วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอน ๘)



สาระสุภาษิต


๒๔. อย่าคนึงถึงโทษท่าน  

คนึง - ความคิดถึง  ครุ่นคิด  เพ่งเล็งถึง

 สอนว่า อย่าเพ่งโทษจับผิดท่าน   เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา  พระพุทธองค์สั่งสอนมิให้ภิกษุเพ่งโทษจับผิดภิกษุอื่น  คนไทยก็พูดว่า "ชั่วช่างชี   ไม่ดีช่างเถร" 


คำโคลงโลกนิติก็เปรียบเทียบว่า

                      "โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง   เมล็ดงา
                        ปองติฉินนินทา          ห่อนเว้น
                        โทษตนเท่าภูผา         หนักยิ่ง
                         ป้องปิดคิดซ่อนเร้น    เรื่องร้าย  หายสูญ ฯ"


๒๕.หว่านพืชจักเอาผล
หว่าน - โปรย  เช่นหว่านข้าว หรือโปรยเมล็ดข้าว
พืช - เมล็ดพันธ์ของต้นไม้ที่จะก่อให้เกิดพันธ์ต่อไป  เช่น ข้าวเปลือก ถั่ว งา
หว่านพืช - คือการที่เอาเมล็ดพืชหว่านโปรยลงบนดิน  การที่คนเอาเมล็ดพืชหว่านโปรยลงบนดินพื้นไร่ที่ไถแล้วเช่นนี้  มิใช่ว่าจะหว่านให้นกกากิน  แต่หว่านลงไปก็ด้วยความหวังว่า  เมล็ดพืชจะงอกขึ้นมา  แล้วจะเกิดผลมากมายหลายเท่าพันเท่า  จะได้เก็บเกี่ยวเอาผลมาเป็นประโยชน์ภายหลัง 
สุภาษิตนี้จึงเปรียบความได้ว่า   การหว่านพืชก็จะเอาผล  การที่คนลงทุนทำกิจการใด ก็ล้วนแต่หวังจะเอาผลทั้งนั้น แม้แต่ทำบุญทำทาน  ก็หวังบุญกุศล 
เป็นการเตือนสติว่า คนที่เขาทำบุญคุณกับเรา เขาก็หวังผลกำไรบ้าง  ไม่เอาบุญกุศล ก็เอาบุญคุณ ที่จะได้รับในภายหน้า  เราจะเอาอะไรก็ต้องยอมลงทุนก่อน  สิ่งที่ได้รับมาคือสิ่งที่เสียไป ไม่ลงทุนก็ไม่ได้กำไร (สิ่งที่ได้มา คือ ทุนทรัพย์ ทุนปัญญาและทุน การกระทำ)  

๒๖. เลี้ยงคนจักกินแรง
เลี้ยงคน - ได้แก่การให้ข้าวให้น้ำให้อาหารเลี้ยงคนให้กินอิ่ม  มื้อหนึ่งคราวหนึ่ง หรือการเอาคนมาเลี้ยงไว้ในบ้านเรือนเป็นลูกจ้าง  ลูกบุญธรรมก็ดี ล้วนแต่หวังจะใช้แรงงานทำรายได้ให้แก่เรา มิฉนั้นก็จะไม่ลงทุนเลี้ยงดู
กินแรง - ได้แก่เอาผลจากแรงงานที่เขาทำให้ ลูกจ้างก็ดี กรรมกรก็ดีล้วนแต่ลงแรงทำงาน  ทำให้เกิดผลิตผลจากแรงงานน้ันเป็นเงินเป็นทอง
สอนว่า ที่เขาเลี้ยงผู้คน เขาก็ย่อมหมายจะเอาแรงงานเขา  คำว่าเลีัยงคนจักกินแรง นี้ เป็นคนละความคนละประโยค กับหว่านพืชจักหวังผล ไม่ใช่ขยายความบทแรก  มีความหมายแยกออกจากประโยคแรกอย่างเด่นชัด  มีความหมายสำเร็จรูปอยู่ในตัวเองโดยเฉพาะ  เป็นอีกข้อความหนึ่งต่างหาก

๒๗. อย่าขัดแข็งผู้ใหญ่
ขัด - ขวาง ขีน ดื้อ ดึง ดัน ไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งสอน ไม่ยอมทำตามคำของผู้ใหญ่  โต้เถึยงขัดแย้ง
แข็ง - กระด้าง ไม่ยอมอ่อนน้อม ไม่เคารพคารวะ แสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง ไม่ยอมอยู่ในโอวาท ประกาศตัวเป็นอิสระ กระด้างกระเดื่องต่อผู้ใหญ่
สอนว่า มิให้กระด้างกระเดื่องดื้อดึงต่อผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ - พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชา ญาติผู้ใหญ่ พี่ป้าน้าอา
พระพุทธเจ้าสอนไว้ในมงคล ๓๘ ประการว่า  ความเคารพคนที่ควรเคารพ ๑ ความไม่จองหองพองลมเป็นมงคลอุดม
สุภาษิตนี้จึงนำมาจากคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา

๒๘. อย่าใฝ่ตนให้เกิน
ใฝ่ - ความคิดฝัน ความมุั่งหมาดปรารถนา ความทะเยอทะยาน ความอยากได้ ความอยากดี  ความอยากมี ความอยากเป็น  อยากเด่น อยากดัง อย่างใหญ่
ตน - ตัวเอง หมายถึงความอยากที่เกิดกับตัวเอง ไม่เกี่ยวกับภายนอกตัว จึงไม่ใช่คำว่า "อย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์"  เพราะคำนี้มีความหมายที่จะเอื้อมเอาสิ่งที่สูงกว่าตน  เช่นอยากได้คู่รักที่ร่ำรวยกว่าตน เป็นต้น  แต่คำว่า อย่าใฝ่ตนให้เกินนี้ เป็นเรื่องอยากมี อยากเด่น อยากดัง เฉพาะตนเอง
สอนว่า อย่าใฝ่ฝันอยากดี  อยากเด่น อยากดังให้เกินไป  เพราะมีคำพังเพยว่า  "ไม้สูงกว่าแม้มักจะแพ้ลมบน  คนสูงกว่าคนมักจะหักกลางคัน"  หรือ "สูงนักมักหักด้วยแรงลม"
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า " ความสันโดษ(พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่เป็นอยู่) เป็นมงคลอันอุดม" 

๒๙. เดิรทางอย่าเดิรเปลี่ยว
เดิร - เป็นภาษาเขมร  โบราณเขียน เดร -ดำเนิร เพื่อแสดงว่าเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่ใช่ภาษาไทยแท้
ภาษาไทยเดิมคำว่า เดิน ใช้คำว่า เต้า หรือ ไต่เต้า เช่น คำว่า เต้าเรือน - ไปเรือน  เดินกลับไปบ้านเรือน
เปลี่ยว - เปลี่ยวกาย เปลี่ยวใจ หมายถึง ไม่มีเพื่อน ไม่มีคู่คิด คู่ตาย ผิดกับคำว่า "เดี่ยว"  เช่นตาลเดี่ยว ยืนเดี่ยว ซึงแปลว่า ต้นเดียวหรือคนเดียว โดยไม่มีความจำเป็นต้องมีเพื่อน เพราะไม่ได้เดินทางที่ต้องการเพื่อนป้องกัน 
สอนว่า การเดินทางไกล หรือเดินทางไปในป่า หรือที่อาจจะมีภัยอันตรายอย่าเดินคนเดียวเปลี่ยวกายเปลี่ยวใจ  ไร้เพื่อนคู่คิดคู่ตาย
คนโบราณมีคำพังเพยว่า  "คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับบ้านได้" 

๓๐. น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ
น้ำเชี่ยว -น้ำทีไหลมาโดยเร็วและโดยแรง  เชี่ยวกราก หมายถึงน้ำที่ไหลมาจากที่สูงโดยแรง เสียงดังกราก 
ขวางเรือ - เอาเรือขวางลำกลางน้ำไหลเชี่ยว เรือจะล่ม
สอนว่า น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือขวาง  เรือจะล่ม เปรียบได้กับอารมณ์โกรธของคนมีโทษะแรง  ก็เหมือนน้ำไหลเชี่ยว  อย่าเอาตัวเข้าขวางหน้าขวางตาขวางอารมณ์โกรธของผู้มีอำนาจ  เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงโดยเร็วก็เหมือนน้ำกำลังไหลเชี่ยว  อย่าเข้่าไปขวางทันที จะได้ไม่มีภัยอันตราย 
ประโยคว่า "น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ" นี้เป็นคำพูดติดปากคนไทยมาช้านานถึงทุกวันนี้

๓๑. ที่ซุ้มเสือจงประหยัด
ที่ซุ้ม - หมายถึง ที่พุ่มไม้ปกคลุม เป็นที่ร่มชิดปิดบัง สำหรับเป็นทีบังแดดบังลม บังฝน และบังตาคน  เรียกว่า "ซุ้ม"  เป็นที่ซ่อนของเสือ สัตว์ร้าย หรือโจร ซุ้มธรรมชาติก็มี  ซุ้มที่คนเอากิ่งไม้มาทำไว้ก็มี

ฉบับของกรมศิลปากรว่า "ที่สุ้ม"  นั้นน่าจะผิด  "สุ้ม" นี้ เป็นคำกิริยาแปลว่าเข้าไปหลบซ่อนนิ่งเงียบในที่ลับ 
ส่วน "ซุ้ม" น้ันเป็นคำนาม  เป็นคำไทยเก่าแก่ ชาวชนบทรู้จักกันดีว่า .ซุ้มคืออะไร ซุ้มคืออย่างไร  เขาหมายถึงที่หลบซ่อนที่กำบัง 
ซุ้มเสือ - ที่หลบซ่อนของเสือ ซึ่งหมายถึงทั้งสัตว์ดุร้าย  และโจรฆ่าคนด้วย  เรียกว่าเสือ หรืออ้ายเสือ
ประหยัด - ระมัดระวังกาย เป็นภาษาเขมร  แปลว่า ระมัดระวัง  ที่จริงคำว่า ประหยัด  มีความหมายลึกซึ้ง หมายถึงค่อยๆโผล่กายเข้าไปอย่างระมัดระวังทีละน้อย  ไม่โผล่พรวดเข้าไปทัังตัว  เพื่อที่จะหลบหลีกหรือเลี่ยงหนีได้ทันท่วงที 
สอนว่า ที่ซุ้มไม้ปกปิด มิดชิด จงระมัดระวังตนให้ดี อาจจะมีเสือป่าซุ่มซ่อนอยู่ อาจมีคนร้ายแฝงกายอยู่ มันจะทำร้ายเอา  คนบ้านนอกบ้านป่าจะเข้าใจคำสอนนี้เป็นอย่างดี 
ฉบับสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ใช้คำว่า  "ซุ้ม" ซึ่งถูกต้อง

๓๒. เร่งระมัดฟืนไฟ
ฉบับกรมศิลปากรว่า  "จงเร่งมัดฟืนไฟ" 
ฉบับสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ว่า "เร่งระมัดฟืนไฟ"  เข้าใจว่าของกรมศิลปากร  เติมคำว่า "จง" ไปคำหนึ่ง เมื่ออ่านดูแล้ว  ไม่จำเป็นต้องมีจง  อยู่ข้างหน้า 
เร่ง - มีความหมายหนักแน่นว่า ให้รีบกระทำอยู่แล้ว  เมื่อตัดคำว่า "จง" ฟังดูไพเราะกว่า  คำกระทัดรัดกว่า และมี ๕ พยางค์พอแล้ว 
ระมัด - เป็นคำเขมร แปลว่า รัดกุม  กระทัดรัด ไทยพูดว่า กระทัดรัดมัดกุม มาจากคำว่า รัด  แผลงเป็นระมัด  คำว่าระมัด นี้ต่างกับคำว่า ระวัง เพราะคำว่า ระวัง ต้องเฝ้าระวัง ตั้งตาคอยระวัง ตั้งใจคอยดู  แต่คำว่า "ระมัด"  แปลว่า ทำให้รัดกุม  เหมาะสม รอบคอบ เป็นการป้องกันอันตราย  ไม่ต้องคอยระวัง เช่น ไม่จุดไฟทิ้งไว้ ไม่เอาเชื้อฟืนกองไว้ใกล้ไฟ  ไม่จุดธูปบูชาพระทิ้งไว้  อย่างนี้เรียกว่า ระมัด 
สอนว่า ให้ทำการให้รัดกุม ป้องกันมิให้ไฟลุกไหม้ขึ้น  เช่นหุงข้าวแล้วก็ต้องดับไฟเสีย  ไม่ปล่อยทิ้งถ่านไว้ในเตา  ต้องระมัดทั้งฟืนและเชื้อไฟ และไฟที่ใช้แล้วก็ดับเสีย  ไม่ทิ้งไว้ 

คำโคลงโลกนิติว่า 
                          "อย่าหมิ่นของเล็กนั้น    สี่สถาน
                            เล็กพริกพระกุมาร        จืดจ้อย
                            งูเล็กเท่าสายพาน        พิษยิ่ง
                            ไฟเล็กเท่าหิ่งห้อย       อย่าได้ดูแคลนฯ "

๓๓. ตนเป็นไทยอย่าคบทาษ
ไทย - มาจากคำว่า "ไท" แปลว่า ความเป็นใหญ่ ความเป็นอิสระ ความเป็นผู้ให้  ความเป็นผู้คุ้มครองป้องกัน 
ทาษ - โบราณเขียนว่า "ทาษ" แปลว่า ความเป็นเด็ก  เช่นคำว่า ทารก ความไม่มีอิสระแก่ตัว  ความเป็นผู้รับ  ความเป็นผู้อยู่ในความคุ้มครองป้องกัน ความเป็นผู้อ่อนแอโง่เขลา 
สอนว่า เมื่อตนเป็นใหญ่ มีความเป็นใหญ่  เป็นอิสระ เป็นผู้ให้ความคุ้มครอง  เป็นผู้เหนือกว่าก็อย่าคบทาษ ซึ่งเป็นผู้น้อย  เป็นผู้ไม่มีอิสระแก่ตัว  เป็นผู้รับทานรับใช้   คำว่าคบในที่นี้หมายถึง  การรักใคร่ได้เสียเป็นผัวเมีย และการคบคิดในทางผิดทางชั่วร้าย 
มงคล ๓๘ ประการ พระพุทธศาสนาก็สอนว่า 
"อเสวนา จ พาลานํ  ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา
ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ "
การคบบัณฑิต ( คือผู้รู้ฉลาด ) การไม่คบคนพาล (คือคนโง่เขลาอ่อนความคิด) เป็นมงคลอันอุดม 
ทาษ ในทีนี้ก็เท่ากับคนโง่เขลา  คนอ่อนความคิด  สุภาษิตนี้จึงมีที่มาจากพุทธภาษิต



(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น