชน์ต่อเรา  ถ้าไม่มีครูไม่มีมิตร ชีวิตของเราก็อาจเดินทางผิดได้ง่าย 
คนใดที่แสดงอาการโกรธเคือง เกลียดชังครูและมิตรของตน  คนนั้นจะไม่มีใครมาสั่งสอนตักเตือนในทางชั่ว  คนนั้นอาจเดินทางไปสู่ประตูอบายได้ง่าย ไม่มีใครเหนี่ยวรั้งช่วยเหลือ 

๙๒. ผิดอย่าเอาเอาแต่ชอบ
ผิด - ผิดธรรม ผิดศีล ผิดทำนองคลองธรรม 
ชอบ - ชอบธรรม ชอบด้วยศีลธรรม ถูกทำนองคลองธรรม 
รับ - รับเอามาเป็นธุระ รับเอามาทำ  รับเอามาประพฤติร่วมกระทำด้วย 
สอนว่า อย่าเอาผิดทำนองคลองธรรมมาประพฤติ  เลือกเอาแต่ที่ชอบทำนองคลองธรรมเท่านั้น  เพราะการทำผิดทำชั่วจะทำความเดือดร้อนใจภายหลัง  แต่การทำชอบจะได้รับความเย็นใจ เป็นกุศลทั้้งในบัดนี้และภายหน้า มนุษย์ก็สรรเสริญ ตายไปก็ไปสู่สุคติ 
ผิด  ทางพระท่านใช้ว่า "มิจฉา"  ชอบ ท่านใช้ว่า "สัมมา" กล่าวโดยเฉพาะทางที่ชอบ เรียกว่า "อริยมรรค" คือทางที่เจริญ หนทางที่ไร้ข้าศึก คือกิเลสตัณหา  เป็นทางเดินของพระอริยบุคคล  มี ๘ ประการคือ
๑.สัมมาทิฎฐิ - เห็นชอบ
๒.สัมมาสังกัปปะ - ปรารถนาชอบ
๓.สัมมาวาจา - พูดชอบ
๔.สัมมากัมมันตะ - กระทำชอบ
๕.สัมมาอาชีวะ - เลี้ยงชีพชอบ
๖.สัมมาวายามะ - เพียรชอบ
๗.สัมมาสติ - ระลึกชอบ
๘.สัมมาสมาธิ - ตั้งจิตชอบ

๙๓. นอบตนต่อผู้เฒ่า
นอบ - "นอบนบ" คือ ก้มไหว้  "นอบน้อม" คือ ก้มหัว น้อมลงต่ำ  "พินอบพิเทา" คือ  ก้มหัวน้อมตัวลงต่ำอย่างยิ่ง แทบว่าจะจรดเท้าท่าน 
ผู้เฒ่า - คนแก่ รุ่นปู่ย่า ตายาย 
สอนให้เคารพนบนอบต่อผู้แก่ผู้เฒ่า  ภาษิตอิศรญาณ สอนว่า "ผู้เฒ่าสามขาหาไว้ทัก"   คนแก่ถือไม้เท้าหาไว้เป็นผู้คอยท้วงทักตักเตือนเรา  คนไทยสอนให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่  สอนให้เรียกผู้เฒ่าผู้แก่อย่างเรียกญาติของตนเอง  คือ ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย ไม่ให้เรียกออกชื่อท่าน ไม่ให้ตีเสมอ  พูดกับผู้เฒ่า ผู้มีบรรดาศักดิ์สูงส่ง  ก็ให้ใช้สรรพนามด้วยความเคารพ  ใช้คำแทนตัวท่านว่า "ใต้เท้า"  คือ อาจเอื้อมท่านแต่เพียงแค่เท้านั้น  ไม่อาจเอื้อมถึงตัวท่าน เรียกตัวเราว่า "กระผม"  เป็นวัฒนธรรมอันดีงามละเอียดอ่อนของไทยแต่โบราณ 

๙๔. เข้าออกอย่าวางใจ
เข้า - เข้าบ้าน เข้าป่า เข้าวัด  เข้าไปยังสถานที่ที่คิดว่าจะไปมีภัยอันตราย
ออก - ออกจากบ้านเรือน ออกจากวัด แม้แต่ออกจากป่าจากถ้ำก็อาจมีอันตรายทีปากทางนั้น 
เข้าออก - สถานที่ที่เคยเข้าออกอยู่ประจำ 
สอนว่า เข้าออกอย่าวางใจว่าจะไม่มีภัยอันตราย  สอนว่าอย่าประมาท เพราะความประมาทคือหนทางแห่งความตาย การวางใจ คือนอนใจ คือความประมาท 
พระพุทธเจ้าสอนว่า "ปมาโท มจฺจโน ปทํ "  ความประมาทคือหนทางแห่งความตาย
อยู่บ้านนอกชนบทนั้น คนที่ตายคาประตูบ้านมีมากต่อมาก  เพราะถูกประทุษร้ายตอนเข้าออกจากบ้านเรือน  แม้แต่เข้าออกจากวัด  เพราะคนร้ายคอยอยู่ โบราณจึงสอนไม่ให้เดินไปกลับทางเดียวกัน  ไปทางหนึ่ง กลับทางหนึ่ง ถ้าจะเข้าออกทางเดียวประจำก็ต้องระวังภัยตอนเข้าออก

๙๕. ระวังระไวหน้าหลัง
(เยียวผู้ชังจะคอยโทษ) 
ระวัง - เตรียมกายให้รัดกุม พร้อมที่จะหลบหลีกต่อสู้    ข้าวของที่ถืออยู่พอที่จะปลดเปลี้องออกได้  
ระไว - ระแวงภัย หูไว ตาไว มือไว พร้อมที่จะต่อสู้ป้องกัน พร้อมที่จะหลบหลีก  หัวไวพร้อมทีจะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยทันที 
หน้าหลัง - ข้างหน้า  ข้างหลัง ก็ต้องสอดส่ายสายตาดูให้ทั่ว  ใกล้ไกล ซ้าย ขวา หน้า หลัง  ก็ต้องเหลียวไปดู 

สอนว่าให้ระมัดระวังตัว  หูไว ตาไว ระแวงภัย 
คนที่เคยอยู่บ้านนอกชนบท จะทราบซึ้งเรื่องนี้ดีว่า  จะมีภัยอยู่รอบตัว คนในบ้านเมืองที่เจริญอาจจะลืมไป  แต่บัดนี้คนในเมืองหลวงก็ต้องระวังภัยอย่างนี้เหมือนกัน เผลอไม่ได้ 
บัณฑิตพระร่วงบทนี้ สอนเรื่องความไม่ประมาท ตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนา "อปปฺมาโท  อมตํ ปทํ" (ความไม่ประมาทเป็นหนทางรอดจากความตาย)  
(โปรดติดตามตอนต่อไป)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น