วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๒)



                                                                 

บัณฑิตพระร่วง

เริ่มเรื่อง
๐๐๐๐

ข้าพเจ้าได้รับส.ค.ส. ๒๕๑๙ ชิ้นหนึ่งจากคุณกำธร กิตติภูมิชัย  เป็นหนังสือ ๑๖ หน้ายก มีความยาว๑๑๒ หน้า  เรื่อง"ข้อคิดสุภาษิตพระร่วง" จัดพิมพ์เผยแพร่โดยธนาคารกรุงเทพฯจำกัด

ข้าพเจ้าอ่านหนังสือนี้ด้วยความสนใจ ด้วยมีความสนใจสุภาษิตพระร่วงนี้มานานแล้วประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งผู้เขียนได้สอดแทรกความรู้ทีน่าสนใจไว้ด้วย 

ความจริงแล้วข้าพเจ้ามีต้นฉบับสุภาษิตพระร่วงอยู่แล้วฉบับหนึ่ง  ปรากฎอยู่ในหนังสือ "ลิลิตพงศาวดารเหนือ"  พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ ซึ่งพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพนายชัยธวัช เภกะนันทน์ เมื่อ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๐ 
ในลิลิตพงศาวดารเหนือ  มีสุภาษิตพระร่วง แทรกอยู่ด้วยบอกไว้ด้วยว่า เป็นคำประพันธ์ประเภท"ร่าย"  ด้วยลิลิตนั้นย่อมประกอบด้วยโคลงกับร่ายเป็นพื้น 

ความสงสัยว่าสุภาษิตพระร่วงเป็นคำประพันธ์ประเภทไหนจึงเป็นอันกระจ่างใจว่า คือ "ร่าย" ดีๆนี่เอง หาใช่คำคล้องจองเป็นลักษณะของคำในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย แต่อย่างใดไม่

สุภาษิตพระร่วงนี้ได้พิมพ์แจกครั้งแรก เมื่อพ.ศ.๒๔๗๒ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวิมาดาเธอพระองค์หญิงสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัชดา

ธนาคารกรุงเทพฯ พิมพ์แจกเป็นครั้งที่ ๑๙ เมื่อพ.ศ.๒๕๑๘  ในช่วงเวลา ๔๖ ปี แสดงว่าสุภาษิตเรื่องนี้แพร่หลายเป็นที่นิยมมากเพียงไร

ข้าพเจ้าจึงมีความสนใจ อยากจะเขียนถึงสุภาษิตเรื่องนี้บ้าง ตามความรู้ความคิดเห็นของตนเอง  แต่จะพยายามเขียนแต่ย่อๆไม่ให้ซ้ำกับของท่านผู้อื่่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น