วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอน ๘)



สาระสุภาษิต


๒๔. อย่าคนึงถึงโทษท่าน  

คนึง - ความคิดถึง  ครุ่นคิด  เพ่งเล็งถึง

 สอนว่า อย่าเพ่งโทษจับผิดท่าน   เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา  พระพุทธองค์สั่งสอนมิให้ภิกษุเพ่งโทษจับผิดภิกษุอื่น  คนไทยก็พูดว่า "ชั่วช่างชี   ไม่ดีช่างเถร" 


คำโคลงโลกนิติก็เปรียบเทียบว่า

                      "โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง   เมล็ดงา
                        ปองติฉินนินทา          ห่อนเว้น
                        โทษตนเท่าภูผา         หนักยิ่ง
                         ป้องปิดคิดซ่อนเร้น    เรื่องร้าย  หายสูญ ฯ"


๒๕.หว่านพืชจักเอาผล
หว่าน - โปรย  เช่นหว่านข้าว หรือโปรยเมล็ดข้าว
พืช - เมล็ดพันธ์ของต้นไม้ที่จะก่อให้เกิดพันธ์ต่อไป  เช่น ข้าวเปลือก ถั่ว งา
หว่านพืช - คือการที่เอาเมล็ดพืชหว่านโปรยลงบนดิน  การที่คนเอาเมล็ดพืชหว่านโปรยลงบนดินพื้นไร่ที่ไถแล้วเช่นนี้  มิใช่ว่าจะหว่านให้นกกากิน  แต่หว่านลงไปก็ด้วยความหวังว่า  เมล็ดพืชจะงอกขึ้นมา  แล้วจะเกิดผลมากมายหลายเท่าพันเท่า  จะได้เก็บเกี่ยวเอาผลมาเป็นประโยชน์ภายหลัง 
สุภาษิตนี้จึงเปรียบความได้ว่า   การหว่านพืชก็จะเอาผล  การที่คนลงทุนทำกิจการใด ก็ล้วนแต่หวังจะเอาผลทั้งนั้น แม้แต่ทำบุญทำทาน  ก็หวังบุญกุศล 
เป็นการเตือนสติว่า คนที่เขาทำบุญคุณกับเรา เขาก็หวังผลกำไรบ้าง  ไม่เอาบุญกุศล ก็เอาบุญคุณ ที่จะได้รับในภายหน้า  เราจะเอาอะไรก็ต้องยอมลงทุนก่อน  สิ่งที่ได้รับมาคือสิ่งที่เสียไป ไม่ลงทุนก็ไม่ได้กำไร (สิ่งที่ได้มา คือ ทุนทรัพย์ ทุนปัญญาและทุน การกระทำ)  

๒๖. เลี้ยงคนจักกินแรง
เลี้ยงคน - ได้แก่การให้ข้าวให้น้ำให้อาหารเลี้ยงคนให้กินอิ่ม  มื้อหนึ่งคราวหนึ่ง หรือการเอาคนมาเลี้ยงไว้ในบ้านเรือนเป็นลูกจ้าง  ลูกบุญธรรมก็ดี ล้วนแต่หวังจะใช้แรงงานทำรายได้ให้แก่เรา มิฉนั้นก็จะไม่ลงทุนเลี้ยงดู
กินแรง - ได้แก่เอาผลจากแรงงานที่เขาทำให้ ลูกจ้างก็ดี กรรมกรก็ดีล้วนแต่ลงแรงทำงาน  ทำให้เกิดผลิตผลจากแรงงานน้ันเป็นเงินเป็นทอง
สอนว่า ที่เขาเลี้ยงผู้คน เขาก็ย่อมหมายจะเอาแรงงานเขา  คำว่าเลีัยงคนจักกินแรง นี้ เป็นคนละความคนละประโยค กับหว่านพืชจักหวังผล ไม่ใช่ขยายความบทแรก  มีความหมายแยกออกจากประโยคแรกอย่างเด่นชัด  มีความหมายสำเร็จรูปอยู่ในตัวเองโดยเฉพาะ  เป็นอีกข้อความหนึ่งต่างหาก

๒๗. อย่าขัดแข็งผู้ใหญ่
ขัด - ขวาง ขีน ดื้อ ดึง ดัน ไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งสอน ไม่ยอมทำตามคำของผู้ใหญ่  โต้เถึยงขัดแย้ง
แข็ง - กระด้าง ไม่ยอมอ่อนน้อม ไม่เคารพคารวะ แสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง ไม่ยอมอยู่ในโอวาท ประกาศตัวเป็นอิสระ กระด้างกระเดื่องต่อผู้ใหญ่
สอนว่า มิให้กระด้างกระเดื่องดื้อดึงต่อผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ - พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชา ญาติผู้ใหญ่ พี่ป้าน้าอา
พระพุทธเจ้าสอนไว้ในมงคล ๓๘ ประการว่า  ความเคารพคนที่ควรเคารพ ๑ ความไม่จองหองพองลมเป็นมงคลอุดม
สุภาษิตนี้จึงนำมาจากคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา

๒๘. อย่าใฝ่ตนให้เกิน
ใฝ่ - ความคิดฝัน ความมุั่งหมาดปรารถนา ความทะเยอทะยาน ความอยากได้ ความอยากดี  ความอยากมี ความอยากเป็น  อยากเด่น อยากดัง อย่างใหญ่
ตน - ตัวเอง หมายถึงความอยากที่เกิดกับตัวเอง ไม่เกี่ยวกับภายนอกตัว จึงไม่ใช่คำว่า "อย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์"  เพราะคำนี้มีความหมายที่จะเอื้อมเอาสิ่งที่สูงกว่าตน  เช่นอยากได้คู่รักที่ร่ำรวยกว่าตน เป็นต้น  แต่คำว่า อย่าใฝ่ตนให้เกินนี้ เป็นเรื่องอยากมี อยากเด่น อยากดัง เฉพาะตนเอง
สอนว่า อย่าใฝ่ฝันอยากดี  อยากเด่น อยากดังให้เกินไป  เพราะมีคำพังเพยว่า  "ไม้สูงกว่าแม้มักจะแพ้ลมบน  คนสูงกว่าคนมักจะหักกลางคัน"  หรือ "สูงนักมักหักด้วยแรงลม"
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า " ความสันโดษ(พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่เป็นอยู่) เป็นมงคลอันอุดม" 

๒๙. เดิรทางอย่าเดิรเปลี่ยว
เดิร - เป็นภาษาเขมร  โบราณเขียน เดร -ดำเนิร เพื่อแสดงว่าเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่ใช่ภาษาไทยแท้
ภาษาไทยเดิมคำว่า เดิน ใช้คำว่า เต้า หรือ ไต่เต้า เช่น คำว่า เต้าเรือน - ไปเรือน  เดินกลับไปบ้านเรือน
เปลี่ยว - เปลี่ยวกาย เปลี่ยวใจ หมายถึง ไม่มีเพื่อน ไม่มีคู่คิด คู่ตาย ผิดกับคำว่า "เดี่ยว"  เช่นตาลเดี่ยว ยืนเดี่ยว ซึงแปลว่า ต้นเดียวหรือคนเดียว โดยไม่มีความจำเป็นต้องมีเพื่อน เพราะไม่ได้เดินทางที่ต้องการเพื่อนป้องกัน 
สอนว่า การเดินทางไกล หรือเดินทางไปในป่า หรือที่อาจจะมีภัยอันตรายอย่าเดินคนเดียวเปลี่ยวกายเปลี่ยวใจ  ไร้เพื่อนคู่คิดคู่ตาย
คนโบราณมีคำพังเพยว่า  "คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับบ้านได้" 

๓๐. น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ
น้ำเชี่ยว -น้ำทีไหลมาโดยเร็วและโดยแรง  เชี่ยวกราก หมายถึงน้ำที่ไหลมาจากที่สูงโดยแรง เสียงดังกราก 
ขวางเรือ - เอาเรือขวางลำกลางน้ำไหลเชี่ยว เรือจะล่ม
สอนว่า น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือขวาง  เรือจะล่ม เปรียบได้กับอารมณ์โกรธของคนมีโทษะแรง  ก็เหมือนน้ำไหลเชี่ยว  อย่าเอาตัวเข้าขวางหน้าขวางตาขวางอารมณ์โกรธของผู้มีอำนาจ  เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงโดยเร็วก็เหมือนน้ำกำลังไหลเชี่ยว  อย่าเข้่าไปขวางทันที จะได้ไม่มีภัยอันตราย 
ประโยคว่า "น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ" นี้เป็นคำพูดติดปากคนไทยมาช้านานถึงทุกวันนี้

๓๑. ที่ซุ้มเสือจงประหยัด
ที่ซุ้ม - หมายถึง ที่พุ่มไม้ปกคลุม เป็นที่ร่มชิดปิดบัง สำหรับเป็นทีบังแดดบังลม บังฝน และบังตาคน  เรียกว่า "ซุ้ม"  เป็นที่ซ่อนของเสือ สัตว์ร้าย หรือโจร ซุ้มธรรมชาติก็มี  ซุ้มที่คนเอากิ่งไม้มาทำไว้ก็มี

ฉบับของกรมศิลปากรว่า "ที่สุ้ม"  นั้นน่าจะผิด  "สุ้ม" นี้ เป็นคำกิริยาแปลว่าเข้าไปหลบซ่อนนิ่งเงียบในที่ลับ 
ส่วน "ซุ้ม" น้ันเป็นคำนาม  เป็นคำไทยเก่าแก่ ชาวชนบทรู้จักกันดีว่า .ซุ้มคืออะไร ซุ้มคืออย่างไร  เขาหมายถึงที่หลบซ่อนที่กำบัง 
ซุ้มเสือ - ที่หลบซ่อนของเสือ ซึ่งหมายถึงทั้งสัตว์ดุร้าย  และโจรฆ่าคนด้วย  เรียกว่าเสือ หรืออ้ายเสือ
ประหยัด - ระมัดระวังกาย เป็นภาษาเขมร  แปลว่า ระมัดระวัง  ที่จริงคำว่า ประหยัด  มีความหมายลึกซึ้ง หมายถึงค่อยๆโผล่กายเข้าไปอย่างระมัดระวังทีละน้อย  ไม่โผล่พรวดเข้าไปทัังตัว  เพื่อที่จะหลบหลีกหรือเลี่ยงหนีได้ทันท่วงที 
สอนว่า ที่ซุ้มไม้ปกปิด มิดชิด จงระมัดระวังตนให้ดี อาจจะมีเสือป่าซุ่มซ่อนอยู่ อาจมีคนร้ายแฝงกายอยู่ มันจะทำร้ายเอา  คนบ้านนอกบ้านป่าจะเข้าใจคำสอนนี้เป็นอย่างดี 
ฉบับสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ใช้คำว่า  "ซุ้ม" ซึ่งถูกต้อง

๓๒. เร่งระมัดฟืนไฟ
ฉบับกรมศิลปากรว่า  "จงเร่งมัดฟืนไฟ" 
ฉบับสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ว่า "เร่งระมัดฟืนไฟ"  เข้าใจว่าของกรมศิลปากร  เติมคำว่า "จง" ไปคำหนึ่ง เมื่ออ่านดูแล้ว  ไม่จำเป็นต้องมีจง  อยู่ข้างหน้า 
เร่ง - มีความหมายหนักแน่นว่า ให้รีบกระทำอยู่แล้ว  เมื่อตัดคำว่า "จง" ฟังดูไพเราะกว่า  คำกระทัดรัดกว่า และมี ๕ พยางค์พอแล้ว 
ระมัด - เป็นคำเขมร แปลว่า รัดกุม  กระทัดรัด ไทยพูดว่า กระทัดรัดมัดกุม มาจากคำว่า รัด  แผลงเป็นระมัด  คำว่าระมัด นี้ต่างกับคำว่า ระวัง เพราะคำว่า ระวัง ต้องเฝ้าระวัง ตั้งตาคอยระวัง ตั้งใจคอยดู  แต่คำว่า "ระมัด"  แปลว่า ทำให้รัดกุม  เหมาะสม รอบคอบ เป็นการป้องกันอันตราย  ไม่ต้องคอยระวัง เช่น ไม่จุดไฟทิ้งไว้ ไม่เอาเชื้อฟืนกองไว้ใกล้ไฟ  ไม่จุดธูปบูชาพระทิ้งไว้  อย่างนี้เรียกว่า ระมัด 
สอนว่า ให้ทำการให้รัดกุม ป้องกันมิให้ไฟลุกไหม้ขึ้น  เช่นหุงข้าวแล้วก็ต้องดับไฟเสีย  ไม่ปล่อยทิ้งถ่านไว้ในเตา  ต้องระมัดทั้งฟืนและเชื้อไฟ และไฟที่ใช้แล้วก็ดับเสีย  ไม่ทิ้งไว้ 

คำโคลงโลกนิติว่า 
                          "อย่าหมิ่นของเล็กนั้น    สี่สถาน
                            เล็กพริกพระกุมาร        จืดจ้อย
                            งูเล็กเท่าสายพาน        พิษยิ่ง
                            ไฟเล็กเท่าหิ่งห้อย       อย่าได้ดูแคลนฯ "

๓๓. ตนเป็นไทยอย่าคบทาษ
ไทย - มาจากคำว่า "ไท" แปลว่า ความเป็นใหญ่ ความเป็นอิสระ ความเป็นผู้ให้  ความเป็นผู้คุ้มครองป้องกัน 
ทาษ - โบราณเขียนว่า "ทาษ" แปลว่า ความเป็นเด็ก  เช่นคำว่า ทารก ความไม่มีอิสระแก่ตัว  ความเป็นผู้รับ  ความเป็นผู้อยู่ในความคุ้มครองป้องกัน ความเป็นผู้อ่อนแอโง่เขลา 
สอนว่า เมื่อตนเป็นใหญ่ มีความเป็นใหญ่  เป็นอิสระ เป็นผู้ให้ความคุ้มครอง  เป็นผู้เหนือกว่าก็อย่าคบทาษ ซึ่งเป็นผู้น้อย  เป็นผู้ไม่มีอิสระแก่ตัว  เป็นผู้รับทานรับใช้   คำว่าคบในที่นี้หมายถึง  การรักใคร่ได้เสียเป็นผัวเมีย และการคบคิดในทางผิดทางชั่วร้าย 
มงคล ๓๘ ประการ พระพุทธศาสนาก็สอนว่า 
"อเสวนา จ พาลานํ  ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา
ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ "
การคบบัณฑิต ( คือผู้รู้ฉลาด ) การไม่คบคนพาล (คือคนโง่เขลาอ่อนความคิด) เป็นมงคลอันอุดม 
ทาษ ในทีนี้ก็เท่ากับคนโง่เขลา  คนอ่อนความคิด  สุภาษิตนี้จึงมีที่มาจากพุทธภาษิต



(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอน ๗)



สาระสุภาษิต


๑๘.อย่าโดยคำคนพลอด

โดย - ด้วย ตาม  เช่น คำว่า โดยเสด็จ คือ เสด็จตามไปด้วย   โดยสาร คือ ตามทูตผู้นำพระราชสารไปค้าขาย คนสมัยก่อนการเดินทางลำบากมีภัยมาก  การค้าขายต่างประเทศพ่อค้าต้องอาศัยการถือสารตราไป   จึงเรียก  โดยสาร

คำพลอด - ถ้อยคำ คำพูดที่หวานหู อย่างคนรักพูดพลอดกัน  
สอนว่า อย่าเชื่อคำคนพูดหวานหู  แม้ว่าจะพูดจาอ่อนหวานอย่างไร  เพราะเขาจะลวงให้หลงเชื่อ 

  
๑๙.เข็นเรือทอดกลางถนน
เข็น - ยาก ลำบาก ทุลักทุเล แบก ลาก เช่นคำว่า  เข็นเรือ เข็นเกวียน ต้องออกกำลังลากและแบก ต้องช่วยกันหลายคน  ตรงกับคำว่า "เข็ญ" เช่น ยากเข็ญ เข็ญใจ ยุคเข็ญ  ความเดิมเป็นอย่างเดียวกัน เป็นภาษาเขมร

ทอด - ทิ้ง วาง เช่น ทอดร่าง ทอดกาย นอนทอดอารมณ์ ทอดแห ทอดไข่  เป็นกิริยาอาการของการวางลงไว้ทั้งนั้น  ทอดเรือ คือ วางเรือทอดทิ้งไว้  ทอดสมอ  ก็เอาสมอเรือเกาะดินไว้ให้เรือเกาะลอยอยู่  ไม่ลอยไปตามน้ำ ทอดหุ่ย  คือ นั่งหรือนอนอยู่เฉยๆอย่างเกียจคร้าน  ทอดกฐิน คือเอาผ้าไปวางไว้ท่ามกลางสงฆ์ ทอดผ้าป่า   คือเอาผ้าไปทิ้งไว้ในป่าดังนี้เป็นต้น   ผิดกับคำว่า จอด ซึ่งแปลว่า นิ่งหรือหยุด  เช่น จอดรถ จอดเรือ 

ถนน - ทางที่คนเดินไปเดินมา  จะเป็นทางเท้าหรือทางถนนก็ได้ 
คำสุภาษิตในประโยคนี้น่าจะขาดคำว่า "อย่า" อีกคำหนึ่ง   คือ "อย่าเข็นเรือทอดกลางถนน" ถ้าใส่คำว่า "อย่า" ลงไป คำร่ายนี้ก็ไม่เกิน ๖ คำ  แต่บางทีท่านอาจจะละมาจากประโยคแรกที่ว่า  "อย่าโดยคำคนพลอด" ก็ได้   แต่เป็นคนละประโยคคนละความกัน ไม่ใช่ประโยคขยายความประโยคแรก  เพราะ คำคนพลอด กับ เรือ นั้นคนละเรื่องกัน 

๒๐. เป็นคนอย่าทำใหญ่
คน - มาจากคำว่า บุคคล  ไทยตัดเอามาพูดสั้นๆว่า คน คำเดียว หมายถึงตัวตนที่เป็นรูปกายกระทำกรรมต่างๆได้ 

เป็นคน - หมายถึง เป็นตัวตนมีรูปกาย  คิดได้ พูดได้ ทำได้ ก็เหมือนคนอื่นๆซึ่งเท่าเทียมกัน   ไม่มีใครใหญ่กว่าใครโดยรูปกายมีสภาวะอย่างเดียวกัน  เกิด แก่ แล้วก็ตายเหมือนกัน แม้จะมีชาติตระกูล ฐานะ  รูปร่างต่างกันบ้าง ก็มีสภาวะเป็นคนเหมือนกัน 

ทำใหญ่ - คือ อาการวางโต วางอำนาจ ไว้ยศไว้ศักดิ์ อวดวิเศษกว่าคนอื่น  ภาษาบาลี "วาโต"  คืออาการพองลมเหมือนอึ่งอ่าง  "นิวาโต"  แปลว่า ไม่พองลม  ภาษาปัจจุบันก็คือ ไม่เบ่ง ไม่วางก้าม ไม่วางโต

สอนว่า เป็นคนคือมีสภาวะเหมือนคนอื่นๆทั่วไป  อย่าวางโตวางก้าม ทำใหญ่โตเกินกว่าคนอื่น 
 คนไทยสอนให้อ่อนน้อมตน สงบเสงี่ยมเจียมตน  ไม่วางท่า ไม่ไว้ยศ เป็นวัฒนธรรมของไทยโบราณ แม้เป็นพระราชา  ท่านก็สอนให้มี "มทวํ" คือความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรม 

๒๑. ข้าคนไพร่อย่าไฟฟุน
ข้าคน - คือ บ่าวไพร่ ข้าทาส บริวาร คนรับใช้ ลูกจ้าง 
ไพร่ - คือ พลเมืองทั่วไปที่ใช้แรงงาน ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพ ด้วยแรงกาย ชาวไร่ ชาวนา อันเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง  ท่านจึงเรียกว่า ไพร่บ้านพลเมือง  ซึ่งแปลว่าเป็นแรงของบ้านเป็นกำลังของเมือง   ไพร่ มาจากคำว่า ไพร  คือ ป่าเปรียบเหมือนต้นไม้ในป่ามีนานาพันธ์  ต้นไม้แต่ละต้นเรียกว่า พฤกษ์ รวมกันเข้าเรียกว่า ไพร   ไพร่  ก็เหมือนกับต้นไม้ในป่าซึ่งอยู่ใต้ฟ้า  ท่านจึงพูดว่า ไพร่ฟ้า  ไพรมีฟ้าปกคลุมอยู่ มีฝนจากฟ้ามาบำรุงให้คงเป็นไพรอยูได้  ไพร่จึงมิใช่คำเรียกอย่างดูแคลน   แต่ความหมายเปลี่ยนไปภายหลัง เพราะไม่เข้าใจความเดิม 

ไฟฟุน - คือไฟได้เชื้อฟืน  ฟุน แปลว่า ฟืน  ไฟเมื่อได้เชื้อฟืนก็ลุกไหม้  ไฟฟุน จึงมีความหมายว่าไฟได้ได้ฟืน   หรือไฟได้เชื้อก็ลุกไหม้  เปรียบเหมือนอารมณ์โกรธ บันดาลโทสะของตน
สอนว่า อย่าลุแก่โทสะ  อยาลุแก่อำนาจ บันดาลโทสะแก่คนในปกครอง คนรับใช้ คนงาน หรือบริวารของตน

๒๒. คบขุนนางอย่าโหด
ขุนนาง - ข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์  ชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปเรียกว่า ขุนนาง  ไม่เลือกว่าพลเรือนหรือทหาร   คู่กับคำว่า เจ้านาย ได้แก่ผู้ที่เป็นพระประยูรญาติพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ชั้น หม่อมเจ้าขึ้นไป
โหด - หด สั้น เหนียวแน่น ตระหนี่ มาจากคำว่า "หด" พูดให้เป็นเสียงยาวไป ได้แก่คำว่า "หดไร้"  หรือ "โหดไร้" แปลว่า  เหนียวแน่นไม่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่   ภายหลังพูดว่า โหดร้าย หมายความว่าเห เหนียวแน่นเหลือเกิน  จนกลายเป็นคนใจร้ายใจดำ  ทนดูคนอื่นอดตายก็ได้  ไม่ยอมช่วยเหลือ  "นกไร้ ไม้โหด"  แปลว่า  ต้นไม้ที่ไร้ผล นกกฺ็ไม่มีมาเกาะ
สอนว่า เมื่อคบขุนนางแล้ว   อย่าใจคอเหนียวแน่น ตระหนี่ ต้องใจคอกว้างขวาง ยอมเสียสละของกำนัล และเลี้ยงดูให้ดี จึงจะได้รับความสะดวกสบายในการติดต่อราชการ  ขอความช่วยเหลือ

๒๓. โทษตนผิดรำพึง
โทษ - ความผิด ความบกพร่อง  ความไม่ดีงาม ความชั่ว
รำพึง - ความระลึก นึกคิด คำนึง บ่นถึง
สอนว่า ให้นึกถึงความคิด ความบกพร่อง ความไม่ดีงาม  ความผิดพลาด หรือ ความชั่วของตนเอง  เป็นพุทธภาษิต  ที่สอนให้เตือนตนของตนเอง  ตรงกับคำว่า "โจทย์ตน"  เป็นโจทย์กล่าวโทษตนเอง   ตามที่ท่านแต่งไว้เป็นคำกลอนว่า

"ตนของตนเตือนตนให้พ้นผิด
ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน
ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน
ตนแชเชือนเตือนตนให้พ้นภัย"


                                                        (โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง(ตอนที่ ๖)



บัณฑิตพระร่วง
                                          สาระสุภาษิต
                    
          ๐สาระคำสอนในบัณฑิตพระร่วงนี้  มีอยู่ทั้งหมด ๑๖๔ ข้อ  จะหยิบยกมากล่าวเป็นข้อๆไปดังนี้ 
           ๑.  เมื่อน้อยให้เรียนวิชา
            ตรงกับโคลงโลกนิติที่ว่า
               "ปางน้อยสำเหนียกรู้              เรียนคุณ"
          คำว่า"น้อย" คือ เล็ก หรือ เด็ก
          สอนว่า เมื่อเด็กให้เรียนวิชาหาความรู้หาความดีใส่ตัว

          ๒.  ให้หาสินเมื่อใหญ่
           ตรงกับคำโคลงโลกนิติที่ว่า
            "ครั้นใหญ่ย่อมหาทุน                  ทรัพย์ไว้"
           สอนว่าให้แสวงหาทรัพย์เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว

           ๓. อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่าน
            คำโคลงโลกนิติว่า:
           " ทรัพย์ท่านคืออิฐผา                 กระเบื้อง"
           สอนว่าอย่าโลภทรัพย์ของผู้อื่น  ให้มองทรัพย์ของผู้อื่นเหมือนว่าเป็นอิฐ หิน กระเบื้อง ไม่มีค่าสำหรับเรา

           ๔. อย่าริร่านแก่ความ
            ริ คือเริ่มคิด เริ่มทำ  เช่นคำว่า ริอ่าน
            ร่าน คือ ร้อนใจ  อยู่ไม่สุข  อยาก กระเหี้ยนกระหือ
            สอนว่าอย่าริร่านแก่ความ ก็คือ อย่าเป็นถ้อยเป็นความเพราะมีแต่ทางเสีย  ปรองดองกันดีกว่า ยอมแพ้ดีกว่า  ตรงกับภาษิตจีนว่า "เป็นความกินขึ้หมาดีกว่า"

            ๕.ประพฤติตามบูรพ์ระบอบ
            บูรพ์ หมายถึง ก่อนเล่า  โบราณ
            ระบอบ หมายถึง  แบบแผน ประเพณี
            สอนว่าให้ประพฤติตามแบบประเพณี

           ๖. เอาแต่ชอบเสียผิด
            ชอบ -  ถูก ดี ควร
            ผิด -  ชั่ว ร้าย เลว บาป
            เสีย- สละ ละเว้น 
            สอนให้ทำแต่ชอบไม่ทำชั่ว  ทำดีละชั่ว ตรงกับคำสอนในพระพุทธศาสนา
          สพฺพปาปสฺส  อกรณํ  กุสลสฺสูปสมฺปทา
          สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน  สาสนํ

          ๗.อย่ากอบกิจเป็นพาล
          ฉบับที่ใช้คำว่า "ประกอบ"  เห็นจะผิด เพราะคำเกิน ที่ถูกควรเป็น "กอบ" แปลว่า กระทำ หรือการร่วมมือด้วย
          พาล- โง่ อ่อนความคิด
          สอนให้ทำตนให้ถูกต้อง  ประกอบด้วยความคิดที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

          ๘. อย่าอวดหาญแก่เพื่อน
          หาญ - เก่ง กล้า
          สอนว่าอย่าอวดเก่ง  อวดกล้าแก่เพื่อน  เพราะเพื่อนย่อมรู้จักเราดีกว่าเรารู้จักตัวเราเอง  ขืนอวดเพื่อนจะขังเอา

          โคลงโลกนิติว่า
          
          "คนใดโผงพูดโอ้             อึงดัง
          อวดว่ากล้าอย่าฝัง           สัปปลี้"

          ๙.เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า
          เถื่อน - ป่า ดง พงไพร
          พร้า - มีด ขวาน  อาวุธ
          สอนว่าเวลาเข้าป่าอย่าลืมเอามีดติดมือไป  เป็นเครื่องมือตัดฟันไม้  และป้องกันสัตว์ร้าย

          ๑๐. หน้าศึกอย่าวางใจ
          ศึก - ศัตรู  ผู้ปองร้าย
          วาง - เฉย ปล่อย ประมาท
          สอนว่า  อยู่ต่อหน้าศัตรู  หรือประจันหน้ากับศัตรูอย่าไว้ใจ อย่าประมาทให้ระมัดระวังทุกขณะ

         ๑๑. ไปเรือนท่านอย่านั่งนาน
          สอนว่าไปบ้านใครอย่านั่งคุยอยู่นาน  เสียการงานของตนและเจ้าของบ้าน หมดธุระแล้วให้รีบกลับ คนที่ไปนั่งคุยตามบ้านเรือนเขานานๆ เป็นคนเกียจคร้าน โบราณว่า "ก้นงอกราก"


        ๑๒.การเรือนตนเร่งคิด
        สอนว่า การงานบ้านเรือนของตนให้เร่งคิด เร่งทำ ไม่ใช่นั่งคุย นั่งคิด นั่งพูด แต่เรื่องของเพื่อนบ้าน ไม่ใช่ธุระการงานของเรา เปล่าประโยชน์ เสียเวลาเสียการงาน

        ๑๓.อย่านั่งชิดผู้ใหญ่
        สอนว่า การนั่งชิด นั่งใกล้ผู้ใหญ่ เป็นการตีเสมอท่าน ไม่เป็นการเคารพ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง  การนั่งเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็ห้ามนั่งเฝ้าใกล้เกินไป

        ๑๔.อย่าใฝ่สูงให้พ้นศักดิ์
        พ้น - เกิน
        ศักดิ์ - มีความหมายกว้างขวาง คือชาติตระกูลฐานะความเป็นอยู่ทางครอบครัวพ่อแม่ วงศ์ญาติ ความรู้ ความสามารถ รูปร่าง หน้าตาตำแหน่งหน้าที่ วาสนา บารมี และคุณงาม ความดี อันจะทำให้ผู้นั้น มีค่า มีน้ำหนัก หรืออยู่ในฐานะสูงต่ำเพียงใด มิได้หมายถึงยศศักดิ์
        ปัจจุบันพูดกันว่า "อย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์"  มีความหมายแคบเพียงในด้านความรักและคู่ครอง แต่แท้ที่จริงความหมายกว้างขวาง

        ๑๕. ที่รักอย่าดูถูก
        ที่รัก - หมายถึงคนรัก  เพื่อนรัก พ่อแม่ ญาติพี่น้องอันเป็นที่รักของรัก เช่น ทรัพย์สินอันเล็กน้อย แต่เป็นของรักของหวงด้วย
        ดูถูก - ตีค่าน้อยเห็นเป็นของต่ำต้อย ดูหมิ่นเหยียดหยาม พูดสบประมาท สอนว่า อย่าดูหมิ่นของรัก ที่รัก คนรัก ดังกล่าวนี้อย่าเห็นเป็นของไร้ค่าราคาต่ำ อย่าเหยียดหยาม ข้ามกรายหรือละเลยทอดทิ้ง
         
        ๑๖. ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง
        ไมตรี - ความเป็นมิตรด้วยกาย  วาจา ใจ ทั้งสามประการ กายก็คืออยู่ชิดใกล้ ไม่ห่างเหินวาจาก็เป็นมิตร ใจก็เป็นมิตร 
        ร้าง - เลิก ละ เหินห่าง จืดจาง จาก ไกล แตกแยก
        สอนว่า ให้ผูกไมตรีมิให้จึดจางเหินห่าง จากผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องด้วย
        คำโคลงโลกนิติว่า
        " ใครจะผูกโลกแม้        รัดรึง
        เหล็กเท่าลำตาลตรึง    ไป่หมั่น
        มนต์ยาผูกนานทึง         หายเสื่อม
        ผูกด้วยไมตรีนั้น            แน่แท้ วันตาย ฯ"

        ๑๗.สร้างกุศลอย่ารู้โรย
        กุศล - ความฉลาด ความดี ความงาม บุญ เพราะคนฉลาดเท่าน้ันที่คิดสร้างแต่คุณงามความดี 
        โรย - เหี่ยว แห้ง ร่วง หล่น
        สอนให้สร้างคุณงามความดี อย่าได้รู้โรยรา เลิกร้าง หรือเลิกละเสีย

       พระพุทธเจ้าสอนว่า  กตปุญญมโหรตตัง 



                                       (โปรดติดตามตอนต่อไป)

                              



วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง(ตอนที่ ๕)


                                                                บัณฑิตพระร่วง

                                           เนื้อหาสุภาษิต

           บัณฑิตพระร่วง  แต่งเป็นร่ายสุภาพมีถ้อยคำวรรคละ ๕ คำ หรือ ๕-๖ พยางค์ ซึ่งประกอบด้วยสุภาษิต ๑๖๔ บท บางบทก็มี ๑ วรรค โดยมากเป็นคำไทยแท้ และเป็นถ้อยคำค่อนข้างเป็นคำเก่า เข้าใจความหมายยากหรืออาจทำให้เข้าใจไขว้เขว  หรือบางทีก็อาจตีความไปคนละอย่างสองอย่าง  แต่ก่อ่นที่เราจะศึกษาความหมายของถ้อยคำ  เราควรอ่านเนื้อหาของสุภาษิตนี้ให้ตลอดเสียก่อน  ซึ่งมีดังต่อไปนี้ 


           ๐ ปางสมเด็จพระร่วงเจ้า  เผาแผ่นภพสุโขทัย  มลักเห็นในอนาคต  จึงเผยพจน์ประภาษ เป็นอนุศาสนกถา  สอนคณานรชน  ทั่วธราดลพึงเพียร  เรียนอำรุงผดุงอาตม์  อย่าเคลื่อนคลาดคลาถ้อย  เมื่อน้อยให้เรียนวิชา  ให้หาสินเมื่อใหญ่  อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่าน  อย่าริร่านแก่ความ  ประพฤติตามบูรพ์ระบอบ  เอาแต่ชอบเสียผิด   อย่ากอบกิจเป็นพาล  อย่าอวดหาญแก่เพื่อน  เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า  หน้าศึกอย่าวางใจ  ไปเรือนท่านอย่านั่งนาน การเรือนตนเร่งคิด อย่านั่งชิดผู้ใหญ่  อย่าใฝ่สูงให้พ้นศักดิ์  ที่รักอย่าดูถูก  ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง  สร้างกุศลอย่ารู้โรย อย่าโดยคำคนพลอด  เข็นเรือทอดกลางถนน  เป็นคนอย่าทำใหญ่  ข้าคนไพร่อย่าไฟฟูน  คบขุนนางอย่าโหด  โทษตนผิดรำพึง  อย่าคนึงถึงโทษท่าน  หว่านพืชจักเอาผล  เลี้ยงคนจักกินแรง  อย่าขัดแข็งผู้ใหญ่  อย่าใฝ่ตนให้เกิน  เดิรทางอย่าเดิรเปลี่ยว น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ  ที่ซุ้มเสือจงประหยัด  เร่งระมัดฟืนไฟ   ตนเป็นไทยอย่าคบทาษ  อย่าประมาทท่านผู้ดี  มีสินอย่าอวดมั่ง  ผู้เฒ่าสั่งจงจำความ  ที่ขวากหนามอย่าเสียเกือก  ทำรั้วเรือกไว้กับตน คนรักอย่าวางใจ มีที่ภัยจงหลีก  ปลึกตนไปโดยด่วน  ได้ส่วนอย่ามักมาก  อย่ามีปากว่าคน  รักตนกว่ารักทรัพย์  อย่าได้รับของเข็ญ  ผิวะเห็นงามอย่าปอง  ของฝากท่านอย่ารับ  ที่ทับจงมีไฟ  ที่ไปจงมีเพื่อน  ทางแถวเถื่อนไคลคลา  ครูบาสอนอย่าโกรธ  โทษตนผิดพึงรู้  สู้เสียสินอย่าเสียศักดิ์  ภักดีอย่ารู้เครียด อย่าเบียดเสียดแก่มิตร  ที่ผิดช่อยเตือนตอบ  ที่ชอบช่วยยกยอ  อย่าขอของรักมิตร  ชอบชิดมักจางจาก  พบศัตรูปากปราศรัย  ความในอย่าไขเขา  อย่ามัวเมาเนืองนิจ  คิดตรองตรึกทุกเมื่อ  พึงฝันเผื่อต่อญาติ  จงรู้ที่คลาดที่หาญ  คนพาลอย่าพาลผิด อย่าผูกมิตรไมตรี  เมื่อพาทีพึงตอบ จงนบนอบผู้ใหญ่  ช้างไล่แล่นเลี่ยงหลบ  สุวานขบอย่าขบตอบ  อย่ากอบจิตริษยา  เจรจาตามคดี อย่าปลุกผีกลางคลอง อย่าปองเรียนอาถรรพ์  พลันฉิบหายวายม้วน อย่ายลเยี่ยงถ้วยแตกมิติด  จงยลสำฤทธิ์แตกมิเสีย  ลูกเมียอย่าวางใจ ภายในอย่านำออก ภายนอกอย่านำเข้า  อาสาเจ้าจนตัวตาย   อาสานายจงพอแรง ของแพงอย่ามักกิน  อย่ายินคำคนโลภ  โอบอ้อมเอาใจคน อย่ายลเหตุแต่ไกล  ท่านไทอย่าหมายโทษ  คนโหดให้เอ็นดู ยอครูยอต่อหน้า  ยอข้าเมื่อแล้วกิจ  ยอมิตรเมื่อลับหลัง ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ  เยียวสะเทินจะอดสู  อย่าชังครูชังมิตร  ผิดอย่าเอาเอาแต่ชอบ  นอบตนต่อผู้เฒ่า  เข้าออกอย่าวางใจ ระวังระไวหน้าหลัง เยียวผู้ชังอย่าคอยโทษ อย่ากริ้วโกรธเนืองนิจ  ผิวผิดปลิดไปพล้าง ข้างตนไว้อาวุธ  เครื่องสรรพยุทธอย่าวางจิต  คิดทุกข์ในสงสาร อย่าทำการที่ผิด  คิดขวนขวายที่ชอบ ได้ตอบอย่าเสียคำ  คนขำอย่าร่วมรัก  พรรคพวกพึงทำนุก  ปลูกเอาแรงทั่วตน ยอเยี่ยงไก่นกกระทา  พาลูกหลานหากิน  ระบือระบิลอย่าฟังคำ  การทำอย่าด่วนได้  อย่าใช้คนบังบด  ทดแทนคุณท่านเมื่อยาก ฝากของรักจงพอใจ เฝ้าท้าวไทอย่าทนง  ภักดีจงอย่าเกียจ  เจ้าเคียดอย่าเกียดตอบ  นอบนบใจใสสุทธิ์  อย่าขุดคนด้วยปาก อย่าถากคนด้วยตา อย่าพาผิดด้วยหู  อย่าเลียนครูเตียนด่า  อย่าริเจรจาคำคด คนทรยศอย่าเชื่อ  อย่าแผ่เผื่อความผิด  อย่าผูกมิตรคนจร  ท่านสอนอย่าสอนตอบ  ความชอบจำใส่ใจ  ระวังระไวที่ไปมา  เมตตาตอบต่อมิตร  คิดแล้วจึงเจรจา  อย่านินทาผู้อื่น  อย่าตื่นยอยกตน  คนจนอย่าดูถูก  ปลูกไมตรีทั่วชน ตระกูลตนจงคำนับ  อย่าจับลิ้นแก่คน ท่านรักตนจงรักตอบ  ท่านนอบตนจงนอบแทน  ความแหนให้ประหยัด เผ่ากษัตริย์เพลิงงู  อย่าดูถูกว่าน้อย  หิ่งห้อยอย่าแข่งไฟ  อย่าปองภัยแก่ท้าว อย่ามักท้าวพลันแตก อย่าเข้าแบกงาช้าง อย่าออกก้างขุนนาง ปางมิชอบท่านช่วย ปางป่วยท่านชิงชัง  ผิวะบังบังจงลับ  ผิวะจับจับจงมั่น  ผิวะคั้นคั้นจนตาย  ผิวะหมายหมายจงแก้ ผิวะแก้แก้จงกระจ่าง  อย่ารักห่างกว่าชิด คิดข้างหนักอย่าเบา อย่าถือเอาตื้นกว่าลึก  เมื่อเข้าศึกระวังตน  เป็นคนเรียนความรู้ จงยิ่งผู้มีศักดิ์  อย่ามักง่ายมิดี  อย่าตีงูให้กา  อย่าตีปลาหน้าไซ ใจอย่าเบาจงหนัก  อย่าตีสุนัขห้ามเห่า  ข้าเก่าร้ายอดเอา  อย่ารักเผ้ากว่าผม  อย่ารักลมกว่าน้ำ อย่ารักถ้ำกว่าเรือน  อย่ารักเดือนกว่าตะวัน  สุขสิ่งสรรพ์โอวาท  ผู้เป็นปราชญ์พึงสดับ ตรับริตรองปฎิบัติ  โดยอรรถอันถ่องถ้วน  แถลงเลศเหตุเลิศล้วน  เลิศอ้างทางธรรมแลนาฯ  


            ๐  บัณ เจิดจำแนกแจ้ง            พิศดาร  ความแฮ

                ฑิต  ยุบลบรรหาร                เหตุไว้
                พระ  ปิ่นนคราสถาน            อุดรสุข ไทนา
                ร่วง  ราชนามนี้ได้                กล่าวถ้อยคำสอนฯ    





(โปรดติดตามตอนต่อไป)