วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง(ตอนที่ ๔)





                                                        บัณฑิตพระร่วง 
                                                 ๐๐๐๐๐

            สุภาษิตเรื่องนี้มักเรียกกันทั่วไปว่า  "สุภาษิตพระร่วง" บางท่านก็เรียกว่า "บัญญัติพระร่วง"   
          
                         แต่ในคำโคลงท้ายสุภาษิตนี้มีบอกไว้ว่า

                    " บัณ  เจิดจำแนกแจ้ง          พิศดาร  ความเฮย
                      ฑิต    ยุบลบรรหาร             เหตุไว้
                      พระ   ปิ่นนัคราสถาน          อุดรสุข  ไทยนา
                      ร่วง   ราชนามนี้ได้              กล่าวถ้อยคำสอนฯ"

            ตัวกระทู้ข้างต้นนั้นบอกชื่อไว้ว่า "บัณฑิตพระร่วง"  จึงต้องเรียกสุภาษิตนี้ว่า "บัณฑิตพระร่วง"  ตามที่ท่านผู้แต่งตั้งชื่อไว้  ไม่ควรจะตั้งชื่อเรียกกันใหม่อีกว่า "สุภาษิตพระร่วง" 

          ท่านผู้แต่งบอกไว้ว่า  "ร่วงราชนามนี้ได้   กล่าวถ้อยคำสอน" ก็คือคำสอนของพระร่วงเจ้าแน่ ถ้าหากพระร่วงเจ้าสอนประชาชนที่พระแท่นมนังคศิลาอาสน์  กลางดงตาล เมืองสุโขทัยจริงแล้ว  พระองค์ก็เอาคำสอนมาจาก "โลกนิติปกรณ์" นั่นเอง  โลกนิติปกรณ์น่าจะแพร่หลายเข้ามาถึงกรุงสุโขทัยแล้วแต่คร้ังกระโน้น 

          หรือไม่เช่นนั้น "โลกนิติปกรณ์"  นี่เองนักปราชญ์ไทยผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีได้แต่งขึ้นไว้ในประเทศไทย  แต่งโดยคนไทยเรา แต่แต่งเป็นภาษาบาลี


          โลกนิติปกรณ์จึงได้แพร่หลายอยู่ในหมู่นักปราชญ์ราชกวี  แต่งไว้เป็นคำโคลงก็มี  เช่นโคลงโลกนิติก็เป็นของเก่ามาก่อน  สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร ได้ดัดแปลงปรับปรุงขึ้นใหม่ในรัชกาลที่่ ๓  คำกลอนก็มีเช่น สุภาษิตสอนเด็ก  คำร่ายก็มีดังเช่น "สุภาษิตพระร่วง"  ที่กล่าวดังนี้ ที่แท้ก็คือ "โลกนิติคำร่าย" นั่นเอง นั่นเองมิใช่อะไรอื่น แต่ต้้งชื่อไว้ว่า บัณฑิตพระร่วง 
               

               อาจเป็นไปได้ที่ "โลกนิติปกรณ์" นี้  พระะเจ้าเลยไทยไตรปิฎก กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงผู้ทรงสร้างพระพุทธชินราช  พระพุทธชินสีห์ และพระอัฐารส   ได้พระราชนิพนธ์ไว้เป็นภาษาบาลี   ดังเช่นที่ทรงพระราชนิพนธ์ "ไตรภูมิพระร่วง" ไว้   เพราะทรงเชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนา  แล้วทรงอบรมสั่งสอนประชาชนตามแนวพระบาลีนี้   จึงเรียกกันว่า "บัณฑิตพระร่วง"  คู่กับ "ไตรภูมิพระร่วง"   ถ้าเช่นนั้นคำประพันธ์ประเภท  "ร่าย"  ก็คงเป็นคำประพันธ์ชนิดแรกของไทย มีมาต้ังแต่สมัยสุโขทัย  ประมาณ ๗๐๐ ปีมาแล้ว  ต่อมาจึงมีคำประพันธ์ประเภทคำโคลง คำกลอน และคำกาพย์ภายหลัง     
                          


               


                                               (โปรดติดตามตอนต่อไป)
        

วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๓)







บัณฑิตพระร่วง
                                                                        โดย  



เทพ สุนทรศารทูล


สุภาษิตไทยแท้
๐๐๐๐๐๐

คำนำเรื่องสุภาษิตพระร่วง ที่นายธนิต อยู่โพธิ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในวันสถาปนากรมศิลปากร พ.ศ.๒๕๐๕ ได้กล่าวไว้ว่า
              "สังเกตุจากข้อความและถ้อยคำ  เห็นได้ว่า เป็นภาษิตไทยแท้ๆ  ใช้ถ้อยคำอย่างพื้นๆ ยังไม่มีภาษิตต่างประเทศ เข้ามาแทรกแทรงปะปน  ดูเหมือนจะยังไม่มีอิทธิพลจากภาษิตแบบอินเดีย เช่น จากคำภีร์โลกนิติและพระธรรมบท เป็นต้น เข้ามาครอบงำ แสดงว่าเป็นภาษิตไทยเก่าแก่ที่ติดปากคนไทยสืบมาและกลายรูปไปตามลักษณะของกวีนิพนธ์แบบต่างๆ แทรกอยู่ในวรรณคดีไทยในกาลต่อมา และถ้าพิจารณาตามรูปของวลี จะเห็นได้ว่า คล้ายคลึงใกล้เคียงกับในจารึกหลักที่ ๑ ที่เรียกว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหง" 


ความเห็นข้อนี้ มีหลักฐานขัดแย้งอยู่ ในสุภาษิตบางข้อมีสุภาษิตโลกนิติคำโคลงเข้ามามีอิทธิพลอยู่ในสุภาษิตพระร่วงหลายตอน เช่น 

สุภาษิตพระร่วงว่า
"สู้เสียสินอย่าเสียสัตย์"
ตรงกับโคลงโลกนิติว่า:-
                              "เสียสินสงวนศักดิ์ไว้   วงศ์หงส์
                                เสียศักดิ์สู้ประสงค์     สิ่งรู้
                                เสียรู้เร่งดำรง             ความสัตย์  ไว้นา
                                เสียสัตย์อย่าเสียสู้      ชีพม้วยมรณาฯ


สุภาษิตพระร่วงว่า
"ยอครูยอต่อหน้า        ยอข้าเมื่อแล้วกิจ
ยอมิตรเมื่อลับหลัง"

คำโคลงโลกนิติว่า:-
                            "ยอข้ายอเมื่อแล้ว      การกิจ
                              ยกยอครูยอสนิท       ซึ่งหน้า
                              ยอญาติประยูรมิตร    เมื่อลับ  หลังแฮ
                              คนหยิ่งแบกยศบ้า     อย่ายั้งยอดควรฯ"


    จะว่าโลกนิติคำโคลง  เอามาจากสุภาษิตพระร่วงก็ไม่ได้ เพราะสุภาษิตคำโคลงโลกนิติเป็นของเก่า  แปลมาจากคำบาลี เป็นพุทธภาษิตอีกต่อหนึ่ง ปรากฎอยู่ใน"โลกนิติปกรณ์"  ซึ่งศาสตราจารย์แสง มนวิทูร  ได้แปลไว้และพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านเอง  เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๕๑๗  แสดงหลักฐานว่า "โลกนิติคำโคลง" มาจาก "โลกนิติปกรณ์"  ในภาษาบาลี


      สุภาษิตพระร่วง จึงมิใช่ภาษิตไทยแท้บริสุทธิ์  เป็นภาษิตซึ่งมีอิทธิพลของภาษิตต่างประเทศเข้ามาครอบคลุมอยู่โดยตลอด แต่ถ้อยคำภาษิตนั้นเป็นคำธรรมดาสามัญ  จึงทำให้แลเห็นเป็นสุภาษิตไทยแท้






(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๒)



                                                                 

บัณฑิตพระร่วง

เริ่มเรื่อง
๐๐๐๐

ข้าพเจ้าได้รับส.ค.ส. ๒๕๑๙ ชิ้นหนึ่งจากคุณกำธร กิตติภูมิชัย  เป็นหนังสือ ๑๖ หน้ายก มีความยาว๑๑๒ หน้า  เรื่อง"ข้อคิดสุภาษิตพระร่วง" จัดพิมพ์เผยแพร่โดยธนาคารกรุงเทพฯจำกัด

ข้าพเจ้าอ่านหนังสือนี้ด้วยความสนใจ ด้วยมีความสนใจสุภาษิตพระร่วงนี้มานานแล้วประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งผู้เขียนได้สอดแทรกความรู้ทีน่าสนใจไว้ด้วย 

ความจริงแล้วข้าพเจ้ามีต้นฉบับสุภาษิตพระร่วงอยู่แล้วฉบับหนึ่ง  ปรากฎอยู่ในหนังสือ "ลิลิตพงศาวดารเหนือ"  พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ ซึ่งพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพนายชัยธวัช เภกะนันทน์ เมื่อ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๐ 
ในลิลิตพงศาวดารเหนือ  มีสุภาษิตพระร่วง แทรกอยู่ด้วยบอกไว้ด้วยว่า เป็นคำประพันธ์ประเภท"ร่าย"  ด้วยลิลิตนั้นย่อมประกอบด้วยโคลงกับร่ายเป็นพื้น 

ความสงสัยว่าสุภาษิตพระร่วงเป็นคำประพันธ์ประเภทไหนจึงเป็นอันกระจ่างใจว่า คือ "ร่าย" ดีๆนี่เอง หาใช่คำคล้องจองเป็นลักษณะของคำในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย แต่อย่างใดไม่

สุภาษิตพระร่วงนี้ได้พิมพ์แจกครั้งแรก เมื่อพ.ศ.๒๔๗๒ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวิมาดาเธอพระองค์หญิงสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัชดา

ธนาคารกรุงเทพฯ พิมพ์แจกเป็นครั้งที่ ๑๙ เมื่อพ.ศ.๒๕๑๘  ในช่วงเวลา ๔๖ ปี แสดงว่าสุภาษิตเรื่องนี้แพร่หลายเป็นที่นิยมมากเพียงไร

ข้าพเจ้าจึงมีความสนใจ อยากจะเขียนถึงสุภาษิตเรื่องนี้บ้าง ตามความรู้ความคิดเห็นของตนเอง  แต่จะพยายามเขียนแต่ย่อๆไม่ให้ซ้ำกับของท่านผู้อื่่น

วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๑)

                                                         

                                                                         


บัณฑิตพระร่วง
                                             
                                                คำนำ

           บัณฑิตพระร่วง  ท่านผู้นิพนธ์เรียกของท่านว่า "บัณฑิตพระร่วง" แต่คนภายหลังเรียกว่า "สุภาษิตพระร่วง" 
ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นวรรณคดีสำคัญของไทย จึงได้ลงมือศึกษา วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์โดยละเอียด  ตามแบบการศึกษาวรรณคดี 

 มีความเห็นเด็ดขาดว่า  เป็นพระราชนิพนธ์ "ร่ายสุภาพ"  ท่านผู้นิพนธ์คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 
 ข้าพเจ้าวิจัยเสร็จเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๐ พิมพ์ต้นฉบับเก็บไว้นานถึง ๒๔ ปี เกรงว่าต้นฉบับจะสูญหายไปเสีย  จึงพิมพ์ออกเผยแพร่  วรรณคดีเรื่องนี้ซึ่งเคยพิมพ์มาแล้ว ๑๙ ครั้ง  ดร.นิยดา เหล่าสุนทร สันนิษฐานว่า เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เช่นเดียวกับตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงเสนอวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ต่อท่านนักศึกษาวิชาวรรณคดีไทยได้พิจาณากันต่อไป

                                                                      เทพ สุนทรศารทูล  
                                                                             
                                                                      ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔