วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอน ๙)



สาระสุภาษิต

๓๔. อย่าประมาทท่านผู้ดี
ประมาท - ดูหมิ่น ดูแคลน ดูเบา ดูถูก คือไม่ดูให้ถี่ถ้วน  ไม่ดูใหถ่องแท้เป็นการดูอย่างผิวเผิน อย่างละเลย เพิกเฉย ไม่พินิจพิจารณา คำนี้ไมใช่เหยียดหยาม แต่ตรงกับคำว่า "ดูถูก" คือตีราคาถูก หรือตีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง
ผู้ดี - ได้แก่ผู้ดีโดยชาติตระกูล ดีโดยความประพฤติภายนอก ดีโดยกิริยาวาจา ดีโดยคุณธรรมภายในจิตใจ   ดี ๔ประการนี้ เรียกว่า "ผู้ดี"
ท่านจึงสอนว่า  อย่าดูถูกผู้ดี (อย่าตีราคาถูก) อย่าดูหมิ่นผู้ดี(ดูเพียงผิวเผิน)  อย่าดูเบาผู้ดี (อย่าดูเพียงเบาบาง)  ต้องดูให้หนักแน่น อย่าดุแคลนผู้ดี  คืออย่าดูแต่เพียงเล็กๆน้อยๆ ให้ดูมากๆ

คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"อย่าดูหมิ่นของเล็กน้ัน   สี่สถาน
  เล็กพริกพระกุมาร          จึดจ้อย" 
พระกุมารคือ ชาติผู้ดีโดยชาติตระกูล  ห้ามดูถูกดูหมิ่น เติบโตมีบุญวาสนาได้เป็นพระมหากษัตริย์  ปกครองคนมากมาย มีกำลังมากนัก 
คนโบราณพูดว่า "อย่าประมาทชาติผู้ดี"  ก็คงมาจากคำนี้  อาจจะถูกต้องกับคำดั้งเดิมของภาษิตนี้มากกว่า 

๓๕. มีสินอย่าอวดมั่ง 
สิน - เงิน ทอง เข้าของ ทรัพย์สมบัติ บ้านเรือน ไร่นา วัวควาย ข้าคน 
มั่ง - มั่งมี ร่ำรวย มีทรัพย์มาก เศรษฐี 
สอนว่า มีทรัพย์แล้วอย่าอวดรวย  จะเป็นที่เขม่นหมั่นไส้ของคนอื่น  จะเป็นที่บาดตาบาดใจคน  จะเป็นที่ริษยาของคน จะเป็นที่ปองร้ายของโจร  จะเป็นอันตรายแก่ตน คนมีมากก็ยิ่งถ่มยิ่งปกปิด  เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง คนมีไม่มากจริงมักโอ่อ่าอวดรวย  ต้นข้าวมีรวงมักจะน้อมรวงลงต่ำ  เพราะหนักคอ  รวงข้าวเมล็ดลีบมักจะชูรวงสูง  เพราะเบาคอรวง พระพุทธเจ้าสอนว่า "นิวาโต" อย่าพองลม  หรืออย่าเบ่ง อย่าโอ่อวด  สุภาษิตนี้ก็อยู่ในแนวคำสอนของพระพุทธศาสนา

๓๖. ผู้เฒ่าสั่งจงจำความ
สั่ง - สั่งสอน บอกเล่า ชี้แจง แนะ นำ ผูกมัด ดึง  อันที่จริงคำไทยที่พูดว่า สั่งสอน นั้นคือ(สั่ง/ ศร)  นั่นเอง คือ บอกเล่า ชี้แจง แนะนำ ฝึกฝนแล้วก็ยอมรับ อ่อนน้อม ยอมตามโดยดี ไม่แข็งขืนเหมือนกับศร  อ่อนน้อมไปตามสายเชือกที่ผูกดึงไว้  แต่เขียนเป็น "สั่งสอน" จีงไม่รู้ที่มาของคำเดิม  ซึ่งแปลว่า ผูกดึงให้อ่อนน้อม 
ผู้เฒ่า - ปู่ ย่า ตา ยาย ครู อาจารย์  พ่อแม่ พี่ป้าน้าอา ผู้มีอายุสูง  ผู้พบเห็นโลกมามากกว่า ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน 
สอนว่า ผู้เฒ่าสั่งสอนจงจดจำถ้อยความ และเนื้อความหมายไว้  ย่อมจะได้รับประโยชน์เป็นคุณแก่ตน  เป็นมงคลแก่ตัว

๓๗. ที่ขวากหนามอย่าเสียเกือก 
ฉบับของกรมศิลปากรที่ว่า "ที่ขวากหนามอย่าเสียเกลือก" นั้นเห็นจะผิดแน่ เพราะแปลความหมายไม่ได้ 
ฉบับของกรมสมเด็จพระยาปวเรศฯว่า "ที่ขวากหนามอย่าเสียเกือก"  ความหมายดีกว่ามาก แปลความหมายได้
ขวาก - ไม้แหลมที่เซี่ยมไว้  ปักไว้บนพื้นดินให้เหยียบเป็นรูป #  บางหยักเป็นเรียวเหมือนเบ็ดดังรูป #นี้สำหรับปักไว้กันขโมย  หรือขโมยลักของไปแล้วปักขวากไว้ตามทาง เมื่อคนติดตามไปก็จะเหยียบขวาก เป็นอันตรายติดตามขโมยไม่ทัน
หนาม - หนามของต้นไม้แหลม ที่เกิดเองตามธรรมชาติ เช่น หนามไผ่ หนามงิ้ว 
ขวากกับหนามเป็นเครื่องกีดกัน อาจทิ่มตำเอา  เลยเอามาเป็นอุปสรรคว่า ขวากหนาม 
เสีย - ไม่ได้ ไม่มี ไม่ใช้ ไม่สวมใส่ เช่น เสียสัตย์ ก็คือไม่มีสัตย์ ไม่รักษาสัตย์ไว้  เสียเกือก คือ ไม่มีเกือก  ไม่ใส่เกือก  รองเท้าทำด้วยหนังสัตว์ตากแห้ง เช่นหนังควาย  ตัดให้พอดีเท้า เจาะรูมีสายสวมคีบไว้ด้วยนิ้ว เรียกว่า เกือก 
สอนว่า การเดินทางที่มีขวากหนาม ขวางกั้นอยู่ อย่าทิ้งเกือกให้สวมเกือกไว้  ส่วนคำว่า "เกลือก"  แปลว่า กลิ้ง คลุก  เช่นพูดว่า เกลือกกลิ้ง   หรือ เกลือกตัวลงบนดิน  อย่างที่พูดว่า ควายเกลือกโคลน  เอามาใช้กับเรื่องขวากหนามไม่ได้  ฉบับของกรมศิลปากรจึงผิดแน่

๓๘. ทำรั้วเรือกไว้กันตน
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "ทำรั้วเรือกไว้กับตน" เห็นว่าผิดแน่  เพราะทำรั้วไว้กับตัวกับตนนี้ มองไม่เห็นว่าจะทำได้  ถุ้าทำไว้ป้องกันตนก็ทำได้มีความหมายถูกต้อง  
รั้ว - สิ่งที่ทำไว้ล้อมบ้านเรียกว่า รั้ว  ทำด้วยเรียวหนามไม้ไผ่ หรือปลูกเป็นต้นไม้ล้อม  เช่นพู่ระหงส์ก็เรียกว่า รั้ว  ต่อมาทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ หรือสังกะสีก็เรียกว่า ร้้ว  ถ้าทำด้วยอิฐก็เรียกว่า กำแพง  ถ้าทำด้วยไม้ล้อมขังสัตว์ เรียกว่า คอก   ถ้าทำขังหมูขังไก่ เรียกว่า เล้า
เรือก - ทำด้วยไม้ไผ่ ผ่าเป็นซี่ๆ ขนาดกว้างสัก ๒ นิ้ว  ผูกเรียงติดกันด้วยเชือก หรือเส้นตอก  เรียกว่า เรือก สำหรับปูพื้นเรือนไม้ไผ่  หรือทำแคร่นอน หรือสำหรับใส่ศพของชาวบ้านเรียกว่า "เรือก" ทั้งสิ้น ถ้าทำเป็นซี่เล็กๆสำหรับดักปลา เรียกว่า "เฝือก"  
รวมความว่า   รั้วสำหรับล้อมบ้านมิให้ใครล่วงล้ำเข้ามาถึงเรือน  ส่วน เรือก สำหรับปูพื้นหรือทำแคร่นอนกันตก  หรือทำสำหรับใส่ศพ  เป็นสิ่งป้องกันหรือห่อกาย  เรียกว่า เรือก 
สอนว่าให้ทำรั้วไว้ล้อมบ้านไว้กันขโมยโจรผู้ร้าย  หรือสัตว์ร้ายเป็นเครื่องป้องกันภายนอก  ให้ทำเรือกไว้สำหรับนอน  สำหรับนั่ง หรือป้องกันร่างกายคนเรา ภายใน อีกชั้นหนึ่ง  หมายความว่าให้ทำเครื่องป้องกันภัยไว้สองชั้นทั้งภายนอกและภายใน จึงจะถูกต้อง ไม่ใช่คำว่า "ทำร้ัวเรือกไว้กับตน"  เพราะหมายความว่า การป้องกันตนต้องทำทั้งภายนอกและภายใน 

๓๙. คนรักอย่าวางใจ
รัก - โบราณเขียนว่า "รักษ์" เพราะคำว่า รักในภาษาไทย มาจากคำว่า "รักษ์" ในภาษาบาลี  มีความหมายว่า "รักษา ป้องกัน ทถนอม" ดังเช่น น้ำรัก ที่เอามาลงรักเนื้อวัตถุ เพื่อรักษาเนื้อวัตถุ  เช่น พระพุทธรูปให้คงทน  แล้วปิดทองทับให้สวยงาม  คำว่า "รัก" จึงมีความหมายดั้งเดิมอย่างเดียวกับคำว่า "รักษ์" 
คนรัก - คือคนที่ทนุถนอมน้ำใจกันมิให้เจือจาง  ห่างเหิน หมางกัน หมายถึงผู้หญิงที่เป็นคู่รัก  และเพื่อนฝูงที่รักใคร่ชอบพอสนิทสนมกัน เรียกว่า "คนรัก"  
สอนว่า คนรักอย่าวางใจ ดังคำว่า  "อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง" 
โคลงโลกนิติ ว่า
" ช้างสาร    หกศอกไซร้      เสียงา
   งูเห่า        กลายเป็นปลา  อย่าต้อง
   ข้าเก่า      แต่ปู่ตา             ตนปู่ ก็ดี
   เมียรัก     อยู่ร่วมห้อง       อย่าไว้วางใจฯ "
สุภาษิตนี้จึงมีที่มาโลกนิติ แหล่งเดียวกัน มิให้ภาษาไทยแท้แต่เดิม

๔๐.มีที่ภัยจงหลีก
ฉบับกรมศิลปากรว่า "ที่มีภัยพึงหลีก" ฉบับของกรมพระยาปวเรศฯ ว่า "มีที่ภัยจงหลีก"  สองประโยคนี้มีความหมายหนักเบาต่างกัน 
ที่มีภัย   นั้นหมายความตรงตัวว่า ที่ตรงน้ันมีภัยพึงหลีกเสีย  อย่าเข้าไปหาภัยนั้น ซึ่งตามธรรมดาคนเราเมื่อรู้ว่าที่น้ันมีภัยก็หลีกอยู่แล้ว  ไม่ต้องมาสั่งสอนกันอีก เป็นสามัญสำนึกอยู่แล้ว 
มีที่ภัย   หมายความว่า  ถ้ามีสิ่งที่อาจเป็นภัย  หรือมีที่ภัยจะเกิดขึ้นก็จงหลีกเสีย   "มีที่ภัย" ในที่นี้ไม่เฉพาะแต่รูปธรรมที่เห็นด้วยตา  เช่น ไฟ โจร เสือ เป็นต้น  แตหมายถึงนามธรรมด้วย เช่น ความชั่ว ความบาป ความผิด ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  คนชั่วคนพาลต้องหลีกเลี่ยงเสีย  อย่ากระทำการคบค้าสมาคมด้วย  
"จง"  เป็นคำสั่งสอนหนักแน่น 
"พึง" เป็นคำเตือน 
เพราะฉนัน คำว่า "มีที่ภัยจงหลีก"  น่าจะถูกต้องกว่า  "ที่มีภัยพึงหลีก"

๔๑. ปลีกตนไปโดยด่วน 
ไม่ใช่คำขยายความประโยคที่ ๔๐ ข้างต้น เป็นคำอีกคำหนึ่งต่างหาก
ปลีก - เอาตัวรอด ถอยออกห่าง ไม่คลุกคลี  ไม่มั่วสุม ไม่เกี่ยวข้องด้วย  ไม่คละเคล้า ไม่รวมตัวอยู่ด้วย  เช่น คำว่า เงินปลีก  ก็คือเงินที่แยกออกมาได้ มีค่าในตัวต่างหาก  เช่นเหรียญบาท เหรียญสลึง  หรือสตางค์ สินค้าปลึก  คือ สินค้าย่อยชิ้นเดียว  ไม่รวมกันจำนวนมาก  คำว่า "ปลีก" แปลว่า "แยก"
สอนว่าให้ปลึกตัวให้พ้นจากการมั่วสุมกับคนชั่ว  หรือหมู่คณะที่จะนำไปสู่ความเสื่อมเสียอย่างที่พูดกันว่า "พวกมากลากไป" 
โดยด่วน  คือโดยเร็ว เดี๋ยวนี้ อย่าช้า อย่านอนใจ 

๔๒. ได้ส่วนอย่ามักมาก
ได้ส่วน - ได้รับมาส่วนหนึ่ง ในจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมด  จะมากหรือน้อย จะเป็นหนึงในห้า  หรือหนึ่งในสิบก็ตาม  เรียกว่าได้ส่วนแล้วตามที่ควรมีควรได้ 
มักมาก - โลภมาก อยากได้มาก  พยายามจะให้ได้เพิ่มอีก  ไม่พอใจในส่วนแบ่ง
สอนว่า เมื่อได้มาส่วนหนึ่งแล้ว ก็จงพอใจในส่วนที่ได้  อย่าโลภมากเหมือนตาอินตานา  ได้ปลามา ๑ ตัว แบ่งหัวแบ่งหางกันไม่ตก  ต้องไปหาตาอยู่ตัดสิน  เอาหัวพุงไปกินเสีย  คนไทยสอนว่า "โลภมากมักลาภหาย" สอนไม่ให้โลภมาก 
พระพุทธภาษิตเรื่องมงคล ๓๘ ประการสอนว่า "สันตุฎฐี  ความยินดีพอใจในสิ่งทีมีที่ได้  เป็นมงคลอันอุดม" 

๔๒. อย่ามีปากกว่าคน
ปาก - มีไว้สำหรับกิน(เข้าไป) และ พูด(ออกมา) มีคุณประโยชน์ - อย่างนี้
กว่า - มากกว่า เกินกว่า  คือไม่พอดี มีปากมากกว่าปกติ
คน - มีปากเดียว ใช้ประโยชน์ ๒ อย่างคือกินและพูด 
สอนไม่ให้มีปากมากกว่าคน  ก็หมายความว่า อย่าปากมาก อย่าพูดมาก  อย่าใช้ปากสำหรับกัดเหมือนสุนัข  หรือเห่าเหมือนสุนัข  อย่าใช้ปากทำร้ายท่านด้วยการด่าแช่ง  ทำร้ายผู้อื่น คนไทยสอนกันว่า "อย่าค่อนท่านด้วยปาก อย่าถากท่านด้วยตา"

     พระพุทธศาสนาสอนว่า อย่าพูดปด  อย่าพูดเพ้อเจ้อ อย่าพูดเหลวไหล สุภาษิตนี้ก็มาจากคำสอนในศาสนาพุทธ ที่ซึมซาบอยู่ในจิตใจคนไทยทั่วไป  จึงสอนว่า "อย่ามีปากกว่าคน" 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น