วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอน ๑๑)


สาระสุภาษิต

๖๐. พบศัตรูปากปราศรัย
พบ -      พบหน้า เจอหน้า ประจันหน้า
ศัตรู -     คู่แค้น ข้าศึก คู่อริ ไม่ถูกกัน เป็นคู่ทำลายกัน  ล้างผลาญ จอง               เวร แม้ในกรณีที่เขาเป็นฝ่ายกระทำข้างเดียวก็ตาม
ปราศัย - พูดจา ทักทาย สนทนาด้วยการปกติ ไม่แสดงให้เขารู้ว่ารู้เท่า               ทัน  หรือแสดงอาการโกรธเคือง มึนตึง
สอนว่า พบศัตรูให้ปากปราศรัย พูดจาด้วยดี ข่มความรู้สึกไว้ อย่างโบราณว่า "เอาน้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก" และ "คนโง่อยู่ที่ปาก คนฉลาดปากอยู่ทีใจ"  หมายความว่าคนโง่คิดอย่างไรก็พูดออกมาอย่างนั้น แต่คนฉลาดถึงอยากจะพูดก็นิ่งไว้ในใจ  คนที่เข้มแข็งนั้นถึงจะโกรธเกลียดอย่างไรก็ "ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ"  หรือ "อ่อนนอกแข็งใน"  คนที่พูดอาฆาตใส่หน้าศัตรูนั้นมักจะไมทำจริง  และมักจะเป็นผู้ถูกเขากระทำเสียก่อน  อีกคำหนึ่งก็คือ "หมาเห่าใบตองแห้ง" หรือ "หมาเห่าไม่กัด" "หมากัดไม่เห่า" เป็นคำจำพวกเดียวกัน 

๖๑. ความในอย่าไขเขา
ความใน -  ความในใจ ความรู้สึก ความตื้นลึกหนาบาง  ความใฝ่ฝัน                      ความมุ่งมาดปรารถนา  จุดหมายปลายทางในชีวิต ความ                      ลับของตนและครอบครัว 
ไข -          เปิด เผย บอก เล่า
เขา -         ผู้อื่น  คนอื่น คนไกล นอกวงการ นอกครอบครัว 
สอนว่า อย่าเปิดเผยความในใจหรือความลับแก่ใคร  หากไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเรา  แม้แต่ความมุ่งมาดปรารถนาในชีวิตว่าจะทำอะไร  เป็นอะไร ก็บอกใครไม่ได้  จนกว่าจะเป็นแล้วหรือทำสำเร็จแล้ว  เพราะถ้าทำไม่สำเร็จก็จะอายเขา  หรืออาจถูกขัดขวางถูกอิจฉาริษยาได้ 
คำโคลงโลกนิติว่า 
"เริ่มการตรองตรึกไว้     ในใจ
  การจะลุจึงไข              ข่าวแจ้ง
  เดือดอกออกห่อนใคร เห็นดอก
  ผลผลิตคิดแล้วแผร้ง  แพร่ให้ คนเห็น ฯ" 

๖๒. อย่ามัวเมาเนืองนิจ
มัว -      มั่วสุม คลุกคลี  มืดมัวเพราะการมั่วสุม  คลุกคลีสิ่งใดหรือคน                ใด คณะใด ย่อมจะเมามัวในสิ่งนั้น  จนมองไม่เห็นความจริง                  หรือสิ่งอื่น แง่มุมอื่น 
มัว -      ไม่แจ่ม ไม่กระจ่าง ฝ้าฟาง ขมุกขมัว ไม่มืดไม่สว่าง 
มัวเมา - หลงละเลิง 
เมา -     อาการฟั่นเฟือนเพราะฤทธิ์สุรา  ฤทธิ์ยา หลงจนลืมตัวเช่น                    เมารัก  หรือการหลงใหลหมกมุ่นอยู่ในความรัก 
เนือง -  สืบต่อ ติดต่อ ไม่ว่างเว้น  ฉบับของกรมศิลปากรว่า "เนื่อง"                 แปลว่า เสมอ บ่อย,  ฉบับของกรมพระยาปวเรศฯ ว่า "เนือง"              แปลว่า สืบต่อกัน ติดต่อกัน  ไม่ว่างเว้น คำว่า "เนือง" น่าจะมี               น้ำหนักกว่า เพราะมีคำว่า "นิจ" แปลว่า เสมอไป สม่ำเสมอ                 ต่อท้ายอยู่แล้ว 
สอนว่า อย่าได้หลงมัวเมา จนไม่มีเวลาว่างเว้นส่างซา  ถ้าจะหลงมัวเมาอะไรชั่วครู่ชั่วยาม  แล้วเลิกเสียได้ก็ไม่กระไรเสีย 

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย  สอนไม่ให้ประมาทในชีวิต  ประมาทในวัยว่ายังหนุ่มสาวอยู่  อย่าประมาทในบุญกรรมว่าทำแล้วไม่ให้ผล  อย่าประมาทในความตายว่ายังมาไม่ถึงตน  คำสอนเรื่องมัวเมาประมาทนี้  เป็นคำสอนสำคัญในพุทธศาสนา  สุภาษิตนี้จึงมีที่มาในคติธรรมทางพุทธศาสนา 
สอนว่า อย่ามัวเมาในชีวิต  ในวัย ในทรัพย์ ในศักดิ์  คนโบราณท่านว่า "เมาตัวลืมกาย เมากายลืมแก่ เมาเมียลืมแม่ เมายศลืมรักชาติ"

๖๓. คิดตรองตรึกทุกเมื่อ
คิด - ทางธรรมใช้คำว่า พิจารณาถึงความจริงของชีวิต ตามความเป็นจริงของโลก ความเป็นจริงของธรรมทั้งหลาย พิจารณาเนื่องๆว่า  เรามีกรรมเป็นของตน  ทำกรรมชั่วจะได้ชั่ว จะมีทุกข์  พิจารณาเนืองว่า เราจักต้องตาย  พลัดพรากจากสิ่งที่รัก  ทุกคนมีความตายรออยู่เบื้องหน้า  จึงควรเร่งสร้างแต่ความดีไว้เสมอ 
ตรึก - ทางธรรมใช้คำว่า วิตก
ตรอง - ทางธรรมใช้คำว่า วิจารณ์
ทั้ง วิตก และวิจารณ์ เป็นการภาวนาทำจิตให้สงบ มีสมาธิ ใจตั้งมั่นทำให้เห็นความเป็นจริงของชีวิตและของโลกตามความเป็นจริง  เป็นอาการของจิตในขั่นปฐมฌาน  คือมีวิตก-ตรึก  วิจารณ์-ตรอง  ปิติ-อิ่มใจ  สุข-เป็นสุข เอกัคคตา-ความเป็นหนึ่งอย่างยิ่ง 
สุภาษิตนี้ใช้คำ ๓ คำ  คือ คิด ตรอง ตรึง ก็ตรงกับการบำเพ็ญภาวนาทางวิปัสสนาญานขั้นปฐม  ได้แก่ วิตก-ตรึก วิจารณ์-ตรอง  ไม่ใช่การนึกคิดอย่างธรรมดา  เป็นการคิดอย่างลึกซึ้งจนมองเห็นความจริง ตามสภาพที่เป็นจริงด้วย "ตาปัญญา"  ไม่ใช่ตาเนื้อ  สุภาษิตพระร่วงนี้จึงมีที่มาจากคติธรรมทางพระพุทธศาสนาโดยตรง  ไม่ใช่การตรึกตรองตามแบบชาวบ้าน 

๖๔.พึงผันเผื่อต่อญาติ
ผัน- ผิน หัน หมายถึงว่าหันหน้าไปมองดู เหลียวแล เอาใจใส่ ห่วงใย          คิดถีง
เผื่อ - แบ่งปัน ช่วยเหลือ เจือจาน  เผื่อแผ่ มีอะไรก็ให้ปัน
ญาติ - พี่น้อง วงศ์วาน ว่านเครือ  คนรู้จักคุ้นเคยกัน ภาษาบาลีว่า "วิสา            สาปรมาญาติ"  ความคัุ้นเคยเป็นญาติสนิท  หมายถึงคนคุ้นเคย            กันก็เปรียบเหมือนญาติ หรือเป็นเหมือนญาติ
สอนว่า ให้เหลียวแล ช่วยเหลือ เจือจานญาติพี่น้อง  และคนที่คุ้นเคยกันอย่าทอดทิ้งอย่าละเลย 
พระพุทธองค์ทรงสอนว่า "การสงเคราะห์ญาติพี่น้องเป็นมงคลอันอุดม" 
คำสอนในบัณฑิตพระร่วงนี้เป็นคติธรรมทางพุทธศาสนา

๖๕. รู้ที่ขลาดที่หาญ
ขลาด - กลัว ไม่กล้า ไม่สู้ ยอมแพ้ ยอมอ่อนน้อม
หาญ - กล้า ไม่กลัว สู้ ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมอ่อนน้อม 
ที่ขลาด - ที่ควรกลัว ที่ควรยอมแพ้ ที่ควรยอมอ่อนน้อม ไม่ขัดแข็งไม่                   ต่อสู้
ที่หาญ - ที่ควรกล้า ที่ไม่ยอมแพ้ ที่ไม่ควรยอมอ่อนน้อม ทีควรขัดแข็ง               ที่ควรต่อสู้
สอนว่า ให้รู้ว่าสิ่งใดควรกลัว ควรอ่อนน้อม ควรยอมแพ้ สิ่งใดควรกล้า ควรสู้  สอนให้รู้จักเวลาที่ควรอ่อนน้อม ควรแข็ง คำพังเพยมีว่า "กล้านักมักบิ่น"  เปรียบดังมีดที่ชุบเหล็กจนกล้าเกินไป เมื่อฟันไม้แข็ง คมก็อาจบิ่นได้  ถ้าเหล็กอ่อนคมก็อยู่  ไม่ถึงแก่หักหรือบิ่น การต่อสู้กับศัตรูนั้นถึงจะใจกล้า  อยากจะต่อสู้แต่ถ้าไร้อาวุธ  หรือกำลังน้อยกว่าก็ต้องถอยก่อน ขืนบุกเข้าไปต่อสู้ก็มีแต่แพ้ฝ่ายเดียว  เมื่อมีกำลังเท่าเทียมกัน หรือมากกว่า จึงควรกล้าสู้  ไม้ซีกงัดไม้ซุงนั้นไม่มีทางจะได้นอกจากไม้ซีกเป็นฝ่ายหัก 

๖๖. คนพาลอย่าพาลผิด 
       ( อย่าผูกมิตรไมตรี)  (เมื่อพาทีพึงตอบ)
       ๓ ประโยคข้างต้นนี้อยู่ในความหมายเดียวกัน  มีความหมายต่อเนื่องกันในเรื่องคนพาล
คนพาล - คนโง่ คนเขลา คนเบาปัญญา  คนไม่รู้จักบุญบาป ไม่รู้จักชั่วดี คนประเภทเห็นความชั่วเป็นความดี เห็นกงจักรเป็นดอกบัว อาจประพฤติลชั่วร้ายเลวทรามได้โดยเข้าใจว่าเป็นความเก่งกล้าของตน  ไม่รู้ว่าจะเกิดผลเดือดร้อนใจภายหลัง 
อย่าพาลผิด - เมื่อคนพาลประพฤติการเป็นพาลเกเรแก่เรา  ก็อย่าประพฤติเป็นพาลตอบโต้
คำโคลงโลกนิติสอนว่า 
"ชำนะคนมักโกรธด้วย           ไมตรี
  ผจญหมู่ทรชนดี                    ต่อต้ัง"

"หมาใดตัวร้ายขบ                  บาทา
  อย่าขบตอบต่อหมา             อย่าขึ้ง
  ทรชนชาติชั่วทา                  รุณโทษ
  อย่าโกรธอย่าหน้าบึ้ง           ตอบถ้อย ถือความ ฯ" 
 เมื่อรู้แน่ชัดว่าคนใดเป็นคนพาล โง่เขลาไม่รู้ดีรู้ชั่ว  ไม่รู้บาปรู้บุญ ไม่รู้คุณรู้โทษ ท่านห้ามอย่าผูกมิตรด้วย อย่ามีไมตรีด้วย  เพราะคนพาลพวกนี้ไม่รู้จักความดี  ทำผิดพลาดประมาทเมื่อใดเขาอาจกลับมาทำร้ายเอาได้  เหมือนชาวนาอุ้มงูเห่าไว้ มันก็กลับกัดเอา โบราณว่า "อย่าเลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้"  คนที่เลี้ยงโจรไว้ก็ถูกโจรปล้น คนที่เลี้ยงอันธพาลมือปืนไว้ประดับบารมี  หรือเบ่งอิทธิพล ก็มักจะต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา  ไม่รู้ว่าเมื่อใดเขาอาจจะหันกลับมาทำร้ายเอาได้  เมื่อยังมีเงินมีอำนาจ เลี้ยงอิ่มหนำ เขาก็เป็นคุณ เมื่อยามพลาดพลั่้งไร้เงินไร้อำนาจ  เขาก็กลับเป็นโทษ 
มงคลสูตร สอนว่า "อเสวนา จพาลานัง"  การไม่คบคนพาล ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ เป็นมงคลอันอุดม 

คำโคลงโลกนิติว่า 
" มิตรพาลอย่าคบให้       สนิทนัก
  พาลใช่มิตรอย่ามัก        กล่าวใกล้
  คร้ันคราวเคียดคุมชัก    เอาโทษ ใส่นา
  รู้เหตุสิ่งใดไซร้              ส่อสิ้น กลางสนาม ฯ" 
สุภาษิตนี้จึงมาจากพุทธภาษิตที่ว่า
กุกุฎ จ อมิตตสฺมิ             มิตฺตสฺมิมํปินวิสฺสเส
ยถา กปฺปติ ตํ มิตรํ          สฺรวโทส ปกาสิตา ฯ

๖๖. เมื่อพาทีพึงตอบ 
พาที - พูดจา ทักทาย 
ตอบ - ตอบถ้อยสนทนา พูดจาโต้ตอบ 
สอนว่า เมื่อคบคนพาลพูดจาด้วยก็พึงพูดด้วย  พึงตอบดีสนทนาตามมารยาทที่ดี  ไม่แสดงตนว่ารังเกียจเหยียดหยาม  แต่ไม่คบสนิทคบแต่เพียงผิวเผินเท่านั้น 
มีที่มาจากพุทธภาษิตว่า
โย ชโย พาล สมาคโม  สุขปฺปตฺโต น สํ สิยา 
ปณฺ ฑิตา จ สทา สุขา   พลา ทุกฺขสมาคมา ฯ

คำโคลงโลกนิติว่า 
"คนใดไป่เสพด้วย           คนพาล
  จักทุกข์ทนเนานาน       เนิ่นแท้
  ใครเสพทวยทรงญาณ  นักปราชญ์
   เสวยสุขล้ำเลิศแท้        เพราะได้สดับดี ฯ"

๖๗. จงนบนอบผู้ใหญ่
นบ - ไหว้
นอบ - นอบน้อม อ่อนน้อม ถ่อมตน ฝากตัว
ผู้ใหญ่ - ผู้มีวัยสูงกว่า เรียกว่า วัยวุฒิ คือเจริญด้วยวัย ผู้มีชาติตระกูล                 สูง  เรียกว่า ชาติวุฒิ คือเจริญด้วยชาติกำเนิด เช่นเจ้านาย 
          -  ผู้มีคุณความดี หรือคุณความรู้สูงกว่า  เรียกว่า คุณวุฒิ  คือ                  เจริญด้วยคุณความดี หรือความรู้
          - ผู้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่สูงกว่า หรือเป็นผู้ปกครอง ผู้บังคับ                   บัญชา  แม้จะมีอายุน้อยกว่าก็เรียกว่า ผู้ใหญ่
          - ผู้อยู่ในเพศสูงกว่า  เรียกว่า อุดมเพศ   เช่น สมณชีพราหมณ์               ย่อมสูงกว่าฆราวาส ซึ่งเรียกว่า "หินเพศ"  พระภิกษุสงฆ์                     โบราณเรียกว่า พระคุณเจ้า  ถือว่าเป็นผู้ใหญ่กว่าเหมือนกัน
สอนให้เคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่   ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ ชาติวุฒิ 
มงคลสูตรสอนว่า "การเคารพคนที่ควรเคารพเป็นมงคลอันอุดมอย่างยิ่ง"   หมายความว่า การไม่เคารพก็ไม่เป็นศิริมงคล  พระพุทธองค์ยังสอนไว้อีกว่า  ผู้ที่เกิดมาในตระกูลต่ำ  และมีศักดิ์ต่ำน้้นเป็นเพราะชาติปางก่อน ไม่เคารพผู้ใหญ่ที่ควรเคารพ  ผู้ที่เกิดมาในตระกูลสูงมีศักดิ์สูงนั้น  เพราะชาติปางก่อนเคารพคนที่ควรเคารพ 
บัณฑิตพระร่วงนี้จึงมีที่มาจากคติธรรมในพระพุทธศาสนา

คำโคลงโลกนิติสอนว่า 
"ให้ท่านท่านจักให้          ตอบสนอง
  นบท่านท่านจักปอง       นอบไว้"
อีกบทหนึ่งสอนว่า
"คนใดเอมโอชด้วย        เจรจา
  เห็นแก่เฒ่าพฤฒา        ถ่อมไหว้
  สรรเสริญทั่วโลกา         มนุษย์ นี้นา
  ปรโลกพู้นจักได้            สู่ฟ้าเมืองแมน ฯ"
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น