บัณฑิตพระร่วง |
๐สาระคำสอนในบัณฑิตพระร่วงนี้ มีอยู่ทั้งหมด ๑๖๔ ข้อ จะหยิบยกมากล่าวเป็นข้อๆไปดังนี้
๑. เมื่อน้อยให้เรียนวิชา
ตรงกับโคลงโลกนิติที่ว่า
"ปางน้อยสำเหนียกรู้ เรียนคุณ"
คำว่า"น้อย" คือ เล็ก หรือ เด็ก
สอนว่า เมื่อเด็กให้เรียนวิชาหาความรู้หาความดีใส่ตัว
๒. ให้หาสินเมื่อใหญ่
ตรงกับคำโคลงโลกนิติที่ว่า
"ครั้นใหญ่ย่อมหาทุน ทรัพย์ไว้"
สอนว่าให้แสวงหาทรัพย์เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว
๓. อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่าน
คำโคลงโลกนิติว่า:
" ทรัพย์ท่านคืออิฐผา กระเบื้อง"
สอนว่าอย่าโลภทรัพย์ของผู้อื่น ให้มองทรัพย์ของผู้อื่นเหมือนว่าเป็นอิฐ หิน กระเบื้อง ไม่มีค่าสำหรับเรา
๔. อย่าริร่านแก่ความ
ริ คือเริ่มคิด เริ่มทำ เช่นคำว่า ริอ่าน
ร่าน คือ ร้อนใจ อยู่ไม่สุข อยาก กระเหี้ยนกระหือ
สอนว่าอย่าริร่านแก่ความ ก็คือ อย่าเป็นถ้อยเป็นความเพราะมีแต่ทางเสีย ปรองดองกันดีกว่า ยอมแพ้ดีกว่า ตรงกับภาษิตจีนว่า "เป็นความกินขึ้หมาดีกว่า"
๕.ประพฤติตามบูรพ์ระบอบ
บูรพ์ หมายถึง ก่อนเล่า โบราณ
ระบอบ หมายถึง แบบแผน ประเพณี
สอนว่าให้ประพฤติตามแบบประเพณี
๖. เอาแต่ชอบเสียผิด
ชอบ - ถูก ดี ควร
ผิด - ชั่ว ร้าย เลว บาป
เสีย- สละ ละเว้น
สอนให้ทำแต่ชอบไม่ทำชั่ว ทำดีละชั่ว ตรงกับคำสอนในพระพุทธศาสนา
สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ
๗.อย่ากอบกิจเป็นพาล
ฉบับที่ใช้คำว่า "ประกอบ" เห็นจะผิด เพราะคำเกิน ที่ถูกควรเป็น "กอบ" แปลว่า กระทำ หรือการร่วมมือด้วย
พาล- โง่ อ่อนความคิด
สอนให้ทำตนให้ถูกต้อง ประกอบด้วยความคิดที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
๘. อย่าอวดหาญแก่เพื่อน
หาญ - เก่ง กล้า
สอนว่าอย่าอวดเก่ง อวดกล้าแก่เพื่อน เพราะเพื่อนย่อมรู้จักเราดีกว่าเรารู้จักตัวเราเอง ขืนอวดเพื่อนจะขังเอา
โคลงโลกนิติว่า
อวดว่ากล้าอย่าฝัง สัปปลี้"
๙.เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า
เถื่อน - ป่า ดง พงไพร
พร้า - มีด ขวาน อาวุธ
สอนว่าเวลาเข้าป่าอย่าลืมเอามีดติดมือไป เป็นเครื่องมือตัดฟันไม้ และป้องกันสัตว์ร้าย
๑๐. หน้าศึกอย่าวางใจ
ศึก - ศัตรู ผู้ปองร้าย
วาง - เฉย ปล่อย ประมาท
สอนว่า อยู่ต่อหน้าศัตรู หรือประจันหน้ากับศัตรูอย่าไว้ใจ อย่าประมาทให้ระมัดระวังทุกขณะ
๑๑. ไปเรือนท่านอย่านั่งนาน
สอนว่าไปบ้านใครอย่านั่งคุยอยู่นาน เสียการงานของตนและเจ้าของบ้าน หมดธุระแล้วให้รีบกลับ คนที่ไปนั่งคุยตามบ้านเรือนเขานานๆ เป็นคนเกียจคร้าน โบราณว่า "ก้นงอกราก"
๑๒.การเรือนตนเร่งคิด
สอนว่า การงานบ้านเรือนของตนให้เร่งคิด เร่งทำ ไม่ใช่นั่งคุย นั่งคิด นั่งพูด แต่เรื่องของเพื่อนบ้าน ไม่ใช่ธุระการงานของเรา เปล่าประโยชน์ เสียเวลาเสียการงาน
๑๓.อย่านั่งชิดผู้ใหญ่
สอนว่า การนั่งชิด นั่งใกล้ผู้ใหญ่ เป็นการตีเสมอท่าน ไม่เป็นการเคารพ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง การนั่งเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็ห้ามนั่งเฝ้าใกล้เกินไป
๑๔.อย่าใฝ่สูงให้พ้นศักดิ์
พ้น - เกิน
ศักดิ์ - มีความหมายกว้างขวาง คือชาติตระกูลฐานะความเป็นอยู่ทางครอบครัวพ่อแม่ วงศ์ญาติ ความรู้ ความสามารถ รูปร่าง หน้าตาตำแหน่งหน้าที่ วาสนา บารมี และคุณงาม ความดี อันจะทำให้ผู้นั้น มีค่า มีน้ำหนัก หรืออยู่ในฐานะสูงต่ำเพียงใด มิได้หมายถึงยศศักดิ์
ปัจจุบันพูดกันว่า "อย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์" มีความหมายแคบเพียงในด้านความรักและคู่ครอง แต่แท้ที่จริงความหมายกว้างขวาง
๑๕. ที่รักอย่าดูถูก
ที่รัก - หมายถึงคนรัก เพื่อนรัก พ่อแม่ ญาติพี่น้องอันเป็นที่รักของรัก เช่น ทรัพย์สินอันเล็กน้อย แต่เป็นของรักของหวงด้วย
ดูถูก - ตีค่าน้อยเห็นเป็นของต่ำต้อย ดูหมิ่นเหยียดหยาม พูดสบประมาท สอนว่า อย่าดูหมิ่นของรัก ที่รัก คนรัก ดังกล่าวนี้อย่าเห็นเป็นของไร้ค่าราคาต่ำ อย่าเหยียดหยาม ข้ามกรายหรือละเลยทอดทิ้ง
๑๖. ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง
ไมตรี - ความเป็นมิตรด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งสามประการ กายก็คืออยู่ชิดใกล้ ไม่ห่างเหินวาจาก็เป็นมิตร ใจก็เป็นมิตร
ร้าง - เลิก ละ เหินห่าง จืดจาง จาก ไกล แตกแยก
สอนว่า ให้ผูกไมตรีมิให้จึดจางเหินห่าง จากผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องด้วย
คำโคลงโลกนิติว่า
" ใครจะผูกโลกแม้ รัดรึง
เหล็กเท่าลำตาลตรึง ไป่หมั่น
มนต์ยาผูกนานทึง หายเสื่อม
ผูกด้วยไมตรีนั้น แน่แท้ วันตาย ฯ"
๑๗.สร้างกุศลอย่ารู้โรย
กุศล - ความฉลาด ความดี ความงาม บุญ เพราะคนฉลาดเท่าน้ันที่คิดสร้างแต่คุณงามความดี
โรย - เหี่ยว แห้ง ร่วง หล่น
สอนให้สร้างคุณงามความดี อย่าได้รู้โรยรา เลิกร้าง หรือเลิกละเสีย
พระพุทธเจ้าสอนว่า กตปุญญมโหรตตัง
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น