วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอน ๗)



สาระสุภาษิต


๑๘.อย่าโดยคำคนพลอด

โดย - ด้วย ตาม  เช่น คำว่า โดยเสด็จ คือ เสด็จตามไปด้วย   โดยสาร คือ ตามทูตผู้นำพระราชสารไปค้าขาย คนสมัยก่อนการเดินทางลำบากมีภัยมาก  การค้าขายต่างประเทศพ่อค้าต้องอาศัยการถือสารตราไป   จึงเรียก  โดยสาร

คำพลอด - ถ้อยคำ คำพูดที่หวานหู อย่างคนรักพูดพลอดกัน  
สอนว่า อย่าเชื่อคำคนพูดหวานหู  แม้ว่าจะพูดจาอ่อนหวานอย่างไร  เพราะเขาจะลวงให้หลงเชื่อ 

  
๑๙.เข็นเรือทอดกลางถนน
เข็น - ยาก ลำบาก ทุลักทุเล แบก ลาก เช่นคำว่า  เข็นเรือ เข็นเกวียน ต้องออกกำลังลากและแบก ต้องช่วยกันหลายคน  ตรงกับคำว่า "เข็ญ" เช่น ยากเข็ญ เข็ญใจ ยุคเข็ญ  ความเดิมเป็นอย่างเดียวกัน เป็นภาษาเขมร

ทอด - ทิ้ง วาง เช่น ทอดร่าง ทอดกาย นอนทอดอารมณ์ ทอดแห ทอดไข่  เป็นกิริยาอาการของการวางลงไว้ทั้งนั้น  ทอดเรือ คือ วางเรือทอดทิ้งไว้  ทอดสมอ  ก็เอาสมอเรือเกาะดินไว้ให้เรือเกาะลอยอยู่  ไม่ลอยไปตามน้ำ ทอดหุ่ย  คือ นั่งหรือนอนอยู่เฉยๆอย่างเกียจคร้าน  ทอดกฐิน คือเอาผ้าไปวางไว้ท่ามกลางสงฆ์ ทอดผ้าป่า   คือเอาผ้าไปทิ้งไว้ในป่าดังนี้เป็นต้น   ผิดกับคำว่า จอด ซึ่งแปลว่า นิ่งหรือหยุด  เช่น จอดรถ จอดเรือ 

ถนน - ทางที่คนเดินไปเดินมา  จะเป็นทางเท้าหรือทางถนนก็ได้ 
คำสุภาษิตในประโยคนี้น่าจะขาดคำว่า "อย่า" อีกคำหนึ่ง   คือ "อย่าเข็นเรือทอดกลางถนน" ถ้าใส่คำว่า "อย่า" ลงไป คำร่ายนี้ก็ไม่เกิน ๖ คำ  แต่บางทีท่านอาจจะละมาจากประโยคแรกที่ว่า  "อย่าโดยคำคนพลอด" ก็ได้   แต่เป็นคนละประโยคคนละความกัน ไม่ใช่ประโยคขยายความประโยคแรก  เพราะ คำคนพลอด กับ เรือ นั้นคนละเรื่องกัน 

๒๐. เป็นคนอย่าทำใหญ่
คน - มาจากคำว่า บุคคล  ไทยตัดเอามาพูดสั้นๆว่า คน คำเดียว หมายถึงตัวตนที่เป็นรูปกายกระทำกรรมต่างๆได้ 

เป็นคน - หมายถึง เป็นตัวตนมีรูปกาย  คิดได้ พูดได้ ทำได้ ก็เหมือนคนอื่นๆซึ่งเท่าเทียมกัน   ไม่มีใครใหญ่กว่าใครโดยรูปกายมีสภาวะอย่างเดียวกัน  เกิด แก่ แล้วก็ตายเหมือนกัน แม้จะมีชาติตระกูล ฐานะ  รูปร่างต่างกันบ้าง ก็มีสภาวะเป็นคนเหมือนกัน 

ทำใหญ่ - คือ อาการวางโต วางอำนาจ ไว้ยศไว้ศักดิ์ อวดวิเศษกว่าคนอื่น  ภาษาบาลี "วาโต"  คืออาการพองลมเหมือนอึ่งอ่าง  "นิวาโต"  แปลว่า ไม่พองลม  ภาษาปัจจุบันก็คือ ไม่เบ่ง ไม่วางก้าม ไม่วางโต

สอนว่า เป็นคนคือมีสภาวะเหมือนคนอื่นๆทั่วไป  อย่าวางโตวางก้าม ทำใหญ่โตเกินกว่าคนอื่น 
 คนไทยสอนให้อ่อนน้อมตน สงบเสงี่ยมเจียมตน  ไม่วางท่า ไม่ไว้ยศ เป็นวัฒนธรรมของไทยโบราณ แม้เป็นพระราชา  ท่านก็สอนให้มี "มทวํ" คือความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรม 

๒๑. ข้าคนไพร่อย่าไฟฟุน
ข้าคน - คือ บ่าวไพร่ ข้าทาส บริวาร คนรับใช้ ลูกจ้าง 
ไพร่ - คือ พลเมืองทั่วไปที่ใช้แรงงาน ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพ ด้วยแรงกาย ชาวไร่ ชาวนา อันเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง  ท่านจึงเรียกว่า ไพร่บ้านพลเมือง  ซึ่งแปลว่าเป็นแรงของบ้านเป็นกำลังของเมือง   ไพร่ มาจากคำว่า ไพร  คือ ป่าเปรียบเหมือนต้นไม้ในป่ามีนานาพันธ์  ต้นไม้แต่ละต้นเรียกว่า พฤกษ์ รวมกันเข้าเรียกว่า ไพร   ไพร่  ก็เหมือนกับต้นไม้ในป่าซึ่งอยู่ใต้ฟ้า  ท่านจึงพูดว่า ไพร่ฟ้า  ไพรมีฟ้าปกคลุมอยู่ มีฝนจากฟ้ามาบำรุงให้คงเป็นไพรอยูได้  ไพร่จึงมิใช่คำเรียกอย่างดูแคลน   แต่ความหมายเปลี่ยนไปภายหลัง เพราะไม่เข้าใจความเดิม 

ไฟฟุน - คือไฟได้เชื้อฟืน  ฟุน แปลว่า ฟืน  ไฟเมื่อได้เชื้อฟืนก็ลุกไหม้  ไฟฟุน จึงมีความหมายว่าไฟได้ได้ฟืน   หรือไฟได้เชื้อก็ลุกไหม้  เปรียบเหมือนอารมณ์โกรธ บันดาลโทสะของตน
สอนว่า อย่าลุแก่โทสะ  อยาลุแก่อำนาจ บันดาลโทสะแก่คนในปกครอง คนรับใช้ คนงาน หรือบริวารของตน

๒๒. คบขุนนางอย่าโหด
ขุนนาง - ข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์  ชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปเรียกว่า ขุนนาง  ไม่เลือกว่าพลเรือนหรือทหาร   คู่กับคำว่า เจ้านาย ได้แก่ผู้ที่เป็นพระประยูรญาติพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ชั้น หม่อมเจ้าขึ้นไป
โหด - หด สั้น เหนียวแน่น ตระหนี่ มาจากคำว่า "หด" พูดให้เป็นเสียงยาวไป ได้แก่คำว่า "หดไร้"  หรือ "โหดไร้" แปลว่า  เหนียวแน่นไม่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่   ภายหลังพูดว่า โหดร้าย หมายความว่าเห เหนียวแน่นเหลือเกิน  จนกลายเป็นคนใจร้ายใจดำ  ทนดูคนอื่นอดตายก็ได้  ไม่ยอมช่วยเหลือ  "นกไร้ ไม้โหด"  แปลว่า  ต้นไม้ที่ไร้ผล นกกฺ็ไม่มีมาเกาะ
สอนว่า เมื่อคบขุนนางแล้ว   อย่าใจคอเหนียวแน่น ตระหนี่ ต้องใจคอกว้างขวาง ยอมเสียสละของกำนัล และเลี้ยงดูให้ดี จึงจะได้รับความสะดวกสบายในการติดต่อราชการ  ขอความช่วยเหลือ

๒๓. โทษตนผิดรำพึง
โทษ - ความผิด ความบกพร่อง  ความไม่ดีงาม ความชั่ว
รำพึง - ความระลึก นึกคิด คำนึง บ่นถึง
สอนว่า ให้นึกถึงความคิด ความบกพร่อง ความไม่ดีงาม  ความผิดพลาด หรือ ความชั่วของตนเอง  เป็นพุทธภาษิต  ที่สอนให้เตือนตนของตนเอง  ตรงกับคำว่า "โจทย์ตน"  เป็นโจทย์กล่าวโทษตนเอง   ตามที่ท่านแต่งไว้เป็นคำกลอนว่า

"ตนของตนเตือนตนให้พ้นผิด
ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน
ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน
ตนแชเชือนเตือนตนให้พ้นภัย"


                                                        (โปรดติดตามตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น