วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง(ตอนที่ ๔)





                                                        บัณฑิตพระร่วง 
                                                 ๐๐๐๐๐

            สุภาษิตเรื่องนี้มักเรียกกันทั่วไปว่า  "สุภาษิตพระร่วง" บางท่านก็เรียกว่า "บัญญัติพระร่วง"   
          
                         แต่ในคำโคลงท้ายสุภาษิตนี้มีบอกไว้ว่า

                    " บัณ  เจิดจำแนกแจ้ง          พิศดาร  ความเฮย
                      ฑิต    ยุบลบรรหาร             เหตุไว้
                      พระ   ปิ่นนัคราสถาน          อุดรสุข  ไทยนา
                      ร่วง   ราชนามนี้ได้              กล่าวถ้อยคำสอนฯ"

            ตัวกระทู้ข้างต้นนั้นบอกชื่อไว้ว่า "บัณฑิตพระร่วง"  จึงต้องเรียกสุภาษิตนี้ว่า "บัณฑิตพระร่วง"  ตามที่ท่านผู้แต่งตั้งชื่อไว้  ไม่ควรจะตั้งชื่อเรียกกันใหม่อีกว่า "สุภาษิตพระร่วง" 

          ท่านผู้แต่งบอกไว้ว่า  "ร่วงราชนามนี้ได้   กล่าวถ้อยคำสอน" ก็คือคำสอนของพระร่วงเจ้าแน่ ถ้าหากพระร่วงเจ้าสอนประชาชนที่พระแท่นมนังคศิลาอาสน์  กลางดงตาล เมืองสุโขทัยจริงแล้ว  พระองค์ก็เอาคำสอนมาจาก "โลกนิติปกรณ์" นั่นเอง  โลกนิติปกรณ์น่าจะแพร่หลายเข้ามาถึงกรุงสุโขทัยแล้วแต่คร้ังกระโน้น 

          หรือไม่เช่นนั้น "โลกนิติปกรณ์"  นี่เองนักปราชญ์ไทยผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีได้แต่งขึ้นไว้ในประเทศไทย  แต่งโดยคนไทยเรา แต่แต่งเป็นภาษาบาลี


          โลกนิติปกรณ์จึงได้แพร่หลายอยู่ในหมู่นักปราชญ์ราชกวี  แต่งไว้เป็นคำโคลงก็มี  เช่นโคลงโลกนิติก็เป็นของเก่ามาก่อน  สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร ได้ดัดแปลงปรับปรุงขึ้นใหม่ในรัชกาลที่่ ๓  คำกลอนก็มีเช่น สุภาษิตสอนเด็ก  คำร่ายก็มีดังเช่น "สุภาษิตพระร่วง"  ที่กล่าวดังนี้ ที่แท้ก็คือ "โลกนิติคำร่าย" นั่นเอง นั่นเองมิใช่อะไรอื่น แต่ต้้งชื่อไว้ว่า บัณฑิตพระร่วง 
               

               อาจเป็นไปได้ที่ "โลกนิติปกรณ์" นี้  พระะเจ้าเลยไทยไตรปิฎก กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงผู้ทรงสร้างพระพุทธชินราช  พระพุทธชินสีห์ และพระอัฐารส   ได้พระราชนิพนธ์ไว้เป็นภาษาบาลี   ดังเช่นที่ทรงพระราชนิพนธ์ "ไตรภูมิพระร่วง" ไว้   เพราะทรงเชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนา  แล้วทรงอบรมสั่งสอนประชาชนตามแนวพระบาลีนี้   จึงเรียกกันว่า "บัณฑิตพระร่วง"  คู่กับ "ไตรภูมิพระร่วง"   ถ้าเช่นนั้นคำประพันธ์ประเภท  "ร่าย"  ก็คงเป็นคำประพันธ์ชนิดแรกของไทย มีมาต้ังแต่สมัยสุโขทัย  ประมาณ ๗๐๐ ปีมาแล้ว  ต่อมาจึงมีคำประพันธ์ประเภทคำโคลง คำกลอน และคำกาพย์ภายหลัง     
                          


               


                                               (โปรดติดตามตอนต่อไป)
        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น