วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๓)







บัณฑิตพระร่วง
                                                                        โดย  



เทพ สุนทรศารทูล


สุภาษิตไทยแท้
๐๐๐๐๐๐

คำนำเรื่องสุภาษิตพระร่วง ที่นายธนิต อยู่โพธิ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในวันสถาปนากรมศิลปากร พ.ศ.๒๕๐๕ ได้กล่าวไว้ว่า
              "สังเกตุจากข้อความและถ้อยคำ  เห็นได้ว่า เป็นภาษิตไทยแท้ๆ  ใช้ถ้อยคำอย่างพื้นๆ ยังไม่มีภาษิตต่างประเทศ เข้ามาแทรกแทรงปะปน  ดูเหมือนจะยังไม่มีอิทธิพลจากภาษิตแบบอินเดีย เช่น จากคำภีร์โลกนิติและพระธรรมบท เป็นต้น เข้ามาครอบงำ แสดงว่าเป็นภาษิตไทยเก่าแก่ที่ติดปากคนไทยสืบมาและกลายรูปไปตามลักษณะของกวีนิพนธ์แบบต่างๆ แทรกอยู่ในวรรณคดีไทยในกาลต่อมา และถ้าพิจารณาตามรูปของวลี จะเห็นได้ว่า คล้ายคลึงใกล้เคียงกับในจารึกหลักที่ ๑ ที่เรียกว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหง" 


ความเห็นข้อนี้ มีหลักฐานขัดแย้งอยู่ ในสุภาษิตบางข้อมีสุภาษิตโลกนิติคำโคลงเข้ามามีอิทธิพลอยู่ในสุภาษิตพระร่วงหลายตอน เช่น 

สุภาษิตพระร่วงว่า
"สู้เสียสินอย่าเสียสัตย์"
ตรงกับโคลงโลกนิติว่า:-
                              "เสียสินสงวนศักดิ์ไว้   วงศ์หงส์
                                เสียศักดิ์สู้ประสงค์     สิ่งรู้
                                เสียรู้เร่งดำรง             ความสัตย์  ไว้นา
                                เสียสัตย์อย่าเสียสู้      ชีพม้วยมรณาฯ


สุภาษิตพระร่วงว่า
"ยอครูยอต่อหน้า        ยอข้าเมื่อแล้วกิจ
ยอมิตรเมื่อลับหลัง"

คำโคลงโลกนิติว่า:-
                            "ยอข้ายอเมื่อแล้ว      การกิจ
                              ยกยอครูยอสนิท       ซึ่งหน้า
                              ยอญาติประยูรมิตร    เมื่อลับ  หลังแฮ
                              คนหยิ่งแบกยศบ้า     อย่ายั้งยอดควรฯ"


    จะว่าโลกนิติคำโคลง  เอามาจากสุภาษิตพระร่วงก็ไม่ได้ เพราะสุภาษิตคำโคลงโลกนิติเป็นของเก่า  แปลมาจากคำบาลี เป็นพุทธภาษิตอีกต่อหนึ่ง ปรากฎอยู่ใน"โลกนิติปกรณ์"  ซึ่งศาสตราจารย์แสง มนวิทูร  ได้แปลไว้และพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านเอง  เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๕๑๗  แสดงหลักฐานว่า "โลกนิติคำโคลง" มาจาก "โลกนิติปกรณ์"  ในภาษาบาลี


      สุภาษิตพระร่วง จึงมิใช่ภาษิตไทยแท้บริสุทธิ์  เป็นภาษิตซึ่งมีอิทธิพลของภาษิตต่างประเทศเข้ามาครอบคลุมอยู่โดยตลอด แต่ถ้อยคำภาษิตนั้นเป็นคำธรรมดาสามัญ  จึงทำให้แลเห็นเป็นสุภาษิตไทยแท้






(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น