วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๗)


๑๑๖. อย่าขุดคนด้วยปาก
ขุด - ฟัน แทง (ดังจอบฟันดิน) ด่า  ว่า เยาะเย้ย เสียดสีให้เจ็บใจ
สอนว่าอย่าด่าว่า  เสียดสี เยาะเย้ย  ถากถาง แขวะ คนท้ังหลายให้เขาได้อายหรือเจ็บใจ

๑๑๗. อย่าถากคนด้วยตา
ถาก - กิริยาที่เอามีดถากไม้  ถากด้วยตา คือกิริยาที่มองค้อน  หรือมองอย่างยิ้มเยาะในความผิดพลาดบกพร่องของคนอื่น 
สอนว่าอย่ามองความผิดพลาดบกพร่องของคนอื่นให้เขาได้อาย   ผู้ดีน้ันต้องช่วยแก้หน้าในความผิดพลาดบกพร่องของคนอื่น  ไม่ดุ ไม่มอง ไม่พูด หรือถ้าตำตาก็ต้องพูดกลบเกลื่อน ให้เป็นเรื่องเล็กน้อยช่วยปลอบเขาให้สบายใจ 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"อย่าขุดขอดท่านด้วย          วาจา
  อย่าถากท่านด้วยตา           ติค้อน
  ฟังคำกล่าวมฤษา               โสตรหนึ่ง นะพ่อ
  หยิบบ่ศัพท์กลับย้อน          โทษให้กับตน ฯ" 

๑๑๘. อย่าพาผิดด้วยหู
พาผิดด้วยหู คือฟังผิด  ทำให้คิดผิด พูดผิด  และทำผิด โบราณว่า "ฟังไม่ได้ศัพท์ จับมากระเดียด" ตรงกับคำโคลงโลกนิติที่ว่า 
 "ฟังคำกล่าวมฤษา             โสตรหนึ่ง นะพ่อ 
  หยิบบ่ศัพท์กลับย้อน         โทษให้กับตน  ฯ"
มฤษา คือ มุสา  บางท่านเข้าใจผิดว่า ปฤกษา     
เป็นคำสอนที่ตรงกัน เหมือนกับว่ามีที่มาแห่งเดียวกัน  จากพุทธภาษิตในภาษาบาลีที่ท่านแต่งไว้แต่โบราณ ชื่อว่า "โลกนิติปกรณ์"   นักปราชญ์ไทยแต่งไว้เป็นภาษาบาลียุคเดียวกัน

๑๑๙. อย่าเลียนครูเตียนด่า
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "อย่าเลียนครูเตือนด่า"  นั้น เห็นจะผิด คำที่ถูกนั้นคือ "เตียน" 
เตียน - ตำหนิ ติเตียน  คู่กับคำว่า  "ด่าว่า - ติเตียน" 
เลียน - ล้อเลียน   พูดเลียนคำครู 
สอนว่าอย่าล้อเลียนคำติเตียนด่าว่าครู  

๑๒๐.อย่าริเจรจาคำคด
ริ - เริ่ม ฝึกหัด ริอ่าน เพิ่งทำใหม่
คำคด - คำไม่ตรง คำโกหก ปด เท็จ ลวงให้หลงเชื่อ
สอนว่าอย่าริเริ่มพูดปด  แม้แต่เรื่องเล็กน้อยจะทำให้เคยตัว  การจะทำอะไรใหญ่โตก็อยู่ที่การเริ่มแรก  คนทำดีก็เพราะริเริ่มทำดีแต่น้อย จนเคยชินไป  คนทำชั่วก็เริ่มทำชั่วเล็กๆน้อยๆ เช่นการพูดปด ต่อไปก็ติดนิสัยพูดเท็จในเรื่องสำคัญต่อไป  ใครเขารู้นิสัยพูดเท็จย่อมขาดความเชื่อถือ  แม้จะพูดคำสัตย์คำจริง ดังเช่นเด็กเลี้ยงแกะในนิทานอีสป

๑๒๑. คนทรยศอย่าเชื่อ 
คนทรยศ - ยศต่ำ ยศทราม ไม่มียศ ไร้เกียรติศักดิ์ เพราะเหตุประพฤติชั่วร้าย  พูดเท็จ กลับกลอก สัปปลับ หักหลัง ไม่ปฎิบัติตามสัญญา  คิดร้ายต่อมิตร เนรคุณต่อผู้มีคุณ ขายชาติเพราะไม่มีสัตย์ไม่มีธรรม 
สอนว่าเมื่อรู้ว่าคนใดเป็นคนทรยศ  อย่าเชื่อถือถ้อยคำ เพราะเขาขาดสัตย์ขาดธรรม  คนที่เคยหักหลังทรยศคนมาแล้ว  ที่จะไม่ทรยศอีกนั้นหวังได้ยาก  
โบราณว่า "หญิงสามผัว  ชายสามโบสถ์"  ก็อยู่ในประเภทนี้  
คำโคลงโลกนิติว่า
"หญิงชั่วผัวหย่าร้าง          สามคน
 ข้าหลีกหนีสามหน           จากเจ้า
 ลูกศิษย์ผิดครูตน              สามแห่ง
 เขาหมู่นี้อย่าเข้า               เสพซ้อง  สมาคม ฯ"

๑๒๒. อย่าแผ่เผื่อความผิด
แผ่ - กระจาย ขยาย กว้างออกไป
เผื่อ - แบ่งปันให้ผู้อื่นด้วย  ไม่เอาไว้คนเดียว
ความผิด - ความผิดของตน ความบกพร่องของตน
สอนว่าเมื่อทำผิด   ต้องรับผิด ต้องยอมรับโทษ  อย่าป้ายความผิดให้คนอื่น  อย่าซัดทอดคนอื่นเพราะการกระทำเช่นน้้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย  ถ้ายอมรับสารภาพผิด อาจจะได้รับความเห็นใจ  แม้จะได้รับโทษ  คนอื่นอาจจะช่วยเหลือได้ภายหลัง  แต่การซัดทอด ป้ายความผิด โยนความผิด  ซัดทอดความผิดให้ผู้อื่น อาจจะได้รับความเกลียดชัง จากผู้สั่งลงโทษ และคนอื่นที่ถูกซัดทอด 
คำโคลงโลกนิติว่า
"คนพาลพวกหนึ่งน้ำ     ใจหาญ
  รู้ว่าตนเป็นพาล            กระด้าง
  พวกนี้วัจนาจารย์          จัดใช่ พาลพ่อ
  นับว่าปราชญ์ได้บ้าง     เพื่อรู้สึกสกนธ์ ฯ"

๑๒๓. อย่าผูกมิตรคนจร
คนจร - คนท่องเที่ยว คนเดินทาง  ไม่รู้จักบ้านเรือนหลักฐาน  "ไม่รู้หัวนอนปลายตีน"
ผูกมิตร - คบเป็นมิตรด้วย ให้อยู่ให้กิน ไว้ใจใกล้ชิด ถือเป็นมิตรสนิท
สอนว่าอย่าคบคนจรไม่รู้หัวนอนปลายตีน  เพราะไม่รู้ว่าจะเป็นคนดีหรือคนร้าย โบราณว่า "คบคนจรหมอนหมิ่น"  คืออาจพลาดท่าเสียที ต้องเจ็บตัว  เจ็บใจ  เสียทรัพย์ คบคนจรอาจจะถูกทรยศพลาดท่าเสียที  เสียทรัพย์ เสียลูกสาวหรือเสียเมียไปให้แก่คนจรได้ง่ายๆ  ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดี

๑๒๔. ท่านสอนอย่าสอนตอบ
สอน - เป็นนิสัยของครู ชอบสอนคนอื่น เห็นอะไรผิดหูผิดตา ผิดแบบแผน ผิดขนบประเพณี  เห็นคนอื่นพูดอะไรทำอะไรไม่ถูกต้อง  ไม่เหมาะสมก็มักจะสอนว่าอย่างน้ันอย่างนี้  บางทีคำสอนน้ันก็ปนคำตำหนิติเตียนอยู่ด้วย  คนเฒ่าคนแก่เห็นโลกมามาก ก็มักจะชอบสอนเด็กๆ และหนุ่มสาว  คนที่หัวอ่อน มีความอ่อนน้อม มีมารยาทดีก็มักจะนิ่งฟัง ไม่โต้เถึยง แต่คนที่หัวแข็ง มีน้ำใจกระด้าง ดื้อรั้น เชื่อความคิดเห็นของตน ไม่มีมารยาท  ไม่เคารพผู้ใหญ่ ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน  ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง  ก็มักจะโต้เถึยงหรือย้อนสอนครู สอนผู้ใหญ่ บางทีก็สอนพ่อแม่ อย่างนี้เรียกว่า ท่านสอนแล้วสอนตอบ  เป็นเด็กกระด้างไม่ได้รับความเมตตาเอ็นดูจากผู้ใหญ่  และจะไม่เจริญรุ่งเรือง  
บัณฑิตพระร่วง สอนว่า ท่านสอนอย่าสอนตอบ เป็นวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง  แม้เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ให้อ่อนน้อม เคารพยำเกรงครูและผู้ใหญ่  คนเช่นนี้ก็จะได้รับความรักความเอ็นดู  และมักจะเจริญรุ่งเรืองในชีวิตเสมอ  เพราะจะมีคนอุ้มชูช่วยเหลือ ส่งเสริมให้เจริญ  ด้วยคนเรานั้นจะดีด้วยตัวเองไม่ได้ทุกอย่าง  ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยให้ดีด้วย

๑๒๕. ความชอบจำใส่ใจ
ความชอบ -   ข้อที่ชอบ เรื่องที่ชอบ คำที่ถูกใจ
สอนว่า นอกจากท่านสอนอย่าสอนตอบแล้ว  ถ้อยคำใดที่พอใจ เรื่องใดที่ถูกใจ ความใดที่กินใจ คำใดที่ประทับใจ ให้จดจำไว้ให้ดี จำให้แม่น  จะได้เป็นเครื่องเตือนใจ สอนใจเราไปนานๆ  คำบางคำของครูหรือผู้เฒ่าพูด  เป็นคำสอนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  ถ้าคำพูดบางคำพูดฟังติดใจไปนานๆ  พบเห็นสิ่งใดก็เตือนใจให้นึกถึงอยู่เสมอ เช่น คำพูดของพ่อแม่ทีสำคัญๆ ในโอกาสสำคัญๆ  เช่นคำพูดก่อนตาย เป็นคำพูดจากใจจริง  ที่อาจจะไม่เคยพูดมาก่อน  เช่น ปัจฉิมพจน์ของพระบรมครูที่ว่า "จงทำประโยชน์ตน  ประโยชน์ท่านให้พร้อมมูลด้วยความไม่ประมาทเถิด"   พระอริยสาวกทั้งปวงก็ฟํงโดยดุษณียภาพ  

๑๒๖. ระวังระไวที่มา 
ที่ไปมา - ระหว่างทาง ถนน แม่น้ำ ลำคลอง ที่คนสัญจร  การเดินทางไกล 
สอนว่า การเดินทางไปมาให้ระวังภัย จากสัตว์ร้ายและคนร้าย  การกิน การอยู่ การพักระหว่างทาง  การคบคนแปลกหน้า การนอน อย่าประมาท อาจมีอันตราย
คำโคลงโลกนิติสอนว่า 
"เดินทางต่างประเทศ      พิจารณ์
  อาสน์นั่งนอนอาหาร      อีกน้ำ
  อดนอนอดบันดาล         ความโกรธ
  ห้าสิ่งนี้คุณล้ำ                เลิศล้วนควรถวิล ฯ"  
บัณฑิตพระร่วงนี้ก็สอนตรงกับ โคลงโลกนิติ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
  



วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๖)


๑๐๖. ยลเยี่ยงไก่นกกระทา
พาลูกหลานหากิน 
ยล - มอง ดู นึกถึง คิดเห็น ประจักษ์ใจ
เยี่ยง - อย่าง แบบ ตัวอย่าง 
ไก่ - แมไก่ หากินไม่หากินตัวเดียว  พาลูกตามไปเป็นฝูง  พบเหยื่อก็ร้องเรียก "กุ๊กๆ " ให้ลูกกิน ไม่กินเองตัวเดียว  พ่อไก่หาอาหารก็เรียกแม่ไก่มากิน 
นกกระทา - นกชนิดหนึ่งตัวลายเป็นจุดๆ มีนิสัยเหมือนแม่ไก่ คือพาลูกหากินเหมือนกัน 
สอนว่าให้ดูเยี่ยงไก่และนกกระทา  ไม่หากินตัวเดียว พาลูกหลานหากินด้วย  การเป็นหัวหน้าคนอย่าแอบกินบังกินคนเดียว มีลาภผลต้องแบ่งให้บริวารกินทั่วกัน จึงจะปกครองหมู่คณะได้ อย่าเบียดบังผลประโยชน์ไว้คนเดียว  อย่าเบียดเบียนลูกน้องให้เดือดร้อน ต้องเผื่อแผ่ให้ทั่วหน้า  
โคลงโลกนิติสอนว่า
"นายรักไพร่ไพร่พร้อม             รักนาย
  มีศึกสู้จนตาย                         ต่อแย้ง
  นายเบียญไพร่ไพร่กระจาย    จากหมู่
  นายปรักไพร่แกล้ง                ล่อล้างผลาญนาย ฯ"
บัณฑิตพระร่วงจึงสอนตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนา  แต่ว่ายกตัวอย่างแบบไทยๆให้เห็นชัด

๑๐๗. ระบือบิลอย่าฟังคำ
ระบือ - ลือ แผลงเป็นระบือ  แปลว่าเสียงเล่าลือ ถ้อยคำที่ลอยลมมา  เป็นคำเขาเล่าว่า   ไม่มีหลักฐานยืนยัน ไม่ได้เห็นประจักษ์ตา
ระบิล - เรื่องราว  ข้อความ 
สอนว่าเรื่องราวที่เลื่องลือกันนั้นอย่าเชื่อถือ  อย่าฟัง อย่าตื่นเต้น พระพทุธเจ้าสอนว่า  อย่าเชื่อมงคลตื่นข่าว  คำพังเพยของไทยว่า "กระต่ายตื่นตูม"   มาจากนิทานเรื่องลูกตาลตกดังตูม  กระต่ายนึกว่าฟ้าผ่าจึงวิ่งตะโกนไปว่า ฟ้าผ่า ฟ้าถล่ม ทำให้ฝูงสัตว์แตกตื่นตกใจกลัว พากันวิ่งหนีไม่คิดชีวิต   จึงเรียกว่า กระต่ายตื่นตูม  คนที่ไปเป็นทูตต่างเมืองน้ัน ท่านห้ามมิให้เป็นกระต่ายตื่นตูม   ได้ยินได้ข่าวอะไรให้พินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วน  สมัยนี้เรียกว่า  "ฟังข่าวกรอง"   ท่านจึงมีราชเพณีให้เข้าเฝ้ารับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์  และทัดใบมะตูม เพื่อมิให้ตื่นตูม ตื่นข่าว 
กาลามสูตร พระพุทธเจ้าสอนว่า 
๑. มา อนุสฺสวเนน           อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา 
๒. มา ปรมฺ ปราย            อย่าเชื่อโดยเล่าสืบกันมา
๓. มา อิติภิลา ปวย         อย่าเชื่อโดยตื่นข่าวเล่าลือ
๔. มา ปฎิกสมฺ ปทาเนน  อย่าเชื่อโดยอ้างตำรา
๕. มา วิตก เหตุ             อย่าเชื่อโดยตรึกนึกเอา
๖. มา นยฺ  เหตุ             อย่าเชื่อโดยคาดคะเนเอา
๗. มา อาการปริวิตกฺ เทน  อย่าเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการ 
๘. มา ทิฎฐิ นิธฺ ฒา นก  ชนติยา  อย่าเชื่อโดยเห็นว่าต้องกับความเห็นของตา 
๙. มา ภพฺ พ รูปตาย      อย่าเชื่อโดยเห็นว่าผู้นั้นควรเชื่อถือ
๑๐. มา สมฺ โณ โน ครู ติ อย่าเชื่อโดยถือว่าสมณนี้เป็นครูของเรา ฃ
บัณฑิตพระร่วงบทนี้  สอนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาโดยตรง

๑๐๘. การทำอย่าด่วนได้
ด่วนได้ - อยากได้โดยเร็ว  อยากให้สำเร็จโดยเร็ว  อยากให้เป็นดังใจอยากให้ได้ทันอกทันใจ
สอนว่า การทำอะไรอย่าใจเร็วด่วนได้  ไทยมีคำสอนว่า " ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม"   ด่วนได้สามผลามมักพลิกแพลง" หรือ "อย่าชิงสุกก่อนห่าม" คือมะม่วงน้ันย่อมมีผลก่อน อ่อนตามลำดับตั้งแต่หัวแมงวัน ขบเผาะ  เข้าไคล ห่าม สุก งอม  ถ้ายังไม่แก่พอควร  ปลิดสอยเอามาบ่มก็กินไม่หวานสนิท 
โคลงโลกนิติสอนว่า
"เรียกศิลป์แสวงทรัพย์ด้อม         เดินไศล
  สามสิ่งอย่าเร็วไว                       ชอบช้า
  เสพกามหนึ่งคือใจ                     มักโกรธ
  สองประการนี้ถ้า                         ผ่อนน้อยเป็นคุณ ฯ" 
มาจากพุทธภาษิตที่ว่า  
"สินฺเน สิปปํ ชนํ สินเน ปพฺพต บารุยฺ หํ
  สินฺเน กามฺสฺส โกธสฺส อีเมปญจ สินฺเนสินฺเน"
บัณฑิตพระร่วงบทนี้  ก็มาจากพุทธภาษิต 

๑๐๙. อย่าใช้คนบังบด
ฉบับของกรมศิลปากรใช้ว่า "อย่าใช้คนบังบด"
ฉบับของกรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ ใช้ว่า "อย่าใช้คนบังบท" น่าจะผิดเพราะหาความหมายไม่ได้ 
ฉบับของกรมศิลปากรน่าจะถูกต้อง
บัง - อับแสง บดบัง  คือบังแสง บังรัศมี  เช่น ราหูบดบังดวงจันทร์ เมฆบดบังแสงแดด 
บด - แปลว่า เคื้ยว ทำให้แหลกละเอียด ทำให้เป็นผง ทำให้เปลือกแตก เช่น บดยา รถบดถนน ควายเคี้ยวเอื้อง เรียกว่า "บดเอื้อง"
คนบดบัง  คือคนที่แอบกิน แอบเคี้ยว ไม่ให้เห็น  คนครัวคนใช้ที่ลักกินซ่อนกินมิให้นายรู้เห็น  เรียกว่า "คนบดบัง" บังเคี้ยว บังกิน หรือสมัยนี้เรียกว่า อม นั่นเอง  โบราณเปรียบวัวควายที่สำรอกเอาอาหารในท้องออกมาบดเอื้อง  ใครไม่รู้ก็นึกว่าในปากไม่มีอะไร  ที่แท้คือ เคี้ยวอาหาร 
สอนว่า อย่าให้คนแอบกิน แอบเคี้ยว ทำการงาน เพราะเขาจะยักยอกเอาทรัพย์สินกินหมด 

๑๑๐. ทดแทนคุณท่านเมื่อยาก 
ทด - แทน ตอบสนอง เพิ่ม เช่น ทดแทนคุณ ทดน้ำ ทดใช้(พูดเพี้ยนว่า ชดใช้)  ทดลอง (ลองทำแทนของที่จะทำจริงไปก่อน  ได้ผลแล้วจึงจะทำจริง) 
แทน - แทนตัว  แทนคุณ  แทนมือ แทนหู แทนตา  หมายความว่าเอาตัวเราเข้าไปแทนที่ ทำให้ท่านไม่ต้องให้ท่านลำบาก 
ยาก -  ยากไร้ ลำบาก  ยากจน ยากเหนื่อย ยากใจ 
สอนว่า ให้สนองคุณท่านเมื่อยากไร้  ได้รับความลำบาก เป็นเรื่องของความกตัญญูรู้คุณท่านที่ทำไว้ก่อน  เมื่อมีโอกาสก็ตอบสนองคุณท่าน  โอกาสน้้นคือเมื่อท่านลำบากยากไร้ ป่วยไข้ ทุพพลภาพ  ทางพระพุทธศาสนาสอนว่า ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี  ผู้มีคุณนี้อาจเป็นปู่ ย่า ตา ยาย ครูอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชา หรือมิตรก็ตาม  เมื่อมีโอกาสต้องตอบแทนคุณท่าน 
โคลงโลกนิติสอนว่า 
"เยียคุณพูนสวัสดิ์ให้        คือเผ่าพันธ์ุนา
  เยียปลูกบุญโดยธรรม์    พ่อแท้
  พิศวาสผูกใจกัน             เรียกมิตร
  ร้อนราคหญิงดับแก้        กล่าวแท้ภรรยา ฯ"
ไม่ใช่ญาติทำคุณให้คือญาติ  ไม่ใช่พ่อเลี้ยงชุบอุปถัมภ์คือพ่อ  ร่วมใจร่วมทุกข์ร่วมสุขกันคือมิตรไม่ใช่เมีย แต่ได้ร่วมหลับนอนดับราคะคือเมีย  เหล่านี้คือผู้มีคุณแก่เรา 
มาจากพุทธภาษิตที่ว่า 
"โส พนฺ ธ โย หิ เต ยุตฺ โต ปิตโรโหติ โปสโก
  ตํ มิตฺตํ ยตฺถ สิสฺสาโส สา ภริยา จ นิพฺ พุติ ฯ"

๑๑๑.ฝากของรักจงพอใจ
ฝาก ในที่นี้หมายถึงท่านเอามาฝากเรา
ของรัก  คือ ของขวัญ ของกำนัล ของที่เขารักหวงเขาหวง  เป็นของมีค่าของเขาซึ่งเขามีอยู่ ประณีต มีค่า เช่น เขานำพระเครื่องของปู่ย่า ตายายของเขามามอบให้  เขาก็นึกว่าได้สละของรักมีค่าสูงมามอบให้ แต่เราอาจจะมีพระเครื่องที่ดีกว่าน้ัน ก็อย่าดูถูกดูแคลน ทำเฉยเมยไม่ใยดี หรือพูดให้เขาเสียน้ำใจ  
สอนว่าเขาเอาของรักมาฝากจงพอใจรับไว้ ด้วยเป็นของดีมีค่าจากน้ำใจของเขา อย่าดูหมิ่นดูแคลน ชาวบ้านนอกอาจจะเอาเขาวัวมาฝากสักคู่  ก็เหมือนงาช้างของเขา  อยาดูหมิ่นว่าไร้ค่า เพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้นเป็นเครื่องหมายแห่งมิตรไมตรี  ความเคารพจากน้ำใจของเขา อย่างน้อยเขาก็หวังจะพึ่งพาอาศัยเราในวันหน้า  ผู้ดีมีมารยาทย่อมแสดงความไม่รังเกียจ  เราอาจให้ของมีราคาสูงแก่เขาหรือตอบแทนเขา  เป็นเงินสูงกว่านั้นหลายเท่าก็ได้  ถ้าเราไม่อยากรับของเขาเปล่าๆ 
คำนี้ไม่ใช่หมายถึงเอาคนรักไปฝากอย่าง  โคลงนิราศนิรนทร์ 

๑๑๒. เฝ้าท้าวไทอย่าทนง
เฝ้า - เข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์น้ัน  ท่านว่าอย่าทนงตนว่าเป็นคนโปรด อาจทรงพิโรธ ถูกตัดหัวได้ง่ายๆ  ท่านสอนไว้หนักหนา มีในเรื่อง "พาลีสอนน้อง"  สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงนิพนธ์ไว้ดังนี้
๐ เฝ้าท้าวอย่าแต่งโอ้            อวดงาม
ท้องพระโรงอย่าลาม             เหิ่มหน้า
พระสนมราชนงราม               เฝ้ากษัตริย์ 
เนตรโสตอย่าสอดคว้า          ลักล้วงประโลมนาง ฯ
๐ จักทูลพิภาศร้อง                คอยสงบ
ขุ่นคึ่งคิดจงสบ                      ช่องได้
ชอบที่นอบเคารพ                 กราบบาทมูลนา
อย่ากลบผิดชอบไว้               เชอดชี้ทูลฉลอง ฯ
๐ แม้ว่าท้าวตรัสพลั้ง             ราชศาสตร์
อย่าทัดกลางอำมาตย์           หมิ่นไท้
ครั้นตรัสแต่เดียวราช             ที่ลับโสตนา
กระซิบทูลแต่ใกล้                  เชิดชี้คดีธรรม ฯ  
๐ หนึ่งทางโดยเสด็จด้าว       ทิมฉนวน
รัตน์อาศาสนราชยานควร       คู่ไท้
อย่าร่วมผัดผิวนวน                  เทียมกษัตริย์
สองเร่งคิดจำไว้                      เหล่านี้จงระวัง ฯ
๐ เฝ้าท้าวอย่าห่างใกล้           พอประมาณ
พลตรัสพจน์คำขาน                สั่งได้
จำข้อราชบรรหาร                   จงสรรพ
ประกอบเพ็ชทูลให้                 ปลดเปลื้องภารสกล ฯ
๐ หนึ่งท้าวพิโรธขึ้ง                 อย่าถอย
อย่าง่วงสนใจคอย                   จิตท้าว
เห็นชอบตรัสมาพลอย             ทูลปลด
ให้ชื่นรื่นจิตท้าว                       ผ่องพ้นโทษมูล ฯ
๐ หนึ่งท้าวบำเหน็จให้             รางวัล
อย่าคิดอิจฉากัน                      ลาภไว้
จักมีแต่คำหยัน                        อัประภาคย์
หนึ่งจักขายอยู่ใต้                    บาทขึ้งคำรณ ฯ
๐ หนึ่งสูเป็นข้าท้าว                 ใช้ชิด
อย่าคลาดระวังผิด                   โทษร้าย
ทำตามราชนิติกิจ                    บัญญัติ
สูยุคเอาเป็นข้าย                      เขื่อนล้อมกับตน ฯ
๐ หนึ่งอย่าอ้างว่าท้าว              เคยสนิท 
ตรองตรึกทุกค่ำคิด                  รอบรู้
อย่าเอาประมาทปิด                 ปกโทษ
จักรพรรดิ์ดั่งเพลิงชู้                 วิ่งเข้าพลันตาย ฯ
๐ หนึ่งที่ประทับท้าว                ทรงเสด็จ
บานขัดซันกัดเม็ด                    มิดไว้
อย่าล่วงถอดลิ่มเคล็ด              เปอดออก แลนา
เป็นโทษสูอย่าได้                    อาจอ้างใจทนง ฯ
๐ หนึ่งพระแสงอย่าเหล้น         แกว่งกวัด
หนึ่งเสด็จอย่าวิ่งตัด                 ผ่านหน้า
หนึ่งท้องพระโรงรัตน์               ที่เสด็จ  ออกนา
นุ่งห่มสอดสีผ้า                        ดอกไม้ทัดกรรณ ฯ
๐ อย่าถือคนตอบเต้น              เป็นทหาร
ชาติบุรุษตริการ                       รอบรู้
อย่าทนงว่าภูบาล                    รักใคร่ ตนนา             
จะพลาดถูกกระทู้                    ซักท้าวควรระวัง ฯ
๐ หนึ่งกระบถคดต่อเจ้า           ธรนินทร์
อย่าแปดกลั้วราดิน                  เรื่องร้าย
เจ็บร้อนต่อแผ่นดิน                 จึ่งชอบ
คนผิดคบมักบ้าย                    โทษร้ายถึงตน ฯ
๐ หนึ่งสูจักสูเฝ้า                     จอมกษัตริย์
ประหยัดภักษาภัตร                 ย่อมท้อง
อย่ากินคับท้องอัด                   เกินขนาด
ฉุกเฉินเขินขัดหล้อง                โทษร้ายทลายลง ฯ
๐ หนึ่งอย่าคิดคบค้า                ชาวคลัง
แลกเปลี่ยนซื้อลับหลัง            ลักเลี้ยว
ขันทีที่ชาววัง                           นักเทศ     
อย่าสื่อสอดสารเกี้ยว               โทษร้ายถึงตาย ฯ
๐ ชาววังอย่าลักเล้า                 โลมไกล
หน่อกษัตริย์อย่าอาจใจ            หมิ่นจ้าว
แซ่งซักสอดสารไข                  สื่อสอบ
ใครจับความทูลท้าว                 โทษม้วยประไลยลาญ ฯ
๐ สูอย่าให้ชื่อแส้                      ฤาคต
วงศ์ญาติหลานเอารส                ฝึกไว้
แล้วแต่เต่าประนต                     ถวายบาท มูลนา
หนึ่งแขกเมืองมาไซร้                อย่าได้สื่อสนอง ฯ
๐ หนึ่งอย่าคิดว่าท้าว                 เสน่ห์สบ
ท้าวพิโรธเร่งนบ                        นอบไหว้
อย่าสะทึกสะเทินหลบ               หลีกภักตร ท่านนา 
อย่าคึ่งตอบท้าวได้                    โทษแท้ภัยดนู ฯ
๐ หนึ่งราชกิจท้าวทุก                 กระทรวง
จงสอดเห็นท้ังปวง                     ทุกด้าน
ทูลกษัตริย์อย่าลวง                    ลิ้นล่อ
ใครกาจหักให้ค้าน                     ชาติร้ายรอนเสีย ฯ
๐ หนึ่งอย่าฟังเล่ห์ลิ้น                 คนเปลาะ
อย่าดักขวากหนามเคาะ             มรรคไว้
กับเขนกระลีเลาะ                       ลามลุก ได้นา
จึงจะสมควรใช้                           ชื่อได้มนตรี ฯ
๐ หนึ่งพระหริรักษ์ล้ำ                  เลอศักดิ์
เลิศว่าวานรยักษ์                         ทั่วหล้า
ควรสูจักวงรักษ์                           ฉลองบาท
บพิตรจอมเจ้าฟ้า                        อย่าให้ระคายเคือง ฯ
๐ หนึ่งมิตรเพื่อนคู่ใช้                  ราชกิจ
ประมาทพลาดพลั้งผิด                ยกไว้
ถ้าความถูกไปปิด                        กราบบาท ทูลนา 
แม้ว่าไกลชอบให้                        เชอดชี้กราบทูล ฯ
๐ หนึ่งทหารอย่าหักช้ำ                ทูลเอา
ให้ผิดเสียใจเหงา                        ง่วงกล้า
ตระกูลตกอยู่เฉา                          ทูลยก ขึ้นนา
โอบอ้อมจงทั่วหน้า                      ไพร่ฟ้าชีพราหมณ์ ฯ
๐ หนึ่งจักออกเข่นข้า                    กลางณรงค์
หักศึกอาสาจง                              ฮึกห้าว
ถึงพินาศชูพงศ์                             พานเรศ
อย่าขลาดให้ศึกก้าว                     เหยียบได้รอยตน ฯ
๐ หนึ่งน้ำพิพัฒน์ท้าว                   กำหนด
อย่ามิจฉากระบถ                          ต่อหน้า
บิพตรเปรียบเพลิงกรด                 ฟาดถู ใครนา
น้ำดับลักล้นฟ้า                             ห่อนได้ดับเลย ฯ
๐ หนึ่งดับสิวาทถ้อย                     ความชน
อย่าระแวงระวางคน                      สอดจ้าง
เอานรกมาคำรณ                           ครุ่นขู่
ข่มจิตรคัดใจง้าง                           สู่ฟ้าเสวยรมย์ ฯ
๐ คำกลอนดูสอดไว้                      ทุกสรรพ์
ทราบสวาสดิ์อย่าแผดผัน              จิตรจ้าว
ล้วนสวัสดิ์สัจธรรม                         เสาวภาคย์   
ดั่งเพชรพลอยนพเก้า                    สอดไว้เฉลิมนวล ฯ    

คำโคลงเรื่องพาลีสอนน้องนี้ ยกมาเพื่อให้เห็นว่าคนโบราณสอนเรื่องการเป็นอำมาตย์เข้าเฝ้าไว้อย่างไร  แต่ก็ขอให้เข้าใจว่าเป็นการสอนการเฝ้าเจ้าชีวิตในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช  ซึ่งมีพระราชอำนาจปกครองล้นฟ้าล้นแผ่นดิน  อันเหมาะกับยุคสมัยนั้น ซึ่งต้องการความเฉียบขาดในการปกครองคน  เพื่อให้รวบรวมกันอยู่เป็นประเทศชาติได้ในท่ามกลางอริราชไพรี 

คำโคลงโลกนิติว่า "เฝ้าท้าวเทียมเสพด้วย  ยาพิษ" เป็นคำสอนที่ตรงกัน 

๑๑๓.ภักดีจงอย่าเกียจ 
ภักดี - จงรัก ซื่อตรง
เกียจ - รังเกียจ เกียจคร้าน เกี่ยงคน
สอนให้มีความจงรักภักดี   อย่ารังเกียจ อย่าเกี่ยงงอน หรือเกียจคร้าน

๑๑๔. เจ้าเคียดอย่าเคียดตอบ 
เคียด - เคียดแค้น โกรธเคือง
สอนว่า เจ้านายคือพระเจ้าอยู่หัว โกรธเกลียดก็อย่าโกรธเกลียดตอบ

๑๑๕. นบนอบใจใสสุทธิ์
นบ -นบไหว้ ถวายบังคม กราบกราน
นอบ - นอบน้อม หมอบคลาน ก้มหน้า 
ใส - เหมือนน้ำใส ไร้โคลนตะกอน
สุทธิ์ - บริสุทธิ์ ไร้สิ่งเจือปน 
สอนว่าให้ถวายบังคมด้วยน้ำใจใสบริสุทธิ์
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
          



           

          
                   



       





วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๕)


๙๖. อย่ากริ้วโกรธเนืองนิจ
กริ้ว - เกริ้ยวกราด  แสดงอาการโกรธ  ที่เรียกว่า "ลุแก่โทสะจริต"  ระงับความโกรธไว้ไม่ได้   เป็นลักษณะของคนอ่อนแอ ควบคุมสติอารมณ์ไม่อยู่   คนที่เข้มแข็งจะเยือกเย็นควบคุมอารมณ์ได้ 
โกรธ - ความขุ่นเคือง  คั่งแค้น ผูกใจเจ็บ   มีมากเข้าก็บันดาลโทสะออกมาทางกิริยาวาจา ทางพระเรียกว่า "โทสะจริต"  หรือ "โทสัคคี"  โกรธ คือ ไฟย่อมเผาไหม้ตนเองให้รุ่มร้อนไม่มีความสุข 
เนืองนิจ - โกรธอยู่เสมอ  เกิดอยู่เรื่อยๆ  เกิดอยู่ประจำ  
สอนว่าอย่าเกรี้ยวกราดด้วยอารมณ์โกรธเคืองอยู่เนืองนิจ  เพราะความโกรธนั้น จะเป็นไฟเผาไหม้ตนเอง  จะเกิดโทษแก่ตนเอง คนที่ถูกโกรธจะไม่เดือนร้อนอะไรนัก  เขาจะได้รับผลของความโกรธของเราน้อยกว่าที่เราได้รับมากมายหลายเท่า

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ "อกุโกเธน  ชิเน โกธํ "  ผจญคนมักโกรธด้วยไมตรี  ระงับความโกรธด้วยขันติธรรมและเมตตา 
บัณฑิตพระร่วงบทนี้ สอนตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนา  ไม่ใช่สุภาษิตไทยแท้ตามที่เข้าใจกัน

๙๗. ผิวผิดปลิดไปพล้าง
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "ผิวผิดปลิดไปร้าง"   ฉบับของกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ว่า "ผิวผิดปลิดไปพล้าง"  เห็นว่าฉบับของกรมศิลปากรแปลความหมายไม่ได้  ฉบับของกรมพระยาปวเรศฯ แปลได้ความหมายดีกว่า จึงยึดถือฉบับนี้ 
ผิว - ถ้า หาก หมายความว่า  ถ้าหากไม่เป็นไปดังตั้งใจเดิม  เดี๋ยวนี้ก็มักพูดกันว่า "ผิดนัก"   เช่น ต้ังใจจะไปกรุงเทพฯ  วันเดียวกลับไม่ค้างคืน   แต่ถ้าหากกลับไม่ทันก็จะพูดว่า "ผิดนักก็เที่ยวไนท์คลับสักคืน"  ชายหนุ่มตั้งใจจะแต่งงานกับหญิงสาวสวย แต่ถ้าพลาดท่าเสียทีก็จะพูดว่า "ผิดนักก็แต่งกับแม่ม่ายทรงเครื่องเสียเลย"   คำว่า "ผิว"  อ่านว่า "ผิวะ"  จึงเป็นคำพูดที่ตกกะไดพลอยโจน ถ้าผิดจากความตั้งใจเดิม ต้องทำตรงข้ามเสียเลย
ผิด - ไม่ถูก ทำชั่ว ทำพลาด ทำผิดคำพูด ทำผิดแบบแผนประเพณี ทำผิดทำนองคลองธรรม  ทำผิดจากตั้งใจ ทำผิดจากที่เคยทำ 
ปลิด - ปลด เปลื้อง  เช่น ปลิดผลไม้ออกจากต้น  เอาออกจากที่ติดข้องอยู่ 
พล้าง - คือ พลั้ง หรือ พลาด คำว่า พลั้ง นั้นเขียนผิดจากเสียงพูดจริงๆ เสียงพูดนั้นครึ่งสั้นครึ่งยาว  เช่น น้ำ เราไม่พูดเสียงสั้นเหมือนที่เขียนเป็นรูปคำ เราพูดว่า น้าม มากกว่า  
คำว่า พลั้ง คือความผิดพลาด นี้ ก็พูดว่า พล้าง เสียงยาวกว่าตัวอักษรที่เขียนเป็นรูปคำ  เช่นพูดว่า "พลั้งปากเสียศีล พลั้งตีนตกต้นไม้"   ควรเขียนว่า พล้าง มากกว่า   แต่เมื่อเขียนรูปคำเป็น พลั้ง เสียจนชินตา เมื่อมาเห็นคำที่เขียนเป็น  พล้าง  จีงไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร 
"ผิวผิดปลิดไปพล้าง"  จึงแปลความหมายได้ว่า "ถ้าหากทำผิดก็ให้เปลื้องเป็นความพลั้งพลาด"  คือ ทำผิด (ซึ่งมีโทษมาก) ก็ให้เปลื้องความผิดเสียเป็นความพลั้งพลาด(ซึ่งมีความผิดน้อย)  เพราะไม่ได้ตั้งใจ 
โทษฐานเจตนาฆ่าคนตาย  กับทำคนตายโดยประมาทนั้น โทษนักเบากว่ากันเพราะถือเอาเจตนาเป็นสำคัญ  ยิงคนตายโทษหนักเพราะต้ังใจฆ่าเขาด้วยความพยาบาทอาฆาตแค้น   แต่ทำปืนลั่นถูกคนตาย โทษเบากว่า เพราะไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าเขา

๙๘. ข้างตนไว้อาวุธ
คนโบราณบ้านนอกอยู่ในชนบทมักจะมีภัยอันตราย จากคนร้ายและสัตว์ร้ายอยู่ตลอดเวลา   ต้องเตรียมต่อสู้อยู่เสมอ  ท่านจึงสอนว่า "ข้างตนไว้อาวุธ"  (จะเดินทางก็ให้อาวุธ)  คำโบราณว่า "เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า" และ "หอกข้างแคร่" (มีหอกก็ให้พาดไว้ข้างแคร่ที่นอน  จะได้หยิบมาป้องกันตัว แต่ถ้านอนหลับไหลไม่ระวังตัว คนร้ายจะเข้ามาประชิดตัว  หอกข้างแคร่น้ันจะถูกคนร้ายจับเอาไปเป็นอาวุธได้   คำว่า "หอกข้างแคร่" จีงเป็นทั้งมิตรและศัตรู 

คำโคลงโลกนิติว่า 
"หาญห้าวตาวบ่ได้          จวบฟัน
  แหลนและทวนไม่ทัน    ต่อค้าง
  พลคชจรดผัน                งาประสานแฮ
  ปืนไปนั่งง้าง                  นกจ้องใจเกรง ฯ"
ท่านเปรียบว่า ถึงจะห้าวหาญอย่างไร  ไม่มีดาบฟัน ไม่มีแหลนทวนแทงต่อสู้ขับไล่ช้างเข้าประสานงาแล้ว  ปืนไม่ยิงมัวแต่ง้างอยู่จะสู้ศึกได้ไฉนเล่า 

๙๙. เครื่องสรรพยุทธอย่าวางจิตร
เครื่องสรรพยุทธ - เครื่องอาวุธทั้งปวง ได้แก่ หอก ดาบ แหลน หลาว ง้าว ทวน ปืน และ ช้างม้า
วางจิตร - วางใจ ไม่ลับ ไม่ล้าง ไม่เตรียม ไม่ฝึก  ไม่เก็บรักษาให้ดี ทอดทิ้งไว้ 
สอนว่า เครื่องรบสู้ป้องกันตัวนั้น  อย่าทอดทิ้ง ต้องลับ ต้องฝึกฝนให้ช่้ช่ำชอง  คราวใช้จะได้ใช้ได้  ต้องเก็บวางไว้ให้ดี เป็นที่เป็นทาง  อย่าให้ผู้ใดเอาไปใช้ได้  อย่าให้เป็นหอกข้างแคร่ ศัตรูเอาไปใช้แทงอกเรา  อยาปล่อยให้ขึ้นสนิม อย่าปล่อยให้ใครเอาไปเล่น จะเกิดอันตราย 
พระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงสอนว่า 
" แม้นหวังตั้งสงบ       จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์
  ศัตรูกล้ามาประจัญ    จะอาจสู้ริปูสลาย....."
  เป็นคำสอนที่ตรงกับเรื่องเครื่องรบ 
โคลงโลกนิติสอนว่า 
"อุตส่าห์คิดปิดป้อง           กับกาย
  รั้วรอกขวากหนามราย     รอบล้อม
  ประมาทมัวเมามาย         ว่ามั่น  คงนา
  ศัตรูแต่คอยจ้อง              ช่องได้ภัยถึง ฯ"  

๑๐๐. คิดทุกข์ในสงสาร
สงสาร - สังสารวัฎ  ความเวียนว่ายตายเกิด ท่านพูดว่า โลกนี้เป็น "ห้วงมหรรณพภพสงสาร"  เป็นห้วงทะเลอันกว้างใหญ่ ที่สัตว์มาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  ตลอดอนันตกาล 
ทุกข์ - ความทนไม่ได้  พระพุทธเจ้าสอนว่า ทุกข์ของคนเรามี ๑๒ประการ
๑. ชาติ ความเกิดเป็นทุกข์
๒. ชรา ชราเป็นทุกข์
๓.พยาธิ โรคภัยเป็นทุกข์
๔. มรณะ ความตายเป็นทุกข์
๕. โศก ความเหี่ยวแห้งใจเป็นทุกข์
๖. ปริเทวะ ความร่ำไรรำพรรณ เป็นทุกข์
๗. โทมนัส ความไม่สบายใจเป็นทุกข์
๘. อุปายาส ความคับแค้นใจเป็นทุกช์
๙. ปิเยหิวิปโยค  ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์
๑๐. ยัมปิจฉํ นลภตํ  ความไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาเป็นทุกข์
๑๑. สงฺขิตเตน ปญจฺปาทานกฺขันธา  ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
๑๒. ทุกข์ ความอดทนไม่ได้เป็นทุกข์
สอนให้คิดถึงทุกข์ในการเวียนว่ายตายเกิดในโลกนี้ว่า มีแต่ทุกข์ ท่านเรียกว่า "ทุกฺขสจฺจ"  คือความจริงแห่งทุกข์ เป็นคำสอนตามแนวพระพุทธศาสนาโดยตรง 

๑๐๑. อย่าทำการที่ผิด
ผิด - ภาษาบาลีว่า "มิจฉา" ตรงข้ามกับ "สัมมา" คือ ชอบ มิจฉาทิฎฐิ คือเห็นผิดเป็นชอบ  เห็นชั่วเป็นดี ท่านว่า "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว"
สอนไม่ให้ทำผิด ความผิดในพระพุทธศาสนามี ๘ ประการคือ
๑.มิจฉาทิฎฐิ  เห็นผิด
๒.มิจฉาสังกัปปะ - ปรารถนาผิด
๓.มิจฉาวาจา - พูดผิด
๔.มิจฉากัมมันตะ - ทำการผิด
๕.มิจฉาอาชีวะ - เลี้ยงชีพผิด
๖.มิจฉาวายามะ - เพียรผิด
๗.มิจฉาสติ - ระลึกผิด
๘.มิจฉาสมาธิ - จิตตั้งมั่นผิด
บัณฑิตพระร่วงนี้เป็นคำสอนตามแนวพระพุทธศาสนาโดยตรง 

๑๐๒.คิดขวนขวายที่ชอบ
ขวนขวาย - ฝักใฝ่ เพียรพยายาม ไม่ดูดาย  ไม่อยู่นิ่ง  ไม่ท้อถอย ไม่ยอมแพ้
สอนว่า ให้ขวนขวายในทางที่ถูกที่ควร  อย่าขวักไขว่ดิ้นรนในทางที่ผิด  คนเราถ้าคิดผิด ทำผิดเสียแล้วจะพูดผิด เห็นผิดไปตลอดเรื่อง 
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คิดให้ถูก  ให้ตรงในสภาพที่เป็นจริงของโลกและชีวิต  "อริยสัจธรรม"  คือสิ่งที่เป็นจริงของโลกนั่นเอง  พระพุทธองค์เพียรพยายามที่จะชี้ให้เห็นความจริงของโลกทุกสิ่ง  พระองค์ตรัสว่า ความจริงคือธรรม   หรือ  สิ่งที่ตั้งอยู่ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกแล้ว พระองค์เพียงแต่พบความจริงที่มีอยู่ในโลกนี้อันเป็นสัจธรรม  แล้วทรงชี้ให้เห็นเป็นธรรม  หรือสิ่งที่มีอยู่ตามความเป็นจริง  ยกตัวอย่างเช่น คนที่เกิดมาในโลกนี้  ดี ชั่ว แตกต่างกันเพราะกรรม  จำแนกให้แตกต่างกัน  ไม่ได้แตกต่างกันเพราะไม่มีมูลเหตุ
คนรูปชั่ว  เพราะชาติก่อนเป็นคนโกรธง่ายอารมณ์เสีย 
คนรูปงาม  เพราะชาติก่อนเป็นคนใจดี ใจหนักแน่น 
คนอายุยืน เพราะชาติก่อนไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นคนใจบุญ 
คนอายุสั้น เพราะชาติก่อนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นคนใจบาป
คนขี้โรค เพราะชาติก่อนทรมานสัตว์
คนมั่งคั่ง เพราะชาติก่อนบริจาคทรัพย์ทำบุญมาก 
คนยากจน เพราะชาติก่อนตระหนี่เหนียวแน่น
มีคำหนึ่งที่พูดกันอยู่คือ  "กมฺมนา  วตฺติโลโก"  แปลว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม  เมื่อคิดชอบคิดถูก คิดตรงต่อสภาพความเป็นจริงแล้ว  ย่อมจะทำการที่ชอบ 

๑๐๓.โต้ตอบอย่าเสียคำ
โต้ตอบ - การพูดจาตอบถ้อยสนทนากับผู้อื่น   การนัดหมาย การให้สัญญา 
เสียคำ - เสียคำพูด   พูดออกไปแล้วทำให้เสียหายแก่ตนเองและผู้อื่น  เพราะพูดคำหยาบหรือพูดโป้ปดมดเท็จ
สอนว่า การเจรจาโต้ตอบกับผู้อื่น   อย่าให้เสียคำพูด อย่าให้เสียหายแก่ตนเองและผู้อื่น  อย่าเสียสัตย์สัญญา อย่าให้เขาเกลียดปาก
โบราณสอนนักหนาเรื่องคำพูดหรือปาก  เช่น "พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย"  "ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา"  "สำเนียงบอกภาษา  กิริยาบอกสกุล" 
โคลงโลกนิติว่า
"วัดช้างเบื้องบาทรู้          จักสาร
  วัดอุทกชักกมุทมาลย์    แม่นรู้
  ดูครูสลับโวหาร              สอนศิษย์
  ดูตระกูลเผ่าผู้            เพื่อด้วยเจรจาฯ "

ดูตระกูลว่าผู้ดีหรือขี้ข้า ก็ดูคำพูดว่าไพเราะหรือหยาบคาย 
ดูความรู้ว่าดีหรือต้อยก็ดูที่คำพูด 
ดูจิตใจว่าดีชั่วอย่างไรก็ดูที่การพูดจา
ดูคุณธรรมก็ดูที่คำพูด
ดูว่าโง่หรือฉลาดก็ดูที่วาจา
เพราะฉนั้นท่านจึงสอนว่า "โต้ตอบอย่าเสียคำ" เพราะคำพูดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง  

๑๐๔.คนขำอย่าร่วมรัก
คนขำ - คนที่ทำอะไรประหลาดกว่าคนอื่นทั้งหลาย  จนมองดูขำๆ 
ร่วมรัก - คบค้าสมาคมด้วย   เป็นมิตรสนิทด้วย แต่งงานด้วย 
สอนว่าคนที่มีลักษณะขำๆ อย่างนี้อย่าร่วมรัก เป็นมิตรสนิทหรือแต่งานด้วย   เพราะอุปนิสัยใจคอของคนพิการเหล่านี้ก็มีอะไรพลิกแพลงไม่คงเส้นคงวา  ถ้าแต่งงานด้วยจะเสียพืชพันธ์ ลูกหลานก็จะสืบทอดลักษณะนั้นไปด้วย   

๑๐๕. พรรคพวกพึงทำนุก
ปลุกเอาแรงทั่วตน 

พรรค - พวก หมู่ คณะ กลุ่ม แถว
พรรคพวก - กลุ่มคนซึ่งเป็นญาติเป็นมิตรมีจิตใจและผลประโยชน์ร่วมกัน  เกี่ยวข้องกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน  เช่นพรรคการเมือง  คือสมาคมของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมกันในคติทางการเมือง  ที่มุ่งบริหารประเทศในแนวอุคมคติของตน
ทำนุก - มาจากคำว่า "ทุก" แปลว่า แบก หาม เอาใส่บ่า แผลงเป็น "ทำนุก"  แปลว่า เข้าแบกหาม เอาเป็นภาระ  โอบอุ้ม อุปถัมภ์  ช่วยเหลือเกื้อกูล เอาเป็นธุระ 
สอนว่าพรรคพวกเดียวกันพึงเอาภาระช่วยเหลือ  เกื้อกูลค้ำจุนไว้ไม่ให้ตกต่ำ  ไม่ทอดทิ้ง  เหลียวแลเอาเป็นธุระ ทำนุบำรุง ส่งเสริมสนับสนุน 
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า  การสงเคราะห์บุตร   การสงเคราะห์ภรรยา การสงเคราะห์ญาติ  เป็นมงคลอันอุดม  บุตร ภรรยา ญาตินับเป็นพรรคพวกตามสุภาษิตนี้  บัณฑิตพระร่วงจึงสอนตามแนวทางพระพุทธศาสนา

"ปลุกเอาแรงทั่วตน"
หมายความว่า ปลุกใจให้เข้มแข็ง ปลอบใจให้หายขุ่นข้อง  เพื่อจะได้เป็นกำลังแก่หมู่คณะ  เมื่อบุคคลในหมู่คณะเข้มแข็ง  หมู่คณะก็เข้มแข็งด้วย   

(โปรดติดตามตอนต่อไป)
  
  


   

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๔)


  บัณฑิตพระร่วงนี้ มาจากพุทธภาษิต  แต่ใช้ถ้อยคำเก่าจนคนท้ังหลายฟังไม่เข้าใจ และไม่ทราบว่ามาแต่ไหน  ก็เลยเดาเอาว่าเป็นสุภาษิตไทยแท้แต่โบราณ  อันที่จริงไทยก็รับพุทธภาษิตมานานกว่า ๑๐๐๐ ปีแล้ว จึงซึมซาบอยู่ในหัวใจคนไทยเหมือนเป็นของไทยเราเอง 
     ๘๕.ท่านไทอย่าหมายโทษ
ท่าน -    ผู้อื่น ผู้ใหญ่ ญาติมิตร
ไท -      ผู้เป็นใหญ่ อาจหมายถึง ภูเขา เจ้าที่ พระเจ้าแผ่นดิน  เทวดา ฟ้า ดิน  น้ำ ลม ไฟ
หมาย - มุ่ง คาด กะ หนังสือราชการที่ใช้เกณฑ์เกาะกุมเรียกตัว
โทษ  -   ชั่ว ร้าย ผิด  
สอนว่า อย่าโทษท่านผู้อื่น ผู้เป็นใหญ่ หรือเทวดาฟ้าดิน (จงโทษตัวเราเองที่ทำไว ้ เราจึงได้รับผลเช่นนี้)  อย่าเพ่งโทษจับผิดท่าน
คำโคลงโลกนิติสอนว่า 
"อย่าโทษไทท้าวท่วย           เทวา
  อย่าโทษสถานภูผา             ย่านกว้าง
  อย่าโทษหมู่วงศา                มิตรญาติ
  โทษแต่กรรมเองสร้าง         ส่งให้เป็นเอง"

มาจากพุทธภาษิตที่ว่า
น ราชาโนเม น จ เทวตา จ
น ภูมิไสลํ น จ สา ครา นามฺ
น มิตรเหตํ น กฺ เง นามฺ
อโหสิยํ กฺรมฺมปเร ปรานามฺ
บัณฑิตพระร่วงบทนี้ จึงมาจากพุทธภาษิต  มิใช่ภาษิตไทยแท้แต่โบราณกาล

๘๖. คนโหดให้เอนดู
โหด -  ไร้ มาจากคำว่า   "หด"     ออกเสียงยาวเป็นโหด เหมือน "โคน" ตัวหมากรุก มาจากคำว่า คน   ออกเสียงยาวเป็น "โคน เป็นคำเพี้ยนท้ังคู่ 
คนโหด - คนไร้  หมายถึงว่า ไร้น้ำใจ  แล้งน้ำใจ ได้แก่ แล้งซึ่งน้ำใจ เมตตากรุณา ไร้น้ำใจเผื่อแผ่ เอื้อเฟื้อเกื้อกูล  ไร้น้ำใจที่จะให้อภัยทานแก่ผู้อื่น  มีแต่ความเคียดแค้นชิงชัง  จะเอาทรัพย์ เอาชีวิต เลือดเนื้อ  โบราณเรียกคนไร้น้ำใจว่า   "คนไร้" "โหดไร้" และ "โหดร้าย"  ไร้น้ำใจเผื่อแผ่เมตตา เรียกว่า "โหดไร้"  แต่ไร้น้ำใจที่จะให้อภัยทาน  มีแต่จะเชือดเฉือนให้ย่อยยับ เรียกว่า "โหดร้าย" 
เอนดู - คือ กิริยาอาการของคนแก่ที่เมตตาแก่ลูกหลาน  เลี้ยงดูหลานก็เอนกายลง ครึ่งนั่งครึ่งนอน คอยดูแลด้วยความรักใคร่เอาใจใส่ดูแลอยู่ตลอดเวลา  ไม่ทอดทิ้ง แม้ลูกหลานจะซุกซน  หรือเกเรก็เอนดู มิได้มีจิตใจชิงชัง  ดีก็รักร้ายก็รัก โบราณเรียกว่า "เอนดู" คือนอนดูด้วยความรักคงที่  ไม่มีขึ้นไม่มีลง ปัจจุบันนี้นักภาษาไทยที่ไม่เข้าใจความหมายเดิม  เขียนเป็น "เอ็นดู" ไปหมด จนมองไม่เห็นความหมายด้ังเดิม 
สอนว่า คนโหดไร้ หรือคนโหดร้ายก็ให้เอนดู สงสารที่เขาเกิดมาเป็นคนไร้น้ำใจ  เพราะการโง่เขลาเบาปัญญา ไร้การศึกษาอบรม   ไม่ได้พบพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาที่สอนให้เมตตาสัตว์ไม่เลือกหน้า ถ้าเขาฉลาดมีปัญญา  ได้รับการศึกษาอบรม ได้รับรสพระธรรมเขาจะไม่เป็นคนเช่นนั้น
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"ผจญคนมักโกรธ           ไมตรี
  ผจญหมู่ทรชนตี            ต่อตั้ง 
  ผจญคนโลภมี              ทรัพย์เผื่อ  แผ่นา 
  ผจญอสัตย์ให้ยั้ง          หยุดด้วย สัตยา ฯ"

๘๗. ยอครูยอต่อหน้า
ยอ -  คำนี้เป็นคำเก่าแท้  แปลว่า หยุด ยั้ง ห้าม ปราม ให้หยุดยั้งการทำผิด    คำนี้ไม่ได้แปลว่า  "พูดให้ถูกใจ เชิดชู ชม" ดังที่ใช้กันทุกวันนี้   ชาวชนบท ชาวนา เมื่อวัว ควายวิ่ง เขาจะร้องว่า "ยอ - ยอ" แปลว่า หยุด  
ครู - ผู้ใหญ่ ผู้สั่งสอนอบรม ผู้นำทางปัญญา ผู้เป็นแบบอย่าง  ผู้บังคับบัญชา ผู้ที่นับถือ  ผู้หนักแน่นด้วยคุณธรรม 
สอนว่าการห้ามปราม การหยุดยั้งการกระทำที่ผิดพลาดบกพร้องของผู้ใหญ่  ผู้บังคับบัญชาที่นับถือ แม้แต่พ่อแม่ของเรานั้น ให้กระทำต่อหน้าด้วยความหวังดีอย่างจริงใจ ด้วยความรักใคร่ นับถือห่วงใย  เพราะผู้ใหญ่ย่อมเข้าใจเจตนาดีของเรา ย่อมไม่โกรธเคืองเรา 

๘๘. ยอข้าเมื่อแล้วกิจ

คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"ยอข้ายอเมื่อแล้ว        การกิจ
  ยอครูยอสนิท             ซึ่งหน้า
  ยอญาติประยูรมิตร     เมื่อลับ หลังแฮ
  คนหยิ่งแบกยศบ้า      อย่าย้ัง ยอควร"

 สอนว่าห้ามบริวารบ่าวไพร่ คนใช้ ลูกน้อง ให้กระทำเมื่อเสร็จกิจ  อย่าห้ามปรามเขาขณะทำงานเหนื่อย   ห้ามปรามครู  ผู้ใหญ่ ให้ห้ามปรามท้วงติงต่อหน้า   แต่การห้้ามปรามญาติมิตรให้พูดฝากไปลับหลัง  ส่วนคนบ้ายศนั้น อย่าห้ามปรามเขาเลย

๘๙.ยอมิตรเมื่อลับหลัง
ยอ - หยุด ห้าม ปราม ยับยั้ง
มิตร - คนที่เราคบหา เกี่ยวข้อง ผู้ส่งเสริมสนับสนุนให้คุณแก่กัน 
สอนว่า ถ้าจะห้ามปรามยับยั้ง  การทำผิดทำชั่วของมิตร  ให้พูดจาฝากฝังไปให้เขารู้ลับหลัง เขาจะได้มีเวลาตรึกตรองไม่โกรธเรา  
เวลานี้ เราแปลคำว่า ยอ ไปตรงข้าม หมายความว่า ยกย่อง  ชมเชย จึงเกิดการเข้าใจผิดภาษาโบราณไปอย่าตรงกันข้าม

๙๐. ลูกเมียยังอย่าสรเสริญ
(เยียวสะเทินจะอดสู)
สรเสริญ - ยกย่อง ชมเชย
ยัง - ยังอยู่ ยังมีชีวิตอยู่
สะเทิน -    ยังไม่จบ  อยู่ครึ่งๆกลางๆ เดี๋ยวนี้เขียนว่า สะเทิ้น เช่น สะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบก แปลว่า ครึ่งบกครึ่งน้ำ  สะเทิ้นอาย แปลว่า ครึ่งอายครึ่งดีใจ  เช่นถ้าชมหญิงสาววัยรุ่นว่า สวย เธอก็จะทำท่าครึ่งอายเหนียมครึ่งดีใจว่ามีคนชม โบราณเห็นกิริยาครึ่งๆกลางเช่นนี้ จึงใช้คำว่า สะเทินอาย  จงดูกิริยาหญิงเมื่อถูกชม   ไม่หลบแต่ไม่สู้เต็มตานัก  ครึ่งๆกลางๆอยู่  
อดสู  - อด คือ อาย สู คือเขาอื่น รวมความแปลว่า ละอายใจแก่คนอื่น อายใจแก่คนทั้งหลาย อายแก่ผีสางเทวดาฟ้าดิน  ไม่ใช่อายคนเดียว 

สอนว่าถ้าลูกเมียเรายังอยู่ ก็อย่าเพิ่งยกย่องชมเชยให้ใครฟัง  ประเดี๋ยวจะครึ่งๆกลางๆ ไม่จริงตลอด ไปทำชั่วเข้าระหว่างกลาง จะต้องอายคนท้ังหลาย  ถ้าลูกเมียของเราดีจริงก็ให้คนอื่นเขายกย่อง สรรเสริญเองจะดีกว่า ถึงจะเสียภายหลัง  อย่างน้อยเราก็ไม่ได้คุยอวดใคร  เพราะลูกเมีเราคือปุถุชน  อาจประพฤติชั่วได้เพราะความโลภ โกรธ หลง ปัจจุบันท่านจีงกล่าวว่าการเขียนชีวประวัติคนเป็นอันตรายแก่ผู้เขียน ท่านจึงเขียนชีวประวัติคนที่ตายแล้ว   เพราะไม่มีโอกาสประพฤติชั่วอีก 

๙๑. อย่าชังครูชังมิตร
ชัง - คือ ความเกลียด ไม่อยากมองหน้า  ไม่อยากอยู่ใกล้ ไม่อยากฟังคำพูด  ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เป็นการปฎิเสธผลักดัน  ไมดึงดูดในทางจิตใจ
ครูและมิตรมีโอกาสถูกเกลียดชังได้มาก เพราะครูที่ดีจะคอยขัดขวางในทางชั่ว คอยดุด่าอบรมสั่งสอน  ไม่ตามใจศิษย์  เพื่อไม่ให้ศิษย์ไปในทางที่ผิด   เพราะครูไม่เห็นประโยชน์ตนไมหาเสียง เหมือนดังนักการเมือง  ครูไมหวังประโยชน์ปัจจุบัน  แต่หวังประโยชน์อนาคต 
มิตรก็มีโอกาสถูกเกลียด  เพราะมิตรแท้ย่อมคอยขัดขวางมิตรไม่ให้ตกไปในทางที่ชั่ว   คอยเตือนสติ พูดว่าให้รู้สึกตัวถึงความผิดบกพร่องของมิตร ซึ่งอาจจะถูกเกลียดได้  ถ้ามิตรหัวประจบก็อีกอย่างหนึ่ง แต่ท่านไม่เรียกว่ามิตรแท้  ผู้บังคับบัญชาที่เป็นมิตรผู้หวังดี  ก็อาจตักเตือน ห้ามปราม ขัดขวาง ลูกน้องมิให้ทำผิด  ผู้น้อยที่หวังดีต่อนายก็อาจขัดคอนาย  แต่ก็นับว่าเป็นมิตรที่หวังดีต่อกัน  จึงได้ขัดขวางหนทางชั่ว
ท่านจึงสอนว่า ครูและมิตร สองประเภทนี้อย่าโกรธ อย่าเกลียด  เพราะเป็นผู้หวังดีมีคุณประโยชน์ต่อเรา  ถ้าไม่มีครูไม่มีมิตร ชีวิตของเราก็อาจเดินทางผิดได้ง่าย 
คนใดที่แสดงอาการโกรธเคือง เกลียดชังครูและมิตรของตน  คนนั้นจะไม่มีใครมาสั่งสอนตักเตือนในทางชั่ว  คนนั้นอาจเดินทางไปสู่ประตูอบายได้ง่าย ไม่มีใครเหนี่ยวรั้งช่วยเหลือ 

๙๒. ผิดอย่าเอาเอาแต่ชอบ
ผิด - ผิดธรรม ผิดศีล ผิดทำนองคลองธรรม 
ชอบ - ชอบธรรม ชอบด้วยศีลธรรม ถูกทำนองคลองธรรม 
รับ - รับเอามาเป็นธุระ รับเอามาทำ  รับเอามาประพฤติร่วมกระทำด้วย 
สอนว่า อย่าเอาผิดทำนองคลองธรรมมาประพฤติ  เลือกเอาแต่ที่ชอบทำนองคลองธรรมเท่านั้น  เพราะการทำผิดทำชั่วจะทำความเดือดร้อนใจภายหลัง  แต่การทำชอบจะได้รับความเย็นใจ เป็นกุศลทั้้งในบัดนี้และภายหน้า มนุษย์ก็สรรเสริญ ตายไปก็ไปสู่สุคติ 
ผิด  ทางพระท่านใช้ว่า "มิจฉา"  ชอบ ท่านใช้ว่า "สัมมา" กล่าวโดยเฉพาะทางที่ชอบ เรียกว่า "อริยมรรค" คือทางที่เจริญ หนทางที่ไร้ข้าศึก คือกิเลสตัณหา  เป็นทางเดินของพระอริยบุคคล  มี ๘ ประการคือ
๑.สัมมาทิฎฐิ - เห็นชอบ
๒.สัมมาสังกัปปะ - ปรารถนาชอบ
๓.สัมมาวาจา - พูดชอบ
๔.สัมมากัมมันตะ - กระทำชอบ
๕.สัมมาอาชีวะ - เลี้ยงชีพชอบ
๖.สัมมาวายามะ - เพียรชอบ
๗.สัมมาสติ - ระลึกชอบ
๘.สัมมาสมาธิ - ตั้งจิตชอบ

๙๓. นอบตนต่อผู้เฒ่า
นอบ - "นอบนบ" คือ ก้มไหว้  "นอบน้อม" คือ ก้มหัว น้อมลงต่ำ  "พินอบพิเทา" คือ  ก้มหัวน้อมตัวลงต่ำอย่างยิ่ง แทบว่าจะจรดเท้าท่าน 
ผู้เฒ่า - คนแก่ รุ่นปู่ย่า ตายาย 
สอนให้เคารพนบนอบต่อผู้แก่ผู้เฒ่า  ภาษิตอิศรญาณ สอนว่า "ผู้เฒ่าสามขาหาไว้ทัก"   คนแก่ถือไม้เท้าหาไว้เป็นผู้คอยท้วงทักตักเตือนเรา  คนไทยสอนให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่  สอนให้เรียกผู้เฒ่าผู้แก่อย่างเรียกญาติของตนเอง  คือ ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย ไม่ให้เรียกออกชื่อท่าน ไม่ให้ตีเสมอ  พูดกับผู้เฒ่า ผู้มีบรรดาศักดิ์สูงส่ง  ก็ให้ใช้สรรพนามด้วยความเคารพ  ใช้คำแทนตัวท่านว่า "ใต้เท้า"  คือ อาจเอื้อมท่านแต่เพียงแค่เท้านั้น  ไม่อาจเอื้อมถึงตัวท่าน เรียกตัวเราว่า "กระผม"  เป็นวัฒนธรรมอันดีงามละเอียดอ่อนของไทยแต่โบราณ 

๙๔. เข้าออกอย่าวางใจ
เข้า - เข้าบ้าน เข้าป่า เข้าวัด  เข้าไปยังสถานที่ที่คิดว่าจะไปมีภัยอันตราย
ออก - ออกจากบ้านเรือน ออกจากวัด แม้แต่ออกจากป่าจากถ้ำก็อาจมีอันตรายทีปากทางนั้น 
เข้าออก - สถานที่ที่เคยเข้าออกอยู่ประจำ 
สอนว่า เข้าออกอย่าวางใจว่าจะไม่มีภัยอันตราย  สอนว่าอย่าประมาท เพราะความประมาทคือหนทางแห่งความตาย การวางใจ คือนอนใจ คือความประมาท 
พระพุทธเจ้าสอนว่า "ปมาโท มจฺจโน ปทํ "  ความประมาทคือหนทางแห่งความตาย
อยู่บ้านนอกชนบทนั้น คนที่ตายคาประตูบ้านมีมากต่อมาก  เพราะถูกประทุษร้ายตอนเข้าออกจากบ้านเรือน  แม้แต่เข้าออกจากวัด  เพราะคนร้ายคอยอยู่ โบราณจึงสอนไม่ให้เดินไปกลับทางเดียวกัน  ไปทางหนึ่ง กลับทางหนึ่ง ถ้าจะเข้าออกทางเดียวประจำก็ต้องระวังภัยตอนเข้าออก

๙๕. ระวังระไวหน้าหลัง
(เยียวผู้ชังจะคอยโทษ) 
ระวัง - เตรียมกายให้รัดกุม พร้อมที่จะหลบหลีกต่อสู้    ข้าวของที่ถืออยู่พอที่จะปลดเปลี้องออกได้  
ระไว - ระแวงภัย หูไว ตาไว มือไว พร้อมที่จะต่อสู้ป้องกัน พร้อมที่จะหลบหลีก  หัวไวพร้อมทีจะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยทันที 
หน้าหลัง - ข้างหน้า  ข้างหลัง ก็ต้องสอดส่ายสายตาดูให้ทั่ว  ใกล้ไกล ซ้าย ขวา หน้า หลัง  ก็ต้องเหลียวไปดู 

สอนว่าให้ระมัดระวังตัว  หูไว ตาไว ระแวงภัย 
คนที่เคยอยู่บ้านนอกชนบท จะทราบซึ้งเรื่องนี้ดีว่า  จะมีภัยอยู่รอบตัว คนในบ้านเมืองที่เจริญอาจจะลืมไป  แต่บัดนี้คนในเมืองหลวงก็ต้องระวังภัยอย่างนี้เหมือนกัน เผลอไม่ได้ 
บัณฑิตพระร่วงบทนี้ สอนเรื่องความไม่ประมาท ตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนา "อปปฺมาโท  อมตํ ปทํ" (ความไม่ประมาทเป็นหนทางรอดจากความตาย)  
(โปรดติดตามตอนต่อไป)


วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑๓)

๗๖.ลูกเมียอย่าวางใจ
วาง - นิ่ง นอนใจ หมายความว่า นิ่งนอนเฉยอยู่ ไม่ระมัดระวัง  ไม่                  อบรมสั่งสอน กำชับดูแล  เป็นการประมาท หลงรักลูกเมียจนเกิน          ไป ซึ่งอาจจะทำให้เขาประพฤติผิดประพฤติชั่ว  หรือกระทำนอก           รีดนอกรอย  หรือนอกใจ หลงผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจ             กระทำความเสื่อมเสียมาสู่ครอบครัวภายหลังได้
คำโบราณว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี"   กลัววัวจะหายไป หรือหลงติดไปเข้าฝูงอื่น  ก็ให้ผูกไว้ รักลูกก็ให้อบรมสั่งสอน ดุด่าว่ากล่าว หรือถ้าทำผิดทำชั่ว  ก็ต้องลงโทษเฆี่ยนตีให้เข็ดหลาบจดจำ 
"มีเมียงามอย่าฝากแม่ยาย"  โบราณสองอย่างนี้ เพราะเป็นแม่เป็นลูกกัน  ถึงจะประพฤติผิดคบชู้สู่ชาย เขาก็ย่อมจะปิดบังไม่บอกให้รู้
"ภรรยาเป็นมิตรสนิทในเรือน"  แต่ถ้ามิตรสนิทนี้หากเป็นศัตรู  ก็จะเป็นมิตรที่นำภัยมาสู่ได้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย อย่างนึกไม่ถึงว่ามิตรจะกลายเป็นศัตรู หญิงทื่คบชู้นั้นอาจฆ่าสามีได้ง่ายๆ 
บุตรที่เลวทรามนั้นนำความเสื่อมเสียมาสู่ครอบครัว  วงศ์ตระกูลได้อยางใหญ่หลวง  ล้างผลาญทรัพย์สมบัติได้ยิ่งกว่าโจรภัย  อัคคีภัย เพราะไฟไหม้บ้าน  โจรได้แต่ลักเงินลักทอง  แต่บุตรอาจทำลายล้างผลาญที่ดิน  เรือกสวนไร่นาและวงศ์ตระกูลได้ทั้งหมด 
บัณฑิตพระร่วง  สอนเรื่องความไม่ประมาท ซึ่งเป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา

๗๗. ภายในอย่านำออก
ภายใน -   ภายในใจ ความลับในครอบครัว  ความไม่ดีงามครอบครัว
นำออก -  นำไปบอกเล่าให้คนภายนอกทราบ  นำไปเปิดเผย นำไปโพ                 ทนาว่ากล่าว  นำไปนินทาให้เขาฟัง  หญิงบางคนนำความ                   ไม่ดีของสามีไปเล่าเพือนบ้านฟัง แสดงความโง่เขลาของ                    ตนเอง
บัณฑิตพระร่วงสอนว่า ความในท้ังหมดนี้อย่านำไปเปิดเผยให้คนอื่นฟัง คำชาวบ้านพูดว่า "ไฟในอย่านำออก"  ไฟในที่นี้หมายถึงความเดือดร้อน ความชั่วร้ายเลวทรามแม้แต่ความในใจที่พูดกับคนในครอบครัว  เป็นเรื่องของคนในครอบครัวก็ดี เรื่องของคนอื่นนอกครอบครัวก็ดี    ห้ามนำเอาไปเปิดเผย แม้แต่จำนวนเงินทรัพย์สินที่มีอยู่ มากน้อยเพียงใดก็มิให้นำไปพูดให้ใครรู้  เพราะถึงจะมีมากก็จะเป็นที่ปองร้ายของคนอื่น  ถึงแม้จะมีน้อยก็จะเป็นที่ดูหมื่นเหยียดหยาม  หรือขาดความเชื่อถือของผู้อื่น   การค้าขายที่ได้กำไรมากก็ห้ามบอก  การค้าขาดทุนก็ห้ามบอก มีแต่ทางเสียไม่มีทางได้อะไร
 คำโคลงโลกนิติว่า
" ความลับอย่าให้ทาส     จับที
  ปกปิดมิดจงดี                 อย่าแผร้
  แม้นให้ทราบเหตุมี         หลายหลาก
  นับว่าข้าทาสแท้             โทษร้ายเร็วถึง ฯ"

๗๘. ภายนอกอย่านำเข้า
คำชาวบ้านพูดว่า "ไฟนอกอย่านำเข้า"  หมายถึงการนำเรื่องของคนอื่น นอกครอบครัวมาพูดกับคนในครอบครัว  พาให้คนในครอบครัวต้องเดือดเนื้อร้อนใจ  ได้แก่ความเดือดเนื้อร้อนใจจากคำคนที่กล่าวร้ายคนในครอบครัว   เรื่องนี้มักมุ่งสอนสตรีแม่เรือนมิให้นำเรื่องร้ายภายในออก  มิให้นำเรื่องร้ายภายนอกมาบอกให้สามีร้อนรำคาญใจ  

๗๙. อาสาเจ้าจนตัวตาย
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "อาสาเจ้าจนตนตาย"  
แต่ฉบับของกรมพระยาปวเรศฯ ว่า "อาสาจนตัวตาย"  ประโยคนี้น่าจะถูกต้องกว่า  และอันที่จริงคำว่า ตัว กับ ตน นี้ก็มีความหมายต่างกันอยู่เล็กน้อยคือ 
ตัว -  เป็นภาษาไทยแท้ เป็นภาษาเก่าแก่  บางทีก็ใช้คำว่า ตู เป็น                  สรรพนามบุรุษที่๑ คู่กับ สู เป็นสรรพนามบุรษที่ ๒  บางทีก็พูดว่า          ตูเรา คู่กับ  สูเจ้า  หมายถึงร่างกายที่เกิดมามีรูปร่างเป็นเนื้อเป็น          ตัว ใช้รวมท้ังคนและสัตว์ 
ตน - เป็นภาษาบาลี มาจากคำว่า อัตโน  เพี้ยนมาเป็น ตนุ ตนู  หรือ             ตน แปลว่า ตัวของตน  ภาษามาลายู ใช้ว่า ตนกู  ภาษาไทยมีใช้         ว่า ตนหลวง  แปลว่า ผู้มีอัตภาพอันใหญ่  ได้แก่ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่น           ดิน 

ภาษาไทยที่พูดกันตามปกติธรรมดา  ไม่ใช่ในความหมายพิเศษ มักจะใช้คำว่า ตัว มากกว่า ตน  เช่นคำว่า อาสาเจ้าจนตัวตาย   เพราะคำว่า ตัว มีความหมายว่า ร่างกาย  ที่รับใช้จนต้องตายไป ไม่ใช่คำว่า ตน ซึี่งหมายถึง ชีวิตและวิญญาณ เพราะตายแล้วยังมีการเกิดใหม่อีก 
อาสา - แปลว่า รับใช้ด้วยความสมัครใจ 
มีธรรมเนียมไทยเก่าอยู่อย่างหนึ่ง คือ ชายหนุ่มต้องไปทำงานให้บ้านหญิงสาวที่รัก ปีหนึ่ง สองปีก่อน บิดามารดาฝ่ายหญิงจึงจะยินยอมให้ลูกสาวแต่งงานด้วย  เรียกว่า "อาสา"  ความจริง คำว่า "เจ้าบ่าว"  นั้นก็คือ เจ้าตัวผู้อาสารับใช้ (บ่าว) นั่นเอง   การที่ชายหนุ่มต้องอาสาทำงานรับใช้เจ้าสาวนี้ จึงเรียกชายหนุ่มว่า "เจ้าบ่าว"  ติดปากมา 
ประวัติของคำว่า อาสา  เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน ก็มีเรื่องพลายงามอาสา "รับอาสาเจ้านาย" พูดกันมาแต่โบราณอย่างนี้ 
สอนว่า อาสาเจ้าให้อาสาจนตัวตาย   คือรับใช้เจ้าจนสุดชีวิตจนตัวตาย  เพราะเป็นงานของชาติบ้านเมือง อย่าเสียดายชีวิต  
คำโคลงโลกนิติว่า
" อาสาสู้ศึกไป่              เสร็จงาน
  ตนจักตายเอาอาน      ปิดไว้
  จึงนับว่าชายชาญ       หายาก
  ฉลองพระคุณเจ้าให้   ท่านเลี้ยง บำรุง"

๘๐. อาสานายจงพอแรง
นาย - ผู้เป็นายเงิน (สมัยโบราณ)  ผู้เป็นนายจ้าง(สมัยปัจจุบัน) ผู้เป็นนายคุณ (มีคุณเหนือ)  และผู้ปกครองบังคับบัญชา 
พอแรง - พอกับแรงกายของเรา  เต็มแรงของเรา อย่าให้หย่อนกว่าแรง และอย่าให้เกินแรงกาย  ต้องอุทิศเวลาและกำลังให้เต็มที่  แต่ไม่ต้องถึงแก่ชีวิตเหมือนอาสาเจ้า  เพราะเป็นงานของนายส่วนน้อย ไม่ใช่งานของเจ้า อันเป็นงานส่วนใหญ่ ส่วนรวม 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
" อาสาเจ้าต่อต้าน       ตัวตาย
  ขันรับอาสานาย         หย่อนนั้น
  อาสาศึกแม่ยาย         อย่าย่อ ท้อนา
  สามสิ่งนี้ถือหมั้น        ชั่วฟ้าดินชม ฯ"

     จะเห็นว่างานอาสามี ๓ อย่างคือ  ๑ อาสาเจ้า จนตัวตาย  ๒ อาสานายจงพอแรง ๓. อาสาแม่ยายให้เข้มแข็ง  โดยเฉพาะอาสาแม่ยายน้ัน ถ้าอาสาจนตัวตายก็จะไม่ได้ลูกสาวมาชมเชย จึงให้อาสาให้เข้มแข็งเท่านัน 
     จะเห็นว่าบัณฑิตพระร่วงนี้ก็มีที่มาจากโคลงโลกนิติเช่นเดียวกัน  เป็นคำสอนที่ตรงกัน มีแนวคิดอย่างเดียวกัน 

๘๑. ของแพงอย่ามักกิน
มัก - รัก ชอบ พอใจ ค่อนข้าง มีใช้อยู่หลายคำ เช่น มักมาก มักน้อย             มักคุ้น มักได้ มักง่าย มักใหญ่  เช่น มักมากในกามคุณ  มักใหญ่           ใฝ่สูง 
มักกิน - ชอบกิน กินบ่อยๆ เห็นแก่กิน อยากกินโน่นกินนี่ ไม่ประหยัด               ในการกิน 
สอนว่า ถ้าของแพงก็อย่ากินให้มากนัก  กินแต่พอควร หันไปซื้อของที่ ถูกกว่ามากิน
สุภาษิตสอนหญิง ของนายภู่ จุลละภมร สอนว่า
"ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ
  ให้เป็นมื้อเป็นคราวท้ังคาวหวาน"
โคลงโลกนิติสอนว่า
" คนที่มักเหี่ยวแห้ง      หวงแหน
  กินอยู่สู้ขาดแคลน      พร่องท้อง
  คนกากอยากไร้แกน   โกยกอบ  กินแฮ
  เป็นวิบัติขัดข้อง          คิดแล้วหลากเหลือ ฯ"
คนมีมักประหยัดในการกินอยู่ ไม่กินจนเกินไปเพราะการประหยัดจึงมั่งมีได้  แต่คนจนคนยากไร้ มักจะกอบโกยในการกิน เพราะเหตุนี้จึงยากจน
คำพังเพยก็สอนว่า "วัวเห็นแก่หญ้า  ขี้ข้าเห็นแก่กิน"
บัณฑิตพระร่วง สอนให้ประหยัดในการกินอยู่  ของแพงก็อย่ากินให้บ่อยนัก ซื้อของถูกกิน 

๘๒. อย่ายินคำคนโลภ
ยิน - ฟังโดยต้ังใจ  รับรู้เรื่องราวที่เขาพูด รับฟังถ้อยคำ  ฟังด้วยความเอาใจใส่  คำว่า "ยิน" ต่างจาก คำว่า "ฟัง" เพราะถ้าไม่ตั้งใจฟังก็อาจไม่ได้ยิน  หรือกำลังนั่งคิดอะไรอยู่ ใครพูดว่าอะไรก็ไม่ได้ยิน  หรือได้ยินแว่วๆ ไมรู้เรื่องที่พูด  คำว่า "ยิน"หรือ "ได้ยิน" จึงเป็นการฟังอย่างต้ังใจและรับรู้ถ้อยคำที่พูดนั้น 
คำ  - ถ้อยคำ คำพูด เรื่องราวที่พูด 
คนโลภ - คนที่อยากได้ไม่รู้จักสิ้นสุด อยากได้นั่น อยากได้นี่ ไม่รู้จักพอ อย่างที่เขาว่า "ถมไม่รู้จักเต็ม" 
สอนว่า อย่าฟังถ้อยคำของคนโลภอยากได้ไม่รู้จักพอ  อย่าเชื่อฟัง อย่าเห็นดีเห็นงามกับคำพูดของเขา เพราะคนโลภจะยั่วยุให้เราเกิดความโลภ ความโลภเป็นกิเลส ที่จะมาทำลายความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมของเรา  
ข้าราชการบางคน ตัวเองเป็นคนดีอยู่ไม่ทุจริตคอรับชั่น ถ้าได้ภรรยาเป็นคนโลภเห็นแก่ได้ เห็นคนอื่นบ้านอื่น มีข้าวของเครื่องใช้ราคาแพงก็อยากมีบ้าง  พูดเช้า พูดเย็น  หนักเข้าสามีก็เอนเอียงเป็นคนโลภเห็นแก่ได้ เห็นแก่ภรรยา จึงเริ่มทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ในที่สุดก็เสียคนเสียความเจริญก้าวหน้า เสียชื่อเสียง ต้องติดคุกติดตะราง  เพราะฟังคำคนโลภิ 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
" เห็นท่านมีอย่าเคลิ้ม           ใจตาม
  เราอยากหากใจงาม            อย่าคร้าน
  อุตส่าห์พยายาม                  การกิจ
  เอาเยี่ยงอย่างเพือนบ้าน     อย่าท้อทำกิน ฯ" 

๘๓. โอบอ้อมเอาใจคน
โอบ -  กิริยาอาการที่เอาสองแขนโอบเข้ามากอดไว้กับอก เอาแขน                อ้อมล้อมไว้ คำโบราณใช้ว่า "โอบกอด" "โอบอุ้ม" "อุ้มชู"                    อุดหนุน"  "โอบอ้อม
อ้อม - โอบล้อมตีวงโค้งล้อมห่อหุ้ม แปลว่า ล้อมเอาเข้ามาไว้ในอ้อม              กอด  เอาเข้ามาไว้เป็นพวกพ้อง เอาเข้ามาไว้ในปกครอง
  คนเลี้ยงฝูงสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ เป็ด  เมื่อเห็นสัตว์ตัวใดแตกฝูงออกไป  เขาจะเดินอ้อมไปสะกัดกั้นไว้ กันฝูงสัตว์เลี้ยงให้เข้าหมู่เข้าพวก  เพื่อจะดูแลได้สะดวก คำว่า อ้อมจึงมีความหมายอย่างกว้าง  ถึงอาการเลี้ยงน้ำใจคนเอาเข้าไว้เป็นพวกพ้อง  ไม่แตกคณะ แตกคอ ออกไป เป็นการเตือนคนที่มีหน้าที่ปกครองคนว่าให้โอบอ้อมเอาใจคนในปกครอง ไว้ด้วยน้ำใจรักและเมตตากรุณา 
เอาใจคน - "เอาใจเราไปใส่ใจเขา"  ถ้าเราเป็นอย่างเขา เราจะรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น  จะดุด่าว่ากล่าวใครก็ให้นึกถึงใจเขาใจเรา คือ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" ว่าถ้าเราเป็นเขาจะรู้สึกนึกคิดอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ 
วิชาใช้คน แต่โบราณท่านสอนว่า  ให้รู้จักใจคน ให้นึกถึงอกเขาอกเรา  เราจึงจะเป็นที่รักนับถือของคน 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า 
" นายรักไพร่ไพร่พร้อม        รักนาย
  มีศึกสู้จนตาย                     ต่อแย้ง
  นายเบียนไพร่กระจาย        จากหมู่
  นายบ่ รักไพร่แกล้ง             ล่อล้างผลาญนายฯ"

๘๔. อย่ายลเหตุแต่ไกล
ยล - มองดู เห็น ทราบ 
เหตุ - เรื่่องที่เกิดขึ้น เค้ามูล 
ไกล - ห่าง ยืดยาว นาน
สอนว่าอย่าวิตกถึงภัยที่ยังอยู่ไกล ไม่มาถึงตัว ให้มากเกินควร  เพราะภัยนั้นอาจผันแปรแก้ไขได้ เราอาจหลบหลีกภัยนั้นได้ 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"เห็นภัยใหญ่แต่ข้า           จักถึงตนแฮ
  ปราชญ์ย่อมผ่อนผันพึง   หลบลี้
  ภัยใดโดยด่วนโดยตรึง    ตราติด  ตัวนา
  ใจปราชญ์ปราศแสงชี้      เช่นหล้าแถไศล" 
มาจากพุทธภาษิตที่ว่า
"อนาคตํ ภยํ ทสวา  ทรูโต ปริวช์ฺเชย
  อนาคตญจ ภยํ ทิสฺวา อภิโต โพติ ปณฺฑิโตฯ"
(เห็นภัยในอนาคตที่อยู่ไกล  พึงปลีกตัวหลบเลี่ยง
เห็นภัยทีมาถึงตัวกระทันหัน   ปราชญ์ย่อมไม่หวั่นไหว)
(โปรดติดตามตอนต่อไป)