วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอน ๑๐)


                                                                  สาระสุภาษิต


๔๔.รักตนกว่ารักทรัพย์ 
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า
"พึงสละทรัพย์     เพื่อรักษาร่างกาย
พึงสละอวัยวะ      เพื่อรักษาชีวิต
พึงสละชีวิต         เพื่อรักษาธรรม" 
ทรัพย์มีค่าน้อยกว่าร่างกาย  ร่างกายมีค่าน้อยกว่าชีวิต
สุภาษิตพระร่วงนี้ก็สอนตรงกันคือ  ให้รักตนยิ่งกว่ารักทรัพย์  จึงไม่ใช่ภาษิตไทยเดิมดังที่เข้าใจกัน   เป็นคติธรรมทางพระพุทธศาสนา
คำโคลงโลกนิติว่า
" ช้างม้าเมียมิ่งแก้ว         เงินทอง
ตัวมิตายจักปอง               ย่อมได้
ชีวิตสิ่งเดียวของ              หายาก 
ใช่ประทีบเทียนไต้           ดับแล้วจุดคืนฯ" 

๔๕.อย่าได้รับของเข็ญ
ประโยคนี้มีคำซ้อนคำอยู่ ๒ คำ คือ "อย่าได้" กับ "อย่ารับ"  รวมความว่า"อย่าได้รับ"  รวมความว่า "อย่าอยากได้และอย่าอยากรับ" 
อย่าได้รับ - คืออย่ารับ อย่าอยากได้
ของเข็ญ - ของยาก ของลำบาก ของเดือดร้อน หรือพูดสัันว่าของร้อน                  ได้แก่ของผิดกฎหมาย ของเถื่อน  ของที่โจรลักมา  ห้ามรับ                  ของโจร และของสินบนที่เขาเอามาให้  เพื่อจ้างวานให้เรา                  ประพฤติผิดกฎหมาย และทำนองคลองธรรม ละเว้นไม่                        กระทำตามหน้าที่
สอนว่า อย่าอยากได้ อย่ารับของเถื่อน ของผิดกฎหมาย ของสินบน เพราะเป็นของร้อน  นำความเดือนร้อนมาให้ภายหลัง  เพราะของร้อนนี้มันย่อมจะอยู่กับเราไม่นาน  ได้ง่ายก็ใช้ง่ายหมดไปโดยเร็ว  และยังจะพาทรัพย์สินอื่นของเราให้หมดไปด้วย 
พระพุทธเจ้าสอนว่า คนที่รับของทุจริตไว้  ก็ทำให้ร่างกายเลือดเนื้อของเราถูกบำรุงเลี้ยงด้วยของทุจริต  กลายเป็นร่างกายเลือดเนื้อที่บาป  บุตรที่เกิดมาจากกายบาปใจบาป กินของบาปเข้าไปต้องเป็นลูกทีไม่ดีไม่มีความสุขความเจริญ  สังเกตุได้จากบุตรข้าราชการที่ทุจริตมักจะเป็นบุตรที่ล้างผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อแม่  หรือเกิดมาต้องให้พ่อแม่รับเวรกรรม  เพราะประพฤติชั่ว หรืออายุสั้น 
สุภาษิตนี้เป็นคติธรรมทางพระพุทธศาสนา

๔๖.ผิวะเห็นงามอย่าปอง
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "เห็นงามตาอย่าปอง" 
แต่ฉบับของกรมพระยาปวเรศฯ ว่า" "ผิวเห็นงามอย่าปอง"  
ฉบับของกรมศิลปากรฟังดูเป็นภาษาใหม่กว่า แต่ฉบับของกรมพระยาปวเรศฯ ฟังดูเก่ากว่า  ตรงคำว่า "ผิว" โบราณใช้คำว่า "ผิวะ"หรือ"ผิว่า"  
แม้ในบัณฑิตพระร่วงนี้ก็ยังมีใช้อยู่หลายตอน  เช่น
"ผิวะบังบังจงลับ"  "ผิวะจับจับจงมั่น"  "ผิวะคั้นคั้นจงตาย"  "ผิวะหมายหมายจงแท้"  "ผิวะแก้แก้จงกระจ่าง" 
คำที่ถูกต้องจึงน่าจะเป็น  "ผิวะเห็นงามอย่าปอง"
ผิวะ - ถ้า หาก ริ  เริ่ม
เห็น - เห็นด้วยตา  รู้ด้วยใจ(ธรรมจักษุ) 
งาม - สวย ดี เรียบร้อย ละออตา น่ารักใคร่ 
ปอง- ปรารถนา  รักใคร่ มุ่งประสงค์
สุภาษิตนี้สอนว่า ถ้าเห็นสิ่งสวยงามน่ารักใคร่อย่าอยากได้ (เพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นสิ่งดีมีค่าหรือไม่)  เพราะมีคำพังเพยไทยเราว่าไว้ว่า "ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง" บ้าง "งามกระหรอกเบาะ สาวงามเหมาะมีคนบ่อน"  หรือ "ไม้งามกระรอกเจาะ สาวเหมาะมีคนจอง"

คำโคลงโลกนิติว่าไว้ว่า
"ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้         มีพรรณ
ภายนอกดูแดงฉัน           ชาดบ้าย
ภายในย่อมแมลงวัน        หนอนบ่อน
ดุจดั่งใจคนร้าย                นอกนั้นดูดี"
สุภาษิตนี้ก็ตรงกับ บัณฑิตพระร่วง เป็นคติธรรมทางพระพุทธศาสนา

๔๗. ของฝากท่านอย่ารับ
"ของฝากท่าน" ในที่นี้คือ ของฝากของท่าน หรือของฝากที่ท่านนำมา  ฝากไว้  ให้เราเก็บรักษาท่านสอนว่าอย่ารับ   คืออย่ารับของที่ท่านนำมาฝากให้ช่วยดูแลรักษาไว้  มิใช่ของฝากของกำนัลที่ท่านนำมามอบให้  
เพราะธรรมดาของฝากน้ันมีแต่นำความเสียหายมาสู่ผู้รับฝากทุกทาง คือ 
๑. ถ้าเก็บรักษาไว้ดี  ก็มีแต่เสมอตัวไม่ได้บุญได้คุณอะไรเลย 
๒. ถ้าสูญหายไปก็ต้องรับผิดชอบชดใช้
๓. ถ้าเผลอใจหรือประมาทนำเอาไปกินไปใช้   ก็จะหลวมตัวเป็นลูกหนึ้ภายหลัง
๔. นานไปเจ้าของเขาลืมจำนวน เช่น ฝากไว้ ๑๐๐๐ ก็ลืมคิดว่า ๒๐๐๐ จะผิดใจกันเปล่า
๕. ชำรุดบกพร่องไปก็จะถูกต่อว่า  ผิดใจกัน เพราะเก็บไว้นาน ไม่ว่าของเราของท่านต้องมีชำรุดบกพร่อง  ยกตัวอย่างชูชกเอาเงินฝากบิดามารดานางอมิตตาไว้จนต้องยกลูกสาวใช้หนี้ 
โบราณจึงสั่งสอนว่า ห้ามรับฝากของท่านไม่มีคุณมีแต่โทษ  เคราะห์ร้ายอาจะมีโจรมาปล้นเอาถึงแก่ชีวิตได้  ท่านถือว่าทรัพย์นั้นเปรียบเหมือนงูพิษ  อาจทำร้ายเอาได้ภายหลัง 

๔๘. ที่ทับจงมีไฟ
ทับ - กระท่อม เรือน ที่อยู่อาศัย   ทับ มาจากคำว่า "ทัพสัมภาระ"  แปลว่าเครื่องปรุงแต่ง  ประกอบเป็นที่อยู่อาศัย
ไฟ - แสงสว่าง  ไต้ เทียน ประทีป  หรือ กองไฟ
บ้านเรือนคนโบราณในชนบท ยังไม่มีไฟฟ้า เวลากลางคืนมืดค่ำ อาจมีภัยด้วย เสือ งู  ช้าง หรือโจรผู้ร้าย  การจุดไฟไว้เป็นเครื่องป้องกันได้อย่างหนึ่ง  ท่านจีงสอนว่า บ้านเรือนต้องมีไฟจุดไว้ในยามค่ำคืน  ตามบ้านนอกสมัยก่อนจึงนิยมกองไฟจุดไว้ที่หน้าบ้านเสมอ  ไม่อยู่กันมืดๆ  เรียกว่า "เอาเสียงเป็นเพื่อนบ้านเรือนมีไฟ"   คำสอนนี้แสดงถึงความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อนด้วยว่า  มีภัยอันตรายจากสัตว์ จึงต้องก่อกองไฟไว้ป้องกันงู เสือ ช้าง เพราะมันกลัวไฟ

๔๙. ที่ไปจงมีเพื่อน
ที่อยู่ คู่กับ ที่ไป คือระหว่างทาง โบราณพูดว่า ที่อยู่ที่ไป  สอนว่า ที่อยู่ให้มีไฟ  ที่ไปให้มีเพื่อน  ที่อยู่เอาไฟเป็นเพื่อน ที่ไปเอาคนเป็นเพื่อน  เจาะจงว่าเพื่อช่วยป้องกันภัยอันตราย  ทั้งที่อยู่และที่ไปจึงต้องหาสิ่งป้องกันไว้เสมอ 
โบราณเห็นคุณค่าของเพื่อน  จึงตั้งชื่อคนที่เป็นมิตรสนิทว่า เพื่อน  เช่นพระเพื่อน พระแพง ในลิลิตพระลอ  คำว่า เพื่อน แปลว่า คู่ชีวิต คำว่า แพง แปลว่า มีค่าสูง คนโบราณจึงต้ังชื่อลูกหลานว่า เพื่อน ,แพง    ด้วยมีความหมายลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิตของคน  
 แต่เพื่อนแท้นั้นหายาก  คำโคลงโลกนิติว่า 
" เพือนกินสิ้นทรัพย์แล้ว       แหนงหนี
  หาง่ายหลายหมื่นมี             มากได้
  เพื่อนตายถ่ายแทนชี          วาอาตม์
  หายากฝากผีไข้                  ยากแท้ จักหาฯ " 
คำพังเพยก็กล่าวไว้ว่า  "คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย  สามคนกลับบ้านได้"  ไปไหนก็ให้มีเพื่อนไว้เสมอ

๕๐. ทางแถวเถื่อนไคลคลา
ทาง- เส้น  แนว  สาย ที่คนหรือสัตว์เดิน 
แถว - แนว ยาว สืบ ต่อ
เถื่อน - ป่า ดง พง ไพร เปลี่ยว ดุ เช่น ช้างเถื่อน ไก่เถื่อน ป่าเถื่อน
ไคล - ไป ออก
คลา - มา เข้า 
ทางแถวเถื่อน หมายถึง เส้นทางที่เป็นป่าดง มีสัตว์ดุร้าย
ทางแถวเถื่อนไคลคลา หมายถึง ทางเดินในป่าดงน้ันมีทั้งสัตว์ร้าย เสือ ช้าง และโจรเข้าออกไปมาอยู่เสมอ  เต็มไปด้วยภัยอันตรายรอบด้าน  ต้องระมัดระวังภัยอยู่เสมอ  ไม่ใช่จะมีแต่ต้นไม้ไพรพฤกษ์เท่านั้น  เป็นคำเตือนสติคนให้มองเห็นภัยของธรรมชาติอันสวยงามของป่าเขาลำเนาไพร

๕๑. ครูบาสอนอย่าโกรธ
ครู ครูบาอาจารย์  - ผู้สั่งสอนศิษย์ ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ศิษย์ 
ครู -  ผู้เต็มไปด้วยน้ำ  คือ ความรู้ และน้ำใจเมตตา ดั่งครุตักน้ำ  ผู้เป็นแบบอย่างความประพฤติชอบ  ดังน้ำอยู่ในกรอบแห่งครุ
บา - มาจาก ชีบา หรือ อุบาสก  เรียกผู้ถือบวชแบบโบราณ  เช่น ครูบาศรีวิชัย เพราะครูแต่โบราณมักเป็นพระสงฆ์ 
สุภาษิตนี้สอนว่า ครูบาอาจารย์ สั่งสอน อบรม ดุด่า ว่ากล่าว อย่าโกรธ เพราะครูปรารถนาดีต่อศิษย์
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
" ช่างหม้อตีหม้อใช่        ตีฉาน  แตกนา
   ตีแต่งเอางามงาน        ชอบใช้
   ดุจศิษย์กับอาจารย์      ตีสั่ง  สอนแฮ
   มิใช่ตีจัดให้                  สู่ห้อง  อบายภูมิ"

คำสุภาษิตพระร่วงจึงเป็นคติธรรมทางพระพุทธศาสนา  คนไทยโบราณถือว่า ครูเป็นพ่อคนที่สอง   จึงเรียกศิษย์ว่า ลูกศิษย์ เท่ากับศิษย์เป็นลูกของครูบาอาจารย์  ครูเป็นบุพพารีมิใช่ลูกจ้างสอนศิษย์  ทรัพย์สินที่ศิษย์มอบให้แก่ครู เรียกว่า ค่ายกครู  หรือ ค่าคำนับครู

๕๒. โทษตนผิดพึงรู้
โทษ - ความผิด ความชั่ว ความไม่ดี ตรงข้ามกับ "คุณ"
ผิด -    ความไม่ถูกต้อง ตรงข้ามกับ "ชอบ" คือ ความถูกต้องตรงตาม               ทำนองคลองธรรม 
สอนว่า ความผิดความชั่ว ความไม่ถูกต้องของตน ควรจะรู้ตัว เมื่อมีผู้ดุด่าว่ากล่าวตนก็ควรยอมรับว่าท่านพูดจริง  ด้วยความหวังดีต่อเรา ถึงไม่มีใครพูด ก็ควรจะจดจำไว้ "เอาผิดเป็นครู"

๕๓. สู้เสียสินอย่าเสียศักดิ์
ศักดิ์ -  ชื่อเสียง เกียรติยศ ความเคารพนับถือตนเอง ความภาคภูมิใจ               ตนเอง ความทนงในเกียรติของตน ทุกคนมีศักดิ์มีศรี  เช่น                   ศักดิ์ศรีของลูกผู้ชาย ศักดิ์ศรีในตำแหน่งการงาน ศักดิ์ศรีใน                 สถาบัน ศักดิ์ศรีในราชตระกูล ศักดิ์ศรีในเชื้อชาติ
สิน -    ทรัพย์ เงิน ทอง ข้าวของ
สุภาษิตนี้สอนว่า ยอมเสียเงินดีกว่าเพื่อรักษาศักดิ์ศรีไว้  อย่ายอมเสียศักดิ์เพื่อไม่ต้องเสียเงิน เงินมีค่าน้อยกว่าศักดิ์ศรี เงินทองหาได้เมื่อมีศักดิ์ศรี  แต่เมื่อไร้ศักดิ์ศรีแล้วเงินทองก็หาไม่ได้ 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"เสียสินสงวนศักดิ์ไว้      วงศ์หงส์
  เสียศักดิ์สู้ประสงค์        สิ่งรู้"
สุภาษิตพระร่วง หรือ บัณฑิตพระร่วงนี้ก็มาจาก โลกนิติปกรณ์ของเก่านั่นเอง 

๕๔. ภักดีอย่ารู้เคียด
ภักดี - ความจงรัก ความดื่มด่ำ ความเลื่อมใส ความเคารพบูชาว่าเป็น              สิ่งมีค่าสูงสุดแก่ชีวิต   เช่น ภรรยาภักดีต่อสามี ลูกชายภักดีต่อ            พ่อแม่ ประชาชนภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว  คนภักดีต่อพระเจ้า
เคียด - โกรธ เคือง ขุ่น แค้น คิดประทุษร้าย คิดไม่ซื่อตรง 
สอนว่า สิ่งทีเราจงรักภักดีน้ัน มีคุณค่าสูงเกินกว่าที่จะคิดโกรธเคือง ดุด่าว่ากล่าวเราอย่างรุนแรงเพียงใดก็ตาม  ให้คิดเสียว่าเป็นเคราะห์กรรมของเรา  โทษตัวเราว่าไม่ดีเอง

๕๕. อย่าเบียดเสียดแก่มิตร
เบียด - เบียดบัง เอาทรัพย์หรือผลประโยชน์มาเป็นของตนด้วยการ               ปิดบังไว้ไม่ให้รู้เห็น
            เบียดเบียน เอาทรัพย์ของเรา เอาคุณความดีของเขามาเป็น                ของตน ทำให้เขาเดือดร้อน
            เบียดบ้าย เอาความไม่ดีของตนไปให้เขา 
            เบียดสี  เอาสีข้างเข้าสี   กระแซะให้เขาต้องออกนอกทางไป             แล้วเข้าแทนที่  เช่นแย่งตำแหน่งหน้าที่การงาน 
            เบียดแทรก เอาตัวสอดแทรกเข้าไปในระหว่างกลาง  ฉกฉวย               โอกาสว่างมาเป็นของตน  
เสียด - เสียบ แทง ยุแยง  เช่นพูดจาส่อเสียด พูดยุยงใส่ร้าย  กระแนะ             กระแหนให้คนเกลียดชัง  
สอนว่า อย่าเบียดเสียดแก่มิตรทุกประเภทตามที่กล่าวแล้ว ตรงกับคำสอนในพระพุทธศาสนาว่า  อย่าพูดปด อย่าพูดหยาบ อย่าพูดส่อเสียด อย่าพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล   
คำสุภาษิตนี้จึงเป็นคติธรรมในพระพุทธศาสนา

๕๖. ที่ผิดช่วยเตือนตอบ
ที่ผิด -  ที่ไม่ถูกต้อง ที่ไม่ชอบธรรม ที่ไม่เหมาะ ที่ไม่ควร  สิ่งที่จะก่อ               ให้เกิดความเสียหายเดือดร้อนภายหลัง  
เตือน - การกระทำให้รู้ตัวทั้งทางตรงทางอ้อม  เช่นพูดตรงๆ พูดเป็น               นัยๆ  ทำอากัปกิริยาด้วยสายตา สีหน้า พูดสั่งไปกับคนอื่น                   จดหมายบอกให้รู้ ประท้วงหยุดการทำงาน  ล้วนแต่เรียกว่า                 เป็นการเตือนทั้งสิ้น     
ตอบ - แทน สนอง โต้ แย้ง แก้ต่าง ชี้แจง 
สอนว่า ถ้าเห็นแก่มิตรของเรา หรือคนที่เรารักใคร่นับถือ หรือเป็นคนดี ถ้ามีอะไรผิดก็ต้องช่วยเตือนให้รู้ตัว  ช่วยแก้ไข ช่วยป้องกัน ช่วยโต้แย้ง 
พระพุทธศาสนาสอนว่า มิตรแท้น้ันต้องป้องกันมิตรยามมีภัย ช่วยรักษาทรัพย์ของมิตร
มิตร ในที่นี้ไม่ได้หมายความแคบแค่เพื่อน หมายถึงคนทั่วไปที่รักใคร่นับถือกัน  พ่อ แม่ ครู คนที่่อยู่ในสถาบันเดียวกัน  เป็นประโยชน์เกื้อกูลกันทั้งทางตรงทางอ้อม นับว่าเป็นมิตรทั้งสิ้น 

๕๗. ที่ชอบช่วยยกยอ
ที่ชอบ - ที่ถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม ตามทำนองคลองธรรมทั้งทางการ               กระทำและความประพฤติ
ยก -       ทำให้สูงขึ้น  ด้วยการยกของขึ้นถือไว้ มิให้ตกต่ำกว่าที่ควร                   เป็น หรือหล่นลงมีอันตราย  
ยอ -       เชิดชู สรรเสริญ  ชมเชย พูดแต่ในทางที่ดี เอาคุณงามความ                 ดีมากล่าว
สอนว่า สิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง เหมาะสม ต้องพูดส่งเสริม สนับสนุน เชิดชู ชมเชยท้ังต่อหน้าและลับหลัง ให้คนท้ังหลายมองเห็น  เมื่อเห็นคนทำดีไม่ยกยอก็จะเป็นคนใจแคบ  ไม่เพิ่มคุณสมบัติของตนเองในข้อ "มุทิตา" ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี  และ "อนุโมทนา" ยินดีเมื่อผู้อื่นทำดี ตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนา

๕๘. อย่าขอของรักมิตร
ศีลห้า ท่านเรียกว่า "นิจศีล" คือ ศีลที่ควรถือไว้เป็นนิจ และสม่ำเสมอเป็นปกติ  เพราะ นิจ แปลว่า เที่ยงตรง มั่นคง และ "ศีล" แปลว่า  ปกติสม่ำเสมอ
ศีลห้ามีอยู่ข้อหนึ่งคือ  "กาเมสุ มิจฉา จารา เวรมณี" ที่มักแปลกันว่า "เว้นจากการประพฤติผิดในกาม"  หรือเข้าใจว่า "ไม่ผิดเมียท่าน ไม่เป็นชู้เมียท่าน"  นั้นเป็นการแปลอย่างแคบที่สุดไม่ตรงตามพุทธประสงค์ ที่ทรงบัญญัติไว้ 
คำแปลที่ถูกต้องแปลว่า "ละเว้นจากการประพฤติผิดในของรักทั้งหลาย"
"กาเมสุ" แปลว่า ของรักทั้งหลาย  ของรักทั้งปวง 
 "ของรักทั้งปวง"ได้แก่อะไร  
อย่างสูงสุดก็คือ  ภรรยา สามี หวงแหนที่สุด ถึงแก่ฆ่ากันก็เพราะเรื่องนี้  สัตว์ก็หวงคู่ของมันที่สุด
รองลงมา คือ บุตร ธิดา  คนที่มีลูกก็จะได้รู้เองว่า  รักและห่วงใย หวงแหนบุตรธิดาเพียงใด  โดยเฉพาะบุตรสาว ใครมาล่วงเกินทำลายก็เสียดาย เสียใจที่สุด
อย่างต่ำที่สุด ก็คือ ทรัพย์ เช่น วัว ควาย สัตว์เลี้ยง  และของรัก เช่น พระเครื่อง กล้วยไม้ สิ่งที่สร้างสมมาด้วยใจรัก  โจรขโมย แม้ไม่ลักแต่มาหักหา หรือทำลายเสีย ก็เป็นการข่มเหงน้ำใจกัน 
ตั้งแต่ภรรยา สามี และของมีค่า  เรียกว่า ของรักทั้งหลาย ของรักทั้งปวง  ตรงกับคำว่า "กาเมสุ" ทั้งสิ้น 
ศีลข้อ ๓  จึงห้ามมิให้ประพฤติผิดในของรักทั้งหลาย ไม่เฉพาะแต่ภรรยาเท่านั้น 
สุภาษิต "อย่าขอของรักมิตร" สอนไว้ว่า คนรักใคร่ชอบพอกันอย่าขอของรักกัน  จะหมางใจกัน  ให้ก็หมางใจกัน ไม่ให้ก็หมางใจกัน  ดังที่คำพังเพยว่า "ขออะไรไม่ว่า นกกระทาไม่ให้"  เพราะนกกระทาเป็นของรักของคนเลี้ยงนกกระทา  มีนิทานเล่ากันอยู่แต่โบราณ

๕๙. ชอบชิดมักจางจาก 
ชอบ - พอใจ รักใคร่ ถูกนิสัยใจคอ เข้ากันได้ดี 
ชิด   - ใกล้ สนิท คุ้นเคย คลุกคลี พัวพัน
จาง - ไม่เข้มข้น จืด เจิ่น หมางเมิน คลาย 
จาก - ร้าง ไกล
สอนว่า คนที่รักใคร่ชอบพอกัน  ถ้าสนิทกันมาก ใกล้ชิดกันมาก  คลุกคลีพัวพันกันมาก  ก็จะมีการล่วงเกิน  หนักเบากัน เหมือนลิ้นกับฟัน  ย่อมจะกระทบกัน ทำให้เกิดความจืดจางห่างเหิน  ผิดใจกันได้ในภายหลัง  คนรักกันอยู่ใกล้ชิดกันมากมักไม่ดี  เพราะจะเห็นความไม่ดีของกันและกัน  กระทบกระเทือนใจกัน  ทำให้ต้องเสียไมตรีกันได้ในภายหลัง 

ต้ังแต่ข้อ ๕๔ - ๕๙ กล่าวถึงการคบมิตรทั้งสิ้น  แต่มีข้อความเป็นเอกเทศแก่กัน 
เป็นคติธรรมทางพระพุทธศาสนาที่สอนเรื่องการคบมิตร  ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเห็นการ "เสวนา" กับคนอื่นนั้นเป็นของสำคัญอย่างยิ่งแก่ชีวิตของคนเรา  มีคำสอนเรื่องการคบมิตรไว้มาก จนถึงกับกล่าวว่า "คบคนเช่นไร ก็เป็นคนเช่นน้ัน"   คบคนพาลก็เป็นคนพาล คนบัณฑิตก็เป็นบัณฑิต ดังนิทานเรื่องนกแขกเต้าสองตัว ตัวหนึ่งไปอยู่กับโจรก็เป็นโจร ตัวหนึ่งไปอยู่กับฤาษีก็มีศีลมีความดี 


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น