วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง ( ตอน่ที่ ๒๒ บทสรุป)

บทสรุป

ตามที่ได้พยายามวิเคราะห์คำสอนในบัณฑิตพระร่วงมาแล้วนี้  จะเห็นได้โดยสรุปว่า 
๑. มีคำสอนอยู่ทั่้งสิ้น  ๑๖๔ ข้อ  บางข้อมีถ้อยคำประโยคเดียว  บางข้อมีถ้อยคำขยายความอีกประโยคหนึ่ง หรือสองประโยค
๒.คำสอนน้ันใช้คำไทยสามัญเป็นพื้น  ไม่มีภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤตปน   นอกจากภาษาเขมรซึ่งมีรูปแบบคล้ายภาษาไทย  และไทยรับเอาใช้จนเคยชิน เหมือนภาษาไทยแท้  เพราะไทยและเขมรมีความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติมากว่าพันปี 
. ถ้อยคำน้ันเป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่งของไทย เรียกว่า ร่าย   เป็นแบบร่ายสุภาพ มีวรรคละ ๕-๖ คำ  เข้าใจว่า ร่ายเป็นคำประพันธ์ดั้งเดิมของไทย   มีมาก่อนโคลงและกลอนเพราะแต่งง่ายกว่า  คำแอ่วทางภาคเหนือและภาคอีสาน  ก็มีลักษณะเป็นคำร่ายชนิดหนึ่ง  คือมีคำสัมผัสคล้องจองกันไปแบบลูกโซ่  คำท้ายของวรรคต้น สัมผัสกับคำแรกหรือคำที่สองที่สามของวรรคต่อไป ไม่ใช่คำร้อยแก้วแบบศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง 
๔ คำสอนทั้ง ๑๖๔ ข้อนี้  พ้องหรือตรงกับคำสอนในคำโคลงโลกนิติอยู่เกือบตลอด  แสดงให้เห็นว่า มีที่มาแห่งเดียวกัน   คำโคลงโลกนิติน้ันเป็นของเก่า  มีมาก่อนเก่า  สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร (พระองค์เจ้าละมั่ง ต้นสกุล เดชาติวงศ์)  เป็นผู้ชำระของเก่าให้ไพเราะขึ้น  แล้วจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพน ในสมัยรัชกาลที่ ๓  บัณฑิตพระร่วงนี้ก็จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ คราวเดียวกัน  แสดงว่าไม่ได้เอาอย่างกัน  แต่มาจากคำสอนเดียวกัน คือ  "โลกนิติปกรณ์" ในภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤต  ซึ่ง ศาสตราจารย์แสง มนวิทูร  ได้แปลเป็นภาษาไทยไว้แล้ว   เพียงแต่ว่าคำโคลงโลกนิติได้เอาธรรมบทจากภาษาบาลีมาแต่งเพิ่มเติมให้มากขึ้นเท่านั้น   คำโคลงโลกนิติมีอยู่หลายสำนวน  แต่ว่าบัณฑิตพระร่วงนี้มีสำนวนเดียว   ผู้แต่งคนเดียว  แต่คงจะคัดลอกมาหลายทอด  จึงแตกต่างกันไปบ้างตามความเข้าใจของคน  
๕. ผู้แต่งโลกนิติปกรณ์  น่าจะเป็นนักปราชญ์ของไทยเราเอง ดังเช่น มาลีปกรณ์  และอาจแต่งมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ในสมัยพระเจ้าลิไทบไตรปิฎก   ผู้แต่งอาจจะเป็นคนคนเดียวกันก็ได้  จึงใช้ชื่อเหมือนกันและเป็นของคู่กัน  เรียกว่า "โลกนิติปกรณ์"เรื่องหนึ่ง "มาลีปกรณ์" อีกเรื่องหนึ่ง   ถ้าหากว่าจะแต่งก่อนกัน  "โลกนิติปกรณ์"  น่าจะแต่งก่อนในสมัยสุโขทัย  และผู้แต่งคือพระเจ้าลิไทยไตรปิฎก   และ "มาลีปกรณ์"  แต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา  แต่ล้วนแต่งเป็นภาษาบาลีทั้งสองเรื่อง  มีผู้แปลเป็นภาษาไทย  แต่งเป็นคำร่ายและคำโคลงในภายหลัง  แต่ร่ายน่าจะแต่งก่อนคำโคลง   ร่ายแต่งง่ายกว่า  โคลงเป็นคำประพันธ์เกิดทีหลังร่าย  โองการแช่งน้ำของเก่านั้นก็เป็นคำประพันธ์ประเภทร่ายโบราณ  มหาเวสันดรชาดก ก็เป็นร่ายโบราณ เรียกว่า ร่ายยาว  คำอ่านโองการที่ประสงค์จะให้ศักดิ์สิทธิ์ มักจะแต่งเป็นคำร่าย หรือคล้องจองคล้ายกับร่ายทั้งสิ้น  เรียกว่า ร่ายดั้น 
๖. สังเกตุดูถ้อยคำที่ใช้ในบัณฑิตพระร่วงนี้   ไม่ใช่คำเก่าโบราณนัก  เมื่อเปรียบเทียบกับ   "กำสรวลศรีปราชญ์" แล้ว กำสรวลศรีปราชญ์ คำเก่าโบราณกว่ามาก  "บัณฑิตพระร่วง" นี้ถ้อยคำใหม่กว่า   เทียบได้กับ ตำหรับนางนพมาศ หรือ ตำนานท้าวศรีจุฬาลักษณ์  เท่านั้น  แต่เพื่อให้เป็นคำสอนที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์น่าเชื่อถือเป็นวาจาสิทธิ์พระร่วง  จึงใช้ชื่อว่า  "บัณฑิตพระร่วง" มุ่งหมายจะให้เข้าคู่กับ  "ไตรภูมิพระร่วง"  ผู้แต่ง"บัณฑิตพระร่วง" น่าจะเป็นพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับ  "ตำหรับนางนพมาศ" ซึ่งสำนวนชวนให้เชื่อว่าเป็นพระนิพนธ์ของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสองเรื่อง  ไม่ใช่แต่งในสมัยสุโขทัยแต่อย่างใด  "บัณฑิตพระร่วง" นี้ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นพระนิพนธ์ของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแน่นอนไม่มีที่สงสัย 
๗. ชื่อเรื่องที่เรียกกันว่า "สุภาษิตพระร่วง" น้ัน น่าจะไม่ถูกต้อง   เพราะคำโคลงท้ายบทท่านตั้งชื่อไว้แล้วว่า  "บัณฑิตพระร่วง"  ถึงจะมีผู้สงสัยว่า  คำโคลงนี้แต่งเพิ่มภายหลัง  แต่ท่านก็เรียกชื่อตั้งชื่อไว้แล้วว่า  "บัณฑิตพระร่วง"  น่าจะเรียกตามชื่อเดิม  เพื่อให้เข้าคู่กับ "ไตรภูมิพระร่วง"  เพราะคำว่า สุภาษิต แปลว่า พูดดี หรือ ถ้อยคำดี  แต่ "บัณฑิต" แปลว่า ผู้รู้ หรือถ้อยคำของนักปราชญ์  มีความหมายลึกซึ้งกว่า  จึงควรเรียกว่า "บัณฑิตพระร่วง" กันต่อไป
 ๘. กรมศิลปากรน่าจะได้"ชำระ" หรือหาผู้รู้มาชำระสะสางทำแบบฉบับไว้ให้ถูกต้อง   เพราะบัณฑิตพระร่วง นี้มีคุณค่าทางภาษาและวรรณคดีมาก   เป็นคำสอนที่แสดงถึงคตินิยม  ความเชื่อถือ  และขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยเราแต่โบราณ  เป็นสมบัติวัฒนธรรมของไทยเราที่ควรรักษาเอาไว้  สังเกตุคำนำของกรมศิลปากรในการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้  ดูออกจะอ้อมแอ้มกล้อมแกล้มเต็มที  ทำท่าทีว่าจะอับจนผู้มีความรู้ในเรื่องนี้ไปเสียแล้ว  ซึ่งที่จริงไม่น่าจะเป็นเช้นนั้นเลย 
๙. บัณฑิตพระร่วงนี้ น่าจะใช้เป็นแบบเรียนในเชิงวิชาวรรณดคีของนักเรียน นิสิต นักศึกษา  ในสถานศึกษาของเราด้วย   เพราะเป็นคำสอนที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของไทย  แสดงถึงสมบัติวัฒนธรรมของชาติไทยเราเป็นอย่างดี   สังเกตุดูนักศึกษา หรือผู้บริหารการศึกษารุ่นใหม่มักจะหลงใหลแต่วิชาการต่างชาติไป  จนลืมวัฒนธรรมของไทยเสีย   สุภาษิตไทยเราจึงถูกทอดทิ้งกันเสียหมดสิ้น  ที่เคยกำหนดให้เป็นแบบเรียนก็เลิกเสีย  เช่น คำโคลงโลกนิติ   ของที่ควรจะเพิ่มเติม เช่น "บัณฑิตพระร่วง" นี้ก็ถูกทอดทิ้งเสียอย่างน่าเสียดาย 
๑๐. บัณฑิตพระร่วง เป็นสมบัติวัฒนธรรมอันมีคุณค่าทางภาษา วรรณคดี คตินิยม และเอกลักษณ์ของชาติไทยเรา  จึงได้อุตสาหะเขียนเรื่องนี้ขึ้นเผยแพร่  เพื่อหวังจะให้เป็นที่สนใจของบรรดาครูบาอาจารย์  และผู้บริหารการศึกษาของบ้านเมือง ที่หวังจะปลูกฝังเอกลักษณ์ของชาติไทย  จะได้หยิบยกเอาหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาบ้างตามสมควร



หมายเหตุ

        ๐ ข้าพเจ้าวิจัย  จัดพิมพ์และร่างจบเมื่อ วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๐  นับถืงพ.ศ.๒๕๔๔ นี้  ก็เป็นเวลาถึง ๒๔ ปีเศษแล้ว 
            บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเวลาอันสมควรที่จะพิมพ์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน  ให้นักปราชญ์ทางวรรณคดีได้พิจารณาวินิจฉัยต่อไป  ผิดถูกประการใดข้าพเจ้าขอรับผิดชอบ   แต่ถ้าหากมีคุณความดีอยู่  ก็ขออุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหากษัตริย์นักปราชญ์นักกวีองค์นั้น 


วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๒๑)


๑๖๑. อย่ารักเผ้ากว่าผม
ฉบับกรมศิลปากรว่า "อย่ารักเหากว่าผม"   เห็นว่าน่าจะไม่ถูก เพราะคงไม่มีใครรักเหากว่าผมของตัวแน่  ไม่น่าจะสอนเป็นสุภาษิต แต่ถ้าจะเปรียบความว่า ผมคือเลือดเนื้อเชื้อวงศ์  เผ้าคือคนมาอาศัยเรือนอยู่  ก็อาจจะพอไปได้
ฉบับของกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ว่า "อย่ารักเผ้ากว่าผม"  ฟังเข้าที เพราะผมคู่กับเผ้า
ผม - ขนที่เกิดงอกขึ้นบนศีรษะ  ภาษาบาลีว่า "เกศา" ท่านสอนให้ปลงกรรมฐานว่า  เกสา- โลมา - นขา - ทันตา - ตโจ ให้พิจารณาว่าเป็นอนิจจัง - ไม่เที่ยง, ทุกขัง- เป็นทุกข์, อนัตตา - ไม่ใช่ตัวตน (ไม่งดงาม พรากจากที่เดิมแล้วก็ไม่มีอะไรดี) 
เผ้า - ข้อง วิก ผมปลอม มวยผมที่มุ่นเป็นชฎาแบบฤาษี  เครื่องตกแต่งประดับประดาศรีษะภายนอกกายเพื่อให้สวยงาม  เสริดสวมศรีษะ 
สอนว่า แม้แต่ผมขึ้นจากหนังศรีษะ  ยังไม่งดงาม ยังหงอกขาว  ยังล่วงหลุ่น ไม่เที่ยงไม่สวยงาม แล้วข้องผมที่ประดับศรีษะ อันเป็นข้องภายนอกกาย  จะดีงามควรรักใคร่อย่างไรได้  แม้แต่สิ่งที่เกิดในกาย  ยังไม่ควรรักใคร่ใยดี 

๑๖๒. อย่ารักลมกว่าน้ำ
ลม - พัดให้ร่างกายเย็นสบาย  แต่ก็มองไม่เห็นตัว ตักตวงมาเก็บไว้ไม่ได้ ดื่มกินแก้กระหายไม่ได้  ชำระล้างร่างกายให้สะอาดไม่ได้ ใช้หุงต้มไม่ได้ เปรียบเหมือนคำพูดที่ไพเราะ 
น้ำ - อาบให้เย็นสบายเหมือนลมพัด  แต่ก็ยังชำระร่างกายให้สะอาดได้  ใช้ดื่มกินแก้กระหายได้ ใช้หุงต้มอาหารกินได้  มีตัวตนเก็บรักษาไว้ได้  ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าลม  เปรียบเหมือนน้ำใจดี
สอนว่าอย่ารักลมกว่าน้ำ เป็นคำเปรียบเทียบว่า  อย่ารักคำพูดที่เป็นลมๆ ไม่จริงจังอะไร  ฟังได้เย็นๆหูให้ชื่นใจเท่านั้น  แต่น้ำใจนั้นมีค่ายิ่งกว่าคำพูด  รักก็รักน้ำใจดีกว่ารักคำพูดที่หวานหู

๑๖๓. อย่ารักถ้ำกว่าเรือน
ถ้ำ - เป็นที่อยู่อาศัยในป่า  นอกจากเป็นที่อยู่อาศัยของคนแล้ว โจรผู้ร้าย  เสือร้าย งูพิษ ก็อาศัยอยู่ได้  เปรียบเหมือนใจคนร้าย  มีความชั่วร้าย เปรียบเหมือนใจคนร้าย   มีความชั่วร้ายอยู่ในใจไม่น่าไว้ใจคบหาให้เป็นสุขได้ตลอดไป
เรือน - เป็นที่อยู่อาศัยของคน  คนปลูกสร้างขึ้นเอง อาศัยเอง  จะปลูกสร้างให้น่าอยู่อาศัยอย่างไรก็ได้  เหมือนเรือนใจของคนดี  ย่อมมีคุณธรรมควรคบหาไว้ใจได้ว่าจะปลอดภัยเป็นสุข
สอนว่าอย่ารักถ้ำกว่าเรือน  เปรียบเหมือนอิงแอบอาศัยในหมู่คนดี เป็นสุขกว่าอยู่ท่ามกลางคนร้าย  ไม่น่าไว้ใจ ไม่น่าเป็นสุขเหมือนอยู่ในหมู่คนดี  หรือหมู่นักปราชญ์
คำโคลงโลกนิติว่า
"ได้เห็นนักปราชญ์ไซร้     เป็นสุข
  อยู่ร่วมเรือนหายทุกข์      ค่ำเช้า
  ผู้พาลสั่งสอนปลุก           ใจดั่ง พาลนา
  ยลเยี่ยงนกแขกเต้า          ตกต้องมือโจรฯ "
เปรียบความว่า ถ้าเป็นเหมือนเรือนโจร   เรือนเป็นเหมือนอาศรมพระฤาษี

๑๖๔. อย่ารักเดือนกว่าตะวัน  
เดือน - ดวงจันทร์ ส่องยามค่ำคืน  มีขึ้นมีแรง ไม่คงที่ เปรียบเหมือนใจคนคดใจคนพาล  ไม่แจ่มแจ้งผ่องใสตลอดไปได้  ถึงจะทำเป็นคนดีก็เป็นคนดีไปไม่ตลอด มีมืดมีสว่าง 
ตะวัน - ส่องยามกลางวัน  คงที่ไม่มีขึ้นมีแรง  แม้จะมีเมฆบังก็ชั่วครูชั่วยาม  เปรียบเหมือนใจคนตรง ใจคนดี ใจนักปราชญ์ ใจผู้มีศีลธรรม  ย่อมส่องสว่าง  คงเส้นคงวา  สว่างตลอดเวลาทีมีชีวิตอยู่ 
สอนว่า คนพาลนั้นมีมืดมีสว่าง ไม่คงที่ อย่าหลงรัก  ใจบัณฑิตนั้นสว่างคงที่  ไม่มีมืดมน  จึงอย่ารักคนพาลยิ่งกว่ารักบัณฑิต เป็นคำสอนเปรียบเทียบ 
คำโคลงโลกนิติกล่าวไว้ว่า
"คนใดไปเสพด้วย            คนพาล
  จักทุกข์ทนเนานาน         เนิ่นแท้
  ใครเสพท่านทรงญาณ    เปรมปราชญ์
  เสวยสุขเลิศล้ำแท้          เพราะได้สดับดี ฯ"
มาจากภาษาบาลีว่า 
โย ชโย พาลสมาคโม สุขปฺปตฺโต นสํ สิต
ปณฑิตา จ  สหา สุขา พาลาทุกข สมาคมา 

(โปรดติดตามต่อไป)



วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บัณฑิตพระร่วง (ตอนที่ ๒๐)


๑๕๑. คิดข้างหนักอย่าเบา
ฉบับของกรมศิลปากรว่า "คิดข้างหน้าอย่าเบา"  เห็นว่าผิด เพราะว่า "หนัก" คู่กับ "เบา"  คำว่า "หน้า" ไม่ใช่คำคู่กับ "เบา" เป็นคำคู่กับ "หลัง"  จีงแปลไม่ได้ความ
 เบา - เบาความ เบาความคิด เบาปัญญา  หูเบา ไม่หนักแน่น  ไม่สุขุมรอบคอบ ขาดสติยั้งคิด
หนัก - หนักแน่น มั่นคง หนักหน่วง ใจหนัก
สอนว่า คิดหนักหน่วง ตรึกตรองหน้าหลังให้ดี  อย่าใจเบา หูเบา ฟังความข้างเดียว 
โบราณสอนว่า "พกหินดีกว่าพกนุ่น"  หมายความว่า ให้หนักแน่นไว้ อย่าหูเบา ใจเบา อย่าเชื่อง่ายใจเร็ว 

๑๕๒. อย่าถือเอาตื้นกว่าลึก 
ตื้น -  คิดตื้นๆ คิดแค่ชั้นเดียว  คิดแต่ทางได้ ไม่คิดทางเสีย  คิดแต่ทางไล่ไม่คิดทางหนี 
ลึก - คิดลึก  คิดทางได้ทางเสีย  คิดทางหนีทีไล่ เหมือนเดินหมากรุกก็ต้องคิดหลายตาหลายชั้น ว่าเดินไปตานั้น  จะถูกกินจากตัวใดบ้าง  เดินไปแล้วจะเดินไปตาใดอีก  อย่างนี้เรียกว่า คิดลึก 
สอนว่า  อย่าคิดตื้นๆ ให้คิดลึกๆ  คิดหลายๆชั้น  คนคิดตื้นๆ ทำอะไรไม่คิด  พูดอะไรไม่คิด ท่านเรียกว่า คนบ้องตื้น  เหมือนกระบอกไม้ปล้องสั้นๆ  ทำกระบอกใส่น้ำได้ตื้น  จุน้ำได้นิดเดียว ทำข้าวหลามก็เนื้อนิดเดียว

๑๕๓.เมื่อเข้าศึกระวังตน
เข้าศึก - เข้าสงคราม เข้าสนามรบ 
สอนให้ระวังตนเมื่อเข้าสนามรบ 
ข้อนี้เห็นจะไม่ต้องอธิบายขยายความต่อไป  การรบกันต้องระวังตัวทุกเมื่อ  แม้แต่ศึกหน้านาง หรือศึกชิงนาง   อันเป็นศึกย่อยๆ  เพราะถ้าพลาดท่าก็ถึงตาย 

๑๕๔. เป็นคนเรียนความรู้ 
          จงยิ่งยิ่งผู้มีศักดิ์
เป็นคน - เกิดมาเป็นคน 
จงยิ่งผู้ - จงมากยิ่งกว่าผู้อื่น
ผู้มีศักดิ์ - จึงจะเป็นผู้มีศักดิ์ มีเกียรติยศ มีชื่อเสียง
สอนว่าเกิดเป็นคน ควรเรียนวิชาความรู้ให้ยิ่งกว่าผู้อื่น  จึงจะเป็นผู้มีเกียรติ มียศศักดิ์ มีชื่อเสียง 
คำโคลงโลกนิติสอนว่า
"ความรู้ผู้ปราชญ์นั้น                 รักเรียน
  ฝนทั่งเท่าเข็มเพียร                ผ่ายหน้า
  คนเกียจเกลียดหน่ายเวียน     วนจิต
  กลอุทกในตะกร้า                    เปี่ยมล้นฤามี ฯ" 

"ความรู้รู้ยิ่งได้                          สินศักดิ์
  เป็นที่ชนพำนัก                       นอบนิ้ว
  อย่าเกียจเกลียดหน่ายรัก       เรียนต่อ
  รู้รอบใช่หอบหิ้ว                      เหนื่อยแพ้โรยแรง ฯ"
โบราณว่า รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม
คำโคลงโลกนิติอีกบทหนึ่งว่า
"ความรู้ดูยิ่งล้ำ                    สินทรัพย์
  คิดค่าควรเมืองนับ            ยิ่งไซร้
  เพราะเหตุจักอยู่กับกาย   กายอาต-มานา
  ใครจักเบียญบ่ได้             เร่งรู้เรียนเอา ฯ" 
ท่านสรรเสริญ ความรู้หนักหนา  จึงสอนว่า เกิดเป็นคนควรเรียนความรู้ไว้ให้มาก  จึงจะมีเกียรติศักดิ์


๑๕๕. อย่ามักง่ายมิดี
มัก - รัก ชอบ พอใจ ทำบ่อยๆ 
ง่าย - ชุ่ย ทำส่งเดช ทำสักว่าทำ ไม่ทำให้ดี  ทำพอให้เสร็จไป
สอนว่าอย่ารักทำแต่พอแล้ว  หรือสักแต่ว่าทำ  ต้องทำให้ดีที่สุด ทำด้วยความรอบคอบ ทำให้เรียบร้อยสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย  เพราะคุณค่าของคนอยู่ที่ผล  ฝืมือของคนอยู่ที่ผลงาน ผลงานจะเป็นเครื่องวัดความรู้  ความสามารถและคุณธรรมในจิตใจของคน  โบราณมักจะพูด ใครทำอะไรก็มักจะเหมือนตัวคนน้ัน   เพราะผลงานเป็นผลิตผลจากฝีมือ และจิตใจของคน เช่นการเขียนหนังสือ  คนเขียนหนังสือหวัดๆ ยุ่งๆก็เพราะใจร้อน ใจเร็ว คนลายฝีมือดีก็แสดงว่าจิตใจเยือกเย็น 

๑๕๖. อย่าตีงูให้กากิน
งูนั้นคนเกลียดกลัวก็จริงอยู่  แต่คนฆ่างูให้ตายแล้ว คนก็ไม่เอามาต้มแกงกิน ทิ้งให้เป็นเหยื่อแก่กา  คนฆ่าสัตว์ทำบาปเปล่าๆ  
โบราณสอนว่า "อย่าตีงูให้กากิน"   เป็นการเปรียบเทียบการกระทำของคน ที่ไปทำงานสิ่งหนึ่งลงแล้วตนก็ไม่ได้ประโยชน์  คนอื่นที่ไม่ได้ทำอะไร  ฉกฉวยเอาประโยชน์ไปง่ายๆ  ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร เช่นเกลียดชังคนหนึ่งอยู่เพราะเป็นคนไม่ดี  ถ้าเราไปทำลายล้างเขาลงแล้ว  คนอื่นที่ไม่ได้ทำบาปกลับจะได้ประโยชน์  ถ้าเขาชั่วร้ายเราก็หลีกเลี่ยงเสีย  อย่าคบค้าหรือเกี่ยวข้อง  "อเสวนาจพาลานัง"  ปล่อยให้ธรรมชาติลงโทษเขาเอง  ตามผลแห่งความชั่วของเขาจะดีกว่า  เช่นถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปลงโทษตามความผิด 
โบราณสอนอีกคำว่า  "ชั่วช่างชีไม่ดีช่างเถร"  อย่าไปนินทาว่าร้าย บาปกรรมเปล่า  ท่านชั่วจริง ท่านปราชิกจริง ท่านก็ตกนรกเอง เราอย่าไปเกี่ยวข้อง 

๑๕๗. อย่าตีปลาหน้าไซ
ไซ - เครื่องดักกุ้ง ดักปลา  สานด้วยไม่ไผ่ จักตอกละเอียด รูปยาวรรี ปากบาน เหมือนตะข้องใส่ปลา   ปลาเข้าไปจะออกไม่ได้ ใช้วางไว้ตามทางน้ำไหล 
ปลา - คือปลาที่มาตามน้ำไหล  ว่ายเข้าปากไซ ไปติดอยู่ในไซ
การตีปลาหน้าไซ คือ การกระทุ่มน้ำหน้าไซด้วยมือหรือไม้ ทำให้น้ำกระเพื่อม  ปลาที่กำลังว่ายตามน้ำจะเข้าไซ ก็ตกใจหนีไม่เข้าไซ ท่านจึงว่าอย่าตีปลาหน้าไซ  เป็นการเปรียบเทียบว่า คนหมู่หนึ่งกำลังเดินมาตามทำนองคลองธรรม  เช่น จะทำบุญทำกุศล ก็อย่าไปพูดจาขัดขวางการทำบุญทำกุศลของเขาเสีย
มหาเวสสันดรชาดกว่า "อย่าตีปลาหน้าไซให้เสียเปล่า"  ชาวบ้านพูดคำนี้อยู่เสมอ เป็นคำพูดเปรียบเทียบ   
มีคำพูดจำพวกเดียวกันอยู่สองสามคำคือ "ตีป่าให้เสือกลัว"  "เขียนเสือให้วัวกลัว"  แต่มีความหมายต่างกัน 
"ตีป่าให้เสือกลัว" หมายถึง คนกำลังจะทำชั่วก็ข่มขู่ให้หวาดกลัว หรือทำฮึกฮักกึกก้องให้นักเลงกลัว  
"เขียนเสือให้วัวกลัว" หมายถึงธรรมชาติของวัวกลัวเสือ  แต่เมื่อไม่มีเสือจริงก็เขียนรูปเสือให้วัวกลัว  แต่วัวนั้นไม่กลัวรูปเสือ เพราะไม่มีกลิ่นและไม่มีเสียงของเสือ  วัวนั้นไม่กลัวรูปร่าง มันกลัวกลิ่นและเสียงเสือ 

๑๕๘. ใจอย่าเบาจงหนัก
ใจเบา - โกรธง่าย ฉุนเฉียว  ไม่อดทน ขาดขันติธรรม  วู่วาม โกรธเกรี้ยวเชื่อง่าย 
ใจหนัก -  หนักแน่น มั่นคง อดทน มีขันติธรรม  ไม่วู่วาม ไม่ฉุนเฉียว ฟังหูไว้หู 
โบราณสอนว่า  "พกหินดีกว่าพกนุ่น"  เพราะหินหนัก ถ่วงไว้  ส่วนนุ่นเบาลอยลมไป  
พระแม่ธรณีบีบมวยผม มีน้ำไหลออกมาน้ัน  คิดดูให้ดีก็จะเห็นว่า  พระแม่ธรณีนั้นหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน  ไม่สะดุ้งสะเทือนไม่หวั่นไหว  ขังน้ำไว้ดี คือมีเมตตา  มีน้ำอดน้ำทน  จึงชนะทุกสิ่งทุกอย่างได้  เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิชิตพญามารน้ัน   ก็ทรงอ้างเอาพระแม่ธรณีเป็นพยาน  คืออ้างเอาขันติธรรม  และความเมตตากรุณานั่นเอง 
คำโคลงโลกนิติว่า
"ภูเขาทั้งแท่งล้วน         ศิลา
  ลมพายุพัดห่อน           ห่อนขึ้น
  สรรเสริญและนินทา     ในโลก
  ใจปราชญ์รือเฟื่องฟื้น   ห่อนได้จิตต์จล"

๑๕๙. อย่าตีสุนัขห้ามเห่า
สุนัข  มีธรรมชาติชอบเห่า  เพราะลักษณะนิสัยชอบเห่านี้เอง  คนจึงเลียงไว้เฝ้าบ้าน ให้เห่าขโมย 
ห้ามเห่า -  การที่จะห้ามไม่ให้สุนัขเห่าจึงทำไม่ได้    จะตีมันอย่างไร มันก็คงเห่าต่อไป   การตีสุนัขดุเมื่อมันกัดหรือมันตะกละ มันกัดหมูกัดไก่นั้นตีห้ามได้ แต่จะตีห้ามเห่านั้นไม่สำเร็จ  
สอนว่าอย่าตีสุนัขห้ามเห่า  เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติของสัตว์  เปรียบความว่า สันดานของมนุษย์น้ัน   จะแก้ไขอย่างไรก็ไม่ได้  พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนได้แต่พุทธเวไนยเท่าน้้น  คนร้ายเหลือกำลังก็ทรงปล่อยไปตามยถากรรม 

๑๖๐. ข้าเก่าร้ายอดเอา
ข้าเก่า - ทาสในเรือนเบี้ย เลี้ยงมาแต่ปู่ย่าตายาย  บริวารเก่าแก่ ใช้สอยมาแต่หนุ่มสาว  คนใช้เก่าแก่ใช้สอยกันมานานปี   คนพวกนี้ย่อมจะรู้ตื้นลึกหนาบางความลับของครอบครัว  ที่เก็บสมบัติ ช่องทางเข้าออกข้างนอกข้างใน ทางหนีทีไล่ จุดอ่อนแอ  ความบกพร่องของบ้านนี้  ถึงจะร้ายอย่างไรก็จำต้องเลี้ยงไว้  ต้องอดอออมถนอมน้ำใจไว้  ไม่โกรธเกรี้ยว ด่าว่า ขับไล่ไสส่ง   เพราะนอกจากเสียศีลธรรมแล้ว เขาอาจคิดร้ายเอาได้ 
สอนว่า ข้าเก่าร้ายอดเอา  คนเก่าแก่ต้องถนอมน้ำใจไว้ ไม่ใช้อำนาจบาทใหญ่ ขับไล่ไสส่ง  คำสอนแต่โบราณเตือนว่า "ช้างสาร ข้าเก่า งูเห่า เมียรัก"  อย่าวางใจ
คำโคลงโลกนิติว่า
"ช้างสารหกศอกไซร้     เสียงา
  งูเห่ากลายเป็นปลา      อย่าต้อง
  ข้าเก่าเกิดแต่ตา           ตนปู่ก็ดี
  เมียรักอยู่ร่วมห้อง        อย่าได้วางใจ ฯ"
  
(โปรดติดตามต่อไป)